เมื่อพูดถึงเรื่องการเงินหรือการลงทุน เชื่อได้เลยว่าหลายๆ คนต้องคิดถึง ‘หุ้น’ กันมาเป็นลำดับแรกๆ เพราะเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แล้วก็ยังมีตัวอย่างนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากมายให้เราได้ศึกษากัน

สำหรับใครที่เข้ามาศึกษาเรื่องการลงทุนในหุ้นสักพัก หลักการลงทุนในหุ้นที่สำคัญเลย คือการลงทุนในบริษัทที่อนาคตมีแนวโน้มจะเติบโตได้และทำกำไรได้เป็นอย่างดี ถ้าเราหาเจอหุ้นลักษณะนี้ เราจะเจอหุ้นเด้งหรือหุ้นที่ให้กำไรเรามากกว่า 100% ได้ วิธีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ‘CAN SLIM’ Model เป็นวิธีที่ วิลเลียม โอนิล (William O’Neil) ใช้ในการคัดเลือกหุ้นที่กำลังฟื้นตัว (Turnaround) จากจุดที่ต่ำๆ หรือช่วงที่บริษัทกำลังเจอวิกฤตมาได้

CAN SLIM เป็นตัวย่อของเงื่อนไขในการพิจารณาว่าหุ้นนั้นๆ เข้าข่ายเงื่อนไข 7 ข้อนี้หรือไม่ ถ้าหากว่าเข้าตามเงื่อนไขโมเดลนี้ ก็สามารถจัดเข้าพอร์ตเราได้เลย

C – Current Earning

สิ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นหุ้นเลยก็ว่าได้ นั่นคือ หุ้นที่เราจะเลือกเข้าพอร์ตนั้นจะต้องมี ‘กำไร’ โดยกำไรจะต้องเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้วอย่างน้อย 25%

วิธีนี้ห้ามดูเทียบจากไตรมาสที่แล้วอย่าง ไตรมาสที่ 2 เทียบไตรมาสที่ 3 เด็ดขาด เพราะว่าสินค้าและบริการเกือบทุกชนิดมีฤดูกาลแทบทั้งสิ้น จะมีช่วงที่ขายดีและไม่ดี เพราะฉะนั้น การเทียบจะต้องเทียบไตรมาสเดียวกัน เช่น ไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้วกับปีนี้

A – Annual Earning

นอกจากภาพเล็กรายไตรมาสจะดีแล้ว โมเดลนี้ยังบอกอีกว่า ผลประกอบการในแต่ละปีของหุ้นตัวนั้น จะต้องดีขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี (ให้ดีควรจะเป็น 5 ปี) หรือถ้ากำไรไม่ได้มากขึ้น ก็ขาดทุนน้อยลงเรื่อยๆ จนเป็นบวกเมื่อไรก็สามารถเข้าซื้อได้ทันที

N – New Product

แหล่งที่มาที่สำคัญที่สุดของ ‘กำไร’ ก็คือบริษัทนั้นต้องขายสินค้าและบริการได้ เงื่อนไขนี้ คือบริษัทนั้นจะต้องมีสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ใหม่ ภาษาการลงทุนเขาเรียกว่าหุ้นตัวนั้นต้องมี Story ให้เราสามารถประมาณการกำไรได้นั่นเอง

S – Supply & Demand 

เงื่อนไขนี้ต้องใช้การวิเคราะห์เชิงเทคนิคเข้าช่วย เราต้องมาดูที่ Volume การซื้อขายว่ามีสูงขึ้นกว่าในอดีต ยิ่ง Volume การซื้อขายมาก แปลว่ามีคนให้ความสนใจเยอะ อีกเทคนิคที่อาจจะช่วยเลือกหุ้นที่มีโอกาสสร้างกำไรได้ดี ก็คือ การเลือกหุ้นที่ Free Float ต่ำ หรือหุ้นที่อยู่ในรายย่อยต่ำๆ จะยิ่งช่วยให้ราคายกได้เร็วมากขึ้น 

L – Leaders and Laggards  

หุ้นที่เราเลือกจะต้องเป็นหุ้นที่เป็นผู้นำตลาดเท่านั้น ง่ายๆ ก็คือ หุ้นตัวนี้จะต้องปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกัน และช่วงที่ตลาดปรับลง หุ้นตัวนี้ก็ต้องปรับตัวลงน้อยกว่าตลาด เราสามารถดูจากดัชนีชี้วัดอย่าง RSI ที่จะต้องอยู่สูงกว่าหุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันก็จะช่วยยืนยันได้ ยิ่ง RSI สูงแปลว่า มีความแข็งแกร่งมาก

I – Institutional Sponsorship  

อย่าลืมว่าราคาหุ้นจะขึ้นได้ต้องมีแรงซื้อมากกว่าแรงขายมากๆ ราคาถึงจะปรับขึ้นเป็นหุ้นเด้งได้ ดังนั้นหุ้นที่ราคากระโดดได้ ต้องเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจาก ‘นักลงทุนรายใหญ่’ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมหรือนักลงทุนสถาบันอื่นๆ รวมไปถึงนักลงทุนต่างชาติ ถ้าในตลาดหุ้นไทยก็ดูง่ายหน่อย คืออาจจะดูหุ้นที่อยู่ใน SET100 หรือหุ้นที่กำลังจะถูกปรับเข้ามาใน SET100 ก็ได้เช่นกัน

M – Market Direction  

ข้อสุดท้ายเป็นการดูกราฟเชิงเทคนิคล้วนๆ การเล่นหุ้น ต่อให้เราไม่ใช่สายเทคนิคสักเท่าไร แต่อย่างน้อยก็ควรจะสามารถวิเคราะห์ในระดับเบื้องต้นเป็น เช่นต้องดูแนวโน้มของราคาให้เป็น ว่าหุ้นตัวนี้อยู่ในช่วง “ขาขึ้น (Uptrend)” ที่นิยมมากที่สุดก็คือราคาต้องยืนเหนือเส้น EMA (exponential moving average) 200 วันให้ได้ 

ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหุ้นวิธีไหนก็ตาม แน่นอนว่าไม่มีวิธีไหนที่ถูกต้อง 100% การลงทุนแบบ CAN SLIM ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การ ‘Cut Loss’ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่วัดว่าเราจะลงทุนสำเร็จหรือไม่ เพราะเมื่อราคาหุ้นไม่เป็นอย่างที่เราคาดการณ์ ก็ต้องรู้จักขายทิ้งออกจากพอร์ต ห้ามถือแล้วคิดว่าไม่ขายไม่ขาดทุนเด็ดขาด ก่อนซื้อหุ้นทุกครั้งอย่าลืมถามตัวเองด้วยว่าจะขายเมื่อไรด้วยเสมอ

CAN SLIM เป็นแนวคิดที่ทุกคนอ่านมาเหมือนกัน แต่เชื่อได้เลยว่าแต่ละคนทำความเข้าใจและนำไปใช้แตกต่างกัน การจะลงทุนหุ้นให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่มีสูตรตายตัว แต่เราต้องรู้จักว่าเราทำผิดพลาดตรงไหน แล้วอย่าให้ความผิดพลาดกลับมาทำร้ายเราได้อีก

Tags: , , , , ,