วันเลือกตั้งทั่วไปของแคนาดาในวันที่ 21 ตุลาคม 2562 นี้ หลังจากวาระ 4 ปี ของนายกรัฐมนตรีที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่อย่าง จัสติน ทรูโด ใกล้จะสิ้นสุดลง แน่นอนว่าทรูโดจะเป็นผู้นำพรรคเสรีนิยมลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง แต่การแข่งขันครั้งนี้ไม่ง่ายดายเช่นครั้งก่อน เมื่อแชมป์เก่าอย่างจัสติน ทรูโดในวัย 47 ปี ต้องมาเจอกับผู้ท้าชิงอย่างแอนดรู เชียร์ และ จักมีต ซิงห์ ในวัย 40 ปี สงครามคนหนุ่มครั้งนี้จึงน่าสนใจยิ่ง
ย้อนกลับไป ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 พรรคเสรีนิยมที่นำโดยจัสติน ทรูโดในวัยเพียง 43 ปี ได้มาพร้อมกับภาพลักษณ์ที่สดใส แนวนโยบายที่ก้าวหน้าจนสามารถเอาชนะพรรคอนุรักษ์นิยมที่ครองอำนาจมายาวนานกว่าทศวรรษไปได้
รัฐบาลภายใต้การนำของ จัสติน ทรูโด กลายเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่หลายๆ ด้านให้กับการเมืองแคนาดา รวมถึงการเมืองโลก เช่นการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีสัดส่วนชายและหญิงที่เท่ากัน การแต่งตั้งคนที่ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพจำนวนมากทั้งนักวิทยาศาสตร์ คนพิการ หรือผู้อพยพที่ไม่ได้เกิดในแผ่นดินแคนาดาเข้ามาร่วมในคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้นโยบายหลายๆ อย่างที่หาเสียงไว้ เช่น การทำให้กัญชาถูกกฎหมาย (ที่ได้เสียงสนับสนุนจากวัยรุ่นไปไม่น้อย) หรือการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม อีกทั้งภาพลักษณ์ความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ยอมรับในความหลากหลายทั้งการสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน การเข้าร่วมงาน Pride ที่จัดขึ้นตามเมืองต่างๆ หรือการมีนโยบายเปิดรับผู้อพยพจากตะวันออกกลางซึ่งทรูโดก็ไปปรากฎตัวที่สนามบินเพื่อรอรับผู้อพยพจากซีเรียด้วยตัวเอง
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ทรูโดกลายเป็นขวัญใจของคนรุ่นใหม่หัวเสรีนิยมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเพื่อนบ้านเพียงประเทศเดียวของแคนาดาอย่างสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีที่ชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยในวันที่ทรัมป์เอาชนะการเลือกตั้งได้นั้น ว่ากันว่ามีชาวอเมริกันจำนวนมากที่เข้าเว็บไซต์ตรวจคนเข้าเมืองของแคนาดาเพื่อหาข้อมูลเรื่องการย้ายไปอยู่แคนาดาจนถึงขั้นเว็บไซต์ล่มเลยทีเดียว
แม้ว่าภาพจากภายนอกประเทศนายกรัฐมนตรีทรูโดจะมีภาพลักษณ์ที่ดีเพียงใด แต่สถานการณ์ภายในประเทศกลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นนั้น ตั้งแต่ประเด็นเรื่องท่อก๊าซ Tran-Mountain ที่ตัดผ่านพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมไปถึงพื้นที่ของคนท้องถิ่น (First Nation) จนได้รับการต่อต้านอย่างกว้างขวาง แต่รัฐบาลทรูโดก็เดินหน้าผลักดันอย่างเต็มที่ตรงข้ามกับภาพลักษณ์คนใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เขาพยายามแสดงออกตลอดมา
แผลต่อมาที่กลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ทรูโดอาจจะเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งก็คือข้อครหาเกี่ยวกับบริษัทเอสเอ็นซี ลาเวลิน (SNC-Lavalin) บริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่จากควีเบค ที่โดนข้อหาเกี่ยวกับการจ่ายสินบนให้กับคนในรัฐบาลและเครือญาติของอดีตผู้นำลิเบียอย่างโมอัมมาร์ กัดดาฟี (Muammar Gaddafi) เพื่อให้ได้เข้าไปทำธุรกิจในประเทศลิเบีย โดยเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2009 แต่ทางบริษัทเพิ่งมาโดนดำเนินคดีตาม Corruption of Foreign Public Officials Act เมื่อปี 2015 นี่เอง
ในประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศ กฎหมายการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้จำกัดวงอยู่แต่ในประเทศตัวเอง หากแต่รวมถึงการทุจริตติดสินบนในประเทศอื่นๆ ด้วย ซึ่งโดยมากก็มักจะเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนา สำหรับประเทศไทยก็ให้นึกถึงคดีอดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือคดีไม้ตรวจระเบิดลวงโลก GT200
ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจะเร่งเอาผิดกับบริษัทเอสเอ็นซี ลาเวลินอยู่นั้น นายกรัฐมนตรีทรูโดกลับพยายามช่วยเหลือบริษัทโดยการกดดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอัยการสูงสุดอย่าง โจดี้ วิลสัน-เรย์โบวด์ (Jody Wilson-Raybould) ให้ความช่วยเหลือบริษัทฯ และเมื่อไม่ได้รับความร่วมมือจากนางโจดี้ ในเดือนมกราคม 2019 ที่ผ่านมา ทรูโดจึงตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีและย้ายนางโจดี้ไปเป็นรัฐมนตรีดูแลทหารผ่านศึกซึ่งเป็นการลดชั้นอย่างชัดเจน จนนางโจดี้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง
หลังจากนั้นก็มีรัฐมนตรีอีกสองคนที่ลาออกตามเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับทรูโด และเป็นการสนับสนุนจุดยืนของนางโจดี้นั่นคือ เจอราร์ด บัตส์ (Gerald Butts) ที่ลาออกตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (Principal Secretary to Prime Minister) และ เจน ฟิลพอตต์ (Jane Philpott) ที่ลาออกจาก President of the Treasury Board โดยทั้งสองคนจัดอยู่ในกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับทรูโดมากที่สุดตลอดการทำงานในช่วง 3 ปีแรก การลาออกของทั้งคู่จึงกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่กร่อนเซาะความนิยมในตัว
ทรูโดลงไปมาก คดีลาเวลินจึงกลายเป็นแผลใหญ่ที่ทำลายภาพพจน์โปร่งใสของรัฐบาลทรูโดไปหมดสิ้น
แผลล่าสุดที่แทบจะทำให้ฝันของการเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัยของทรูโดพังทลายลงทันที ก็เมื่อภาพของทรูโดในสมัยที่ยังทำงานเป็นครูในโรงเรียนที่แวนคูเวอร์เมื่อปี 2001 ได้หลุดออกมา โดยเป็นการเข้าร่วมงานแฟนซีที่ทรูโดแต่งตัวเป็นอะลาดินปัญหาไม่ได้อยู่ที่ชุดแต่งกายแบบอาหรับแฟนตาซีของเขา หากแต่อยู่ที่การแต่งหน้าให้มีสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งชาวแคนาดามองว่านี่เป็นการกระทำที่เหยียดผิวอย่างมาก จนทำให้ทรูโดต้องยกเลิกโปรแกรมการหาเสียงในวันนั้นทันที และรีบออกมาขอโทษต่อเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นในอดีต
ต้องยอมรับว่าจุดแข็งที่ผ่านมาของทรูโดคือเรื่องการยอมรับความหลากหลายของผู้คน การแสดงออกถึงการเป็นพลเมืองโลกสมัยใหม่ แต่ภาพที่ออกมาทำให้คนระลึกไปถึงชาติกำเนิดของเขา ที่เป็นลูกชายของอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นคนชั้นสูงผิวขาวที่เติบโตมาในหมู่คนรวย คู่แข็งทางการเมืองเขาก็เริ่มโจมตีว่าจริงๆ แล้วทรูโดแค่ทำเป็นยอมรับความหลากหลายทางชนชาติเพียงเพื่อหวังคะแนนเสียงเท่านั้น
ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ฐานเสียงเดิมๆ ของทรูโดดูเหมือนจะไม่เข้มแข็งเหมือนอย่างเคย กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติจำนวนไม่น้อยก็หันหน้าไปหาพรรค Green กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็หมดความเชื่อมั่นกับเขาไปไม่น้อย ในขณะที่คนท้องถิ่นที่เคยสนับสนุนเขาก็เปลี่ยนใจไปเรียบร้อยแล้วหลังจากเขาบีบให้นางโจดี้ซึ่งมีเชื้อสายคนท้องถิ่นลาออกจากตำแหน่ง
พรรคคู่แข่งสำคัญของพรรคเสรีนิยมก็คือพรรคอนุรักษ์นิยมที่เคยครองอำนาจมานาน หลังจากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งก่อน สตีเฟ่น ฮาร์เบอร์ (Stephen Harper) อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วงปี 2006-2015 ก็ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง และผู้ที่รับเลือกขึ้นมาเป็นแม่ทัพคนใหม่ก็คือ แอนดรู เชียร์ (Andrew Scheer) คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่าทรูโดถึง 8 ปี โดยหวังว่าเชียร์จะสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคอนุรักษ์นิยมให้ดูทันสมัยมากขึ้น
แต่ประเด็นที่เชียร์อาจจะไม่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เท่าที่ควร คงหนีไม่พ้นความเห็นของเขาเกี่ยวกับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน (Same Sex Marriage) ที่ทรูโดนั้นสนับสนุนอย่างเต็มที่ ในขณะที่เชียร์ก็มีจุดยืนเช่นเดียวกับสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคคือไม่เห็นด้วย รวมถึงประเด็นการทำแท้งถูกกฎหมายที่เชียร์ก็ไม่สนับสนุนเช่นกัน ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมเชียร์ก็ประกาศว่าจะยกเลิกภาษีคาร์บอนที่เกิดขึ้นในสมัยทรูโด นโยบายที่ตรงกันข้ามกับแนวเสรีนิยมแบบทรูโดจึงทำให้บางคนเปรียบเชียร์ว่าเป็นคนหนุ่มที่มีสมองและหัวใจของคนแก่ อย่างไรก็ตามจุดยืนของเชียร์นั้นก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐที่มีรายได้หลักจากน้ำมันที่ต้องการให้ยกเลิกภาษีคาร์บอน รวมถึงพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงเดิมของพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างอัลเบอร์ต้า เป็นต้น
พรรคอันดับสามที่ปกติเป็นเพียงตัวประกอบอย่างพรรคประชาธิปไตยใหม่ (New Democratic) ในการเลือกตั้งคราวนี้กลับกลายเป็นพรรคที่มีสีสันมากที่สุด และอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ชี้ผลแพ้ชนะของการเลือกตั้งได้ เมื่อนายจักมีต ซิงห์ (Jagmeet Singh) ทนายความหนุ่มนักเคลื่อนไหว ผู้เพิ่งกระโดดเข้าสู่สนามการเมืองไม่นาน ซิงห์เป็นคนเชื้อสายอินเดียนับถือศาสนาซิกข์และเป็นคนกลุ่มน้อยที่ภาพลักษณ์ชัดเจน (Visible Minority) คนแรกที่เป็นผู้นำพรรคใหญ่ลงสนามเลือกตั้งทั่วไปของแคนาดา นโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่ของซิงห์นั้น เสรีนิยมเสียยิ่งกว่าพรรคเสรีนิยมของทรูโดเสียอีก
นโยบายของพรรคประชาธิปไตยใหม่เช่น การขึ้นภาษีคอร์บอนในอัตราที่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน การเก็บภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้าโดยการเก็บภาษีคนรวมในอัตราที่สูงมากๆ หรือการใช้รายได้ขั้นต่ำ (Universal Basic Income) คือรัฐบาลจะมีเงินเดือนขั้นต่ำให้กับประชาชนทุกคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ รูปแบบการหาเสียงของซิงห์เองที่ชอบการขี่จักรยาน หรือการทำตัวสบายๆ ไม่มีพิธีรีตองมากมายทำให้เขามาแย่งยึดคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ไปจากขวัญใจคนเก่าอย่างทรูโดไปได้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่อันดับหนึ่งอย่างโตรอนโตซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของซิงห์
ผลโพลล่าสุดที่ออกมาปรากฏว่าพรรคเสรีนิยมยังมีคะแนนนำเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนพรรคอันดับที่สองยังคงเป็นพรรคอนุรักษ์นิยม แต่คะแนนเสียงนั้นใกล้เคียงกันมากและไม่มีพรรคไหนที่ได้ที่นั่งในสภาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง พรรคอันดับที่สามซึ่งก็คือพรรคประชาธิปไตยใหม่จึงกลายเป็นตัวแปรที่สำคัญยิ่งในการตั้งรัฐบาล
ไม่ว่าผลการเลือกตั้งในวันที่ 21 ตุลาคมจะออกมาเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของแคนาดาก็คงหนีไม่พ้นคนหนุ่มทั้งสามคนนี้
Tags: พรรประชาธิปไตยใหม่, จัสติน ทรูโด, พรรคอนุรักษนิยม, เลือกตั้งแคนาดา, พรรคเสรีนิยม