จากกรณีข่าวที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก จ. สระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ได้ โดยมีเนื้อที่รวม 3,223 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ทำให้เกิดประเด็นข้อสงสัยขึ้นมาว่า พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาตินั้นสามารถอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ได้หรือไม่

ตาม พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 17 วรรคสามกล่าวว่า “พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมือง ต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ” ซึ่งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ แต่เมื่อพิจารณา พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ 2559 มาตรา 16 (2) กล่าวว่า “การเข้าทําประโยชน์เกี่ยวกับการทําเหมืองแร่ ตามกฎหมายว่าด้วยแร่คราวละไม่เกินสิบปี โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตเก็บหาของป่า และไม่ต้องเสียค่าภาคหลวงของป่าตามพระราชบัญญัตินี้ สําหรับแร่ ดินขาว หรือหิน แล้วแต่กรณี”

ซึ่งหมายความว่า มีการเปิดโอกาสให้เข้าทำประโยชน์เกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ในพื้นที่เขตป่าสงวนได้ (ซึ่งจะพบว่ามีการบัญญัติข้อกฎหมายนี้ตั้งแต่ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ 2507)

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 ฉบับใหม่นี้ ก็คือ “การกำหนดเขตทรัพยากรแร่” โดยเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อครั้งที่ยังเป็นเพียงร่างกฎหมายในเว็บไซต์ iLaw ว่า “เรื่องที่น่าห่วงในร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับนี้ คือ คนร่างต้องการบรรลุเป้าหมายสามเรื่อง หนึ่ง ต้องการเขตทรัพยากรแร่ หรือ Mining Zone คือประกาศเขตการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ที่เคยหวงห้ามไว้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าภายใต้กฎหมายป่าไม้ฉบับต่างๆ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีความอ่อนไหวทางระบบนิเวศแค่ไหนก็ตาม จะต้องให้ความสำคัญกับการประกาศให้เอกชนประมูลเพื่อสำรวจและทำเหมืองแร่ก่อนการสงวนหวงห้าม ขณะที่ตามกฎหมายเดิมกำหนดว่า จะต้องคำนึงถึงการสงวนหวงห้ามเป็นอันดับแรก ก่อนนำมาเปิดให้สัมปทานแร่”

และอีกประเด็นที่สำคัญก็คือการลดขั้นตอนการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ให้สั้นลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความรวดเร็วต่อเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน

พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 จัดทำขึ้นใหม่โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างไปจาก พ.ร.บ. แร่เดิม ซึ่งเป็นผลมาจาก “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564” ซึ่งจัดทำขึ้ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีโดย คสช.

และหากพิจารณาจาก “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564” จะพบว่า นอกจากประเด็นการกำหนดเขตทรัพยากรแร่และขั้นตอนการออกสัมปทานที่น่าเป็นห่วงแล้ว เหมืองแร่โปแตชและแร่ทองคำคือเป้าหมายความสนใจที่กำลังจะถูกขยับขยายภายใต้ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปีฯ นี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข่าวคราวการออกมาประท้วงของผู้คนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่กำลังจะกลายเป็นเขตแร่ทั้งโปแตชและทองคำก็ตาม

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • https://ilaw.or.th/node/4065
  • http://www.dmr.go.th/download/Law/พระราชบัญญัติแร่%20พ.ศ.2560.pdf
  • http://www.dmr.go.th/ewtadmin/ewt/minerals/download/mineral/(ร่าง)%20ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่%2020%20ปีและแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่%20พ.ศ.%202560-2564.pdf
  • http://forestinfo.forest.go.th/Content/file/forest_low/forest-law2559.pdf
Tags: ,