ผมตั้งชื่อบทความล้อไปกับเนื้อเพลง ‘กระท่อมกัญชา’ ของวงมาลีฮวนน่า (ซึ่งก็แปลว่ากัญชา!!) เพราะในช่วงหลังได้เห็นข่าวคราวเกี่ยวกับกัญชาปรากฏในสื่อต่างๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในสังคมเมืองยุคใหม่ที่การใช้ชีวิตลำพังในป่าคอนกรีตเป็นวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่ และโรคซึมเศร้ากลายเป็นโรคสามัญประจำคอนโดฯ  

ในเวลานี้ ทางเลือกที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ คือการใช้กัญชาช่วยเหลือผู้คนให้หลุดพ้นจากภาวะซึมเศร้า (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง) แต่กัญชาก็ยังคงถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติดในแทบจะทุกประเทศ โดยอนุญาตให้ใช้เฉพาะในทางการแพทย์ และจำหน่ายให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตจากแพทย์เท่านั้น

ทว่าหลังจากเกิดขึ้นครั้งแรกในยุคบุปผาชนช่วงปี 1960-1970 ปรากฏการณ์ ‘The Marijuana Boom’ ก็หวนกลับมาอีกครั้ง เหล่ากัญชาชนในหลายประเทศเริ่มเรียกร้องให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และในหลายสังคมก็เริ่มยอมรับเรื่องนี้มากขึ้น  

จากการสำรวจของ Casey Research พบว่าชาวอเมริกันที่สนับสนุนให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 25 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1996 เป็น 64 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 ขณะที่ Nanos Research ก็ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวแคนาดาจำนวน 1,000 คนในปี 2016 และพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายประเทศก็ประกาศให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยสามารถเสพเพื่อการพักผ่อนได้ เช่น เยอรมนี  สเปน ฟินแลนด์ อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ รวมถึงบางรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด แมสซาชูเซตส์ และวอชิงตัน ดี.ซี.   

ผลดีทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายตามรายงานของ Casey Report ระบุว่ารัฐโคโลราโดซึ่งเสพกัญชาเพื่อการพักผ่อนได้ตั้งแต่ปี 2012 เก็บภาษีจากกัญชาได้ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 และธุรกิจกัญชายังสร้างงานได้ประมาณ 18,000 ตำแหน่งอีกด้วย

นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกามีผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากที่ถูกจำคุกในข้อหาเสพหรือครอบครองกัญชา ซึ่งหากกัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายก็จะลดจำนวนนักโทษลงไปได้มาก ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนนักโทษต่อประชากรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด การส่งผู้ต้องหาคดีกัญชาไปอยู่รวมกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดชนิดอื่นจึงอาจทำให้ผู้ต้องหาเข้าไปสู่วงจรของยาเสพติดชนิดที่ร้ายแรงกว่าได้ ในทางกลับกัน หลายคนมองว่ากัญชาซึ่งไม่ได้มีโทษที่รุนแรงต่อสุขภาพ จะช่วยดึงคนที่มีแนวโน้มใช้ยาเสพติดชนิดที่รุนแรงให้หันมาใช้กัญชาแทนได้

การส่งผู้ต้องหาคดีกัญชาไปอยู่รวมกับผู้ต้องหาคดียาเสพติดชนิดอื่นจึงอาจทำให้ผู้ต้องหาเข้าไปสู่วงจรของยาเสพติดชนิดที่ร้ายแรงกว่าได้

สำหรับแคนาดา นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด จากพรรคเสรีนิยมเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2015 ก็มีนโยบายที่จะทำให้กัญชาเป็นพืชถูกกฎหมาย ล่าสุด ร่างกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปี 2017 และคาดว่าจะผ่านวุฒิสภาภายในเดือนเมษายน โดยคาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2018 ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถซื้อกัญชาเพื่อเสพได้ไม่เกิน 30 กรัม อย่างไรก็ตาม แต่ละรัฐสามารถออกกฎควบคุมเพิ่มเติมได้ แต่ยังไม่อนุญาตให้ปลูกเพื่อใช้เสพ (ประเทศในอเมริกาใต้ เช่น อุรุกวัยและโคลอมเบีย อนุญาตให้ครัวเรือนปลูกกัญชาได้ไม่เกิน 6-12 ต้น)

ปัจจุบัน แคนาดามีผู้เสพกัญชาประมาณ 3.8 ล้านคน หรือประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด โดยมี 1.5 ล้านคนที่เสพเป็นประจำ คือเสพอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ทั้งนี้ สำนักงานวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา (Parliament Budget Office) ได้ออกรายงานว่าการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย อาจจะทำให้มีผู้เสพเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านคนในปี 2021 แต่รายได้ของรัฐจากภาษีที่เก็บจากกัญชาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดา (1.3 ล้านล้านบาท)  

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่ามีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แคนาดาทั้งสิ้น 84 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยมีมูลค่าการตลาดรวมกัน 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดา หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทที่ใหญ่ที่สุดสองอันดับแรกคือ Canopy Growth และ Aurora Cannabis โดยมีมูลค่าการตลาด 4.3 และ 2.5 พันล้านดอลลาร์แคนาดา ตามลำดับ

แนวโน้มที่กัญชาจะเป็นสิ่งถูกกฎหมายจึงส่งผลทางบวกต่อรายได้ของบริษัทเหล่านี้โดยตรง จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2017 ราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับต้นๆ เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบอื่นๆ เช่น ผู้ผลิตเบเกอรี่ ผู้ผลิตเบียร์ หรือร้านอาหารที่เปิดเผยว่าเริ่มคิดค้นสูตรอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาแล้ว

ราคาหุ้นของบริษัท Canopy Growth (WEED) บริษัทผู้ผลิตกัญชารายใหญ่ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมากที่สุดในตลาดหุ้นแคนาดาในปี 2017

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าไม่มีคนออกมาคัดค้านการทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้กฎหมายของแคนาดาฉบับนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานในกระบวนการรัฐสภา ก็เพราะมีสมาชิกรวมถึงประชาชนอีกไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย โดยกลุ่มที่คัดค้านให้ความเห็นว่ายังไม่มีงานศึกษาที่ระบุว่าการทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายจะไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาวะของสังคมโดยรวม เพราะงานศึกษาทั้งหมดทำการศึกษาสุขภาพของผู้เสพเพียงเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยระบุว่าผู้ที่เสพกัญชาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Persistent Psychotic Symptom) เพราะการเสพกัญชาเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อกัญชาหมดฤทธิ์ คนเสพก็อาจจะกลับไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้อีก ดังนั้น กัญชาอาจจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าก็ได้

ประเด็นสุดท้ายที่รัฐบาลแคนาดาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากคือกระบวนการจัดจำหน่ายและการควบคุม เพราะที่ผ่านมา การถกเถียงมักจะอยู่ในประเด็นที่ว่าจะทำให้กัญชาถูกกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ได้มีการพูดถึงเลยว่าหากกัญชาถูกกฎหมายแล้วจะมีการควบคุมอย่างไร มีเพียงกรอบกว้างๆ แล้วโยนภาระการตัดสินใจไปให้รัฐบาลท้องถิ่น ความกังวลในประเด็นดังกล่าวเกิดจากการที่รัฐบาลท้องถิ่นส่วนใหญ่จะจัดการกับกัญชาในรูปแบบเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือควบคุมอายุขั้นต่ำที่ซื้อได้ ห้ามมีโปรโมชั่นหรือบรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดเยาวชน แต่ไม่ห้ามการโฆษณา จนทำให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการใช้เงินโฆษณามากเป็นลำดับต้นๆ และจำนวนคนดื่มสุราก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในทางกลับกัน หลายคนสนับสนุนให้ควบคุมกัญชาในรูปแบบเดียวกับบุหรี่ ซึ่งมีการควบคุมการจัดจำหน่ายและการโฆษณาที่เข้มงวดกว่า และผลลัพธ์ก็คือจำนวนคนสูบบุหรี่ในแคนาดาลดลงจาก 33 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในปี 1980 เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ในปี 2013 และคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2035

ภายในปีนี้ แคนาดาจะกลายเป็นประเทศที่กัญชาไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายค่อนข้างจะแน่นอน และทั่วโลกคงจับตามองทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา

และมันก็คงจะเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับรัฐบาลทั่วโลกในการพิจารณาว่าควรจะให้ ‘กัญชาชน’ เข้าถึงยาวิเศษชนิดนี้ได้โดยง่าย หรือจะยังคงสถานะต้องห้ามของมันต่อไป   

 

อ้างอิง