เรียนรู้จากการลงพื้นที่
00.49
ประเด็นหนึ่งที่คนเห็นชัด และยกย่องคุณตันเป็นอย่างมากก็คือเรื่องของการตลาด แคมเปญต่างๆ ถูกส่งออกมามากมายและประสบความสำเร็จแทบจะทุกตัว หนุ่มเมืองจันท์บอกว่าความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งมาจากการลงไปสัมผัสกับคน ไม่ใช่แค่นั่งดูข้อมูลเฉยๆ แล้วสั่งการ อย่างโลโก้ของชาเขียวแกก็เปลี่ยนหลายรอบ เพราะแม้จะออกแบบสวย แต่มันเป็นโลโก้ที่ชาวบ้านอ่านกันไม่ออก ก็ปรับแก้กันไป ดูรายละเอียดกันถึงขนาดว่าต้องมีภาษาอังกฤษกี่ตัว และไม่ว่าจะดูมุมไหนก็สามารถร๔้ได้ว่านี่คือชาเขียวของเค้า ซึ่งแกจะชอบมากเวลาไปยืนดูคน หรืออย่างตอนทำหนังโฆษณาแกก็บอกว่าไม่ต้องเอาไอเดียมาเสนอ ให้ทำตัวสุดท้ายแล้วค่อยเอามาให้ดูเลย เพราะผู้บริโภคเป็นคนที่ได้ดูแค่ผลงานสุดท้ายเหมือนกัน และคนที่มีสิทธิ์ตัดสินใจที่สุดว่าโฆษณาผ่านหรือไม่ผ่านคือแม่บ้าน นักบัญชี และพนักงานทั่วไป เพราะนี่คือกลุ่มเป้าหมายที่จะบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ ไม่ใช่ฝ่ายการตลาด
ที่มาของชื่อ ‘เย็นเย็น’
03.53
ชื่อของแบรนด์ เย็นเย็น นั้น หนุ่มเมืองจันท์เคยคุยกับนักการตลาดหลายคน เค้าบอกว่าถ้าไม่ใช่เจ้าของแบรนด์ตั้งเองเชื่อว่าชื่อนี้ไม่มีทางผ่านแน่นอน เพราะดูเชย แต่ความจริงแล้วมันเป็นแบรนด์ที่กระทบใจผู้บริโภคมาก ซึ่งชื่อนี้มาจากตอนที่คุณตันกลับบ้านไปตัดผม ตัดเสร็จก็เจอป้าคนนึงสั่งเด็กว่า “ไปซื้อเครื่องดื่มเย็นๆ มาขวดนึง” คุณตันก็อยากรู้ว่าเด็กคนนี้จะไปซื้ออะไรเลยเดินตามไปดู ซึ่งเด็กก็สั่งว่า “เอาเครื่องดื่มเย็นๆ ขวดนึง” คุณตันเลยเกิดไอเดียว่าถ้าเค้ามีเครื่องดื่มชื่อ เย็นเย็น ตอนนั้นมันคงขายได้ขวดนึงแล้วล่ะ คุณตันเลยกลับมาตั้งชื่อน้ำจับเลี้ยงของตัวเองด้วยชื่อนี้
ลงเดินสำรวจตลาด
06.59
หนุ่มเมืองจันท์เล่าว่าตอนไปทำงานด้วยกัน เวลาว่างๆ คุณตันจะชวนไปเดินเล่น ซึ่งแกก็จะแวะคุยกับคนไปตลอดทาง และที่แวะบ่อยที่สุดคือร้านเซเว่นอีเลเว่นที่เป็นจุดขายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของแก ก็จะไปแอบดูว่าคนถืออะไร เวลาคนผ่านตู้แช่ก็จะดูว่าเค้าดูตรงไหน หยิบอะไร สังเกตละเอียดมาก ที่สำคัญคือคุณตันจะขอให้พนักงานเอาเครื่องยิงบาร์โค้ดยิงที่สินค้าตัวเอง ซึ่งตัวเครื่องนั้นมันสามารถดูข้อมูลได้ว่าสินค้าแต่ละอย่างขายไปได้เท่าไหร่แล้ว คุณตันก็ได้รู้ข้อมูลแบบถึงที่ เช็กแบบสุ่มตัวอย่าง และเริ่มประเมินสินค้าของตัวเองได้เลย ซึ่งคล้ายกับที่คุณกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่เดินสำรวจตลาดแผงหนังสือพิมพ์ในช่วงแรกๆ เช่นเดียวกัน
คุณตัน = แบรนด์
08.56
โฆษณาของคุณตันแต่ละตัวที่ออกมาทุกคนคงรู้ว่าแกเล่นเองตลอด ซึ่งถือว่าเป้นคนที่ใช้ตัวเองเป็นแบรนด์ได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งวิธีการนี้มันมีสองด้านเสมอ คือการใช้ตัวเองนั้นทำให้คนจำแบรนด์ได้เร็ว ราคาถูก และสามารถเข้าถึงคนได้ง่าย แต่ด้านลบก็คือถ้าภาพลักษณ์ของเจ้าของมีปัญหาก็จะส่งผลกระทบกับแบรนด์ด้วย เป็นสิ่งที่ต้องระวัง
พนักงานคือหุ้นส่วน
10.05
คุณตันถือเป็นคนที่มีความคิดนอกกรอบมากคนหนึ่ง อย่างตอนทำ wedding studio นอกจากจะหุ้นกับหุ้นส่วนแล้ว แกยังให้พนักงานในร้านถือหุ้นด้วย ให้มีการกำไรขาดทุน รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท และที่สำคัญคือมีการแบ่งปันผลทุกเดือน ทุกคนก็จะมีกำลังใจในการทำงาน เห็นผลทันทีไม่ต้องไปรอถึงปลายปี
ถ้าเพียงแค่พูดคนอาจจะฟัง แต่ถ้าลงมือทำคนจะเชื่อ
11.55
คุณตันเป็นคนที่เชื่อในการลงมือให้เห็น ในหนังสือ ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน แกเคยพูดไว้ว่า “ถ้าเพียงแค่พูดคนอาจจะฟัง แต่ถ้าลงมือทำคนจะเชื่อ” ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือตอนที่คุณตันทำร้านอาหาร แกบอกว่าตามปกติเวลาร้านเปิดใหม่คนที่จะลาออกก่อนคือพนักงานล้างจาน เพราะวันเปิดร้านวันแรกคนจะเยอะ และพนักงานที่รับมาใหม่ไม่เคยล้างจาน พอเจอกองจานเยอะๆ ก็จะถอดใจ ไม่กี่วันก็ลาออก เพราะฉะนั้นวันแรกๆ ที่ร้านของคุณตันทุกคนจะต้องมาช่วยกันล้างจานเพื่อช่วยผ่อนแรง และหลังจากนั้นเมื่อระยะเวลาผ่านไปจำนวนงานก็จะลดลงมาจนเท่ากับความสามารถของพนักงานพอดี
อีกบทเรียนหนึ่งคืองานแรกที่คุณตันจะทำในร้านอาหารก็คือล้างส้วมให้พนักงานดู เพราะเป็นงานที่คนรังเกียจที่สุด ทำให้เห็นว่าขนาดงานที่คนรังเกียจที่สุดเจ้าของยังทำ หลังจากนั้นพอบอกให้พนักงานทำอะไรพนักงานก็จะเชื่อฟัง นับถือ และสุดท้ายก็จะเลียนแบบจนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เข้าสู่หัวใจคน
15.02
คุณตันเป็นคนที่เข้าไปสู่หัวใจผู้คนได้อย่างรวดเร็ว อย่างตอนวิกฤติน้ำท่วม คุณตันก็ไม่ใช่แค่นั่งเรือไปลงพื้นที่ดูโรงงานของตัวเอง แต่แกลุยน้ำเข้าไปในโรงงาน ใครให้ออกมาก็ไม่ออก แกบอกว่าถ้าเป็นกัปตันก็ต้องอยู่เป็นคนสุดท้ายสิ ซึ่งถือว่าได้ใจคนเยอะมาก และพอน้ำลดแกก็ไปบริจาคของผู้ประสบภัย ซึ่งของที่แกแจกนั้นไม่ใช่เครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไป แต่คือประตู คุณตันบอกว่าพอลงพื้นที่แล้วได้รู้ว่าสิ่งที่คนต้องการจริงๆ คือการปิดกั้นความเป็นส่วนตัว คนจะเข้าห้องน้ำถ้าไม่มีประตูมันไม่มีความสุขแน่นอน นี่คือสิ่งที่คุณตันได้จากการลงพื้นที่จริงๆ
ใช้เทคโนโลยีให้เป็น
20.38
แม้จะไม่ได้จบการศึกษาสูง แต่คุณตันถือเป้นคนที่นำเทคโนโลยีมาใช้ได้เก่งมาก โรงงานของแกเป็นโรงงานที่แทบจะไม่ได้ใช้คนเลย มีนิ้วๆ เดียวก็สามารถทำงานได้ ซึ่งก่อนที่จะเอามาใช้นั้นแกซักละเอียดมากจนรู้เรื่องดีกว่าผู้จัดการโรงงาน แม้จะเป็นเรื่องยากแต่แกก็เรียนรู้ได้เพราะจับประเด็นได้เก่ง
อีกสิ่งคือเฟสบุ๊กที่ตอนนี้เป็นบุคคลที่มีคนตามมากที่สุดในประเทศไทย ถือว่ามาแรงและมาก่อนกาลนานกว่าคนอื่นมากทั้งที่ใช้มือถือเป็นไม่กี่แอพฯ ซึ่งคุณตันรู้ว่านี่คือโอกาสใหม่ทางธุรกิจ เพราะเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ถูกมาก เมื่อจับทางได้แกก็เดินเร็วทันที
Tags: Life, หนุ่มเมืองจันท์, CARPE DIEM, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, สรกล อดุลยานนท์, work, งาน, การตลาด, การใช้ชีวิต, ตัน ภาสกรนที