ผมมาก่อนเวลานัด 1 ชั่วโมง แต่แม่บ้านก็ยังเปิดประตูต้อนรับและให้ผมนั่งพักรอที่ห้องรับแขก แสงบ่ายสาดเข้ามาทางประตูและอิฐใส บรรยากาศเงียบสงบในซอยที่ห่างจากถนนใหญ่ไม่มาก ผมเคยมาที่นี่เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ครานั้นเจ้าของบ้านซึ่งเป็นนักเขียนนักการทูตยังมีชีวิตอยู่ ในความทรงจำ—ห้องรับแขกเคยกว้างกว่าวันนี้ ภาพเขียน ‘ลุงเส’ เสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิชัย บำรุงพงศ์ 2461-2557) ยังโดดเด่นอยู่บนกำแพงหลังเก้าอี้รับแขกที่ลุงนั่งในวันนั้น ผมโชคดีที่ได้นั่งฟังลุงเสเล่าถึงชีวิตในวัยหนุ่มและได้ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก หากมีชีวิตถึงวันนี้ เสนีย์ เสาวพงศ์ จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี
“บ้านหลังนี้สร้างเมื่อปี 1965 แต่สร้างเสร็จแล้วเว้นว่างไว้ 10 กว่าปี ไม่มีคนอยู่ เพราะคุณพ่อถูกส่งไปประจำที่เวียนนา แล้วระหกระเหินไปเป็นนักการทูตหลายประเทศก่อนจะเกษียณแล้วกลับมาอยู่เมืองไทย”
พี่จอย — ศราพัศ บำรุงพงศ์ ลูกสาวของลุงเสเล่าให้ฟัง เมื่อเธอมาถึงห้องรับแขก เธอนั่งอยู่ที่โซฟาอีกด้านหนึ่งซึ่งเมื่อ 8 ปีที่แล้วมันไม่ได้ตั้งอยู่ตรงนี้ ทำให้ภาพที่ผมจำได้ไม่ทาบทับกันพอดี แต่เหลื่อมซ้อนกัน ในขณะเดียวกันก็เปิดมุมมองให้กว้างออกไป
“สมัยวัยหนุ่ม คุณพ่อสอบเข้าคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ แต่คุณปู่สิ้นเสียก่อนจึงไม่มีเงินส่งเสีย คุณพ่อจึงเข้าเรียนกฏหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย” พี่จอยเท้าความไปถึงวัยหนุ่มของลุงเส ก่อนที่จะบอกว่า มันอาจจะเป็นอุบัติเหตุของชีวิตซึ่งกลายเป็นชะตากรรม ทำให้คุณพ่อของเธอกลายเป็นนักเขียน ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหากลุงเสเป็นสถาปนิก เมืองไทยจะมีตึกที่สวยงามอีกกี่แห่ง และบางทีเส้นขอบฟ้าของกรุงเทพฯ อาจไม่เหมือนวันนี้
อุบัติเหตุอีกครั้งของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อลุงเสได้รับทุนไปเรียนที่เบอร์ลิน ขณะเดินทางโดยรถไฟสายทรานไซบีเรียผ่านสหภาพโซเวียตเพื่อไปเยอรมนี แต่เกิดปัญหาวีซ่าเข้าสหภาพโซเวียต ลุงเสจึงรออยู่ที่เมืองฮาร์บิน แมนจูเรีย ราว 3 เดือนก่อนจะตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย แต่การเดินทางครั้งนั้นไม่สูญเปล่า เพราะสิ่งที่เห็นและเรียนรู้จากการเดินทางได้กลายมาเป็นฉากของเรื่องสั้นหลายเรื่อง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 2485 เสนีย์ เสาวพงศ์กลับไปสหภาพโซเวียตอีกครั้งในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ โดยเริ่มเป็นนักการทูตโพสท์แรกที่กรุงมอสโก (2490-2497) ในช่วงที่ยากลำบากขัดสนอันเป็นผลจากไฟสงคราม
เป็นไปได้ว่าเมล็ดพันธุ์ความคิดเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอาจจะถูกทำให้เติบโตขึ้นจากความคิดแนวใหม่ที่บ่มเพาะในโลกตะวันตก และอาจจะเป็นที่กรุงมอสโกนี้ที่จุดประกายในใจของลุงเส ก่อนจะถูกกลั่นกรองเป็นบทประพันธ์ต่อมาในครรลองชีวิตนักเขียน ‘ปีศาจ’ (2496) เขียนขึ้นในวัย 35 ปี ขณะที่ความปรารถนาจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าคุกรุ่นอยู่ในสำนึก ต่อมาภายหลัง หนังสือเล่มนี้มีชีวิตของตัวเอง กลายเป็นคู่มือทางความคิดของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความเท่าเทียมของพลเมือง
“แล้วพี่จอยเกิดที่ไหนครับ” ผมเข้าเรื่อง ความจริงวันนี้ผมขอนัดเธอเพราะอยากรู้จักผู้หญิงคนนี้ที่ผมเคยพบครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน เธอมีผมสั้นสีทองสะดุดตา ใส่แว่นกระทรงกลมรับกับใบหน้า
“พี่เกิดที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ตอนนั้นพ่อกลับจากมอสโกมาเมืองไทยเพื่อแต่งงานแล้วเดินทางไปประจำสถานทูตที่อาร์เจนตินา วัยเด็กพี่ก็ติดสอยห้อยตามพ่อไปที่ต่างๆ จำได้ว่ามี นิวยอร์ก อินเดีย ตอนพ่อไปประจำที่สถานทูต ประเทศอินเดีย พี่อายุ 7 ขวบแล้ว ถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน พ่อเลยทิ้งพี่กับน้องชายไว้ที่เมืองไทย”
“ชีวิตที่เมืองไทยตอนที่พ่อแม่ไม่อยู่เป็นยังไงบ้าง”
“พี่ถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำที่วัฒนาวิทยาลัย มียายและญาติฝั่งแม่คอยดูแล ตอนนั้นชีวิตรันทด (หัวเราะ) จำได้วันเสาร์อาทิตย์เพื่อนๆ กลับบ้าน แต่ละคนมีรถหรูหรามารับ ส่วนเรา—ยายให้ลุงนั่งตุ๊กๆ มารับ ไอ้เราก็อ๊ายอาย โดนล้อด้วย พอกลับมาอยู่ประจำ เพื่อนๆ ก็เอาชุดนักเรียน รองเท้า ชุดนอนหรูๆ จากห้างฯ ไดมารู มาอวดโชว์กัน ของเราก็ชุดนอนจากประตูน้ำ แต่ก็นั่นแหละในวัยเด็ก ก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะเหยียดอะไรกันจริงๆ จังๆ ล้อเอาสนุกเท่านั้นเอง” ผมฟังพี่จอยเล่าต่อไปโดยไม่ขัดจังหวะ เพราะเรื่องราวชีวิตบางส่วนของเธอที่ดำเนินคู่ไปกับบุคคลและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ค่อยๆ เผยตัวออกมา
“พี่อยู่โรงเรียนวัฒนาฯ ได้ 3-4 ปี พ่อก็ถูกย้ายไปประจำที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย (2511-2515) คราวนี้พ่อพาเราไปด้วย เข้าโรงเรียนที่โน่น พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ก็พอเขียนได้ เขาให้แนะนำตัว เราก็เขียนชื่อบนกระดานดำ เขียนปีเกิด แต่เขียนเป็นปี พ.ศ.นะ เพื่อนในห้องหัวเราะกันใหญ่บอกว่า ‘เธอมาจากอนาคต’ ขำกันมาก พี่อยู่ที่เวียนนา 4 ปี พูดภาษาเยอรมันได้คล่องเลย”
“ชีวิตลูกสาวนักการทูตตอนนั้นเป็นยังไงบ้างครับ”
“ก็ปกตินะ เพื่อนๆ ก็เป็นลูกข้าราชการ นักการทูตกันหมด บ่อยครั้งที่เรานัดกันในวันที่มี reception ของแต่ละประเทศ วันนี้ที่สถานทูตนี้ วันพรุ่งนี้ที่สถานทูตนั้น พ่อๆ ก็คุยกัน เด็กๆ อย่างเราก็สนุกสนานของเราไป จากนั้นก็ไปลอนดอน ไปเรียนแล้วก็มีกลุ่มเพื่อน เราก็สนุกสนานตามวัย เที่ยวเล่น เป็นสาวเปรี้ยว ย้อมผม ทาเล็บดำ แต่งตัวเป็นพังก์เลย ไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าไหร่
“มีอยู่ปีหนึ่ง พ่อแม่ก็ส่งเราไปเรียนภาษาที่ฝรั่งเศส เป็นอุบาย เพราะเราเริ่มไม่ค่อยเรียนแล้ว เอาแต่เที่ยว เป็นช่วงวัยรุ่นอายุ 17-18 พี่ไปอยู่กับคุณตาปรีดี (ปรีดี พนมยงค์) คุณตาปรีดีเรียกให้พี่มาช่วยอ่าน ช่วยเขียน พี่ไม่เอา อยากแต่จะไปเที่ยว นึกแล้วก็เสียดายช่วงเวลานั้นมาก คิดไปถึงตอนนั้นแล้วอยากจะเอาหัวโขกกำแพง”
“แล้วกับคุณพ่อ พี่ได้ช่วยงานท่านบ้างไหม”
“มีคนชอบถามว่าเป็นยังไง เกิดมาเป็นลูกเสนีย์ เสาวพงศ์ มันก็ไม่ได้มีความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ถ้าคุณเกิดเป็นลูกปิกัสโซก็คงไม่ได้ตื่นเต้นอะไรใช่ไหม เพราะบทบาทของเขาก็คือพ่อ ตอนเขาอยู่บ้านเขาก็เป็นพ่อ แต่ออกไปทำงานเขาก็มีอีกบทบาทหนึ่ง พี่มาซึมซาบตอนพ่อเกษียณ กลับมาอยู่เมืองไทย พี่ขับรถให้พ่อ พาไปโน่นมานี่ อยู่บ้านพ่อก็เขียนหนังสือที่โต๊ะนั้น (ชี้ไปที่ห้องด้านใน) พิมพ์ดีดอยู่ตรงนั้น แม่เป็นคนอ่านปรู๊ฟให้พ่อ เราก็เริ่มสนิทกัน ตอนพี่เป็นเด็กเราไม่ได้คุยกับพ่อมาก ครอบครัวเราเป็นครอบครัวโบราณ มีระยะห่าง พ่อเป็นคนที่ลูกๆ เกรงใจ วันไหนอารมณ์ไม่ดีเราจะรู้เลย ปกติพ่อเป็นคนเงียบขรึม จะมาผ่อนคลายก็ตอนเกษียณเเล้ว อาจจะเป็นเพราะพ่อแม่แต่งงานช้า ช่วงที่พ่อทำงานเราก็ยังอายุน้อย ไม่กล้าคุยกล้าเล่น ตอนนี้เจ็บใจ ทำไมเราไม่ถามโน่นถามนี่ให้มากกว่านี้”
“พี่เพิ่งมาได้อ่าน ‘ปีศาจ’ ก็ช่วงที่พ่อถูกย้ายมาประจำอยู่สถานทูตที่ลอนดอน ตอนนั้นปี 2516 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ‘ปีศาจ’ ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มแล้ว และดูเหมือนมีอิทธิพลต่อความคิดของปัญญาชนพอสมควร มีคนมาหาพ่อที่สถานทูตมากมายเพราะได้อ่าน ‘ปีศาจ’ ตอนนั้นเราก็เริ่มรู้แล้ว”
มาถึงจุดหนึ่ง ชีวิตของพี่จอยก็ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากความสนใจของเธอคือภาษาและประวัติศาสตร์ ในวัยเรียนเธอบอกว่าหากต้องให้อ่านประวัติศาสตร์ยุโรป เธอสามารถอ่านรวดเดียวจนจบ เพราะสนุกไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนวิชาคณิตศาสตร์นั้นเธอไม่เอาเลยถึงขนาดขัดแย้งกับอาจารย์เรื่องความสำคัญของคณิตศาสตร์ในชีวิตจริง อย่างไรก็ตาม การเรียนปริญญาตรีด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยเมืองก็องต์ ประเทศฝรั่งเศส ที่เธอเริ่มเรียนต้องสิ้นสุดก่อนเวลาอันควร และช่วงเวลาของวัยรุ่นก็เปลี่ยนมาเป็นผู้ใหญ่ฉับพลัน เพราะเมื่อพ่อป่วยและล้มลงต่อหน้าต่อตาเธอขณะเป็นเอกอัครราชทูตที่เมืองแอดดิส อาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย (2518-2521) ทำให้เธอได้คิดว่าควรทำอย่างไรถึงจะเรียนจบให้เร็วที่สุดเพื่อเริ่มรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง เพราะขณะนั้นมีน้องอีก 3 คนที่ยังเรียนอยู่ เธอจึงเบนเข็มมาเรียนวิชาบริหารธุรกิจที่ลอนดอน เพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว
ภาพของเสนีย์ เสาวพงศ์ที่วาดไว้เมื่อปี 2548 แขวนเด่นสง่าอยู่กลางห้อง เล่าเรื่องราวของลุงเสไว้อย่างรวบรัดและครบถ้วน รายชื่อหนังสือและนามปากกาอยู่ที่ฉากหลัง ภาพเหมือนของวัยหนุ่มประดับด้วยรอยยิ้ม ถัดมาเป็นภาพเหมือนในวัยกลางคนท่วงทีครุ่นคิด ทอดสายตาออกไปไกล กรอบไม้สีน้ำตาลเข้มที่ทาประดับด้วยสีทองบางส่วน ส่องประกายกับแดดที่ทอสายเข้ามาในห้อง
“ทำไมพี่ถึงให้ความสำคัญและแสดงตัวเพื่อเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำของสังคม ทั้งๆ ที่พี่อยู่ในฐานะที่ไม่ต้องสนใจก็ได้ ชีวิตพี่ก็ดีอยู่แล้ว” ผมตั้งคำถามถึงบทบาทในระยะหลังของเธอที่มีต่อสังคม
“จุดหนึ่งเป็นเพราะพ่อ พ่อไม่ใช่เพียงแค่เขียนเพื่อพูดถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนควรจะมีเท่ากัน แต่ในชีวิตจริง พ่อเป็นคนมีเมตตาต่อคนที่อ่อนด้อยน้อยศักดิ์มาก พ่อไม่เคยดูถูกหรือเหยียดคน แต่จะอ่อนโยนและเมตตา พ่อจะให้เกียรติเสมอ ไม่ว่าแม่บ้าน เด็กเสิร์ฟ หรือคนที่อ่อนอาวุโสกว่า และให้เกียรติผู้หญิงมาก พี่ถูกปลูกฝังมาแบบนี้ จากการเห็นสิ่งที่พ่อทำให้เห็นมาตั้งแต่เด็ก เราโชคดีที่เกิดมาไม่ลำบากขัดสน เราควรมีน้ำใจมองเห็นคนอื่นด้วย โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจ หากไม่ช่วยประชาชนนี่ ผิดพลาดมากนะ เป็นอีลีทแล้วไม่เดือนร้อนยิ่งต้องช่วยสังคม คนที่ปากกัดตีนถีบต้องหาเงิน พวกเขาไม่มีเวลามาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง อย่ามาพูดว่าคนจนงอมืองอเท้า เป็นกรรมเป็นเวร อย่ามาพูดนะ มันไม่มีใครอยากงอมืองอเท้าหรอก เพียงแต่เขาไม่มีโอกาส”
“แล้วสิ่งที่พี่แสดงออกหรือเรียกร้อง มันกระทบกับสถานะทางสังคมของพี่ไหม”
“ถ้าเราเห็นกำแพงก็อย่าวิ่งเอาหัวไปชนสิ หัวแตกบาดเจ็บแล้วได้อะไรขึ้นมา หากพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม หากเชื่อว่าเมื่อเกิดมาคนเท่ากัน ทำไมประเทศอื่นคนเขาถึงคิดเรื่องความเท่าเทียมได้ ใครจะดีกว่าใครก็เป็นการขวนขวายส่วนตัว แต่ทุกคนควรจะได้รับสิทธิเท่ากันก่อน เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่ประเทศไทยนี่ปี 2561 แล้ว ยังไม่มีการคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง น่าเสียดาย สงสัยว่าทำไมเรื่องแค่นี้เราทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่เรากับเขาก็คนเหมือนๆ กัน เราไม่ได้ยับเยินจากสงครามเหมือนญี่ปุ่นหรือเยอรมัน แต่ทำไมเราไม่ขยับไปข้างหน้า เพิ่มมาตรฐานของชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ พี่คิดว่าทำไมเราต้องทน ทำงานมากเท่าไหร่ก็ไม่มีเงินเก็บ มีแต่หนี้ คนรุ่นพ่อแม่เราถึงแม้จะไม่ได้ร่ำรวยมาก แต่ถ้าขยันทำงานเก็บหอมรอมริบ ก็สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ ส่งลูกเรียนหนังสือได้ แต่สมัยนี้ทำงานทั้งผัวทั้งเมียยังจนอยู่ มันต้องมีอะไรผิดปกติ”
“ไม่กลัวถูกเพ่งเล็งหรือ”
“พี่เห็นว่ามันไม่ถูกต้องตั้งแต่มีรัฐประหาร แต่เราก็เกรงใจญาติผู้ใหญ่ ตอนที่พวกเขามีชีวิตอยู่ เราก็ไม่แสดงตัว พูดมากไม่ได้ แต่พอพ่อแม่เสีย ลุงซึ่งเคยเป็นผบ.ทบ.และป้าก็สิ้นแล้ว เราก็สามารถเป็นตัวของตัวเอง แสดงความคิดเห็นได้อย่างที่เราต้องการ”
000
บ่ายคล้อยใกล้เย็น ผมนั่งฟังพี่จอยเล่าจนเกือบลืมเวลา ฟ้าปลายฝนต้นหนาวเริ่มครึ้มเพราะเมฆฉ่ำสีเทาเข้มบดบังแดดสีส้มเหลืองไว้ไม่ให้ผ่านลงมา ฝนปลายฤดูกำลังจะสั่งลาฟ้า ผมถ่ายภาพพี่จอยในมุมที่เคยถ่ายภาพลุงเส เพียงแต่ต่างวาระ
“รู้ไหม ทำไม ‘ปีศาจ’ ถึงยังถูกอ่าน ทำไมยังเป็นคู่มือของนักกิจกรรม เพราะตราบใดที่ความเท่าเทียมไม่มี ‘ปีศาจ’ ก็จะถูกอ่านอยู่เสมอ แต่ถ้ามีความเท่าเทียม ‘ปีศาจ’ ก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย”
“ทุกคนมี ‘ปีศาจ’ อยู่ในตัว ทุกคนก็เห็นอย่างที่พ่อพี่เห็น เห็นว่ามีความไม่ถูกต้อง เห็นว่ามีการเอารัดเอาเปรียบ เห็นว่ามีความไม่ยุติธรรม อยากให้เขียนออกมา แสดงมันออกมา ลองคิดดูนะ ถ้าพ่อคิดว่าไม่รู้จะเขียนอะไรหรือไม่ได้เขียนสิ่งเหล่านี้ออกมา ก็คงไม่มี ‘ปีศาจ’ เราทุกคนต้องช่วยกันทำให้ ‘ปีศาจ’ ตัวนี้ออกมา”
เสียงของ ‘ลูกสาวปีศาจ’ ฉะฉานชัดเจน แทรกเข้ามาดังก้องอยู่ในหัวของผมเหมือนแสงแดดส่องทะลุเมฆเทอะทะสีเทาทึบ
ศราพัส บำรุงพงศ์
Medium Format 6 x 6
Black and White Negative Film
Fact Box
ผลงานเขียนบางส่วนของ เสนีย์ เสาวพงศ์
- ชัยชนะของคนแพ้ (2486)
- ไม่มีข่าวจากโตเกียว (2488)
- ความรักของวัลยา (2495)
- ปีศาจ (2496-2497)
- ไฟเย็น (2504)
- บัวบานในอะมาซอน (2504)
- คนดีศรีอยุธยา (2524)
- รวมเรื่องสั้นแจ่มรัศมีจันทร์