ภาพถ่ายกาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีอื่นๆ รวมไปถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจักรวาลที่เราได้เห็นกันมาโดยตลอดนั้น ส่วนใหญ่มาจากกล้องโทรทรรศน์ในอวกาศ จากสถานีสังเกตการณ์รังสีเอ็กซ์จันทรา ที่ส่งขึ้นไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1999
ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2019 นี้ ครบรอบ 20 ปีในการปฏิบัติหน้าที่พอดี สถานีสังเกตการณ์รังสีเอ็กซ์จันทราจึงส่งภาพชุดใหม่อันน่าตื่นตาของจักรวาลมาให้เราได้ดูกัน
สถานีสังเกตการณ์รังสีเอ็กซ์จันทราอยู่ในตระกูลสถานีสังเกตการณ์ Great Observatories ของนาซ่า โดยจันทราทำงานในส่วนรังสีเอ็กซ์ ในขณะที่สปิตเซอร์ (Spitzer) ตรวจจับแสงอินฟราเรด ส่วนฮับเบิล (Hubble) ตรวจจับแสงที่มองเห็นได้และแสงยูวี และคอมป์ตัน (Compton) ออกแบบมาสำหรับรังสีแกมมา
เนื่องจากสถานีสังเกตการณ์สามารถจับแสงความยาวคลื่นที่แตกต่างกัน พวกมันจึงคอยสำรวจและจับภาพในมุมมองที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ ซึ่งกล้องโทรทรรศน์แต่ละตัวยังสามารถทำงานร่วมกันเพื่อนำมาประกอบเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้เราสามารถไขความลึกลับของจักรวาลได้อีกด้วย
การทำงานของกล้องโทรทรรศน์มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการศึกษาดาราศาสตร์ มันสามารถจับภาพการระเบิดของหลุมดำมวลมหาศาล รวมถึงรังสีเอกซ์จากระดับเริ่มต้นไปจนถึงวินาทีสุดท้ายก่อนที่มันจะตกลงสู่หลุมดำ กล้องโทรทรรศน์ยังมีส่วนร่วมในการค้นหาหลักฐานของสสารมืดและการทำแผนที่ว่าองค์ประกอบที่จำเป็นต่อชีวิตสามารถแพร่กระจายโดยซูเปอร์โนวาได้อย่างไร
กล้องโทรทรรศน์จากสถานีสังเกตุการณ์จันทราสามารถจับภาพที่มีความละเอียดสูงมาก เราสามารถอ่านสัญลักษณ์ “หยุด” ของจราจรได้อย่างชัดเจนแม้จะอยู่ไกลถึง 12 ไมล์ โดยกล้องโทรทรรศน์นี้ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จันทราได้ถ่ายภาพสำคัญๆ มากมาย เช่น ภาพ “Pillars of Creation” หรือภาพเสาอันเกิดจากแก๊สและฝุ่นระหว่างดวงดาวในเนบิวลาอินทรีซึ่งก่อขึ้นเป็นรูปเสา
จันทราถือเป็นกล้องโทรทรรศน์เอ็กซ์เรย์ที่คมชัดที่สุดเท่าที่นาซ่าเคยสร้างมา โดย ริคคาร์โด จิอาคโคนิ (Riccardo Giacconi) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 2002 และฮาร์วีย์ ทานันบาม (Harvey Tananbaum) ผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์เอ็กซ์เรย์จันทรา เสนอให้สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1976
สถานีสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทรา ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สุพรหมัณยัน จันทรเศขร นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ในปี 1983 ผู้มีผลงานทางด้านดาราศาสตร์ทฤษฎีมากมาย ทั้งเรื่องของดาวแคระขาว ดาวนิวตรอน และหลุมดำ
อ้างอิง
- https://edition.cnn.com/2019/07/24/world/chandra-observatory-new-images-scn-trnd/index.html
- https://www.cnet.com/news/nasa-releases-magnificent-new-images-of-the-milky-way/
- https://phys.org/news/2019-07-chandra-x-ray-observatory-celebrates-20th.html
ภาพ : NASA
Tags: อวกาศ, กาแล็กซี, ทางช้างเผือก, รังสีเอ็กซ์จันทรา, สถานีอวกาศ, นาซ่า