การมีอยู่และไม่มีอยู่ในขณะเดียวกัน

รอยสักของฤดีเป็นเส้นสายแปลกตาเมื่อผมเห็นครั้งแรกที่แขนของเธอ มันเป็นจุดไข่ปลาก่อนจะกลายเป็นเส้นไล่ขึ้นไปถึงหัวไหล่ด้านหลังก่อนจะไล่ระเรื่อยไปสิ้นสุดที่แขนอีกข้างหนึ่ง มันเป็นเส้นตรงเมื่อกางแขนออก และเป็นวงกลมเมื่อเธอนั่งในท่าสมาธิ

“รอยสักของคุณมีที่มาที่ไปยังไง”

“รอยสักเป็นวิธีคิดเดียวกันกับเครื่องประดับ คือการมีอยู่และไม่มีอยู่ในเวลาเดียวกัน รอยสักอยู่บนร่างกายแต่บางทีเราก็ไม่เห็น เราจงใจเอามันไปไวัในจุดที่บางทีมองไม่เห็น แต่มันมีอยู่เพราะมันเป็นรอยที่ค่อนข้างใหญ่ เราไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มีอยู่ มีตัวตนและไม่มีตัวตนในเวลาเดียวกัน มันเตือนให้เรามีสติ เพราะเรามีสติได้โดยไม่ต้องนั่งสมาธิ วงกลมนี้มันอยู่กับเราเสมอถ้ามีสติ”

นั่นเป็นความสนใจของผมจากครั้งแรกที่พบฤดีเมื่อ 2 ปีก่อนที่เราแสดงงานกลุ่มร่วมกันที่หอศิลป์ราชดำเนิน ผมฟังเธอบรรยายถึงงานออกแบบเครื่องประดับแล้วยิ่งสนใจในความคิดของเธอมากขึ้นไปอีก กระทั่งได้แสดงงานร่วมกันอีกครั้งที่อัตตาแกลเลอรี่ ซึ่งเธอออกแบบเครื่องประดับให้กับหญิงสาว 5 คนที่ผมถ่ายภาพพอร์เทรต

ความคิดของเธอเรียบง่าย ละเอียด ลุ่มลึก ชิ้นงานที่ผ่านมือของเธอประณีตแม่นยำด้วยความชำนาญ

 

อยู่ตรงนั้นเสมอแต่เหมือนไม่เคยมีอยู่

หลังจากทำงานเป็นผู้ประสานงานระหว่างนักออกแบบกับโรงงานรับผลิตมาได้สักพัก ฤดีก็ลาออกจากงานที่เธอทำ แม้ว่างานที่รับผิดชอบจะตรงกับวิชาที่เรียนมา แต่ฤดีไม่แน่ใจว่าการผลิตแบบอุตสาหกรรมจะดีกับมนุษย์จริงไหม ความสงสัยนี้ทำให้เธอไม่มั่นใจ จึงถอยออกมาสำรวจดูความคิดตัวเองแล้วพบว่า เธอยังหลงรักการทำงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และอยากกลับไปทำงานด้วยมือ เมื่อครุ่นคิดหาคำตอบถัดไปในชีวิต เธอพบว่าการทำงานออกแบบเครื่องประดับอาจจะเหมาะกับเธอ เพราะเครื่องประดับเป็นงานออกแบบชิ้นเล็ก ในกระบวนการผลิตเธอสามารถเลือกได้ว่าจะทำให้เป็นจำนวนมากหรือน้อยก็ได้ เมื่อพบเส้นทางลางๆ เธอจึงสืบค้นต่อไปว่าเธอชอบงานออกแบบศิลปินคนไหน และใครคนนั้นเรียนมาจากสถาบันแห่งใด ปรากฎว่ามีศิลปินหลายคนที่เธอชอบผลงานร่ำเรียนมาจากสถาบันแห่งหนึ่งในเมืองฟลอเรนซ์ เมืองแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 15

อาจเป็นโชคชะตาที่ทำให้เธอเลือกฟลอเรนซ์ เพราะที่นั่นเป็นเหมือนดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกศิลปะ เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ดีอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม มันย่อมเจริญเติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ ฤดีเป็นเมล็ดพันธ์ุประเภทนั้น ระหว่างเรียนเธอตระเวนดูงานศิลปะและการออกแบบไปทั่วเมืองที่อัดแน่นไปด้วยความรู้จำนวนมหาศาล และใช้ชีวิตอยู่ในบรรยากาศของความงามตั้งแต่เดินออกจากประตูบ้าน ประวัติศาสตร์ ความงาม ความรู้ มีอยู่ในทุกตรอกซอกซอยของเมืองนี้  

เราอาจเรียนรู้มาว่าฟลอเรนซ์เป็นเมืองของยุคเรอเนสซองต์ โดยมีจิตรกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม เป็นอนุสาวรีย์ที่ยืนยันรากอันยิ่งใหญ่ยาวนาน แต่หากเพียงข้ามแม่น้ำอาร์โนไปอีกฟากฝั่งหนึ่ง และคุ้นเคยกับสถานที่เพียงพอ เราจะพบกับแหล่งรวมของช่างฝีมือชั้นครูที่ประณีตโดยผ่านการทำงานด้วยเทคนิคที่ได้รับการพัฒนามายาวนานพอๆ กัน เปรียบเหมือนลำธารเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตซึ่งคู่ขนานไปกับความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

“ศิลปะยุคเรอเนสซองต์เป็นเหมือนโปสการ์ดของฟลอเรนซ์ แต่งานฝีมือเป็นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิต” ฤดีนิยามความหมายแห่งฟลอนเรนซ์ไว้ดังนี้

จากเด็กสาวที่คลั่งไคล้การ์ตูน Sanrio เรียนโรงเรียนหญิงล้วนละแวกชิดลม เป็นนิสิตในมหาวิทยาลัยย่านกลางเมืองที่เดินเที่ยวสยามฯ ทำงานเป็นผู้ช่วยนักออกแบบผลิตภัณฑ์ เธอเปลี่ยนไปจากเด็กสาวคนนั้น เมื่อต้องดำเนินชีวิตด้วยตัวเอง หาความรู้ใส่ตัว จัดสรรเวลาว่าง และเดินทางไปดูงานศิลปะหลากหลายเมือง

6 ปีที่สถาบันอัลคิเมีย (Alchimia, School of Contemporary Jewellery and Design) ฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เป็นช่วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนและปลูกฝังวิธีคิดแบบใหม่ให้ฤดีทั้งวิธีการทำงานและการใช้ชีวิต แต่เดิมวิธีคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมที่ฤดีเรียนรู้มานั้น เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดและจิตวิทยาของกลุ่มเป้าหมายที่บอกถึงวิถีชีวิต นำไปสู่วัสดุที่เลือกใช้ รูปแบบ และราคา ฯลฯ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมที่สุด วิธีคิดแบบนี้ถูกรื้อและปลูกฝังใหม่สู่แนวคิดที่ให้ความสำคัญต่อการดิ่งลึกลงไปในตัวเอง ทำความเข้าใจความต้องการของตัวเอง ก่อนที่จะนำเสนอมันออกมา เธอค่อยๆ ฝึกฝนผ่านแบบฝึกหัด เรียนรู้สิ่งที่เธอสนใจเพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง ทั้งรสชาติและสัมผัส เพื่อค้นให้พบว่าเธอคืออะไร

“ตอนเรียนช่วงแรกๆ เราก็ใช้วิธีคิดแบบที่เคยใช้ตอนทำงานคือหาข้อมูลแล้วก็ทำงานหลายๆ แบบส่งให้อาจารย์ เพื่อเป็นตัวเลือก แล้วอาจารย์ก็งงว่าทำมาทำไมหลายแบบ เขาถามเราว่า ‘อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจะนำเสนอ’ เราเพิ่งเจอคำถามนี้ ‘ไม่รู้ว่า เราต้องรู้ด้วยเหรอ’ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร จริงๆ แล้วตัวเราเองต้องการอะไร เพราะเราทำตามข้อมูลที่ค้นหามาได้”

มนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงความคิด รสนิยม และความเชื่ออยู่เสมอ สิ่งที่ค้นพบนั้นเป็นตัวตนของเรา ณ เวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว คำแนะนำของครู การฝึกฝน และบรรยากาศของเมือง ทำให้เธอได้ค้นพบบางอย่างในความเป็นเธอที่มีอยู่ตรงนั้นเสมอมา แต่เหมือนไม่เคยมีอยู่ สภาวะนี้เหมือนเป็นการเกิดใหม่อีกครั้งของฤดี  

“เรารู้สึกดี ไม่คิดว่าการต้องหา ‘ความเป็นตัวเอง’ เป็นเรื่องลำบาก คิดว่าเป็นเรื่องสนุกและมีอิสระที่จะค้นหา บรรยากาศของฟลอเรนซ์ช่วยเราได้มาก ถูกที่ แต่ตอนนี้ก็รู้สึกว่าที่ไหนก็ได้”

“คุณเรียนรู้อะไรบ้างที่ฟลอเรนซ์” มันเป็นคำถามที่ตอบยากและง่ายในเวลาเดียวกัน จะตอบอย่างไรก็น่าฟังไปหมด แต่สำหรับคนตอบแล้วมันเป็นเรื่องยากที่จะสังเคราะห์ชีวิตและประสบการณ์ออกมาเป็นรายละเอียด เพราะชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่รวมกันเป็นเรื่องสำคัญ และแต่ละคนอ่อนไหวในแต่ละรายละเอียดที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเป็นตัวของตัวเองของคนแต่ละคนน่าสนใจ และไม่เคยเหมือนใคร

เสียงเพลงของโยฮันน์ โยฮันน์สัน (Johann Johannsson) ทำให้รู้สึกเหมือนล่องลอยอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักในห้องที่มีแสงสว่างนวลเกือบๆ จะเป็นสีเงิน เรานั่งคุยกันบนโต๊ะเตี้ยที่วางอยู่บนเสื่อผักตบชวาสีธรรมชาติ จิบชาที่เดินทางมาจากอิสราเอล บางขณะที่นั่งสนทนาเสียงเพลงของโยฮันน์สันเหมือนไม่มีอยู่ แต่มันอยู่ตรงนั้นเสมอ บางคราวในความเงียบและเสียงหัวเราะเบาๆ เสียงเพลงของโยฮันน์สันพลันปรากฎตัวอย่างบางเบาเหมือนหมอกยามเช้า

“การได้เจอคนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม เราได้เรียนรู้จากเรื่องราวชีวิตคนอื่นๆ ตอนนั้นรู้สึกเหมือนเพิ่งตื่นลืมตาจากโลกที่เคยคิดว่าถนนมีสายเดียวและมุ่งไปที่เดียว มาพบว่าจริงๆ แล้วถนนมีหลายสาย และจุดหมายก็แตกต่างมากมาย”

คำถามนี้คงวนเวียนอยู่ในหัวของเธอพักหนึ่ง เพราะเธอตอบหลังจากที่เราเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นแล้วสักระยะ

 

อะไรๆ มันก็ไม่อะไรๆ ทั้งนั้น

ผมสนใจหนังสือของเธอบางเล่ม ‘สูตรของเว่ยหลาง’ และหนังสือเล่มเล็กประกอบงานแสดงเล่มหนึ่งที่เธอวางอยู่บนโต๊ะ มันเล่าถึงวิธีคิดของงานแสดงเครื่องประดับของเธอชุดหนึ่งเมื่อปี 2016 ‘Everything is Anything and Nothing – สรรพสิ่งคือสิ่งใดๆ และไม่ใช่สิ่งใดเลย’  – เธออธิบายไว้ว่า ผลงานชุดนี้คือผลของการพยายามค้นหารูปทรงหรือสิ่งที่สามารถสื่อถึงการมีตัวตนและไม่มีตัวตนในขณะเดียวกัน วัสดุหลักที่ใช้คือผงฝุ่นของกระดาษรีไซเคิล เครื่องประดับคอลเลคชั่นนี้เกิดจากการทำให้ผงธุลีกลายเป็นของแข็งด้วยเทคนิคบางอย่างโดยฝากร่องรอยไว้บนพื้นผิว วัตถุหลายชิ้นนั้นไม่คงทนถาวร วันหนึ่งมันจะกลับกลายเป็นธุลีเหมือนก่อนหน้านี้ หากเราติดตามดูผลงานของเธอ เราคงพบบางร่องรอยจากการเรียนรู้ชีวิตที่ฟลอเรนซ์ ซับซ้อนและลุ่มลึกในชีวิตห้วงขณะหนึ่งของเธอ

“ชีวิตจะดูราบรื่นมีความสุข แต่คุณตัดสินใจกลับบ้าน – ทำไม”

“ช่วงที่เรียนจบมีข่าวสึนามิ มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับครอบครัวเรานะ แต่มันทำให้เราคิดว่าถ้ามันเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่เรา เราจะไม่เจอเขาอีก เราจะเป็นยังไง เราบอกตัวเองว่าเราอยากอยู่ใกล้เขา ความจริงเราก็อยากทำตามความต้องการของเรา แต่เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนอื่น บางทีเราชอบของเราอยู่คนเดียว เราคิดว่าถ้าเรากลับมาเขาคงแฮปปี้ ในครอบครัวก็ไม่มีใครเรียกร้องให้เรากลับ แต่เราคิดของเราเองว่าถ้าเราไม่ได้เจอเขาอีกเลยเราจะโอเคไหม?” จากเสียงที่สดชื่นกลับเจือด้วยริ้วสั่นเครือเล็กน้อย ชั่วขณะของความเงียบ ก่อนที่ บทเพลงของโยฮันน์สันปรากฏตัวบางเบาอีกครั้ง

“ผลงานของคุณส่วนใหญ่มันพูดเรื่องความไม่จีรังยั่งยืน แล้วคุณมองเรื่องความตายยังไง ผมหมายถึงคนเราสามารถจบชีวิตตัวเองได้ไหม”

“เราไม่ยึดติดกับอะไรเลย เรารู้สึกว่าเราไม่มีตัวตน สิ่งต่างๆ ในโลกเป็นแค่การรวมกันอยู่ของสสาร อยู่เฉพาะเหตุ เฉพาะเวลา ไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่ได้คิดว่าการจบชีวิตตัวเองเป็นเรื่องผิด ต้องถามกลับว่าแล้วทำไมถึงไม่ได้ล่ะ แต่ตัวเองทำแบบนั้นในวันนี้ดีไหม ตอบได้ว่าไม่ดี เพราะมันจะมีคนเดือดร้อนเพราะเราเยอะ แต่ถ้าไม่มีใครเดือนร้อนแล้วก็ไปได้ ไม่รู้จะอยู่ทำไม คนบนโลกนี้มันเยอะแล้ว” 

ไม่รู้ไม่ใช่ว่าไม่มี

2-3 ปีหลังเรียนจบ เธอเป็นผู้ช่วยสอนอยู่ที่สถาบันอัลคิเมียเพื่อเตรียมความรู้ความชำนาญ เธอวางแผนไว้ว่าอยากจะเปิดโรงเรียนสอนศิลปะโดยเน้นการทำงานด้วยมือ ในช่วงเวลาเดียวกันเธอสนใจงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ฤดีตั้งใจว่าจะเดินทางทั่วประเทศเพื่อเรียนรู้มรดกจากบรรพบุรุษ โดยเริ่มต้นจาก บ้านปะอาว อุบลราชธานี เมื่อเธออ่านพบว่างานวิจัยเทคนิคการหล่อทองเหลืองแบบโบราณ (Close Circuit) ที่ Johanna Dahm นักวิจัยชาวสวิสส์บอกว่ากำลังสาบสูญ ในโลกเหลือเพียง 2 แห่ง คือที่ประเทศกาน่า และอินเดีย แต่เธอมีความทรงจำลางๆ ว่าที่บ้านปะอาวนั้นมีเทคนิคการหล่อแบบเดียวกัน ฤดีเดินทางไปที่นั่นเพื่อเสาะหา เรียนรู้ โดยพบว่าในอดีตทั้งหมู่บ้านเคยทำเทคนิคนี้อย่างแพร่หลาย แต่ค่อยๆ ลดจำนวนลงเมื่อไม่เป็นที่นิยม เมื่อมั่นใจว่ามันเป็นเทคนิคเดียวกับที่นักวิจัยชาวสวิสส์ เธอจึงยืนยันการมีอยู่ของเทคนิคการหล่อทองเหลืองแบบโบราณกลับไปที่ Johanna Dahm ว่า ที่บ้านปะอาวน่าจะเป็นแห่งที่ 3

จากนั้นเธอเริ่มพานักออกแบบไปร่วมทำงานกับชาวบ้านที่ปัจจุบันเหลือเพียงสองครอบครัว เพียงเพื่อจะต่อลมหายใจไม่ให้เทคนิคนี้สาบสูญ

แต่แน่นอน วันใดวันหนึ่งมันต้องสาบสูญไป

“ (…) เธอและฉันคืออะไร หากไม่ใช่เพียงก้อนฝุ่น ที่อัดแน่นไปด้วยอัตตา รอวันลสายกลายเป็นผงฝุ่นอีกครั้ง ”

– Everything is Anything and Nothing.

 

000

8 ปีแล้วจนถึงวันนี้ ฤดีทำงานตามความสุขของเธอ เธอทำงานออกแบบเครื่องประดับโดยไม่มีแรงกดดันจากรายได้ และเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ Atelier Rudee (แอท’เทลเยร์ ฤดี) โดยเน้นทักษะการทำงานด้วยมือ

 

 

ฤดี ตันเจริญ | นักออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัย

Medium Format Camera 6 x 6

Black and White Negative Film

Fact Box

ฤดี ตันเจริญ จบการศึกษาจากภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาการออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยที่สถาบัน Alchimia School of Contemporary Jewellery and Design ที่เมืองฟลอเลนซ์ อิตาลี ปัจจุบันเป็นนักออกแบบเครื่องประดับ และเปิดโรงเรียน Atelier Rudee สอนการออกแบบโดยเน้นทักษะการทำงานด้วยมือ ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.atelierrudee.com

Tags: ,