หูฉลามเป็นอาหารจีนเมนูเลิศรสราคาแพงซึ่งเป็นที่นิยม ด้วยประวัติศาสตร์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูจักพรรดิ อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าซุปหูฉลามเป็นยาอายุวัฒนะและเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ทำให้หูฉลาม หรือที่จริงคือส่วนที่เรียกว่า “ครีบฉลาม” กลายเป็นวัตุดิบราคาแพงในการนำมาปรุงอาหาร ไม่เพียงแต่อาหารจีนยังรวมไปถึงอาหารนานาชาติ

แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ถูกเรียกว่าอาหาร “บาป” อันเปื้อนโชกไปด้วยเลือด เพราะการล่าเพื่อนำครีบมาขาย ครีบฉลามจะถูกตัดออกจากตัวฉลามในขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของลำตัวจะถูกปล่อยทิ้งไป ซึ่งท้ายที่สุดฉลามที่ว่ายน้ำไม่ได้ก็จะค่อยๆ จมลงสู่ก้นทะเลหรือตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าอื่นๆ การล่าฉลามเพื่อเอาครีบมาทำการค้าขายจึงถูกประณามว่าเป็นการกระทำที่ทารุณโหดร้าย และยังส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศของท้องทะเล กล่าวกันว่า 1 ใน 3 ของฉลามที่ถูกล่าเพื่อนำมาเป็นอาหารนั้น เป็นสายพันธุ์หายากที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

หนึ่งในประเทศที่นำเข้าครีบฉลามมากที่สุดในโลก นอกเหนือจากแถบเอเชีย ก็คือประเทศแคนาดา ถึงแม้ว่าแคนาดาจะออกกฎหมายให้การทำประมงล่าฉลามในประเทศเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1994 แต่ในปี 2017 แคนาดายังมีการนำเข้าครีบฉลามสูงถึง 170,000 กิโลกรัม และ 148,000 กิโลกรัมในปี 2018

ล่าสุด ประเทศแคนาดาเพิ่งออกกฎหมายห้ามนำเข้าและส่งออกครีบฉลาม ในส่วนของครีบฉลามที่ไม่ได้ติดมากับลำตัวฉลาม โดยกฎหมายนี้เพิ่งจะผ่านรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายนี้มาแรมปีจากบรรดานักกฎหมาย นักอนุรักษ์ นักรณรงค์ และประชาชน และถือเป็นประเทศแรกในกลุ่ม G20 ที่ออกกฎหมายนี้ โดยมีความหวังว่า จะสร้างแรงกดดันให้กับประเทศอื่นๆ หันมาใช้วิธีจำกัดการซื้อขายครีบฉลามอีกด้วย

“ถึงแม้เราจะไม่ใช่ประเทศผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุด แต่เราก็ถือเป็นหนึ่งในผู้บริโภค กฎหมายนี้นอกจากจะมีผลบังคับในการห้ามนำเข้าส่งออกครีบปลาฉลามแล้ว ยังอาจส่งผลให้ประเทศอื่นๆ หันมาใส่ใจในปัญหานี้และออกเป็นกฎหมายตามมาอีกด้วย” จอช ลอเกรน ผู้บริหารองค์กร Oceana Canada หนึ่งในองค์กรผู้ร่วมผลักดันกฎหมายนี้จนประสบความสำเร็จ

ในสหรัฐอเมริกามีการแบนการซื้อขายครีบฉลามในหลายรัฐ ทั้งกรุงวอชิงตัน รัฐโอเรกอน แคลิฟอร์เนียและเท็กซัส ซึ่งในขณะนี้ สภาคองเกรสกำลังพิจารณากฎหมายในประเด็นนี้ แม้แต่ในประเทศจีนก็มีการรณรงค์ลดการบริโภคหูฉลาม อดีตนักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอชาวจีนอย่าง เหยา หมิง ก็เป็นตัวตั้งตัวตีรณรงค์เรื่องนี้ในประเทศบ้านเกิดของเขา ทำให้ความนิยมในเมนูซุปหูฉลามลดลงอย่างมาก โดยนับแต่ปี 2013 สถานที่ราชการจีนไม่เสิร์ฟเมนูที่ทำจากครีบฉลามอีกต่อไปแล้ว

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการวิพากษ์กฎหมายฉบับนี้ของแคนาดาว่าเป็นเพียงการ “เล่นการเมือง” ตัวกฎหมายไม่ได้ส่งผลในการอนุรักษ์ฉลามมากนัก เบล เหลียง (Ben Lueng) ผู้กว้างขวางในชุมชนชาวจีนอพยพในแคนาดากล่าวว่า “มาตรการการแบนหูฉลามเป็นเพียงการหาเสียงทางการเมือง กฎหมายนี้ส่งผลตรงไปยังวัฒนธรรมการกินอาหารของเอเชีย แต่ช่วยอนุรักษ์ฉลามได้น้อยนิด”

ปัจจุบันพบว่าเมนูซุปหูฉลามอันเป็นเมนูประจำและสำคัญบนโต๊ะจีนซึ่งมักจะเสิร์ฟในงานแต่งงานของคนจีนและเอเชียก็ไม่ได้รับความนิยมเหมือนเดิม โดยเฉพาะคนจีนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้คิดว่าซุปหูฉลามเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหราอีกต่อไป

องค์การสหประชาชาติรายงานว่า แต่ละปีมีการฆ่าฉลามประมาณ 73 ล้านตัวเพื่อเอาครีบสู่กระบวนการค้าขายแลกเปลี่ยนในอุตสาหกรรมอาหาร

 

อ้างอิง

  • https://www.bbc.com/news/world-us-canada-48714320
  • https://business.financialpost.com/news/economy/canada-becomes-first-country-to-pass-comprehensive-ban-on-shark-fin-imports-and-exports
  • https://www.theguardian.com/world/2019/jun/21/canada-bans-shark-fin-imports-sale

ภาพ : Beawiharta Beawiharta/REUTERS

Tags: , , , ,