สังคมไทยตื่นตัวกับการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนต์ (E-Payment) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินผ่านคิวอาร์โค้ด (QR Code) หรือการโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิง (Internet Banking) ทั้งฝั่งผู้ประกอบการธุรกิจและผู้บริโภคต่างเริ่มปรับตัวเพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลที่เข้ามาอำนวยความสะดวก และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

ดูตัวอย่างจากประเทศจีน ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่ามีลักษณะเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ก่อนหน้านี้ จีนใช้เวลาร่วมสิบปีในการวางพื้นฐานและสร้างความคุ้นเคยกับระบบอีเพย์เมนต์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในตลาด

พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป (Ant Financial Services Group) ผู้พัฒนาและให้บริการแอปพลิเคชัน ‘อาลีเพย์’ (Alipay) จากแดนมังกรให้สัมภาษณ์ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมไร้เงินสดประสบความสำเร็จได้ในจีน เกิดจากปัญหาการเข้าไม่ถึงของสินค้าและบริการในหลายพื้นที่ของแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาพึ่งการซื้อขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) กันมากขึ้น

“อาลีเพย์เกิดจากการเป็นช่องทางชำระเงิน (Payment Method) ให้กับบริการอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา (Alibaba) ที่เปิดพื้นที่ให้คนจีนเข้ามาขายของ ซึ่งต่อมาได้ถูกพัฒนาเป็น อี-วอลเล็ต (E-Wallet) เพย์เมนต์แพลตฟอร์ม (Payment Platform) สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินที่มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าชาวจีนอย่างครบวงจร เพราะลูกค้ามีความต้องการมากกว่าแค่การซื้อของบนเว็บไซต์”

ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายเงินผ่านระบบดิจิทัล ยังมีอิทธิพลแง่บวกที่มากกว่าเรื่องความสะดวกสบายของลูกค้า

เพราะมันยังสร้างประโยชน์ด้านการตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านบนโลกออฟไลน์ด้วย โดยพิภาวิน เรียกมันว่า O-2-O หรือ Online-to-Offline Solution ที่ลูกค้าสามารถจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

“ทุกวันนี้คนจีนก็ใช้จ่ายผ่านมือถือ ซึ่งนับว่าอวัยวะชิ้นที่ 33 การซื้อขายไม่ได้เกิดบนออนไลน์อย่างเดียวแล้ว และนอกจากอาลีเพย์จะเป็นเพย์เมนต์แพลตฟอร์ม มันยังเป็นผู้ช่วยด้านการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ ด้วยการเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับร้านค้า โดยการให้ข้อมูลบนแอปพลิเคชั่น และดึงดูดลูกค้าชาวจีนมายังหน้าร้านได้”

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมไร้เงินสดประสบความสำเร็จได้ในจีน เกิดจากปัญหาการเข้าไม่ถึงของสินค้าและบริการในหลายพื้นที่ของแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาพึ่งการซื้อขายผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce)

ให้บริการเฉพาะลูกค้าจีน ผ่านการควบคุมของแบงก์ชาติจีน

ความปลอดภัยในทรัพย์สินบนระบบคลาวด์ (Cloud) เป็นประเด็นสำคัญเบื้องต้นของระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ใช้มักเป็นกังวลอยู่บ่อยครั้ง ว่าผู้ให้บริการจะสามารถรักษาให้เงินในกระเป๋าของพวกเขาอยู่ครบได้อย่างไร

ในประเด็นนี้ พิภาวิน อธิบายว่า อาลีเพย์ใช้แนวคิด KYC หรือ Know Your Customers (รู้จักลูกค้าของคุณ) โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานผ่านการควบคุมของแบงก์ชาติจีน และการออกแบบระบบที่สร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้ได้ว่าไม่ถูกเอาเปรียบ

“เราเริ่มพัฒนาเพย์เมนต์แพลตฟอร์มให้กับอาลีบาบา เวลาลูกค้าจะซื้อของก็โอนเงินมาที่เราก่อน เราจะช่วยถือเงินลูกค้าไว้จนกว่าลูกค้าได้รับของและมั่นใจว่าเป็นสินค้าที่ถูกต้อง เราจึงปล่อยเงินให้กับผู้ขาย ทำให้เราเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความเชื่อถือ ทั้งสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย

“ผู้ที่จะใช้อาลีเพย์ต้องมีหมายเลขบัตรประชาชน บัญชีธนาคาร และหมายเลขโทรศัพท์ที่เมืองจีน จึงจะใช้บริการได้ เพราะว่าเราถือว่าลูกค้าต้องได้รับการยืนยันจากแหล่งที่มาที่หน้าเชื่อถือซึ่งก็คือ ‘ธนาคาร’ ตามกฎของแบงก์ชาติจีน”

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้อาลีเพย์ไม่มีบริการสำหรับคนไทย เพราะจำกัดให้สำหรับผู้ใช้บริการชาวจีนเท่านั้น อาลีเพย์จึงดำเนินธุรกิจผ่านความร่วมมือกับบริษัทในประเทศ (Local Corporation) ซึ่งอาลีเพย์ร่วมมือกับทรูมันนีย์ในประเทศไทย ภายใต้การควบคุมของแบงก์ชาติ

เคสการใช้งานคือสิ่งที่จะทำให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

แล้วเมื่อไร ฝันเรื่องสังคมไร้เงินสดจะเป็นจริงในประเทศไทย คงเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย เพราะในเวลานี้ เมื่อเทียบกับจีนแล้ว บรรยากาศความตื่นตัวและปัจจัยความพร้อมที่จะเอื้อให้มันเกิดขึ้นในประเทศไทยยังไกลจีนอยู่มาก

พิภาวินกล่าวว่า พื้นที่อันกว้างใหญ่และจำนวนประชากรมหาศาลของจีน นำมาซึ่งกรณีการใช้งาน (Use Case) ที่หลายหลาย จากทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการณ์ ทำให้ธุรกิจด้านอี-เพย์เมนต์ในจีน มีการวางแผนและรับมือจนครอบคลุมเกือบทุกปัญหา ให้เกิดความเสถียรในสังคมไร้เงินสด

อย่างไรก็ตาม พิภาวินอธิบายว่า จุดต่างของตลาดไทยและตลาดจีนคือการเริ่มต้นของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมมากในจีน แต่ในประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อี-คอมเมิร์ซยังไม่ได้โตมาก จึงเป็นการบ้านใหญ่สำหรับฝั่งรัฐบาล ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี และผู้ประกอบการธุรกิจด้านสินค้าและบริการในการผลักดันให้กลุ่มผู้บริโภคตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของสังคมไร้เงินสดมากขึ้น

“ระดับความตื่นตัวของในไทยอยู่ในระดับ Early Adopter ซึ่งเริ่มเห็นความตื่นตัวกันแล้ว ถ้าเทียบกับที่จีนพวกเขาคงจบดอกเตอร์ไปแล้ว”

“จริงๆ มันเป็นเรื่องของความคุ้นเคยและเรื่องของความเชื่อมั่นว่าการใช้อี-วอลเลต สะดวกกว่าจริงไหม ปลอดภัยหรือเปล่า เพราะหลายคนก็มองว่าอี-วอลเลตมันไม่เหมือนธนาคาร การที่ธนาคารหลายแห่งในบ้านเรา เข้ามาในซีนนี้มากขึ้น ก็ช่วยทำให้ประเด็นนี้มีความสำคัญมากขึ้น

“ระดับความตื่นตัวของในไทยอยู่ในระดับ Early Adopter ซึ่งเริ่มเห็นความตื่นตัวกันแล้ว ถ้าเทียบกับที่จีนพวกเขาคงจบดอกเตอร์ไปแล้ว แต่ที่สำคัญมันต้องมีเคสการใช้งานที่คนใช้จริงแล้วเห็นว่ามันสะดวกและมีประโยชน์ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ มาบังคับให้เราใช้ ถ้าคนคิดว่าใช้เงินสดสะดวกกว่า อี-วอลเลตก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์”

“ที่จีนเริ่มตอนปี 2003 พอมันเริ่มโตแล้วมันค่อยๆ มีโมเมนตัม พอเวลามันหมุน มันจะเร็วขึ้นเยอะ เราคิดว่าพวกบริการที่อำนวยความสะดวกจะช่วยกระตุ้นให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นได้มาก แต่ในเคสของเมืองไทยมันเหมือนเพิ่งจะเริ่ม เพราะฉะนั้น พอเริ่มมีคนใช้เยอะขึ้น เราก็น่าจะเห็นคนใช้เยอะขึ้น ซึ่งภายในสองปีนี้ เราน่าจะเห็นอะไรที่เป็น ไลฟ์สไตล์ไทยแลนด์ 4.0 มากขึ้น”

Tags: , , , , ,