Palme d’or หรือ รางวัลปาล์มทองคำ ไม่ต่างจากรางวัลของเทศกาลภาพยนตร์เมืองอื่นๆ ที่มักดึงสัญลักษณ์ของท้องถิ่นมาออกแบบเป็นถ้วยรางวัล ดังเช่นสิงโตทองคำแห่งเวนิสหรือหมีทองคำแห่งเบอร์ลิน

รางวัลปาล์มทองคำ เกิดขึ้นเมื่อปี 1955 คณะกรรมการผู้จัดงานเทศกาลภายใต้การนำของ โรแบรต์ ฟาเฟรอะ เลอ เบรต์ ได้เชิญช่างอัญมณีมาช่วยออกแบบรางวัลสำหรับผู้ชนะ นักออกแบบที่มีผลงานเข้าตาคณะกรรมการคือ ลูเซียนน์ ลาซอง ซึ่งผลงานถ้วยรางวัลจากการออกแบบของเธอตกเป็นของ เดลเบิร์ต มันน์ ผู้กำกับฯ ชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลจากเรื่อง Marty

ถ้วยรางวัลปาล์มทองคำได้รับการปรับเปลี่ยนหลายต่อหลายครั้ง การออกแบบครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อปี 1977 ในวาระครบรอบ 50 ปีของเทศกาล ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบจากบูติกโชปารด์ที่เป็นสปอนเซอร์หลักของงาน คาโรลีน กรูโอซี-ชอยเฟเล ออกแบบใบปาล์ม 19 ใบด้วยทองคำ 24 กะรัต และใช้งานฝีมือประดับขอบด้วยคริสตัล

นับตั้งแต่ปี 1998 ถ้วยรางวัลปาล์มทองคำคืองานฝีมือโดยช่างของโชปารด์ในเมืองไมย์ริน สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งใช้ช่างทองและช่างอัญมณี 7 คน และใช้เวลาทำงาน 40 ชั่วโมง

สำหรับเทศกาลครั้งที่ 70 ในปีนี้ ถ้วยรางวัลจะมีเพชรเม็ดเล็กประดับเพิ่มเติมอีก 167 เม็ดเป็นละอองดาวบนใบปาล์มทองคำ

Photo: REUTERS/Eloy Alonso

ตัวเต็งผู้คว้ารางวัลปาล์มทองคำประจำปีนี้คือ มิคาเอล ฮาเนเก ผู้กำกับฯ ชาวออสเตรียน ซึ่งหากได้รับรางวัล เขาจะเป็นผู้กำกับฯ คนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ 3 ครั้ง (จาก The White Ribbon, 2009 และ Amour, 2012)

มิคาเอล ฮาเนเก เกิดที่เมืองมิวนิก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1942 เป็นลูกชายของ ฟริตซ์ ฮาเนเก ผู้กำกับฯ และนักแสดงจากดุสเซลดอร์ฟ กับ เบอาทริกซ์ เดเกนชิลด์ นักแสดงท้องถิ่นชาวออสเตรียน เขาเติบโตและร่ำเรียนในเมืองใหม่ของกรุงเวียนนาจนอายุ 17 ปี จึงยุติการเรียนเพื่อไปเป็นนักแสดง แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ประสบความสำเร็จ เขาหวนกลับมาเรียนต่อด้านปรัชญา จิตวิทยา และการละคร แต่ไม่ทันสำเร็จการศึกษา เขาก็มุ่งไปทางโทรทัศน์ โดยได้งานฝ่ายผลิตหนังทีวีในบาเดน-บาเดน เยอรมนี

ในช่วงปี 1967-1971 ซึ่งเขาทำงานกับสถานีโทรทัศน์ในบาเดน-บาเดน ฮาเนเกเขียนบทหนังเรื่อง Wochenende (Weekend) ทว่าไม่ได้ถูกนำไปสร้าง หนังทีวีเรื่องแรกที่เขาทำคือ Ganze Tage in den Baeumen (All Day in the Trees) ซึ่งดัดแปลงบทจากนวนิยายของ มาร์เกอริต ดูราส์ และทำหนังทีวีอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะผละออกจากแวดวงทีวี ไปทำหนังยาวเรื่องแรก The Seventh Continent ในปี 1989 ซึ่งได้รับรางวัลเสือดาวบรอนซ์จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองโลคาร์โน และรางวัลทรงเกียรติด้านศิลปะภาพยนตร์ของออสเตรีย ที่สำคัญคือฮาเนเกค้นพบ ‘ภาษาหนัง’ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองจากเรื่องนี้

สำหรับเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2017 ฮาเนเกส่งผลงาน Happy End (เรื่องราวของครอบครัวชนชั้นกลางชาวยุโรปกับปัญหาผู้อพยพ) ซึ่งเป็นผลงานเรื่องที่ 8 และได้รับเชิญเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำเป็นครั้งที่ 7

ในเดือนกันยายน 2015 มิคาเอล ฮาเนเก ลงชื่อร่วมกับคนในวงการบันเทิงยุโรปกว่า 3,000 คน เพื่อรณรงค์ช่วยเหลือผู้อพยพที่ประสบปัญหาทางการเมือง ภายใต้แคมเปญ ‘For a Thousand Lives: Be Human’ โดยเรียกร้องให้สภายุโรปลงมติแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

Photo: REUTERS/Kacper Pempel

โรมัน โปลันสกี ผู้กำกับฯ เชื้อชาติโปแลนด์-ฝรั่งเศส สัญชาติอเมริกัน เป็นอีกคนที่แม้ไม่ได้มีชื่ออยู่ในลิสต์ผู้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ แต่เขาอยู่ในหมวด ‘ไร้คู่แข่งขัน’ ด้วยผลงานใหม่ Base on a True Story (หนังทริลเลอร์ชวนขนลุกเกี่ยวกับนักเขียนกับนักอ่านที่คลั่งไคล้) ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์ของ เดลฟีน เดอ วิกอง

ผู้กำกับฯ วัย 84 ปี เกิดที่กรุงปารีส มีพื้นเพมาจากครอบครัวชาวยิวที่อพยพจากโปแลนด์ไปใช้ชีวิตในฝรั่งเศส ก่อนที่จะหลบหนีภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจกลับไปตั้งรกรากที่บ้านเกิดเมืองนอน ภายหลังรอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โปลันสกีเลือกเรียนด้านศิลปะในคราคอฟ แต่เมื่อได้รู้จักกับ อันเดร ไวอิดา นักศึกษารุ่นพี่ เขาก็ถูกชักชวนให้ย้ายไปเรียนที่สถาบันภาพยนตร์วูดซ์ และในปี 1953 เขาก็ได้รับบทเล็กๆ ในหนังวิทยานิพนธ์เรื่อง Pokolenie (A Generation) ของไวอิดาด้วย

โปลันสกีแต่งงานกับ บาร์บารา เควียตคอฟสกา ดาราเด่นของวงการบันเทิงโปแลนด์วัย 19 ปี หลังจากได้เธอมาร่วมแสดงบทเล็กๆ ในหนังสั้นของเขา Two Men and a Wardrobe แต่ชีวิตคู่ของเขาและเธอก็จบลงในปี 1962 ปีเดียวกับที่เขาแจ้งเกิดในฐานะผู้กำกับฯ ด้วยผลงานเรื่อง Knife in the Water ขณะเดียวกัน เขาก็ถูกกดดันจากหน่วยงานวัฒนธรรมของรัฐ จนโปลันสกีต้องขอลี้ภัยจากโปแลนด์ไปอังกฤษ และในปี 1968 เขาก็ขอย้ายไปปักหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา

แต่ในปี 1977 โรมัน โปลันสกี จำต้องหลบหนีออกจากสหรัฐอเมริกา สาเหตุเพราะถูกดำเนินคดีข้อหาข่มขืนผู้เยาว์ เขาไปเก็บตัวเงียบอยู่ในลอนดอนระยะหนึ่ง ก่อนหลบลี้หนีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากอังกฤษไปปารีสอีกครั้ง แต่งงานครั้งใหม่ในปี 1989 กับนักแสดง เอมมานูเอลล์ ไซก์เนอร์ มีลูกด้วยกัน 2 คน ซึ่งทายาทของทั้งคู่ก็เป็นนักแสดง ทุกวันนี้เขาใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในเมืองคราคอฟของโปแลนด์

โรมัน โปลันสกี เคยได้รับรางวัลปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อปี 2002 จากผลงานเรื่อง The Pianist หนังไบโอ-ดรามาเกี่ยวกับชีวิตของ วลาดิสลาฟ สปิลมัน นักเปียโนยิวชาวโปแลนด์ที่รอดตายจากช่วงเวลาการยึดครองของนาซีเยอรมัน

 

อ้างอิง:

  • https://de.wikipedia.org/wiki/Goldene_Palme
  • http://www.spiegel.de/kultur/kino/cannes-festival-2017-michael-haneke-todd-haynes-und-fatih-akin-im-wettbewerb-a-1143253.html
  • https://de.wikipedia.org/wiki/Michael_Haneke
  • https://de.wikipedia.org/wiki/Happy_End_(2017)
  • https://de.wikipedia.org/wiki/Roman_Pola%C5%84ski
  • https://en.wikipedia.org/wiki/The_Pianist_(2002_film)
  • http://www.indiewire.com/2017/04/cannes-film-festival-roman-polanski-film-lineup-based-on-a-true-story-1201809928/

ภาพรางวัลปาล์มทองคำ:

  • REUTERS/Denis Balibouse
Tags: , , , ,