ตะวันเริ่มทำงานตอนกลางคืน—ช่วงเวลาที่แตกต่างจากชื่อของเขา เมื่อได้เวลาเขาจะเติมแอลกอฮอล์ให้ตัวเอง เปิดเพลงร็อกยุค ’70s จากแผ่นไวนิล เร่งเสียงให้ดังขึ้น ให้เวลากับตัวเองสักพักแล้วจึงเริ่มละเลงสีลงบนแผ่นกระดาษสีขาวที่วางอยู่บนพื้น เขาจะทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรง ผมเคยนั่งดูตอนเขาทำงาน จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไหลลื่นไปกับความรู้สึกและเสียงดนตรีในห้วงนั้น คล้ายตกอยู่ในภวังค์ของสมาธิ

แดดร่มลมตก ผมนัดกับตะวันไว้ที่สตูดิโอย่านสาทร เราตกลงกันว่าผมจะกลับบ้านตอนสามทุ่มเพื่อที่เขาจะได้ทำงานสำหรับงานแสดงที่ต่อคิวยาวไปจนถึงสองปีข้างหน้า ตะวันเพิ่งกลับมาจากไทเปที่ซึ่งเขาใช้เวลา 3 เดือนเพื่อปลีกวิเวกและสร้างงานชุดใหม่ อีกไม่กี่วันเขาก็ต้องเดินทางอีกครั้ง

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ศิลปินคนนี้เดินทางไม่หยุดหย่อน ทั้งไปเป็นศิลปินพำนัก ไปเปิดงานแสดงภาพสีน้ำ และเดินทางเพื่อหาความรู้และอัพเดทโลกของศิลปะ ปีที่แล้วเขาเดินทางเยอะมากเสียจนอยู่เมืองไทยไม่ถึงสามเดือน ผมสังเกตเห็นตู้ใส่แผ่นเสียงของเขาเพิ่มปริมาณมากขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะนอกจากงานศิลปะที่เขาสนใจ ตะวันยังเป็นนักสะสมแผ่นเสียง หลายครั้งที่เราพบกัน เขามักชวนให้ฟังแผ่นใหม่ๆ จากเครื่องเสียงชุดใหม่เสมอ

“เราเพิ่งกลับมาจากไทเป แล้วก็เพิ่งย้ายสตูฯ ด้วย จัดเสร็จเมื่อวานนี่เอง นายก็มาเย็นนี้นี่แหละ” ตะวันพูดด้วยรอยยิ้มเหมือนเคย เขาบอกว่ากลับมาถึงบ้านแล้วทำอะไรไม่ถูก ก็เดินไปเปิดเพลงฟังแล้วค่อยเริ่มจัดห้อง และเช่นกันเมื่อเขาพูดกับผมไม่ทันจบ  เขาก็เดินไปเลือกแผ่นเสียงเพื่อระลึกถึง Bernardo Bertolucci ที่เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน ไม่ถึงอึดใจ เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Last Emperor ของ Ryuichi Sakamoto ก็ลอยอ้อยอิ่งอยู่ในอากาศเป็นพื้นหลังของบทสนทนา

ไฟนีออนในสตูดิโอเปิดไว้ทุกดวงจนทั่วทั้งห้องฉาบไปด้วยสีขาวสว่างไสว บนพื้นและบนโต๊ะทำงานเต็มไปด้วยงานสีน้ำที่เขาวาดเกือบทุกคืน อีกด้านหนึ่งเป็นชุดเครื่องเสียง เทิร์นเทเบิล แอมป์ วางบนตู้ที่จัดเรียงแผ่นเสียงเต็มพื้นที่

“ไทเปเป็นยังไงบ้าง” ผมถามถึงประสบการณ์จากการดูงานศิลปะทริปล่าสุดของเขา

“ที่ไต้หวันกำลังมี Art Biennial เหมือนที่เมืองไทย แต่ที่นั่นเขามี 2 รายการ คือ Taiwan Biennial ที่เมืองไทจง และ Taipei Biennial จัดที่ไทเป งานที่เมืองไทเปมีธีมคืออนาคตของไต้หวัน เป็นการรวมผลงานของศิลปินไต้หวันและศิลปินนานาชาติ รายการนี้เป็นเหมือนงานทดลอง คิวเรเตอร์เลือกงานจากมุมมองของหลากหลายอาชีพ ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ และนักสังคมวิทยา พูดถึงระบบนิเวศของโลกและของไต้หวัน มีศิลปินชาวบ้านด้วยซึ่งเสนอประเด็นทางสังคม คือความขัดแย้งกันระหว่างการพัฒนากับปัญหาที่ดิน นำเสนอทั้งวิดีโอ ภาพนิ่ง คือคิวเรเตอร์มองว่ามันเป็นประเด็นที่ควรถูกพูดถึง บางงานคล้ายๆ งานวิจัย อาจจะไม่ค่อยสนุก แต่ก็ทำให้เราได้เห็นภาพรวม

“ส่วนงาน Taiwan Biennial เป็นงานของศิลปินชาวไต้หวันล้วนๆ เราชอบงานนี้ที่ไทจงมากกว่า เพราะเราสนใจอาร์ทซึ่งหลายงานออกมาดี ไต้หวันให้ความสำคัญกับศิลปะ มีจำนวนศิลปินมากกว่าที่เมืองไทยเยอะ ร้านขายอุปกรณ์ศิลปะก็เยอะมาก ทั้งๆ ที่เขามีประชากร 25 ล้าน และหลายคนโลดแล่นอยู่ในโลกกว้าง”

“แล้วทำไมนายถึงเลือกไปทำงานที่ไต้หวัน”

“เราเพิ่งมีโชว์ที่ไทเปปีที่แล้ว เราชอบเมืองนี้ เดินทางง่าย อาหารถูกปาก ราคาไม่แพง คนที่นั่นนิสัยดี แล้วแกลเลอรี่ที่นั่นก็ช่วยหาสตูดิโอและที่พักให้ คราวนี้เราไป 3 เดือนเพื่อไปทำงานสำหรับงานโซโลที่โตเกียวปีหน้า”

ตะวันไล่เรียงงานนิทรรศการที่เขาจะต้องไปโชว์ไล่ยาวจนถึงปี 2020 พูดจบเขาก็เดินไปที่เทิร์นเทเบิล เสียงทรัมเป็ตหวานเศร้าเปลี่ยนอารมณ์ให้นิ่งขึ้น เขาเล่าต่อมาถึงบรรยากาศการทำงานในสตูดิโอที่เช่าไว้ในไทเป ซึ่งก็คงเหมือนกับที่อื่นๆ ทั่วโลก คือมีศิลปินบางคนที่ทำงานอย่างจริงจังจนสร้างลายเซ็นเป็นของตัวเอง บางคนก็ทำงานแบบขอไปที ไม่ได้มีแนวทางเป็นของตัวเอง ตะวันเปิดเฟซบุ๊กให้ผมดูงานบางส่วนของเขาที่มีกลิ่นอายของภาพจีน เขาบอกว่าเป็นงานวาดเล่นๆ ส่วนงานจริงยังไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ

คุยกันไปคุยกันมา เราก็เคลื่อนมาคุยถึงเรื่องศิลปะในเมืองไทย “ที่เมืองไทยมีศิลปินใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะ เพราะช่วงเวลานี้กำลังเป็นขาขึ้นของศิลปะในไทย แต่เราชื่นชมกับศิลปินที่ผ่านการทำงานพิสูจน์ตัวเองมากกว่า เรายกย่องคนที่ทำงานในแนวทางของตัวเอง หลายคนอาจไม่เก่ง ไม่ดัง เเต่เรานับถือคนแบบนี้ ถ้าศิลปินคนไหนเดินตามคนอื่น ก็ต้องคอยเงี่ยหูฟังว่าคนอื่นเขาทำอะไร แล้วก็ทำตาม ศิลปินที่ทำงานตามแฟชั่นก็ต้องตามเขาไปตลอดชีวิต” ตะวันสรุป

“ไวน์ไหม…ไฟมันสว่างไปหน่อยนะ แต่เดี๋ยวรอให้ข้างนอกมืดอีกหน่อยแล้วค่อยเปิดไฟเหลือง” ตะวันบอกพลางเทไวน์ลงในแก้วของผม เหมือนเราจะรู้สึกถึงความสว่างจ้าเกินไปของแสงจากไฟนีออนเหมือนกัน

ก่อนที่จะถึงงานแสดงครั้งต่อไป อยากย้อนถึงช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเป็นตะวันที่ ‘ฉายแสง’ แรงกล้าในทุกวันนี้

ตะวันใช้เวลา 8 ปีครึ่งก่อนที่จะเรียนจบจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งๆ ที่อยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่โชคชะตาก็พาเขามาสอบติดจิตรกรรมฯ เมื่อเข้าไปอยู่ในรั้วศิลปากร ตะวันพบว่าตัวเองชอบทำงานภาพพิมพ์มากกว่า แต่กระบวนการสร้างสรรค์งานเรียกร้องการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอนและการวางแผนซึ่งไม่เหมาะกับนิสัยของเขา เขาจึงเน้นไปที่งานเพนท์ติ้ง

ในช่วงเวลา 8 ปีครึ่ง เขาดร็อปเรียน 2 ครั้ง ครั้งแรกเพราะผิดหวังจากการเรียนตกเพนท์ติ้งที่เป็นวิชาเอก และครั้งที่สองเพราะเบื่อกับบรรยากาศการเรียนตอนนั้น ตะวันหยุดเรียนเพื่อออกมาทำงานเป็นครีเอทีฟค่ายเพลงและรับสอนวาดรูป เขาเคยเปิดร้านกาแฟที่สยามฯ ซึ่งเปลี่ยนเป็นขายเหล้าในตอนเย็น ชีวิตในวัยหนุ่มของเขาหมุนเวียนอยู่ในโลกของแฟชั่น และป๊อป คัลเจอร์

ต่อมาไม่นาน ชีวิตของตะวันย้ายศูนย์กลางไปที่ถนนพระอาทิตย์ ในร้านเหล้าของเพื่อนที่ซึ่งเขาได้พบกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ ลูกค้าประจำของร้าน ตะวันได้รับฟังคำบรรยายถึงวรรณคดีและประวัติศาสตร์จากนักเขียนใหญ่ผู้นี้ ทำให้เขาเริ่มสนใจการอ่านและติดตามการเมือง ซึ่งต่อมามีผลส่งมาถึงนิทรรศการ ‘500’ ของเขา

เมื่อเวลาผ่านไป ชีวิตสอนเขาให้เรียนรู้การเอาตัวรอดซึ่งเป็นไปด้วยดี แต่ในเวลาหลับเขามักพบตัวเองฝันซ้ำๆ ว่าเรียนไม่จบ ฝันว่าต้องกลับไปเรียนซ้ำในชั้นประถมฯ เสมอ ซึ่งเขาวิเคราะห์เองในภายหลังว่า มันคงเป็นปมในใจที่ยังค้าคาอยู่ เขาจึงตัดสินใจกลับเข้าไปเรียนที่ศิลปากรอีกครั้ง

“ตอนทำธีสีส เราเริ่มสนิทกับพี่ธร (หริธร อัครพัฒน์ ศิลปินด้านประติมากรรม) เขาเห็นงานเราแล้วบอกว่าเรามีแววสามารถเป็นอาร์ติสต์ได้ เราดีใจมาก แต่มารู้ทีหลังว่าเขาพูดกับทุกคนแหละ (หัวเราะ) เราว่าสิ่งที่พี่ธรพยายามจะบอกเป็นการยุให้เราทำงาน พี่ธรเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเราคนหนึ่ง” ตะวันยิ้มเหมือนที่ยิ้มเสมอ จิบไวน์ แล้วเล่าต่อว่า “ตอนเราไม่มีเงิน เขาเตือนเราว่าถ้าอยากวาดรูปอย่าไปติดว่าต้องมีสี ต้องมีผ้าใบ ถ้าอยากวาดมีถ่านแท่งเดียวก็วาดได้ อย่าไปติดที่เครื่องมือ”

การกลับเข้าไปเรียนครั้งใหม่ทำให้ความต้องการของตะวันชัดเจนกว่าเดิม เขาสร้างผลงานอย่างที่ใจปรารถนา เพราะเขาคิดว่าเขาจะทำในสิ่งที่ตัวเองไม่สนใจได้อย่างไรกัน  มหาวิทยาลัยควรเป็นสนามให้เขาได้ทดลองสร้างสรรค์งานโดยไม่มองว่าคะแนนจะออกมาเป็นอย่างไร ในที่สุดตะวันก็เรียนจบออกมาได้แม้ว่าจะมีคำปรามาสติดมาด้วยก็ตาม ขณะเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ตะวันบอกตัวเองว่าจะต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าเขาคิดถูก

แสงไฟนีออนสีขาวจ้าภายในห้องถูกแทนด้วยแสงสีเหลืองนวลอ่อนส่องสว่างเป็นหย่อมๆ ไวน์แดงสีเข้มถูกรินเพิ่มเติมลงในแก้วของเขาและผม เสียงเพลงแจ๊ซประกอบภาพยนตร์จากยุค Nouvelle Vague ของฝรั่งเศส ลอยต่ำอยู่ในบรรยากาศ

ชีวิตของศิลปินเต็มตัว อันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ใช่ว่าวันดีคืนดีจะได้แสดงงานแล้วโด่งดังติดลมบน ตะวันตกเคยหลุมพรางของชีวิต ในช่วงปี 2003-2004 เขาไม่อยากทำอะไรเลย นอกจากอยากวาดรูป ซึ่งก็ไม่ได้สร้างผลงานไว้มากนัก แม้จะมีคนรักช่วยดูแล แต่ชีวิตก็ยังไม่ได้เริ่มต้นเป็นชิ้นเป็นอัน เขาบอกว่าเป็นช่วงงุนงงของชีวิต เขาจำอะไรในช่วงเวลานี้ไม่ได้เลย คล้ายจะว่างเปล่า เผาผลาญเวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมและใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย

“ชีวิตช่วงนั้นไม่มีอะไรเลย จำได้ว่าเวลาเดินช้ามาก รูปที่วาดออกมาก็ไม่ดี ย้ำคิดย้ำทำ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกลียดโลก เกลียดตัวเอง ดูรูปนี้สิ หน้าตาอย่าง lost เลย” เขาเปิดภาพวัยหนุ่มที่เพิ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กให้ดู แต่หากคิดย้อนกลับไป ช่วงเวลานั้นอาจจะเป็นช่วงสะสมพลังงานก่อนที่เขาจะเจาะทะลุเปลือกตัวเองออกมาก็เป็นได้

ตะวันอาจจะโชคดีกว่าศิลปินอีกหลายคน เพราะหลังจากงานชุด ‘500’ ในปี 2005 ซึ่งเป็นงานพอร์เทรทสีน้ำ 500 แผ่น เขาก็แจ้งเกิดในโลกศิลปะ แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง แต่ก็นับเป็นก้าวที่สำคัญของเขา

“ถ้าไม่มีงานชุด ‘500’ ก็ไม่มีชุด ‘แฝด’ (Siamese Freaks, 2007)” เขาบอกอย่างนั้น และงานชุดนี้ก็พาตะวันออกไปสู่โลกศิลปะที่กว้างขึ้น

“หลังจากแสดงงานชุดแฝด โชคชะตามันนำพาเราไปเจออีกหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งทำให้เราสามารถไปต่อจากนั้น เราตามความรู้สึกของเราไปโดยไม่ต้องหาเหตุผลมาใส่มันให้มาก ไม่ต้องกลัวว่าจะเชย เพราะศิลปะไม่มียุคสมัย และถ้ามันดีจริงมันจะข้ามกาลเวลา เราว่าเราอาจจะโชคดีที่งานเรามีคนพูดถึง เหมือนเราเกิดแล้วเราได้นับหนึ่ง ถ้าเรายังวาดรูปอยู่แล้วไม่ดัง เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตจะเป็นยังไง อาจจะเปลี่ยนอาชีพไปแล้วก็ได้ บางคนมีฝีมือ สร้างงานดี แต่ไฟส่องไม่ถึงก็ไม่รู้จะพูดยังไง อาจจะต้องมีดวงด้วย” เขาอธิบายฉากผ่านในชีวิตตัวเองเมื่อมองย้อนกลับไป

นอกจาก ‘พี่ธร’ ที่ตะวันพูดถึงแล้ว หญิงสาวอีกคนที่เป็นผู้เปิดโลกศิลปะในยุโรปให้ตะวันคือ ‘มีมี่’ (Myrtille Tibayrenc) ศิลปินและคิวเรเตอร์ชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็นคนชักชวนตะวันและพางานเพนท์ติ้งของเขาไปสู่ยุโรป ตะวันใช้โอกาสนี้ตระเวนไปตามมิวเซียมหลายแห่งเพื่อดูงานชิ้นสำคัญๆ ตะวันบอกว่ามีมี่เป็นคนเติมเต็มส่วนที่เขาปรารถนาอยากจะทำ แต่ไม่รู้ว่าจะทำมันอย่างไร

ไวน์หมดขวดแล้ว และแม้ว่าจะล่วงเลยเวลาที่เราตกลงกันไว้ก็ตาม แต่บรรยากาศยังพาเราไถลไปอีกสักพัก ตะวันลงไปซื้อเบียร์ ผมเตรียมถ่ายภาพ จำได้ว่าผมเคยถ่ายภาพเขาสองครั้ง ครั้งแรกผมถ่ายภาพเขาในโรงแรมเร็กซ์บนถนนสุขุมวิทก่อนถูกรื้อถอน ครั้งที่สอง—เมื่อสองปีที่แล้วตอนเขาเดินทางกลับมาจากเม็กซิโก ตอนนั้นตะวันไว้หนวดเรียวบนริมฝีปากและเก็บไว้ไม่โกนเพื่อให้ผมถ่ายภาพของเขาเก็บไว้  แม้จะแตกต่างด้วยวันเวลา แต่ประกายไฟในดวงตาของเขาไม่เปลี่ยนแปลง

“ถามหน่อยว่าตอนนั้นทำไมถึงทำงานสีน้ำ” ผมถามเมื่อเขารินน้ำสีเหลืองอำพันลงในแก้ว

“สีน้ำราคาไม่แพงแล้วใช้ได้นาน กระดาษก็ถูกกว่าผ้าใบ มีเงิน 300 บาทก็วาดรูปได้ มีเงินเพิ่มก็ค่อยไปซื้อกระดาษใหม่ คนส่วนใหญ่ใช้สีน้ำวาดภาพทิวทัศน์ วาดดอกกุหลาบ แต่เราเอามาวาดพอร์เทรท เทคนิคสีน้ำให้ทำอะไร เราไม่ทำเลยสักอย่าง เราทำอย่างที่เราอยากทำ ค่อยๆ ทำไป เรียนรู้ไป”

“นายทำอยู่นานไหมถึงจะรู้จักสีน้ำจริงๆ”  

“งานชุด ‘500’ เราวาดตั้ง 500 รูป มันก็มีความชำนาญของมันอยู่ เราวาดมาเยอะ เราไม่ได้เก่งอะไร แต่ถึงวันนี้เราวาดพอร์เทรทมา 5,000 รูปแล้วมั้ง เมื่อก่อนใช้สีอะเครลิค ต่อมาก็สีน้ำมัน ตอนแรกเราไม่ชอบสีน้ำเพราะทำกันเป็นแพทเทิร์น เราเลยไม่สนใจ จริงๆ สีน้ำมีวิธีวาดหลายวิธี แต่คนมักไปวาดรูปตามสไตล์รูปที่ได้เลือกติดบอร์ด (รูปที่ได้คะแนนดี) มันก็เลยกลายเป็นว่าใช้เทคนิคการวาดสีน้ำกันไม่กี่วิธีเพื่อให้ได้คะแนน เราว่ามันเป็นวิธีการสอนที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ความจริงทุกคนมีแนวทางของตัวเอง โลกมันกว้างทางมันมีเยอะ ไม่ใช่มีทางเดียว เราก็ต้องหาวิธีของตัวเอง ไม่มีสูตรสำเร็จ”

ตะวันเดินไปเปลี่ยนแผ่นไวนิลอีกครั้ง ผมใช้เวลาอีกพักหนึ่งในการถ่ายภาพเขาด้วยแสงจากโคมไฟ เสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ The Talented Mr.Ripley พลิ้วไหว กังวานเนิบช้า บางจังหวะดุดันลึกลับ ชวนให้นึกถึงแสงแดดสีเหลืองสะท้อนคลื่นดังแทรกเข้ามา

“เราจะทำงานที่เราเชื่อมโยงกับมันได้ และเราไม่เคยฝืนใจตัวเอง งานถึงจะมีสปิริตอยู่ในนั้น” ตะวันพูดถึงแนวทางการทำงานของเขาที่ผ่านมา และยังคงจะทำต่อไปในอนาคต

หลังจากผมเดินออกจากห้องนี้ไปแล้ว ตะวันคงเปลี่ยนแผ่นเสียงจากเพลงแจ๊ซเป็นเพลงร็อกในยุค ’70s เขาจะจมอยู่กับตัวเองสักพัก…แล้วเริ่มทำงานของเขา

 

ตะวัน วัตุยา | ศิลปิน

Medium Format Camera 6×9 / 6×6
Color Negative Film / Black and White Negative Film

Tags: ,