อังกฤษประกาศเจตนาที่จะกลับมามีบทบาททางทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายหลังเบร็กซิต เรื่องนี้จะทำให้จีนเพลามือ หรือจะยิ่งอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้หนักมือยิ่งขึ้น ต้องคอยดูกัน

เมื่อปลายปี 2018 สหราชอาณาจักรส่งท้ายศักราชด้วยการประกาศนโยบายใหญ่ข้อหนึ่ง นั่นคือ หลังถอนตัวจากสหภาพยุโรปแล้ว อังกฤษจะฟื้นสถานะ ‘มหาอำนาจโลก’ อย่างที่เคยเป็นเมื่อครั้งอดีต โดยจัดตั้งฐานทัพในย่านทะเลแคริบเบียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยปทัสถานและกฎหมายระหว่างประเทศที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่า อังกฤษไม่อาจหวนคืนความเป็นจักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินเหมือนเมื่อศตวรรษที่ 19 ล่วงเข้าศตวรรษที่ 20 ได้ และไม่อาจล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกา เอเชีย รวมถึงแถบอุษาคเนย์ได้อีก

แต่คำประกาศเจตนาที่ว่านี้ถูกมองว่า อังกฤษคิดจะเดินหมากบนกระดานภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจร่วมสมัย โดยสอดประสานกับพันธมิตรชาติตะวันตกและมิตรประเทศในภูมิภาค เพื่อสกัดกั้นการผงาดของจีน  

หมายตาฐานทัพในสิงคโปร์

อังกฤษจะอยู่อย่างไรในโลกหลังจากแยกตัวจากสหภาพยุโรป เป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงการต่างประเทศ ที่ผ่านมา อังกฤษเล่นบทในกรอบของอียู เมื่อพ้นสมาชิกภาพแล้ว อังกฤษต้องวางจุดยืน ท่าที สถานะ บทบาท อย่างเป็นเอกเทศ

รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ แกวิน วิลเลียมสัน เสนอเมื่อ 30 ธันวาคมว่า อังกฤษกำลังตระเตรียมแผนการที่จะสร้างฐานทัพ 2 แห่ง แห่งหนึ่งอยู่ในย่านทะเลแคริบเบียน อีกแห่งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับแห่งหลัง อังกฤษหมายตาสิงคโปร์ หรือบรูไน

แผนการใหม่นี้ถือเป็นการพลิกกลับนโยบายของอังกฤษที่เคยถอนทหารออกจากอุษาคเนย์และอ่าวเปอร์เซียภายใต้ยุทธศาสตร์ปี 1968 ที่เรียกกันว่า ‘East of Suez strategy’ ซึ่งในปีนั้น อังกฤษได้ประกาศแผนการถอนทหารออกจากฐานทัพในมาเลเซียและสิงคโปร์หลังจากจักรวรรดิอังกฤษเสื่อมอำนาจลงเป็นลำดับ รัฐบาลอียิปต์เข้าควบคุมคลองสุเอซในปี 1956 และบรรดาประเทศทางฟากตะวันออกของคลองยุทธศาสตร์สายนี้ทยอยประกาศเอกราช

รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ แกวิน วิลเลียมสัน (ภาพโดย DANIEL LEAL-OLIVAS / AFP)

เวลานี้ อังกฤษมีฐานทัพนอกประเทศ 4 แห่ง คือ เกาะไซปรัส ทางฟากตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แหลมยิบรอลตา ทางฟากตะวันตกของเมดิเตอร์เรเนียน หมู่เกาะฟอล์คแลนด์ ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก และเกาะดิเอโกการ์เซีย ใจกลางมหาสมุทรอินเดีย

วิลเลียมสันบอกว่า ภายหลังเบร็กซิต สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศจะพลิกโฉมครั้งใหญ่ อังกฤษจึงต้องกระชับความสัมพันธ์กับออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ประเทศแถบแคริบเบียน รวมทั้งบรรดาชาติแอฟริกัน

ข้อตกลง ‘เบญจภาคี’

อันที่จริง บทบาททางทหารของอังกฤษในย่านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมา อังกฤษมีความร่วมมือกับหลายประเทศในแถบนี้ ทั้งในรูปแบบของทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงภายหลังการดำเนินยุทธศาสตร์ถอนทหารออกจากดินแดนทางฟากตะวันออกของคลองสุเอซ

หนึ่งในกรอบความร่วมมือที่หลายฝ่ายรู้จักกันดีในวงการทูตวงการทหาร ก็คือ ความตกลงการป้องกันประเทศร่วมกันห้าฝ่าย (Five Power Defence Arrangements – FPDA) ปี 1971 ระหว่างสหราชอาณาจักร มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งก็คือ ข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับประเทศในเครือจักรภพ นั่นเอง

ตามข้อตกลงฉบับนี้ หากชาติสมาชิกหนึ่งใดเผชิญภัยคุกคามของการโจมตีด้วยอาวุธ ก็จะต้องเข้า “ปรึกษาหารือ” โดยทันทีกับประเทศภาคีอื่นๆ เพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการร่วมกันหรือมาตรการโดยลำพังอย่างไรที่จะรับมือ แต่ข้อตกลงไม่ได้กำหนดเป็นพันธะที่ชาติสมาชิกจะต้องเข้าแทรกแซงทางการทหาร

ข้อตกลงเอฟพีดีเอยังคงมีผลถึงปัจจุบัน เมื่อเดือนตุลาคม 2018 ประเทศทั้งห้าจัดการซ้อมรบร่วมโดยใช้สิงคโปร์เป็นฐาน โดยมีปฏิบัติการหลายภารกิจในทะเลจีนใต้

ความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เป็นรากฐานเชื้อมูลที่รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษคิดต่อยอดไปถึงการตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีสุ้มเสียงจากสิงคโปร์ว่า คิดอย่างไรกับแผนการนี้ รัฐบาลของลีเซียนลุงคงต้องคิดหลายตลบ เพราะประเทศนักการค้าแห่งนี้พยายามรักษาสมดุลในความสัมพันธ์กับจีน สหรัฐฯ อาเซียน และพี่ใหญ่ในเอเชียทั้งหลายมาโดยตลอด และสิงคโปร์เองก็ไม่ใช่คู่พิพาทกับจีนในเรื่องทะเลจีนใต้

วางกล้ามใส่จีน

นักวิเคราะห์มองว่า การยกเลิกยุทธศาสตร์ถอนทหารออกจากฟากตะวันออกของคลองสุเอซ และการกลับเข้ามามีบทบาทด้านความมั่นคงในย่านตะวันออกไกลอีกครั้งเช่นนี้ เป็นวิสัยทัศน์ที่มีจีนอยู่ในใจ

ในระยะหลัง อังกฤษเริ่มเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับพันธมิตรตะวันตก ที่จะกีดกันการขยายอำนาจของจีนในเอเชีย โดยเฉพาะการอ้างอธิปไตยเหนือเขตแดนในทะเลจีนใต้

รูปแบบการเคลื่อนไหวทางทหารของอังกฤษ มีทั้งการซ้อมรบร่วม และการแล่นเรือผ่านเขตแดนทางทะเลที่มีข้อพิพาทกรรมสิทธิ์ระหว่างจีนกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกันยายน 2018 อังกฤษส่งเรือฟริเกท HMS Argyle เข้าร่วมการฝึกกับญี่ปุ่นในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก

ย้อนไปในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน อังกฤษส่งเรือรบสะเทินน้ำสะเทินบก HMS Albion แล่นเข้าใกล้หมู่เกาะพาราเซล ซึ่งจีนได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารไว้หลายอย่าง อังกฤษชี้แจงว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อยืนยันเสรีภาพในการเดินเรือ ไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่ปักกิ่งประท้วงว่า เป็นการกระทำที่ยั่วยุ

นักวิเคราะห์บางรายมองว่า แผนการของอังกฤษเป็นการเสริมรับกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงกับประเทศเอเชีย ด้วยเป้าหมายที่จะประชันกับแผนการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีน

ถ้าอังกฤษเข้ามาตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็จะสร้างความอุ่นใจให้กับบรรดาประเทศที่พิพาทกับจีนในเรื่องเขตแดนทางทะเล เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน

สำหรับมหาอำนาจตะวันตก ทะเลจีนใต้มีความสำคัญทั้งในมิติการเมืองการทหารและเศรษฐกิจ เพราะเป็นเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยสู่ย่านเอเชียตะวันออกในยามสงคราม ซึ่งขณะนี้มี ‘hot spots’ หลายจุด เช่น ไต้หวัน คาบสมุทรเกาหลี อีกทั้งยังเป็นเส้นทางการค้าทางไกลในยามสันติ ซึ่งเวลานี้มีการขนส่งสินค้าผ่านด้วยมูลค่าปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

สิงคโปร์เคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ บรูไนเคยเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ทุกวันนี้ยังมีหน่วยทหารชุดหนึ่งประจำการในทั้งสองประเทศ

ต่อจากนี้ ต้องรอฟังท่าทีจากสิงคโปร์ บรูไน และจีน ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อแผนจัดตั้งฐานทัพของอังกฤษ

 

อ้างอิง:

 

 

Tags: , , , , , , , , ,