เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลทดสอบน้ำส้มคั้นสดและน้ำส้ม 100% จาก 30 ตัวอย่าง ทั้งแบบบรรจุกล่องส้มคั้นสดและน้ำส้มที่คั้นสดใส่ขวดเลย โดยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 พบว่า พบสารเคมีตกค้าง 400 รายการ และสารกันบูด 2 กลุ่มตัวอย่าง แต่ไม่พบยาปฏิชีวนะตกค้าง

จากกลุ่มตัวอย่างน้ำส้มทั้งหมด 30 ตัวอย่าง มีทั้งหมด 18 ตัวอย่างที่พบสารเคมีตกค้าง ส่วนอีก 12 ตัวอย่างไม่พบสารเคมีตกค้าง โดยสารเคมีตกค้างที่พบในน้ำส้มมากที่สุด 3  อันดับแรก คือ อิมาซาลิล (Imazalil) อิมิดิโคลพริด (Imidacloprid) และเอธิออน (Ethion) นอกจากนี้ ยังตรวจพบคลอไพรีฟอสตกค้างด้วย

น้ำส้มที่ไม่พบสารเคมีตกค้าง 12 ตัวอย่าง ได้แก่ Orangee, Nalit Juice, Farm Fresh, น้ำส้มอุดมพันธ์, Oranginal, เจ้ทิพย์ จิ้ดจ้าด, Orange Juice Healthy Valley, C-orange, กรีนการ์เด็น , We are Fresh, มาลี (Malee) และ Healthy Plus

ส่วนน้ำส้มที่พบสารเคมีตกค้าง จำนวน 18 ตัวอย่าง ได้แก่ 

  • Gourmet Juice by Hai Fresh Juice พบสารเคมี 7 ชนิด
  • Good Monday พบสารเคมี 6 ชนิด
  • Farmacy by Mad About Juice พบสารเคมี 4 ชนิด
  • ร้านกานดา พบสารเคมี 4 ชนิด
  • The Orange พบสารเคมี 3 ชนิด
  • Smile พบสารเคมี 2 ชนิด
  • Juice พบสารเคมี 2 ชนิด
  • Kiss C. Juice พบสารเคมี 2 ชนิด
  • Beautea Fresh พบสารเคมี 2 ชนิด
  • ส่วนส้มฝากนาย, ร้าน Hurom Juice Café, ทิปโก้ส้มโชกุน, ทิปโก้ส้มเขียวหวาน, ทิปโก้ส้ม Squeeze โชกุน, ทิปโก้ส้มสายน้ำผึ้ง พบสารเคมี 1 ชนิด, 
  • Mrs Smoothie So orange, Teddy Zero, สวนส้มธนาธร พบสารเคมี 1 ตัวอย่าง ในปริมาณที่มีการตกค้างน้อยมาก

 

ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน กล่าวถึงการตรวจสารเคมีว่า ครั้งนี้ไม่ได้ตรวจหาสารไกลโฟเสตและพาราควอต สิ่งที่น่าสนใจคือ พบสารเคมีบางชนิดที่ไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายและใช้ในประเทศแล้ว นั่นหมายความว่ามีการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย นอกจากนี้การตรวจพบสารเคมีตกค้างหลายชนิดร่วมกัน แม้จะมีปริมาณต่ำมาก ก็ทำให้กังวลต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น

สำหรับวัตถุกันเสียที่พบคือ กรดเบนโซอิก ที่พบในสองกลุ่มตัวอย่าง และไม่เกินค่ามาตรฐาน

ส่วนการตรวจสอบยาปฏิชีวนะสี่ชนิดที่เคยมีรายงานว่ามีการใช้ในสวนส้ม ได้แก่  อะม็อกซิลลิน แอมพิซิลลิน เบนซิลเพนนิซิลลิน และเตตราไซคลีน ในน้ำส้ม ไม่พบสารตกค้างแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อกล่าวว่า ผลสำรวจนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะอาจจะใช้ แต่ใช้ในช่วงเวลาที่ทำให้ไม่ตกค้าง 

สำหรับวิธีการเก็บตัวอย่าง นิตยสารฉลาดซื้อใช้วิธีแบบที่ผู้บริโภคทำได้ ไม่ใช่วิธีทางการเกษตร ส่วนเหตุผลที่ไม่ตรวจสอบผลส้มโดยตรง เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากเกินไป เช่น การล้าง ขณะเดียวกัน การเลือกน้ำส้มที่มียี่ห้อชัดเจนก็ทำให้ระบุผู้รับผิดชอบได้ อย่างไรก็ตาม มูลนิธิไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของน้ำส้มได้

ด้านภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังยาและพัฒนาระบบยากล่าวว่า ผลที่ออกมาว่าไม่พบยาปฏิชีวนะตกค้างในน้ำส้มทุกตัวอย่างถือว่าเป็นข่าวดี และเป็นพัฒนาการที่น่าพอใจ เพราะเคยมีการตรวจพบยาปฏิชีวนะในน้ำส้ม ขณะนี้ มีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปและการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยา (จุลชีพที่ดื้อยา) และยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคบางคนอาจเป็นอันตรายจากการแพ้ยาและรับไปโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งเกิดเชื้อดื้อยา ที่ท้ายที่สุดเมื่อเป็นโรค อาจไม่เหลือยาใดรักษาได้เลย

ทางกลุ่มมีข้อเสนอต่อ 1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างเข้มงวด 2) กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำผักและผลไม้ 3) รัฐบาลให้มีนโยบายชัดเจนในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในทางการเกษตร 

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการปรับปรุงฉลากสินค้าที่เพิ่มข้อมูลระบุแหล่งที่มาของน้ำส้ม ว่ามีต้นทางจากที่ไหน มียาปฏิชีวนะหรือไม่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ ขณะเดียวกัน ยังฝากกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งหาวิธีช่วยเกษตรกรแก้ไขปัญหาโรคกรีนนิ่งระบาดในส้ม  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะได้ เนื่องจากโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ยังไม่มีทางแก้ไข เมื่อเกิดการระบาดขึ้นก็ลุกลามต่อไปยังสวนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว โรคนี้ยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สวนส้มเขียวหวานย่านรังสิตซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกส้ม 80% ของประเทศล่มสลายเมื่อหลายสิบปีก่อน และทำให้ผลผลิตจากสวนส้มสายน้ำผึ้งในภาคเหนือ เช่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกันในช่วงปีสิบปีก่อนหน้านี้ จนกระทั่งมีผู้เผยแพร่วิธีการใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าไปในต้นส้ม เกษตรกรจึงหันกลับมาปลูกส้มอีกครั้ง

Tags: , ,