สำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดน สหรัฐอเมริกา หรือ CBP ออกคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มจากบริษัท FGV โฮลดิ้งส เบอร์ฮาด ผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน มาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 กันยายนหลังจากตรวจพบว่ามีการใช้แรงงานบังคับ รวมทั้งแรงงานเด็ก และยังละเมิดสิทธิแรงงานอีกหลายอย่าง เช่น กระทำความรุนแรงทั้งทางกายและทางเพศ 

คำสั่งนี้มีขึ้นหลังจากที่ CBP ติดตามการใช้แรงงานของบริษัทมานานนับปี แล้วพบการละเมิดสิทธิแรงงานหลายด้านว่า มีการใช้ความรุนแรงทางกายและความรุนแรงทางเพศ นายจ้างยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้าง  การจ้างงานให้ลูกจ้างเป็นแรงงานขัดหนี้ รวมทั้งไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง CBP รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น รายงานข่าว รายงานขององค์กรพัฒนาเอกชน 

เบรนดา สมิธ ผู้ช่วยผู้อำนวยการคณะกรรมการการค้าของ CBP กล่าวว่า สำนักงานของเธอยังตรวจเจอการใช้แรงงานเด็ก ในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มของบริษัท “การใช้แรงงานบังคับในห่วงโซ่อุปทานเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายบังคับให้ธุรกิจนำเข้าสินค้าต้องรับประกันว่าห่วงโซ่อุปทานของตนเองสะอาด” 

หลังทราบข่าว FGV ออกแถลงการณ์แสดงท่าทีผิดหวังต่อคำสั่งห้าม และกล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแสดงว่าบริษัทมีพันธะต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นในมาตรฐานแรงงานแล้ว บริษัทไม่ยอมรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ บริษัทปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า ยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างไว้ แต่อธิบายว่าบริษัทติดตั้งกล่องนิรภัยกว่า 32,000 กล่องในโรงงาน 68 แห่งเพื่อให้ลูกจ้างเก็บหนังสือเดินทางได้อย่างปลอดภัย

 FGV พึ่งพาแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก โดยมีชาวอินโดนีเซียมากกว่า 10,000 คน และเกือบ 5,000 คนเป็นชาวอินเดีย ทั้งนี้ FGV ระบุว่าได้ปรับปรุงกระบวนการจ้างงานแล้ว และลงทุนไปกว่า 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงห้องพักของคนงานในโรงงานต่างๆ

จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ FGV บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียระบุไว้ว่า สัดส่วนการผลิตผลิตน้ำมันปาล์มของบริษัทคิดเป็น 15% ของน้ำมันปาล์มทั้งหมดของมาเลเซีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก หลังข่าวเผยแพร่ออกมา หุ้นของบริษัทตกลงไป 8%

น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ตั้งแต่อาหาร เครื่องสำอาง ไปจนถึงไบโอดีเซล บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น เนสท์เล่ ลอริอัล และยูนิลีเวอร์ก็ใช้น้ำมันปาล์มของบริษัท คำสั่งนี้ทำให้เรือสินค้าของบริษัทต้องจอดอยู่ที่ท่าเรือ สมิธกล่าวว่า สินค้าจำนวนมากที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งนี้ CBP  เชื่อว่าคำสั่งนี้ไม่มีผลกระทบมากนักต่ออุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกา 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวเอพีเพิ่งรายงานข่าวการขูดรีดแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มในมาเลเซีย อินโดนีเซีย

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/business-54366607

https://edition.cnn.com/2020/09/30/politics/cbp-palm-oil-malaysia-forced-labor/index.html

https://www.voanews.com/east-asia-pacific/malaysia-palm-oil-producer-vows-clear-name-after-us-ban

ภาพ: REUTERS/Lim Huey Teng