วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันที่ผู้ที่คุ้นเคย เคารพ นับถือ ‘อาจารย์จักรพันธุ์  โปษยกฤต’ จะมารวมตัวกันที่บ้านของอาจารย์ในซอยเอกมัย อันเป็นที่ตั้งของมูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อร่วมอวยพรวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ โดยที่อาจารย์ไม่ต้องออกปากเชิญ

ทุกครั้งเมื่อมาถึงจะมีโต๊ะอาหารที่มีผู้นำมาจัดออกร้านไว้บริการครบทั้งคาวหวาน แขกเหรื่อมาถึง เข้าไปกราบอาจารย์ ทักทายกันแล้วก็ดูแลตัวเองให้อิ่มหนำสำราญกายและใจ ทุกอย่างเป็นอย่างนี้มาเนิ่นนานปี นอกจากปีไหนที่อาจารย์ไม่อยู่ จะจัดเลี้ยงวันไหนก็จะมีการแจ้งข่าวกันต่อๆ ไป เพราะปรกติอาจารย์มักจะเดินทางไปพักที่จันทบุรีในช่วงวันเกิด แต่หลายปีที่ผ่านมา ด้วยภารกิจการทำหุ่น งานสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่  และปัญหาสุขภาพ ทำให้อาจารย์และคณะต้องละเว้นการเดินทางนี้ไป

วันที่ 16 สิงหาคม ปีนี้ ที่เพิ่งผ่านไป เป็นวันที่ทุกคนเฝ้ารอ เพราะนอกจากจะมีการทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์แล้ว ยังถือฤกษ์ดีเป็นวันเปิดนิทรรศการหมุนเวียน ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต นิทรรศการ’ อีกด้วย

ตอนที่ได้รับรู้ข่าวว่า อาจารย์จักรพันธุ์จะจัดแสดงนิทรรศการ ภาพความทรงจำที่ได้ชมนิทรรศการครั้งสุดท้ายของอาจารย์ที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็ย้อนกลับมาเป็นลำดับ ซึ่งเมื่อนับตัวเลขแล้วก็ตกใจว่า…ผ่านมานานถึง 15 ปี แล้วจริงๆ หรือ

วันนั้น…วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ตามหมายกำหนดการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ เปิดนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยว ‘ศิลปกรรมเชิดชูเกียรติจักรพันธุ์ โปษยกฤต เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปีคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร’ ซึ่งจัดโดยคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ในตอนเย็น แต่มีผู้คนหลั่งไหลไปจับจองที่กันตั้งแต่บ่าย จากด้านหน้าหอศิลป์ไปจนถึงสวนแก้ว ด้านใน เรียกว่าทุกพื้นที่เต็มไปด้วยผู้คนเพื่อรอเวลาเข้าชมนิทรรศการ ที่ถือได้ว่าเป็นครั้งหนึ่งที่รวบรวมผลงานของศิลปินเพียงคนเดียวมาจัดแสดงได้มากที่สุดถึง 211 ชิ้น ทั้งภาพเขียนชิ้นใหญ่ที่หาชมได้ยาก และงานฝีมืออื่นๆ อีกคับคั่ง

แน่นอนว่า ฉันเป็นคนหนึ่งที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น

นอกจากรอเข้าชมงานจิตรกรรม และประณีตศิลป์ของอาจารย์แล้ว ‘แฟนคลับ’ ที่มาในวันนั้นยังตั้งใจมาชมการเชิดหุ่นกระบอกของอาจารย์ ที่หลังจากจัดแสดงหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊กไปเมื่อ พ.ศ.2532 หุ่นคณะอาจารย์จักรพันธุ์ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนอีกเลย ครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่เปิดตัวหุ่นกระบอกชุดใหม่จากเรื่อง ‘ตะเลงพ่าย’

ในวันนั้นเป็นการเชิดหุ่นเบิกโรง ตอนพระนางสุพรรณกัลยาไปพม่า หน้าที่ประทับ และหลังจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ กลับ ได้มีเสียงเรียกร้องให้อาจารย์เชิดแสดงอีกครั้ง ผู้คนเบียดเสียดกันเข้าไปในโถงของหอศิลป์จนแน่นขนัด ใครที่เข้าไม่ได้ก็ฟังเสียงอยู่ข้างนอก

แม้การแสดงฉากนั้นจะสั้นเพียง 12 นาที แต่ลีลาการเชิดอันอ่อนช้อย เสียงปี่พาทย์ ดนตรีไทย และบทร้องอันไพเราะ สอดรับกัน ส่งให้หุ่นพระนางสุพรรณกัลยาที่เชิดโดยอาจารย์ และหุ่นตัวพระตัวนางอีก 10 ตัว ที่งดงามทั้งหน้าหุ่น เครื่องประดับ เสื้อผ้า ล้วนเหมือนมีชีวิตขึ้นมา

หลังจากนั้นก็มีแต่เสียงร้องถามว่า เมื่อไรจะได้ดูหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายเต็มเรื่อง ซึ่งเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบจนวันนี้ เพราะหลังจากเปิดตัวในครั้งนั้นแล้ว ได้มีการซ้อมอย่างสม่ำเสมอที่บ้านของอาจารย์และเปิดให้เข้าชมด้วย  ระหว่างที่ซ้อมอาจารย์ได้ค่อยๆ ทำหุ่นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งในวันนี้หุ่นตัวละครหลักทำเสร็จหมดแล้ว รวมถึงฉากและเทคนิคต่างๆ ยังเหลือเพียงองค์ประกอบอีกไม่มาก

‘ม่านปัก ลายโคมระย้า’ หุ่นกระบอกเรื่องตะเลงพ่าย พ.ศ.2549

แต่ทุกอย่างหยุดชะงักลง เมื่ออาจารย์จักรพันธุ์ต้องเข้าโรงพยาบาลรักษาโรคเส้นโลหิตในสมองตีบอยู่ระยะหนึ่ง ข่าวความเจ็บป่วยของอาจารย์สร้างความวิตก ห่วงใยให้กับผู้ที่ทราบข่าว ทั้งลูกศิษย์ ผู้ที่ชื่มชอบศิลปะ และบรรดาแฟนคลับ

แล้วความรู้สึกไม่สบายใจของทุกคนก็คลายลงทันทีที่ได้ข่าวว่ามูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต จะจัดนิทรรศการแสดงผลงานของอาจารย์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่อาจารย์จัดแสดงงานของตัวเองด้วยตัวเอง และในบ้านที่เป็นแหล่งก่อเกิดผลงานอันมีค่าทุกชิ้นจากฝีมือของศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม (ทัศนศิลป์) ประจำปี พ.ศ.2543 ผู้นี้

ใครที่เคยมีโอกาสมาบ้านอาจารย์เมื่อประมาณสิบปีก่อน และเพิ่งได้กลับมาอีกครั้งในวันนี้อาจจะตกใจเล็กน้อยว่า พื้นที่สวนที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ให้ความเขียวครึ้มปกคลุมบ้านให้พ้นจากเสียงและมลภาวะภายนอกหายไปไหนหมด คำตอบคือสิ่งที่เห็นตรงหน้า โรงเรือนที่ก่อขึ้นมาเป็นที่ทำงานฝีมือของช่างศิลป์แขนงต่างๆ และเก็บของที่ใช้ในการแสดงหุ่น  และพื้นที่ที่เคยจัดสรรเป็นเวทีแสดงหุ่นมาหลายปี วันนี้ได้ถูกปิดกั้นขึ้นเป็นห้องนิทรรศการ ทุกพื้นที่ในบ้าน และความเป็นส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของ ล้วนอุทิศให้กับการนำเสนอผลงานศิลปะทั้งหมด

ฉันได้คุยกับ ‘พี่ต๋อง’ หรือ ‘คุณวัลลภิศร์ สดประเสริฐ’ ศิษย์เอกของอาจารย์ที่อยู่และทำงานกับอาจารย์มาตั้งแต่เรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงที่มาของการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร

พี่ต๋องเล่าว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีคนเรียกร้องให้อาจารย์จัดแสดงนิทรรศการอยู่เสมอ แต่อาจารย์เป็นช่างเขียนที่ไม่ชอบจัดแสดงงาน ยิ่งจัดเองยิ่งไม่อยากทำ อีกทั้งเมื่อเริ่มทำหุ่นตะเลงพ่าย เวลาทั้งหมดก็ทุ่มเทไปที่โครงการนี้ ที่ต้องทั้งทำหุ่นกระบอกเพิ่ม ทั้งซ้อมการแสดง ทั้งการเชิดและบรรเลงดนตรี จากซ้อมทุกอาทิตย์เป็นเดือนละ 2 ครั้ง เดือนละครั้ง และสุดท้าย 2 เดือนครั้ง จึงไม่ง่ายเลยที่จะแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่น

จนกระทั่งก่อนอาจารย์ไม่สบาย และมีคนถามเรื่องนี้ขึ้นมาอีก พี่ต๋องและคณะจึงปรึกษาอาจารย์ว่า มีเสียงเรียกร้องให้อาจารย์จัดนิทรรศการ อาจจะไปเช่าพื้นที่ตามศูนย์การค้า หรือหอศิลป์ต่างๆ เพื่อจัดงาน อาจารย์จะอยากทำหรือไม่

แน่นอนว่า อาจารย์ปฏิเสธทันที

จึงมีอีกคำถามตามมาว่า แล้วถ้าจัดที่บ้าน อาจารย์จะว่าอย่างไร คราวนี้อาจารย์ตอบรับสั้นๆ ว่า “ทำ”

‘ตุ๊กตา โกนจุก’ พ.ศ. 2530 สูง 22-23 ซม.

หลังจากนั้นคณะทำงานจึงมีการเตรียมการเรื่องสถานที่ ซึ่งด้วยความจำกัดของพื้นที่ที่ไม่สามารถทำให้เป็นห้องขนาดใหญ่เพื่อจัดแสดงผลงานทั้งหมดพร้อมกันได้ จึงเป็นที่มาของความคิดในการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งพี่ต๋องบอกว่าอาจารย์เป็นผู้คัดเลือกผลงานที่จะนำมาจัดแสดงด้วยตัวเอง และด้วยผลงานที่มีอยู่มากมาย ก็สามารถจัดแสดงไปได้อีกนานทีเดียว ก่อนจะย้ายไปจัดแสดงที่ ‘พิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อการเรียนรู้ศิลปะ’ ณ ถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม กรุงเทพฯ ซึ่งทางมูลนิธิฯ กำลังก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่รวบรวมศิลปวัตถุสำคัญของชาติไว้ และยังมีโรงมหรสพสำหรับจัดแสดงหุ่นกระบอกด้วยระบบเวที แสง สี เสียง อย่างเต็มรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งแรกในประเทศ

การจัดนิทรรศการหมุนเวียนในครั้งนี้ และครั้งต่อๆ ไป จึงเป็นเหมือนการทดลองและเป็นการเตรียมงาน เพื่อการเปิดพิพิธภัณฑ์เต็มตัวในอนาคต

‘พระอาทิตย์ทรงรถ’ สีน้ำมันบนกระดาษ พ.ศ.2534 ขนาด 56 x 76 ซม.

‘คลองตะเคียน เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี’ วาดเส้นปากกาบนกระดาษ พ.ศ. 2547 ขนาด 27.5 x 37.5 ซม.

กำหนดการจัดแสดงนิทรรศการที่ปักหมุดในครั้งแรกคือเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนออกไปเนื่องด้วยปัญหาด้านสุขภาพของอาจารย์ คณะลูกศิษย์จึงรอจนเห็นว่าอาจารย์แข็งแรงขึ้น และเลือกวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ซึ่งเป็นวันเกิดอาจารย์ เป็นฤกษ์ดีในการเปิดนิทรรศการ โดยมีแขกที่มาร่วมอวยพรวันเกิดอาจารย์และสื่อมวลชนได้เข้าชมก่อน

ภาพที่ทำให้ทุกคนมีความสุขที่สุดในวันนั้น คืออาจารย์จักรพันธุ์ได้ร่วมในพิธีทำบุญ โดยมีพระภิกษุสงฆ์ และแม่ชีจากวัดเขาสุกิม พร้อมพระภิกษุสงฆ์จากวัดยายแพง วัดสอยดาว จังหวัดจันทบุรีมาร่วมในพิธี หลังเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ อาจารย์ได้เป็นประธานทำพิธีเปิดนิทรรศการ  และชมการเชิดหุ่นกระบอกไหว้ครูเบิกโรง พร้อมร่วมพิธีแถลงข่าวด้วยใบหน้าที่สดชื่น

คุณพันธุ์ศักดิ์  จักกะพาก ศิษย์เอกอีกท่านของอาจารย์ และคุณวัลลภิศร์ เป็นตัวแทนอาจารย์ในการตอบข้อซักถาม และนำชมนิทรรศการ ที่มีทั้งจิตรกรรมร่วมสมัย จิตรกรรมแนวไทยประเพณี  ประติมากรรม และผลงานหุ่นกระบอก ที่ผสานด้วยงานประณีตศิลป์ นาฏดุริยางคศิลป์ และผลงานวรรณกรรม อันเปี่ยมด้วยคุณค่าทางสุนทรียภาพ สร้างสรรค์ขึ้นด้วยความรักด้วยความลึกซึ้งในการทำงานศิลปะ จนสามารถถ่ายทอดลายเส้น สี และฝีแปรงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมีชีวิต

นิทรรศการหมุนเวียนจะเปลี่ยนทุก 4 เดือน ในครั้งแรก ผู้มาชมได้จะได้ชื่นชมผลงานภาพเหมือนหรือพอร์เทรต ผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดี  นาฏศิลป์ไทย ธรรมชาติ และผู้คน ที่เขียนด้วยเทคนิคต่างๆ กัน ทั้งสีน้ำมันบนผ้าใบ สีน้ำมันบนไม้อัด สีน้ำบนกระดาษ สีชอล์กบนกระดาษ สีปาสเทลบนกระดาษ ผลงานหุ่นกระบอกที่อาจารย์ทำขึ้น ตั้งแต่เรื่องแรกที่แสดงคือ-พระอภัยมณี มาจนถึงเรื่องล่าสุด-ตะเลงพ่าย งานปักผ้าม่านการแสดงหุ่น งานปักชุดละคร  ฉากแสดงหุ่น

อยากบอกว่าผู้ที่ได้มาชม จะไม่สามารถละสายตาไปจากผลงานของท่านได้แม้แต่วินาทีเดียว

การเข้าชม-เมื่อผ่านช่องประตูห้องนิทรรศการแล้วให้วนไปทางซ้าย แต่ละตู้จะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษกำกับตามลำดับ  ภาพแรกที่อยู่ด้านข้างประตู เป็นผลงานที่อาจารย์จักรพันธุ์รักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ชื่อภาพ ‘พรานบุณจับนางมโนห์รา’ เทคนิคสีฝุ่น บนผ้าเนื้อละเอียด ขนาด 80.5×65.7 ซม. เขียนเมื่อ พ.ศ.2508  ซึ่งเป็นปีที่อาจารย์ยังเป็นนักศึกษาที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัย ศิลปากร

“อาจารย์เล่าว่าเป็นงานเรียนวิชาศิลปะไทย เป็นงานชิ้นสุดท้ายก่อนจบ  อาจารย์เฟื้อ (หริพิทักษ์) เป็นคนสอน งานนี้อาจารย์เฟื้อให้ทุกคนวางองค์ประกอบภาพเอง ไม่ให้ลอกตามแบบ แล้วอาจารย์ก็เขียนภาพนี้มาส่ง พออาจารย์เฟื้อเห็นงานก็เรียกอาจารย์ไปพบ แล้วถามว่า ‘จักรพันธุ์ชอบศิลปะไทยหรือ ชอบเขียนภาพไทยหรือ’

“พออาจารย์บอกว่าชอบ อาจารย์เฟื้อเห็นแววก็บอกว่า ‘อย่าทิ้งนะ เพราะมีคนน้อยที่รักวิชานี้’ คืออาจารย์เฟื้อเป็นคนรักศิลปะไทย เป็นคนต่อสู้ ให้มีวิชานี้ในมหาวิทยาลัย

“งานชิ้นนี้อาจารย์ไม่ยอมขาย เหตุผลที่จะไม่ขายรูปคือถ้าเกิดอยู่ไปนานๆ แล้วผูกพันกับรูปไหนก็ไม่ขาย คืออาจารย์เป็นคนฐานะปานกลาง ไม่ได้ร่ำรวย ถ้าอาจารย์รวยก็คงไม่ขายอะไรสักอย่าง เพราะอาจารย์รักงานของตัวเองมาก”

ฟังคำบอกเล่าของพี่ต๋อง วัลลภิศร์แล้ว ทำให้เรายืนเพ่งพินิจภาพนี้ด้วยความชื่นชมอยู่นาน จนต้องบอกตัวเองว่า แค่ผลงานชิ้นแรก ก็สะกดให้ใช้เวลาขนาดนี้  แล้วอีกทั้งห้องจะต้องใช้เวลาแค่ไหน

ภาพที่ 2 ที่เห็นแล้วน้ำตาซึม…เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร’ ที่งามมาก เขียนด้วยสีปาสเทลบนกระดาษ 50×70 ซม.  ภาพนี้ตั้งอยู่บนขาตั้งให้ชมได้อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับ พระบรมสาทิสลักษณ์ ‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9’ ที่เขียนด้วยเทคนิคและขนาดเท่ากัน ตั้งอยู่อีกข้างของช่องตัวยู ที่เราต้องเข้าชมต่อไป

‘พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร’ สีปาสเตลบนกระดาษ พ.ศ.2528 ขนาด 50 x 70 ซม.

‘สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ สีปาสเตลบนกระดาษ พ.ศ. 2552 ขนาด 50 x 70 ซม.

ตู้ทางด้านซ้ายมือทั้งหมดจัดแสดงหุ่นกระบอกจากเรื่องต่างๆ มีทั้งหุ่นโบราณที่ได้รับมาจากครูชื้น สกุลแก้ว ผู้ถ่ายทอดวิชาการเชิดหุ่นให้กับอาจารย์ และหุ่นที่อาจารย์ทำขึ้นเอง หัวหุ่นที่เก็บสะสม ทุกตู้น่าดูหมด โดยมีคำอธิบายสั้นๆ กำกับไว้ แต่ที่ตื่นตาตื่นใจมาคือฉากและหุ่นกระบอกชุดสามก๊กที่จัดแสดงขึ้นเมื่อ พ.ศ.2532

จากนั้นจึงเป็นตู้ของงานจิตรกรรม เริ่มด้วยผลงานไฮไลท์ ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันพระแม่คงคา พ.ศ.2553  

เมื่อเราไล่ดูภาพเขียนไปจนสุด จะเห็นห้องกระจกที่ใหญ่เท่าความยาวของห้อง มีฉากและหุ่นตะเลงพ่ายจัดแสดงให้ชมอย่างตระการตา  

เมื่อชมผลงานในห้องนี้จบแล้ว ให้เข้าไปในห้องที่อยู่ถัดไป เดิมทีเป็นพื้นที่ทำงานของช่างฝีมือ แต่ถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการไปแล้ว ไฮไลท์ของห้องนี้คือพระพุทธรูปสำคัญ ‘พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย’ หน้าตัก 30 นิ้ว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ที่ใช้เป็นพระประธานในการแสดงหุ่นกระบอกชุดตะเลงพ่าย  และยังมีประติมากรรมต้นแบบ ทศกัณฐ์ จากเรื่องรามเกียรติ์ รวมทั้งงานประณีตศิลป์และผลงานต้นแบบหรือแบบร่างอื่นๆ ที่หาชมได้ยาก ซึ่งไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน

ที่น่าชมที่สุดคือการจำลองสถานที่ทำงานของอาจารย์จักรพันธุ์ ด้วยอุปกรณ์การทำงานจริงที่เปิดให้ได้ชมแบบใกล้ชิด

ไฮไลท์อีกจุดที่แนะนำว่าไม่ควรพลาด คือภาพเขียนสีชอล์กด้วยมือซ้าย ผลงานชิ้นล่าสุดของอาจารย์ แต่อยู่ตรงไหน ขอให้ลองหาดูกันนะคะ

การมาชมนิทรรศการครั้งนี้ เหมือนเราได้เติมความชุ่มชื่นในหัวใจ และทำให้มีความหวังว่าศิลปะไทยทุกแขนงที่อาจารย์สรรค์สร้างขึ้นจะไม่มีวันสูญหายไปไหน เพราะจุดประสงค์ของการจัดแสดงงานครั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และสืบทอดความรู้ให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจได้รับประโยชน์จากการศึกษาผลงานบรมครูศิลปินแห่งชาติ  ได้เห็นว่า คนที่มีความสามารถขนาดนี้ มีร่องรอยการทำงานอย่างไร มีวิธีการทำงานอย่างไร เมื่อได้ดู ได้ซึมซับและได้ศึกษาแล้ว ขอให้เก็บเอาสิ่งที่ได้ไปต่อยอด ไปเป็นแรงผลักดัน และแรงบันดาลใจ ให้เติบโตขึ้นในเส้นทางสายนี้

ตอนเดินกลับออกมา ฉันได้อ่านประโยคบนผนังก่อนทางเข้าห้องนิทรรศการอีกครั้ง

ช่างเป็นบทสรุปการชมนิทรรศการนี้ได้อย่างตรงใจจริงๆ

Fact Box

นิทรรศการหมุนเวียนครั้งนี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันอาทิตยที่ 19 สิงหาคม-วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2561 เข้าชม ได้ทุกวัน (ไม่มีวันหยุด) ตั้งแต่เวลา 13.00-16.30 น. ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เลขที่ 49/1 ถนนสุขุมวิท 63 (ซอยเอกมัย) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (ตรงข้ามบิ๊กซี สาขาเอกมัย)

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-392-7754  หรือ 087-332-5467

บัตรเข้าชมราคา 100 บาท และสำหรับนักเรียน นักศึกษาผู้ที่แต่งเครื่องแบบ บัตรราคา 50 บาท

 

Tags: , , , ,