ใครเคยไปเชียงใหม่น่าจะพอนึกภาพออกว่าเมืองแห่งนี้คือส่วนผสมของกรุงเทพฯ ขนาดย่อมกับความเป็นท้องถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งยืนอยู่บนเสาหลักทางทรัพยากรที่เป็นฐานในการพัฒนาจังหวัดมาตั้งแต่อดีต 2 ประการสำคัญ ได้แก่ หนึ่ง เสาหลักทางด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เข้มข้นและเข้มแข็งสืบทอดย้อนหลังไปไกลกว่า 700 ปี และสอง เสาหลักด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้และสายน้ำ
ที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เจริญงอกงามจากเสาหลักทางทรัพยากรทั้งสองด้านดังกล่าว และกลายเป็นรายได้หลักของพื้นที่เขตเมือง ซึ่งทำให้เกิดการใช้จ่ายและรายได้หมุนเวียนภายในจังหวัดปีละหลายล้านบาท
การเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดการขยายตัวและความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ในอัตราเร็วราวติดจรวด ทั้งในด้านของความหนาแน่นและความเข้มข้นของการใช้พื้นที่ในเชิงธุรกิจ ปรากฏการณ์การเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตเมืองเก่า จากคนเมืองดั้งเดิมสู่นักลงทุนจากนอกพื้นที่ การเข้ามาของประชากรแฝง และการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปริมณฑลเมือง จากพื้นที่เกษตรกรรมสู่พื้นที่พักอาศัยในรูปแบบที่ดินและบ้านจัดสรร รวมไปถึงการจางหายของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นอกจากสะท้อนถึงสภาวะเปลี่ยนผ่านของหัวเมืองใหญ่ไปสู่การเป็นมหานคร (Metropolis) ยังสะท้อนถึงการพยายามจัดสรรและปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนเชียงใหม่ที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
ภายใต้กระบวนการปรับตัวทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งในอดีตและปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวหนึ่งที่น่าจับตาและเห็นเด่นชัดมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี และมีบทบาทในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างมาก คือความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อรักษาฐานทรัพยากรทั้งสองอย่างให้ดำรงอยู่ ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย อาทิ การคัดค้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวและดอยสุเทพ การคัดค้านทางยกระดับและคอนโดมิเนียมสูงในเขตเมือง การฟื้นฟูคติ ความเชื่อ องค์ความรู้ และกิจกรรมทางด้านล้านนาคดี การเรียกร้องให้มีการปรับปรุงร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ การออกเทศบัญญัติของเทศบาลนครเชียงใหม่ในเขตสี่เหลี่ยมคูเมือง การพยายามฟื้นฟูคลองแม่ข่า การพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องขนส่งสาธารณะ ฯลฯ และล่าสุดคือการพยายามผลักดันเชียงใหม่สู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งในอดีตมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาแล้วสองครั้ง และริเริ่มอีกครั้งในปี 2558
นับตั้งแต่เชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งในรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโกในปี 2557 โดยการนำเสนอของกระทรวงวัฒนธรรม กระแสข่าวและความคิดเห็นในวงกว้างของคนเชียงใหม่มีทั้งการตั้งคำถามและการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเป็นไปได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีภาครัฐในระดับท้องถิ่นได้ระดมสรรพกำลังในการดำเนินโครงการผลักดันเชียงใหม่สู่มรดกโลก โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการจัดทำเอกสารข้อเสนอ (Domination Dossier) และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ แต่ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน
กระทั้งต้นปี 2559 มีการจัดตั้งโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก โดยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ กลุ่มคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายต่างๆ เพื่อศึกษา ค้นคว้าหาหลักฐานและประจักษ์พยานที่แสดงออกถึงคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ของเชียงใหม่ พร้อมกับการจัดทำร่างขอบเขตพื้นที่ที่จะยื่นขอเสนอเป็นมรดกโลก และการจัดทำร่างเอกสารข้อเสนอ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองเชียงใหม่นอกจากสะท้อนถึงสภาวะเปลี่ยนผ่านของหัวเมืองใหญ่ไปสู่การเป็นมหานคร ยังสะท้อนถึงการพยายามจัดสรรและปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของคนเชียงใหม่ที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ
ภายหลังการขับเคลื่อนโครงการฯ และการประชุมระดมความคิดเห็นกับคนเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนปีก่อน การจัดงาน ‘Chiang Mai Forum of Expert’ กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกโลกในภูมิภาคเอเชียเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และการจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 เมษายน คณะทำงานได้นำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงานที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น อาทิ พื้นที่ที่ยื่นขอเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะเป็นการนำเสนอแบบกลุ่ม (Serial Nomination) ได้แก่ พื้นที่ดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ และพื้นที่เวียงเก่าเชียงใหม่ (ชั้นในและชั้นนอก) ซึ่งเป็นพื้นที่ Property Area ที่แสดงออกถึงคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล และสนับสนุนโดยเกณฑ์การเป็นมรดกโลก (Criteria of Selection) ตามเกณฑ์ข้อที่ 2, 3 และ 4 พร้อมกับการนำเสนอแนวทางการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก (Management Plan) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารข้อเสนอ
แผนบริหารจัดการที่นำเสนอมุ่งไปที่ 5 ประเด็นหลัก ซึ่งเกี่ยวข้องและมีผลต่อการดูแลรักษาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลในพื้นที่ ได้แก่ หนึ่ง แผนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และการจัดการเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนภายในแหล่งมรดก สอง แผนการอนุรักษ์แหล่งมรดกและสภาพแวดล้อมเพื่อการรักษามรดกทางวัฒนธรรม สาม แผนการจัดการโครงสร้างพื้นฐานและแผนรับมือความเสี่ยงของแหล่งมรดก สี่ แผนการจัดการท่องเที่ยว ผู้มาเยือน และนักท่องเที่ยว และห้า แผนพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ที่สนับสนุนแหล่งมรดกอย่างยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่อยู่ระหว่างการสำรวจและระดมความคิดเห็นจากผู้คนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวมาสคอต ‘น้องฟาน’ (เก้งเผือก) สัตว์มงคล และเป็น 1 ใน 7 ชัยมงคลในตำนานการสร้างเมืองเชียงใหม่ เป็นสัญลักษณ์เพื่อการรณรงค์ผลักดันเชียงใหม่สู่มรดกโลก
ความท้าทายในเวลานี้ นอกจากอยู่ที่การเร่งกระบวนการจัดทำเอกสารข้อเสนอให้ทันในคาบเวลา 10 ปีตามเงื่อนไขของยูเนสโก ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 7 ปี อีกประเด็นที่ท้าทายและน่าสนใจคือการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้าใจของคนเชียงใหม่ในเรื่องการยื่นเสนอพื้นที่ขอเป็นมรดกโลก และผลลัพธ์ของการเป็นมรดกโลก รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการมีส่วนร่วมในการสร้างแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดก และการมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่อย่างจริงจังในอนาคต
หากฟังจากเสียงสะท้อนในวงประชุมของตัวโครงการและในพื้นที่สื่อออนไลน์ ก็ถือว่ามีความหลากหลายทั้งในเชิงคำถาม ความคิดเห็น และความคาดหวัง ขึ้นอยู่กับว่ามุมมองและประสบการณ์ที่มีต่อแบรนด์ ‘มรดกโลก’ ของแต่ละบุคคลเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สำหรับการก้าวสู่ปีที่ 2 ของโครงการฯ ถือเป็นวาระอันดีที่คนเชียงใหม่และผู้สนใจจะได้มีโอกาสทำให้ความร่วมมือในกิจกรรมการดูแลรักษาเมืองและมรดกทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่เกิดขึ้นได้จริง
เพราะไม่ว่ายูเนสโกจะรับรองเชียงใหม่เป็น ‘มรดกโลก’ หรือไม่ หากความร่วมมือร่วมใจเกิดขึ้นได้จริง เชียงใหม่และมรดกทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ย่อมจะได้รับการดูแลรักษา ฟื้นฟู และคงอยู่เป็น ‘มรดกของเรา’ สืบไป
Tags: มรดกโลก, การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก, เกณฑ์การเป็นมรดกโลก, เชียงใหม่, น้องฟาน