เรานั่งคุยกันในคอนโดมิเนียมย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เธอนั่งอยู่บนโซฟาหน้าผ้าม่านสีขาวโปร่ง ทำให้ผมเห็นใบหน้าของเธอในเงาสลัวจากแสงจ้าของยามบ่ายที่ส่องมาจากด้านหลัง ผมแสบตาจนต้องหรี่ตาลงตลอดเวลาขณะที่เรานั่งคุยกัน แต่มุมนั้นเป็นมุมที่นั่งคุยกันได้สบายที่สุด เราจึงไม่ได้ย้ายไปไหน เสียงของเธอนั้นแหบพร่าบางๆ เหมือนนักร้องเพลงแจ๊ซ จากการอดนอนเมื่อคืนนี้ เพราะกำลังเตรียมงานภาพยนตร์เรื่องต่อไป หลังจากหยุดงานมาเกือบ 1 ปี

“เราชอบการจัดแสงเลียนแบบธรรมชาติ ถ้าเราต้องถ่ายหนังซีนนี้แบบที่เรานั่งคุยกันอยู่ เราจะจัดแสงให้เห็นหน้าของเราเป็นเงามืดกว่าหน้าของพี่ แล้วมี Rim Light ที่ผม เพราะแสงมันมาจากข้างหลัง ส่วนหน้าของพี่ก็จะสว่างกว่าของเรา แต่ไม่มี Rim Light เพราะแสงมันมาจากด้านหน้า เส้นผมของพี่จะมี Rim Light ได้ยังไง จริงไหม เราจะงงกับทิศทางของการจัดแสงหนังฮอลลีวูดประมาณหนึ่ง เพราะทุกคนจะถูกถ่ายให้สวยหมด เส้นผมของทุกคนจะมี Rim Light เพื่อให้ตัวแสดงหลุดออกมาจากฉาก” จ๊ะเอ๋ ปรารภหากเธอต้องถ่ายหนังในรสนิยมของเธอ

จ๊ะเอ๋ทำงานเป็นผู้กำกับภาพ (Director of Photography – DP) ทั้งงานภาพยนตร์ขนาดยาว และขนาดสั้น รวมไปถึงงานโฆษณา โดยพื้นฐานเธอเป็นช่างภาพที่เคยทำงานหลากหลายในช่วงที่วงการนิตยสารยังไม่ซบเซา

ระหว่าง 10 กว่าปีผ่านมา เธอเดินทางสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่เป็นการทำงานด้านภาพยนตร์ เธอรับงานจากเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนภาพยนตร์ที่ New York University (NYU) และจากโปรดิวเซอร์ที่เคยร่วมงานกัน การทำงานภาพยนตร์ทำให้เธอได้เดินทางไปในที่แปลกๆ เช่น เตอร์กีซสถาน บังกลาเทศ

จ๊ะเอ๋เป็น DP ของภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Karaoke Girl (Visra Vichit-Vadakan, 2013) Motel Mist (Prabda Yoon, 2016) The Nearest Human Being (Marco Coppola, 2017) Popeye (Kirsten Tan, 2017) บางเรื่องเคยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย แต่ผมยังไม่มีโอกาสได้ดู

หลังเรียนจบคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอทำงานเป็นช่างภาพนิตยสาร ต่อมาเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ และมีโอกาสเข้าไปสัมผัสโลกของภาพยนตร์ไทยโดยเป็นช่างภาพเบื้องหลังการถ่ายทำ ในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ไทยกำลังร้อนแรงท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก่อนที่จะเดินทางไปเป็นศิลปินพำนักที่เมืองโคยังชี่ (Goyang) ชานกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ การเดินทางในวัยเบญจเพสครั้งนี้ได้กำหนดเส้นทางชีวิตครั้งสำคัญของเธอ เหมือนภาพยนตร์ที่มีจุดเปลี่ยนผัน จากช่วงเบญจเพส จ๊ะเอ๋ทำงานต่อเนื่อง และเดินทางโดยไม่เคยหยุดอยู่ที่ไหนนานๆ กระทั่งช่วงเบรคสั้นๆ ของชีวิตเพื่อต้อนรับชีวิตเด็กชายน้อยๆ ของครอบครัว

“ที่เขาบอกว่าชีวิตเปลี่ยนตอนเบญจเพสนี่ใช่เลยนะ ชีวิตเราเปลี่ยนตอนนั้น จากที่เคยมีแฟนเป็นผู้หญิง และเดินทางไม่เคยหยุด” เสียงของจ๊ะเอ๋เดินทางมาถึงผมช้าๆ ขณะที่ตาผมพร่าด้วยแสงบ่ายบนม่านสีขาว

.

เกาหลี, หลายปีก่อน

เธอสองคนพบกันที่โซล จ๊ะเอ๋ไปดูภาพยนตร์สั้นของหญิงสาวคนหนึ่ง และประทับใจในตัวผู้กำกับฯ สาวคนนั้น กระทั่งเป็นความรู้สึกพิเศษบางอย่างที่เธอยังไม่มั่นใจว่าคืออะไร เธอถามตัวเองว่าซ้ำๆ ว่ามันเป็นความว้าเหว่ของการอยู่ต่างบ้านต่างเมือง หรือเป็นความเศร้าเมื่อต้องเลิกรากับแฟนหนุ่มที่เมืองไทย หรือเป็นเพราะความสับสนของความรู้สึกไม่มั่นคง… เธอยังไม่แน่ใจในตัวเอง แต่ความรู้สึกที่ชัดเจนในห้วงเวลานั้น คือความอิ่มเอมชุ่มชื่น และมันไม่ใช่ความรู้สึกที่ธรรมดา เพราะมีบางครั้งที่หญิงสาวคนนั้นแวะเวียนมาที่โซล แต่ไม่ได้ติดต่อเพื่อนัดพบกัน จ๊ะเอ๋จะรู้สึกหงุดหงิด และเกิดความรู้สึกหึงหวง ท่ามกลางความรู้สึกไม่ชัดเจนนี้ ความสัมพันธ์ยังคงดำเนินต่อไป นัดพบกันบ้าง บางคราวหญิงสาวก็แวะมานอนพักค้างคืนที่สตูดิโอของจ๊ะเอ๋ แต่เมื่อถึงเวลาต้องจากลา หญิงสาวคนนั้นตัดสินใจบอกความในใจต่อจ๊ะเอ๋

“เขามาบอกว่า ‘ชอบ’ ก่อนเรากลับไทย 1 เดือน เราก็ตอบรับเลยนะ ลองคบกันเลย” จ๊ะเอ๋เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อปรารถนาในความรักครั้งนั้นปรากฏตัวชัดเจน

เมื่อครบวาระของการเป็นศิลปินพำนัก ทั้งสองจำต้องแยกจากกัน ขณะที่ความสัมพันธ์เพิ่งเริ่มต้น หญิงสาวตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อใช้ชีวิตร่วมกับจ๊ะเอ๋ ใช้เวลาเตรียมตัวไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก และเขียนบทภาพยนตร์  ส่วนจ๊ะเอ๋กลับมาทำงานเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ให้กับนิตยสารต่างๆ

หนึ่งปีเต็มที่ทั้งสองใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านเช่าบนถนนพระสุเมรุ ผมจินตนาการถึงชีวิตวัยหนุ่มสาวที่รับผิดชอบชีวิตและเลือกดำเนินชีวิตของตัวเอง มันเต็มไปด้วยพลังของชีวิต เสรีภาพที่สดชื่น ทั้งสองเติมเต็มปัจจุบันให้กันและกัน และวางแผนอนาคตที่เฝ้ารอ ความกังวล ความลังเลในความสัมพันธ์ และความไม่ชัดเจนในความรู้สึกของตัวเองจางหายไป กลับกลายเป็นความผูกพันที่เชื่อมโยงชีวิต

“มันเป็นความรู้สึกของความรักกับใครบางคน ไม่ใช่ว่าใครก็ได้นะ เราไม่ได้คิดว่าเขาเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย สำหรับความรัก เรารู้สึกว่ามันเป็นความรักในตัวตนของเขา เรา ‘love their soul’ ไม่ใช่ว่าเขาเป็นเพศอะไร”

ครั้นหนึ่งปีผ่านไป ถึงเวลาจากลากันอีกครั้ง หญิงสาวจะไปเรียนภาพยนตร์ต่อที่นิวยอร์กตามเส้นทางชีวิตที่วางไว้ แต่ความสัมพันธ์ยังสวยงาม ชีวิตกำลังผลิบาน และดอกไม้ของความรักยังเยาว์นัก จ๊ะเอ๋ตัดสินใจรวบรวมเงินและเดินทางพร้อมกับหญิงสาว เพื่อติดตามความรักของเธอ

“เราไปนิวยอร์กเพราะติดสาว เขาทิ้งชีวิตที่ประเทศของเขามาอยู่กับเราหนึ่งปี เรารู้สึกว่ามันแฟร์ดีที่เราจะให้เวลาหนึ่งปีกับเขาเป็นการตอบแทน เราก็ตามเขาไป คิดว่าจะไปเรียนภาษา ไปใช้ชีวิต หรือเรียนทำเซรามิค ถ่ายรูป อะไรแบบนี้ มีเงินเก็บนิดหน่อย ใช้เงินหมดก็กลับ ไม่รู้ว่าเราคิดน้อยไป หรือคิดมากไป” จ๊ะเอ๋ เล่าย้อนชีวิตเมื่อตอนอายุ 26 ปี

.

นิวยอร์ก, ปีต่อมา

จ๊ะเอ๋เรียนภาษา ทำงานเสิร์ฟที่ร้านอาหาร ช่วยหญิงสาวและเพื่อนๆ ที่ NYU ทำงานภาพยนตร์ ทำให้เธอได้เข้าใกล้เข้าไปสู่โลกของภาพยนตร์มากยิ่งขึ้นๆ เธอทำทุกอย่างตั้งแต่ช่วยจัดแสง จัดเตรียมอุปกรณ์ หรือตกแต่งฉาก เธอทำไปเพราะสนใจภาพยนตร์เป็นทุนเดิมและอยากอยู่ใกล้ความรัก เธอคิดว่าเป็นชีวิตที่ค่อนข้างลงตัว แต่แล้วการตัดสินใจครั้งสำคัญก็มาถึงเมื่อเงินหมดกระเป๋า พร้อมๆ กับอายุที่เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งขวบปี มีทางเลือกสองทาง หนึ่งคือกลับประเทศไทย และทำงานด้านภาพยนตร์ เพราะเธอคิดว่าการทำงานด้านนี้ที่ดีที่สุดคือลงมือทำ ที่บ้านเกิด เธอรู้จักผู้คนในวงการอยู่บ้าง พอที่จะให้เธอเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ อีกทางหนึ่งคือสมัครเรียนภาพยนตร์ที่ NYU หากมหาวิทยาลัยรับ ก็รอปาฏิหาริย์ อาจได้ทุนเรียน หรือได้ทำงานไปด้วย เมื่อไม่มีอะไรต้องเสีย จ๊ะเอ๋จึงตัดสินใจสมัคร เตรียมผลงาน และรอ

“คือเราไม่อยากทำงานเสิร์ฟ ไปเรียน แล้วมาช่วยเพื่อนทำหนัง เราไม่อยากอยู่ในวงจรแบบนี้ เราคิดว่าถ้าไม่กลับไทย ก็เรียนต่อเลยดีกว่า แต่นั่นแหละมันต้องมีปาฏิหาริย์” จ๊ะเอ๋เล่าถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ

พบตัวเองอีกครั้งในชั้นเรียนภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค เธอกำลังดิ้นรนพิสูจน์ตัวเองท่ามกลางเพื่อนร่วมชั้นที่หลากหลายเชื้อชาติ และวิชาชีพ เมื่อผู้หญิงถูกให้ค่าด้านความชำนาญในเครื่องมือและทักษะในการทำงานภาพยนตร์ต่ำกว่าผู้ชาย ในชั้นเรียน เธอไม่ถูกเลือกเข้ากลุ่มให้ร่วมทำงาน แม้เธอจะแสดงตัวชัดเจนว่ามีพื้นฐานการถ่ายภาพ และปรารถนาทำงานถ่ายภาพยนตร์

“Racist และ Sexist มีอยู่จริง เราไม่ถูกเลือกให้ทำงานในกลุ่มเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เขาจะเลือก European Male ซึ่งพวกเขาจะมี mind set ว่าคนพวกนี้จะเก่งกว่าผู้หญิง สมัยทำงานเป็นช่างภาพเราไม่รู้สึกเรื่องนี้นะ แต่ภาพยนตร์อาจจะเป็นอะไรที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อนผู้หญิงก็บ่นเรื่องนี้กัน แต่เราคิดว่าสิ่งที่จะเปลี่ยน attitude นี้ได้ เราก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำได้ หากเรามองในมุมของคนอื่น ถ้าเราบ่น เราก็จะตกไปอยู่ในความเชื่อที่ว่า ‘เห็นไหม ผู้หญิงขี้บ่น’ เราเลือกที่จะฝึกฝนเรื่องเครื่องมือจากห้องยืมอุปกรณ์ ฝึกผ่านยูทูบ อุดช่องโหว่ที่เราถูกมองว่าไม่มีความสามารถ เราก็ไปช่วยเขา ไม่ได้เป็น DP ก็ไปช่วยเป็น Gaffer (คนทำหน้าที่ควบคุมจัดแสงในภาพยนตร์)”

จ๊ะเอ๋พิสูจน์ตัวเองในด้านการเรียนและการทำงาน ขณะเดียวกันความรักของเธอก็ดำเนินต่อไป เวลาที่เคยใกล้ชิดกันเริ่มต้องแบ่งไปให้ความรับผิดชอบในชีวิตของตัวเอง จ๊ะเอ๋พิสูจน์ว่าเธอสามารถทำงานเป็น DP ได้ดีในปีที่ 2 เพราะจากตารางการทำงานให้เพื่อนที่แน่นจนเป็น DP ติดท็อป 3 ของชั้นเรียน มีเพื่อนหลายคนส่งบทภาพยนตร์ให้เธอช่วยทำเป็นภาพ ขณะเดียวกันเธอทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์ ดังนั้นเวลาของเธอจึงถูกดึงไปจนหมดสิ้น คนรักของจ๊ะเอ๋ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ในระยะเวลา 7 ปี ความสัมพันธ์เริ่มจืดจางห่างเหิน แต่ไม่มีสิ่งเลวร้ายใดที่ทำให้ความรักของทั้งสองแปรเป็นความเกลียดชัง

“เราเปิดใจ คุยกับเขาว่ามันเกิดอะไรขึ้นระหว่างเรา แล้วก็จากกันด้วยดี เรายังพบเจอกัน ทำงานด้วยกัน ดีกว่าให้เกิดเรื่องร้ายๆ ก่อนแล้วค่อยเลิก”

ชีวิตในภาพยนตร์มักเป็นเช่นนี้ ตัวละครตามหาความฝัน คนพบความสัมพันธ์ มีความขัดแย้ง มีจุดเปลี่ยนผัน มีช่วงเวลาเฟื่องฟูสมหวัง และช่วงเวลาตกต่ำดำมืด ผมชอบภาพยนตร์ที่ตัวละครค้นพบความหมายของชีวิต เมื่อได้ผ่านประสบการณ์ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง แน่นอนในภาพยนตร์แต่ละเรื่องล้วนมีรายละเอียดแตกต่างกันไป และชีวิตจริงก็เช่นกัน

.

เวียดนาม, หลายปีต่อมา

“เราทำงานตั้งแต่เรียน หลังเรียนจบเราก็ทำงานตลอด เสร็จจากเรื่องหนึ่งก็เริ่มเรื่องใหม่ ไม่ค่อยมีเวลาว่าง หรือมีเวลาว่างระหว่างหนังสองเรื่อง เราก็ถ่ายโฆษณา” จ๊ะเอ๋เล่าถึงเวลาและชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่คือการทำงาน

“เราคิดว่าเราท้องที่เวียดนาม ตอนที่เราถ่ายหนังอยู่ที่นั่น แฟนเรามาเยี่ยม”

“เคยคิดไว้ไหมว่าจะมีลูก” ผมถาม

“เรากำลังวางแผนแต่งงาน แล้วจะกลับไปมีลูกที่นิวยอร์ก แต่ลูกมาก่อน แผนที่วางไว้เลยต้องเปลี่ยนใหม่หมด”

เธอพบกับสามีในห้องตัดต่อภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัย ขณะที่กำลังยุ่งอยู่กับการส่งงานที่เธอต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพราะเธอไม่ได้เข้าชั้นเรียน ตอนนั้นเธอใช้เวลาหนึ่งเดือนถ่ายหนังให้เพื่อนที่กรุงเทพฯ (Karaoke Girl, 2013) ส่วนสามีของเธอจบเรียนจบแล้ว และกำลังตัดต่อผลงานของตัวเอง ทั้งสองพบหน้ากัน พูดคุยกันทุกคืน เมล็ดพันธุ์ของความรักครั้งใหม่เริ่มเติบโตท่ามกลางการงานอันเป็นที่รัก หลังส่งงาน ทั้งสองไม่ได้พบกันอีก

“วันหนึ่งเขาชวนเราไปกินข้าว ตอนนั้นถึงรู้ว่าชอบเขา”

“แล้วจากรักผู้หญิงเปลี่ยนมารักผู้ชาย ความรู้สึกแตกต่างกันไหม”

“โดยทั่วไปความรู้สึกก็ไม่ต่างกันมาก แต่สำหรับเรา เราว่าคบคนแต่ละคนมันมีความรู้สึกที่ต่างกันไปอยู่แล้ว บางทีสุดขั้วโลกเลย เอามาเปรียบกันไม่ได้  คนที่เราคบแต่ละคนเขาก็เหมือนเป็นโลกของเขา เราเข้าไปอยู่ในนั้น พอออกมาแล้วเจอโลกใหม่ก็เป็นอีกแบบ”

.

กรุงเทพ, ปัจจุบัน

“ตอนนี้ลูกอายุเท่าไรแล้ว” ผมถามเธอเมื่อแสงยามบ่ายโรยตัว มีเมฆก่อตัวขึ้นบนท้องฟ้าใส

“8 เดือน”

“พอมีลูกแล้วทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมากไหม”

“อืม เราเสียโอกาสบางงานไป 2-3 งาน เป็นหนังที่ดีเราอยากร่วมงานด้วย ของเพื่อนเราเอง เขาติดต่อมา แต่เราท้องหลายเดือนแล้ว ทำไม่ได้ เลยปฏิเสธไป เราเสียดายมาก แต่ก็ต้องทำใจให้สบาย เพราะท้องอยู่ คิดซะว่ามันไม่ได้เป็นของเรา แต่งานนี้ก็ทำได้ดีจริงๆ เข้าตา Scorsese (Martin Scorsese, ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลกชาวอเมริกัน) จนเขาให้ทุนเพื่อนเราทำเรื่องต่อไป เราก็อือ น้ำตาไหล เสียดายมาก ก็บอกลูกว่าเอ็งต้องเป็นคนดีนะ” เธอพูดกลั้วเสียงหัวเราะ

“ปกติแล้วจ๊ะเอ๋กับสามีเดินทางตลอด ถ่ายหนังเรื่องหนึ่งใช้เวลาตั้ง 2-3 เดือน เพราะชีวิตเป็นของเธอและเขา แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว

“แฟนเราก็เหมือนเรา ทำงานและเดินทางตลอด ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ถ้านับวันแล้ว 1 ปีเราเจอกันราวๆ 3 เดือน ซึ่งเราโอเคมาก เราชอบชีวิตแบบนี้ แต่เราคุยกันทุกวันนะ ทางเฟสไทม์ พอมีลูกแล้ว เราไม่แน่ใจว่าเราจะมีความสุขไหม ถ้าไม่ทำงาน เรารู้สึกว่าเราเลี้ยงลูกแบบไหนก็ต้องให้เป็นชีวิตเรา ให้เป็นธรรมชาติ ให้เขาเข้าใจตั้งแต่ตอนนี้เลยว่าชีวิตและการทำงานของเราเป็นแบบนี้

“สามีเราเป็นผู้ชายที่ดูแลลูกได้ เราเคยคุยกับเขาตั้งแต่แรกว่า ถ้ามีลูกต้องสลับกันเลี้ยงนะ เขาอาจหายไป 3 เดือน เราอาจหายไป 3 เดือน เหมือนเด็กในโรงลิเก ลูกเราต้องเรียนรู้ชีวิตที่ย้ายไปเรื่อยๆ เขาจะเข้าใจได้ ย้ายโรงเรียน ย้ายบ้านไปเรื่อยๆ หรือพ่อแม่เอาไปฝากตายาย มันไม่มีทางเลือกอื่น มันเป็นชีวิตนะ เรารู้สึกว่าลูกเราควรอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ต้องปลอดภัยทางชีวิต ทางอารมณ์ ความรู้สึกด้วยนะ อยู่ที่ไหนก็ได้ที่มีความรัก”

เธอวางแผนชีวิตไว้แบบนั้น

 

 

ชนานันท์ โชติรุ่งโรจน์ | Director of Photography | ผู้กำกับภาพ

Medium Format 6 x 9

Black and White Negative Film

Fact Box

  • ชนานันท์ โชติรุ่งโรจน์ เรียนจบคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยทำงานเป็นช่างภาพประจำและฟรีแลนซ์ ให้นิตยสารหลายฉบับ อาทิ open, IMAGE จากนั้นไปเรียนต่อ Master of Fine Art ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
  • ส่วนหนึ่งของผลงานภาพยนตร์ : Karaoke Girl (Visra Vichit-Vadakan, 2013) Motel Mist (Prabda Yoon, 2016) The Nearest Human Being (Marco Coppola, 2017) Popeye (Kirsten Tan, 2017)
Tags: , , ,