สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเวลานี้ นับได้ว่าอยู่ในช่วงน่ากังวล โดยเฉพาะเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ที่กราฟเหวี่ยงขึ้นสุดลงสุดตลอดทุกสัปดาห์ หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครน กินระยะเวลามานานเกินหนึ่งเดือน ขณะที่กลุ่มชาติสมาชิกจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) กลุ่มประเทศจากสหภาพยุโรป (EU) และกลุ่ม G7 ยังคงหาทางลงให้กับมาตรการคว่ำบาตรรับซื้อพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียแบบเด็ดขาดไม่ได้สักที

แต่ใช่ว่าทุกประเทศบนโลกจะเห็นชอบหรือคล้อยตามกับมาตรการคว่ำบาตรรับซื้อเชื้อเพลิงจากรัสเซีย เมื่อรัฐบาลประเทศ ‘อินเดีย’ ตัดสินใจสวนกระแส โดยยังคงนำเข้า น้ำมันดิบอูราล (Urals Crude Oil) ต่อเนื่อง และมีท่าทีจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมจากที่เคยรับซื้อปีละ 12 ล้านบาร์เรล หรือเพียง 2-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

แต่เดิมอินเดียถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกสูงเป็นอันดับ 3 รองจาก สหรัฐฯ และจีน คิดเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่รับซื้อมาจากประเทศตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และยูเออี รวมถึงชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เป็นหลัก คำถามสำคัญ คือ เหตุใดอินเดียถึงกล้ารับซื้อน้ำมันดิบจากประเทศที่กำลังถูกคว่ำบาตร อีกทั้งผู้นำชาติยังถูกมองว่าเป็นอาชญากรสงคราม ชนิดไม่เกรงกลัวที่จะติดร่างแหการสียผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไปด้วย?

แน่นอนว่าอินเดียคงไม่ตกลงโดยไม่ชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์กับความเสี่ยง

หากย้อนดูตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 จะเห็นได้ชัดว่าอินเดียกำลังพยายามเร่งฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เล่นงานอย่างหนัก ดังนั้น ในปี 2022 อินเดียจึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดิบในอัตราพุ่งสูงขึ้นถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อขับเคลื่อนการผลิตของอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ

ทว่าการนำเข้าจากประเทศตะวันออกกลาง ณ เวลานี้ ย่อมมีราคาดีดสูงขึ้นกว่าปกติ ด้วยปัจจัยความตึงเครียดทางการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ที่โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทซาอุดีอารามโก ในเมืองเจดดาร์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ถูกกลุ่มกบฏฮูษียิงขีปนาวุธโจมตีเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน ทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงถึงกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส (West Texas) และเบรนต์ทะเลหนือ (Brent Crude North Sea) แม้จะปรับตัวลงก็ยังอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงเช่นกัน ดังนั้น การแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิมย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

เมื่อเป็นเช่นนั้น บริษัทรับซื้อน้ำมันของอินเดียจึงเล็งหาแหล่งรับซื้อน้ำมันรายใหม่ที่ให้ราคาถูกกว่า ซึ่งนั่นเป็นคำตอบตรงตามที่สำนักข่าวชื่อดัง เช่น BBC, CNBC, Bloomberg และ Reuters ออกมารายงานว่า อินเดียกำลังทำสัญญาข้อตกลงกว้านซื้อน้ำมันดิบอูราลจากรัสเซีย โดยจะได้ส่วนลดถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยคิดเป็นราคา 20-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยใช้เงินสกุลรูปีแปลงเป็นรูเบิลเพื่อชำระธุรกรรม

ส่วนสาเหตุที่รัสเซียเทราคาขายหมดหน้าตัก ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของมาตรการคว่ำบาตร แม้หลายชาติในยุโรปจะยังนำเข้าน้ำมันดิบอูราลปกติตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนเกิดสงคราม แต่หลังจากการประชุม กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต่างมีมติให้ค่อยๆ รับซื้อน้ำมันดิบอูราลจำนวนน้อยที่สุด จนกว่าจะไม่ต้องพึ่งแหล่งน้ำมันของรัสเซียอีกเลย ซึ่งคาดว่าจะทำสำเร็จภายในสิ้นปีนี้ ทำให้เป็นโจทย์บังคับว่ารัสเซียต้องหาผู้ซื้อหน้าใหม่ให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัสเซียกับอินเดีย ยังนับเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดีลดังกล่าวเกิดขึ้น ทั้งสองต่างเป็นคู่ค้าซื้อ-ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ มาตั้งแต่ปี 1950 แม้อินเดียจะลดอัตราการซื้อลงเหลือ 60 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งรัสเซียยังเป็นผู้ขายระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 ให้กองทัพอินเดียใช้ต่อต้านจีนกับปากีสถาน ระหว่างสู้รบข้อพิพาทพรมแดนแนวเทือกเขาหิมาลัย

แมตต์ สมิธ (Matt Smith) หัวหน้านักวิเคราะห์จากองค์กรสถิติ Kpler Data ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อดีลซื้อขายดังกล่าว และมองว่าอาจมีผู้ซื้อรายที่สองในเร็ววันนี้ต่อจากอินเดีย ซึ่งคาดว่าจะเป็นจีน ขณะที่สหรัฐฯ เลือกจะเร่งอัตราการผลิตน้ำมันให้มากกว่าเดิม รวมถึงเล็งยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรรับซื้อน้ำมันจากอิหร่านและเวเนซุเอลา

“ยังไม่มีใครรู้ว่าอินเดียต้องจ่ายค่าน้ำมันดิบอูราลให้รัสเซียเป็นจำนวนเท่าไหร่ แต่จากแนวโน้มที่ราคาน้ำมันดิบอูราลปรับตัวลง สวนทางกับราคาน้ำมันดิบเบรนต์เป็นประวัติการณ์ ทำให้เชื่อได้ว่านอกจากอินเดียแล้ว จีนยังมีแนวโน้มเป็นผู้รับซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียบางส่วน และจะได้รับส่วนลดจำนวนมากเช่นเดียวกัน” สมิธระบุ

นอกเหนือจากเรื่องของราคาน้ำมันดิบแล้ว ประเด็นของก๊าซธรรมชาติก็น่าสนใจเช่นกัน เมื่อที่ประชุมของชาติสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังวางแผนคว่ำบาตรการรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แม้สัดส่วนการนำเข้าจะสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และยังหวังให้ยุโรปไม่ต้องพึ่งการผูกขาดนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้ภายในปี 2030 แลกกับความลำบากช่วงแรก โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักๆ อย่าง อิตาลี และเยอรมนี มีแผนสำรองที่จะเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นกรณีฉุกเฉิน ทว่าคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะสุดท้าย สงครามยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ให้เห็นว่า กลไกตลาดพลังงานเชื้อเพลิงจะไปในทิศทางใด

ท้ายที่สุด หากมองถึงภาพรวม คนที่ได้รับผลเสียมากที่สุดย่อมหนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆ ที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จากราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และส่อแววว่าจะมีจำนวนประชากรอดอยากยากจนในโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-60783874

https://www.bbc.com/news/58888451

https://www.cnbc.com/…/russia-india-india-buys-cheap…

https://www.reuters.com/…/india-not-considering-buying…/

https://themomentum.co/econcrunch-oil-price/

ภาพ: AFP

Tags: , , ,