16 พฤศจิกายน 2560 การเมืองกัมพูชามาถึงจุดตัดอีกคราหนึ่งเมื่อศาลสูงกัมพูชามีคำสั่งให้ยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue – CNRP) พรรคฝ่ายค้านหลักของกัมพูชาที่ดูจะเป็นเพียงขุมกำลังเดียวที่เข้มแข็งพอจะท้าทายอำนาจของสมเด็จฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodia People’s Party – CPP) ในการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี 2561 ด้วยความผิดฐานพยายามปลุกระดมประชาชนให้ล้มล้างรัฐบาลโดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา
นอกจากการยุบพรรค ศาลสูงกัมพูชายังสั่งห้ามแกนนำคนสำคัญ 118 คน ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปีด้วย พนมเปญโพสต์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาอังกฤษถึงกับพาดหัวข่าวการยุบพรรคครั้งนี้ว่าเป็นจุดจบของประชาธิปไตย “Death of Democracy”
ระหว่างการลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดกำปงจามเมื่อปี 2543 นายกรัฐมนตรีฮุนเซนเคยพูดว่าหากเขาเสียชีวิต รัฐบาลจะอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่มีใครช่วยเหลือประชาชน และประชาชนจะตกอยู่ในความยากลำบาก คำกล่าวนี้อาจดูเป็นการสำคัญตัวเองไปบ้างแต่ก็มีมูลความจริงอยู่ไม่น้อย นับตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2541 (กัมพูชามีการเลือกตั้งทั่วไปทุก 5 ปี) พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนก็ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน และฮุนเซนก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาเป็นเวลา 21 ปีแล้ว แต่หากนับย้อนไปถึงการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2528 และการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่กัมพูชามีนายกฯ สองคนคือฮุนเซนกับสมเด็จนโรดม รณฤทธิ์ ฮุนเซนก็จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้วราว 34 ปี
ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานทำให้ฮุนเซนกลายเป็นศูนย์รวมของอำนาจในกัมพูชา ซึ่งหากเขาจะพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดสุญญากาศทางการเมืองก็คงยากจะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งปี 2556 พรรคของฮุนเซนก็ถูกท้าทายโดยพรรคกู้ชาติกัมพูชา พรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่ภายใต้การนำของสม รังสี และ เขม สกขา ขนาดที่แม้จะชนะการเลือกตั้งแต่ก็เป็นชัยชนะที่ฉิวเฉียด ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2556 จึงอาจมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการยุบพรรคที่เกิดขึ้นในปี 2560
สม รังสี รวมทั้งอดีตแกนนำและผู้สนับสนุนพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ถูกยุบไปเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนคว่ำบาตรการเลือกตั้ง 2561 ภายใต้แคมเปญ Clean Finger Campaign (ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในกัมพูชาจะต้องจุ่มนิ้วชี้ลงในหมึกเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าใช้สิทธิแล้ว – ผู้เขียน) โดยสม รังสีให้เหตุผลในการรณรงค์ว่า พรรคที่ลงเลือกตั้งกับพรรคของฮุนเซนควรจะตื่นจากภาพลวงตาได้แล้ว เพราะหากพรรคหนึ่งพรรคใดอาจหาญมาท้าทายได้เหมือนอดีตพรรคกู้ชาติกัมพูชา พวกเขาก็จะถูกฮุนเซนยุบในที่สุด
เมื่ออดีตพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่เลือกที่จะชวนฐานเสียงคว่ำบาตร การเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาที่เกิดขึ้นในปี 2561 จึงกลายเป็นการเลือกตั้งแบบ Hun Sen’s show จากจำนวนบัตรดีทั้งหมด 6,956,900 ใบ พรรคประชาชนกัมพูชาได้มาถึง 4,889,113 เสียง ครองที่นั่งทั้งหมด 125 ที่นั่งในสภากัมพูชา พร้อมจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวโดยไม่มีพรรคฝ่ายค้านในสภา
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับฮุนเซนทุกคนจะเห็นด้วยกับการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง เยียง วิรัก ผู้ก่อตั้งและประธานพรรคประชาธิปไตยรากหญ้า (Grassroots Democratic Party -GDP) คือหนึ่งในผู้ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านของฮุนเซนแต่ไม่เห็นด้วยกับการคว่ำบาตรการเลือกตั้งเพราะมองว่าเป็นการสูญเปล่าและเสียโอกาส วิรักชี้ว่าการรณรงค์บอยคอต์ล้มเหลวเพราะคนกลัวว่าจะมีปัญหาถ้าไม่ออกมาเลือกตั้ง
ในการหาเสียงวันสุดท้าย ฮุนเซนพูดว่า “ถึงตอนนี้คนส่วนใหญ่จะออกไปเลือกตั้ง สำหรับคนที่ไม่ไปคุณจะอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านคุณได้อย่างไร” “คนที่ไม่ไปเลือกตั้งคือคนที่ทำลายประเทศ ทำลายประชาธิปไตยและจะไม่ได้รับการให้อภัย” ขณะที่ผู้ใช้แรงงานบางส่วนก็ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า นายจ้างให้พวกเขาหยุดงานสามวันเพื่อไปเลือกตั้งและขู่ว่าหากพวกเขากลับมาโดยที่นิ้วสะอาด (ไม่ได้จุ่มนิ้วชี้ในหมึกเมื่อไปใช้สิทธิ) พวกเขาจะถูกตัดเงิน
เมื่อพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่อย่างพรรคกู้ชาติกัมพูชาถูกยุบ วิรักและอดีตผู้นำภาคประชาสังคมซึ่งลงเล่นการเมืองในนามพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าก็มีความหวังที่จะเสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ให้กับการเมืองกัมพูชาในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในปี 2565 และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 แม้วิรักจะยอมรับว่าทางข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบก็ตาม
เราต้องการทางเลือกใหม่
วิรัก ประธานพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าเล่าว่า จุดกำเนิดของพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าเริ่มต้นจากการตั้งคำถามที่เขาและเพื่อนๆ ในภาคประชาสังคมต้องเผชิญ ก็คือการที่นักการเมืองไม่ค่อยรับฟังเสียงของภาคประชาสังคม หรือคนจนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาต่างๆ สำหรับการทำงานในฐานะเอ็นจีโอ วิรักสะท้อนว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบรายประเด็นและทำงานได้อย่างจำกัด ตอนที่เขาเป็นเอ็นจีโอก็ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับสมาชิกสหภาพแรงงานบางส่วนที่ถูกดำเนินคดีจากการเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ซึ่งก็ช่วยแก้ปัญหาได้บางกรณีเท่านั้น เขาเองพยายามพูดคุยกับนักการเมืองให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่านักการเมืองก็มักจะไม่ได้ยินเสียงของภาคประชาสังคม
ปี 2556 มีการเลือกตั้งทั่วไปในกัมพูชา ตามรายงานของเว็บไซต์ Radio Free Asia พรรคประชาชนกัมพูชาได้รับคะแนนเสียง 3.2 ล้านคะแนน ส่วนพรรคกู้ชาติกัมพูชาซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้รับคะแนนเสียง 2.9 ล้านคะแนน แม้พรรคของสมเด็จฮุนเซนจะชนะแต่ก็เป็นชัยชนะที่มีส่วนต่างน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541
ผลการเลือกตั้งปี 2556 อาจจะจุดประกายให้ชาวกัมพูชาบางส่วนเห็นว่าฮุนเซนก็ไม่ได้เข้มแข็งจนไม่สามารถล้มได้เสียทีเดียว แต่สำหรับวิรักและเพื่อนของเขา ผลเลือกตั้งในปี 2556 คือแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องลุกมาทำอะไรสักอย่างเพราะดูเหมือนว่าแม้การเลือกตั้งปี 2556 จะเป็นปีที่พรรคกู้ชาติกัมพูชาอยู่ในกระแสสูงแต่สุดท้ายพวกเขาก็เอาชนะพรรครัฐบาลไม่ได้
Take a matter in your own hand!
หลังเห็นผลการเลือกตั้งปี 2556 วิรักร่วมกับเพื่อนๆ อีกสี่ถึงห้าคน ซึ่งมี ดร.เข็ม เล นักวิเคราะห์การเมืองที่ต่อมาถูกยิงเสียชีวิตในสถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่งกลางกรุงพนมเปญในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 รวมอยู่ด้วย พวกเขาช่วยกันกระจายข่าวเพื่อจัดการพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการเมืองกัมพูชาและทางออกของคนรากหญ้าทั้งกลุ่มชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ครู รวมทั้งกลุ่มเยาวชน
กระบวนการดังกล่าวจัดขึ้นทั้งที่กรุงพนมเปญและจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ หลังจากใช้เวลาพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลาประมาณหกเดือนก็ได้ข้อสรุปว่าคนรากหญ้าไม่สามารถรอพึ่งพานักการเมืองแบบเดิมไม่ว่าจะเป็น ส.ส.พรรคประชาชนกัมพูชาหรือแม้แต่นักการเมืองฝ่ายค้านพรรคกู้ชาติกัมพูชาได้ หากแต่ต้องเดินหน้าสร้างพรรคใหม่ที่เป็นของคนรากหญ้าอย่างแท้จริง
วิรักระบุว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคเขาบางส่วนไม่พอใจพรรคกู้ชาติกัมพูชาน่าจะมาจากท่าทีของพรรคที่ตอนแรกประท้วงความไม่ชอบมาพากลในการเลือกตั้งอย่างแข็งขัน แต่สุดท้ายก็ยอมอ่อนข้อให้กับรัฐบาลเพื่อแลกกับการได้เข้าไปทำงานในสภา
ระหว่างเดือนกันยายน 2557 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 วิรักและคณะทำงานในนาม มูลนิธิชาวกัมพูชาเพื่อกัมพูชา (Khmer for Khmer Foundation) ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการระดมความเห็นประชาชนทั่วประเทศ ด้วยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ รวมถึงกิจกรรมปลุกจิตสำนึกทางการเมืองรูปแบบอื่นๆ จากนั้นระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม 2558 วิรักกับทีมก็ประมวลข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่างๆ ที่ได้รับตลอดระยะเวลาการรับฟังความคิดเห็นมาทำเป็นหลักการ และเหตุผล รวมถึงวางกรอบแนวทางในการจัดตั้งพรรคการเมือง
ระหว่างนั้นพวกเขาศึกษาเปรียบเทียบจุดอ่อนและจุดแข็งของพรรคประชาชนกัมพูชากับพรรคกู้ชาติกัมพูชา รวมทั้งศึกษากระบวนการภายในพรรคเช่นการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของทั้งสองพรรคด้วยเพื่อที่จะหาแนวทางจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่แตกต่างและมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
หลังทำกระบวนการศึกษาและโครงร่างพรรคแล้วเสร็จ พวกเขาก็จัดการประชุมเพื่อการจัดตั้งพรรคการเมืองครั้งแรกในวันที่ 2 สิงหาคม 2558 โดยมีทั้งอดีตแกนนำองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้นำชุมชนและผู้นำคอมมูน (เขตปกครองระดับท้องถิ่น) จาก 10 คอมมูนเข้าร่วมประชุมในครั้งแรกรวม 104 คน ทั้งนี้ตามกฎหมายของกัมพูชากำหนดให้การประชุมเพื่อการจัดตั้งพรรคครั้งแรกต้องมีผู้ริเริ่มไม่ต่ำกว่า 80 คน
สำหรับนโยบายสำคัญๆ ของพรรคประชาธปไตยรากหญ้า 125 ข้อที่ปรากฏตามแนวนโยบายของพรรคหรือ The Green Book มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น การสร้างระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประชาชนชาวกัมพูชาทุกคนได้รับความคุ้มครองโดยจ่ายเงิน 500 เรียลกัมพูชา (ประมาณ 4 บาท) ต่อเดือน นโยบายกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษานักเรียนแต่ละคนมีสิทธิเข้าถึงเงินกู้ 1250 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 38,000 บาท) และนโยบายเงินบำนาญทั่วหน้าสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปที่จะมีสิทธิได้รับเงินเดือนละ 37.50 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1155 บาท)
ก่อนมีประชาธิปไตยในประเทศ ต้องมีประชาธิปไตยภายในพรรค
ในการประชุมครั้งแรกที่ประชุมมีการลงคะแนนรับรองชื่อของพรรคและนโยบายของพรรค มีการเสนอชื่อพรรคให้ผู้ร่วมประชุม 104 คน ลงคะแนนเลือกรวมทั้งหมด 8 ชื่อ ซึ่งท้ายที่สุด คือ ‘ประชาธิปไตยรากหญ้า’ (Grassroots Democracy Party – GDP) สำหรับสัญลักษณ์ของพรรคที่ประชุมลงคะแนนเลือกสัญลักษณ์สามเหลี่ยม ฐานของสามเหลี่ยมสื่อถึงสมาชิกพรรคที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดของพรรค
สมาชิกพรรคจะเป็นผู้เลือกผู้นำและผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ส่วนผู้นำพรรคที่แม้จะอยู่บนยอดสามเหลี่ยมก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสมาชิกพรรค ฐานของสามเหลี่ยมเป็นสีแดงซึ่งสื่อถึงการต่อสู้ สีฟ้าที่เป็นเส้นยอดสามเหลี่ยมสองเส้นสื่อถึงหลักนิติธรรม ส่วนสีเขียวที่เป็นสีพื้นของสามเหลี่ยมสื่อถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและประชาธิปไตยรากหญ้า
หลังการประชุมครั้งแรกพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 4,000 คนในเวลาหนึ่งปี มิฉะนั้นจะถือว่าการจัดตั้งพรรคเป็นโมฆะแล้วต้องจัดตั้งพรรคด้วยชื่ออื่น แต่ข้อจำกัดตามกฎหมายพรรคการเมืองกัมพูชาดูจะเอื้อต่อการตั้งพรรคการเมืองมากกว่าหากเปรียบเทียบกับกรณีของประเทศไทยที่ภายในหนึ่งปีพรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี นอกจากนั้นก็ต้องจัดตั้งสาขาพรรคในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด ที่ กกต.กำหนด อย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา ซึ่งการจะะจัดตั้งสาขาพรรคได้จะต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
วิรักระบุว่าในกรณีของกัมพูชาพวกเขาเพียงแต่ต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 4,000 คน โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องมาจากทั่วประเทศ หรือมาจากจังหวัดละอย่างน้อยกี่คน นอกจากนั้นก็ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรคว่าต้องมีสมาชิกกี่คนในจังหวัดจึงจะจัดตั้งสาขาพรรคได้ และจะต้องมีสาขาพรรคกี่พรรคในเวลาเท่าใด
แต่สำหรับพรรคขนาดเล็กอย่างพรรคประชาธิปไตยรากหญ้า พวกเขาก็ต้องใช้เวลาเกือบปีในการหาสมาชิกให้ครบ หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าก็ได้รับการรับรองจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย
วิรักย้ำว่าพรรคของเขาให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยภายในพรรคมากเป็นอันดับแรกเพราะเชื่อว่าหากในพรรคไม่มีกลไกประชาธิปไตยก็ยากที่จะไปสร้างประชาธิปไตยในระดับชาติ จึงมีการวางกฎภายในของพรรคว่าคนที่ดำรงตำแหน่งประธานพรรคจะดำรงตำแหน่งวาระละสามปี ไม่เกินสองวาระ ตัวเขาได้รับเลือกเป็นประธานพรรคตั้งแต่ปี 2558 หลังการประชุมจัดตั้งพรรค เมื่อดำรงตำแหน่งครบสามปี วิรักลงแข่งขันและได้รับเลือกตั้งเป็นประธานพรรคต่ออีกหนึ่งสมัย
ในเดือนสิงหาคม 2564 วิรักจะครบวาระการเป็นประธานพรรคสมัยที่สองซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายตามกฎของพรรค แม้จะมีสมาชิกบางคนเสนอให้ขยายวาระการดำรงตำแหน่งประธานพรรค แต่เขาก็ยืนยันว่าจะไม่ทำตามข้อเสนอดังกล่าวแน่นอนและจะไม่ดำรงตำแหน่งต่อเมื่อครบสองวาระเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับพรรค โดยเขาอาจจะลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นผู้บริหารพรรคในตำแหน่งอื่นแทน
นอกจากการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งประธานพรรคที่ชัดเจน การคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตก็ถือเป็นอีกหนึ่งในกระบวนการที่พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าทำโดยคำนึงถึงประชาธิปไตยภายในพรรค วิรักระบุว่าพรรคการเมืองบางพรรคขอแค่มีเงินก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่สำหรับพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าเงินมีความสำคัญเป็นรองจากตัวผู้สมัคร
คนที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องแข่งขันกันภายในพรรคโดยสมาชิกพรรคจะลงคะแนนเลือกผู้สมัคร การเลือกตั้งของกัมพูชาทั้งในระดับท้องถิ่น (คอมมูน) และการเลือกตั้งทั่วไป เป็นการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด ดังนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนจากสมาชิกพรรคเป็นอันดับหนึ่งก็จะเป็นผู้สมัครบัญชีหมายเลขหนึ่งประจำจังหวัดหรือคอมมูนนั้นๆ
วิรักระบุด้วยว่าที่ผ่านมาเคยมีคนเสนอเงินให้เพื่อแลกกับการเป็นผู้สมัครในบัญชีอันดับต้นๆ แต่วิรักก็ตอบไปว่าแทนที่จะเอาเงินมาเสนอแบบนี้ให้ไปลงแข่งขันตามระบบของพรรคดีกว่า
นอกจากการสร้าง ‘ประชาธิปไตยในองค์กร’ แล้ว พรรคประชาธิปไตยรากหญ้ายังมีนโยบายสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในการเมืองด้วย ในจังหวัดหรือเขตเลือกตั้งใดที่ผู้สมัครเพศชายมีคะแนนสูงสุดเป็นสองอันดับแรก ตำแหน่งผู้สมัครบัญชีรายชื่ออันดับที่สามจะถูกสงวนไว้เพื่อผู้สมัครเพศหญิงที่ได้รับคะแนนจากการเลือกตั้งภายในมากที่สุด
ยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนไปหลังการยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา
พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งคอมมูน (เลือกตั้งท้องถิ่น) ในปี 2560 จากจำนวน 1,646 คอมมูน พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าสามารถส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้งได้เพียง 27 คอมมูน เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะพรรคมีเวลาเตรียมตัวน้อยเนื่องจากพรรคเพิ่งได้รับการรับรองในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนการเลือกตั้งจัดขึ้นในวันที่ 4 มิถุนายน เท่ากับว่าพรรคมีเวลาเตรียมตัวในการเลือกตั้งเพียงสี่เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตามผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาคอมมูนห้าคนจากสามคอมมูน โดยผู้สมัครของพรรคคนหนึ่งที่ลงแข่งขันในจังหวัดรัตนคีรีได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับสองรองจากผู้สมัครจากพรรคประชาชนกัมพูชาที่ได้เป็นหัวหน้าคอมมูน (Commune Chief) เพียง 11 คะแนน
สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2561 เบื้องต้นพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าก็ตั้งเป้าว่าจะส่งผู้สมัครลงแข่นขันเพียงบางจังหวัดเพื่อเป็นการทดลองระบบภายในพรรคและทดลองสนามก่อนลงสนามเลือกตั้งแบบเต็มตัวในปี 2566 แต่ในช่วงปลายปี 2560 ศาลสูงกัมพูชามีคำสั่งยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา พรรคฝ่ายค้านหลักในความผิดฐานพยายามปลุกระดมประชาชนให้ล้มล้างรัฐบาลโดยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากลงเลือกตั้งเพื่อ ‘ทดสอบระบบ’ ไปลงแข่งขันเต็มรูปแบบและส่งผู้สมัครลงแข่งขันในทุกจังหวัดทั่วประเทศ สวนทางกับที่แกนนำอดีตพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ถูกยุบเรียกร้องให้ชาวกัมพูชาไม่ไปใช้สิทธิ
วิรักระบุว่าพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา แต่ก็มองว่าการรณรงค์คว่ำบาตรการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของการเมืองกัมพูชาและต่อให้พรรคประชาชนกัมพูชาชนะการเลือกตั้งบนความน่ากังขา ประชาคมระหว่างประเทศก็จะให้การรับรองรัฐบาลของฮุนเซนอยู่ดี วิรักยังระบุด้วยว่าทางพรรคยังเคยเรียกร้องให้ผู้สมัครอดีตพรรคกู้ชาติกัมพูชาหาสังกัดใหม่และลงเลือกตั้ง แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่เป็นผล ขณะที่ ยัง เส็ง โกมา แกนนำพรรคอีกคนหนึ่งระบุว่า การคว่ำบาตรการเลือกตั้งทั้งโดยการไม่ไปใช้สิทธิหรือโดยการไปทำบัตรเสียไม่ต่างจากการหยิบยื่นชัยชนะให้พรรคประชาชนกัมพูชา
แม้พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าจะยืนยันลงเลือกตั้งในปี 2561 แต่ในภาพรวมองค์กรอย่าง Asia Society Policy Institute (ASPI) ของสหรัฐอเมริกาก็ชี้ว่าในการเลือกตั้งปี 2561 พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเมืองกัมพูชาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนั่นก็สะท้อนในผลการเลือกตั้งที่พวกเขาได้รับเสียงสนับสนุนเพียงหนึ่งเปอร์เซ็นต์เศษๆ จากเสียงของผู้มีใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ASPI ยังระบุด้วยว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ลงแข่งขัน เช่น พรรคสันนิบาตประชาธิปไตย หรือพรรคเจตนารมณ์เขมร ก็ไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ อย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งเช่นเดียวกับพรรคประชาธิปไตยรากหญ้า
ก้าวต่อไปคือการเลือกตั้ง 2566
การเลือกตั้งปี 2561 จบลงด้วยชัยชนะแบบฮุนเซนกินรวบ โดยพรรคประชาชนกัมพูชาของเขากวาดที่นั่งทั้ง 125 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติกัมพูชา กลายเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน สำหรับพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าที่ลงสนามใหญ่เป็นครั้งแรกหลังการจัดตั้งพรรคและส่งผู้สมัครลงแข่งขันทุกจังหวัดทั่วประเทศได้คะแนนเสียงรวมทั้งประเทศเพียง 70,000 คะแนนจากผู้มาใช้สิทธิประมาณ 6.74 ล้านคนหรือไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด
สำหรับความนิยมบนโลกออนไลน์ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2562 เฟซบุ๊กทางการของพรรคประชาธิปไตยรากหญ้ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กกด Like 52,714 แอคเคาท์ ขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชาของฮุนเซนมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกด Like 172,659 แอคเคาท์ ส่วนเพจของพรรคกู้ชาติกัมพูชาที่ถูกยุบมีผู้ใช้เฟซบุ๊กกดไลก์สูงถึง 522,887 แอคเคาท์ โดยเท่าที่สำรวจความคิดเห็นต่อพรรคที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษบนเพจรีวิวก็มีคนมาแสดงความกังขาอยู่บ้างว่าพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าก็ไม่ได้เสนอทางเลือกอะไรที่แตกต่างจากพรรคกู้ชาติกัมพูชานัก แต่ก็มีบ้างที่มีเขียนชื่นชมหรือมองว่าพรรคประชาธิปไตยรากหญ้าน่าจะเป็นความหวังใหม่ของชาวกัมพูชา
แม้ในการเลือกตั้งปี 2561 พรรคประชาธิปไตยรากหญ้าซึ่งเป็นพรรคน้องใหม่และผู้สมัครรับเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่จะต้องลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งครั้งแรกโดยต้องเผชิญกับการโจมตีทั้งจากพรรครัฐบาลและอดีตแกนนำพรรคกู้ชาติกัมพูชาว่าคนที่ไปเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นพวกทรยศ จนท้ายที่สุดมีผู้ลงคะแนนเลือกพวกเขาทั้งประเทศเพียง 70,000 เสียง แต่วิรักผู้เป็นประธานพรรคก็ยังมองโลกในแง่ดีอยู่บ้างโดยชี้ว่าพรรคประชาธิปไตยรากหญ้ามองการทำงานทางการเมืองว่าเป็นภารกิจระยะยาว จากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2565 และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 พรรคจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งภายในพรรคให้กับสมาชิกพรรคและผู้สนับสนุนด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่พร้อมจะลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งพรรคหวังว่าจะมีผู้สมัครของพรรคชนะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้เป็นหัวหน้าคอมมูน (Commune Chief) บ้าง ส่วนในการเลือกตั้งทั่วไปก็หวังว่าจะมีสมาชิกของพรรคเข้าไปอยู่สภานิติบัญญัติได้บ้าง
ข้อมูลประกอบ:
https://www.khmertimeskh.com/523126/historic-victory-for-the-ruling-cpp/
https://www.phnompenhpost.com/national/cnrp-boycott-call-slammed-opposition-party-leader
https://www.reuters.com/article/us-cambodia-election-results/voter-turnout-for-cambodia-election-80-49-percent-election-commission-idUSKBN1KJ0AQ
https://web.facebook.com/gdpcambodia/
https://www.france24.com/en/20180728-hun-sen-khmer-rouge-soldier-elections-phnom-penh-cambodia
https://web.facebook.com/gdpcambodia/photos/pcb.2298160863624150/2298158566957713/?type=3&theater
Tags: กัมพูชา, พรรคการเมือง