ผมอ่านรวมเรื่องสั้น ‘ความสั่นสะเทือนระหว่างเรา’ จบไปแล้ว และกำลังอ่าน ‘เท่ารักเธอ’ จากนักเขียนคนเดียวกันถึงหน้า 129 เป็นตอนสำคัญของนวนิยายที่เล่าเรื่องความรักของวัยหนุ่มสาว จังหวะเปลี่ยนของเรื่องจากความสดใสหอมหวานของความรักเป็นความสูญเสีย แล้วผมก็หยุดอ่านไว้เท่านั้น ผมรอที่จะได้คุยกับนักเขียน อยากได้ยินน้ำเสียงขณะเล่าเรื่องที่เธอเขียนจากเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง

“เธอรู้ไหม เรื่องราวต่อจากนั้นมันเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอด…” แล้วดวงตาของเจ้าของเรื่องก็เอ่อท้นไปด้วยหยาดน้ำใสๆ

พี่อิ๊ม — อรุณี ศรีสุข บอกว่า เหตุการณ์ใน ‘เท่ารักเธอ’ เป็นเหมือนสึนามิที่ชำระล้างอดีต เพื่อนและคนแวดล้อมที่เคยอยู่ในชีวิตของเธอให้หายไปจากความรักที่ไม่สมหวัง ซึ่งทำให้ทั้งตัวเธอและเพื่อนรักไม่ได้พบเจอกันอีก ถึงพบเจอก็ไม่เคยเหมือนเดิม ทั้งเธอและเพื่อนต่างเก็บอดีตล็อคใส่หีบฝังในความทรงจำส่วนที่ลึกที่สุดเพื่อที่จะลืม และพยายามอย่างสุดใจเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในหีบดำที่ถูกฝังของเพื่อน—มีเธออยู่ในนั้นด้วย เพราะหากจะลืมเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ จำต้องลืมผู้คนที่เกี่ยวข้องไปด้วย

ความรักมักเป็นเช่นนี้ หากไม่สร้างสรรค์สิ่งดีงาม ก็มักทำลายจนแทบไม่หลงเหลือความสวยงามของชีวิตไว้เลย

อาจจะเป็นความรักครั้งแรกของ ‘จูน’ (ตัวละครในเรื่อง ‘เท่ารักเธอ’) ที่ได้พบเจอกับผู้ชายในอุดมคติ เขาแก่กว่าเธอสัก 10 ปี จูนตกหลุมรักเขาเข้าอย่างจัง เพราะเขาเป็นผู้ชายที่ทั้งเก่ง โรแมนติก ดูแลผู้หญิง มีอารมณ์ขัน และเล่นดนตรีเก่ง เป็นความรักบริสุทธิ์ของหญิงสาวคนหนึ่งที่เพิ่งจบมหาวิทยาลัยได้ไม่กี่ปี ระยะเวลา 3 เดือนกว่าในที่ทำงานเดียวกัน เธอมอบความรักให้เขาหมดใจ เพียงเพื่อจะพบว่าเขามีครอบครัวแล้ว รักครั้งแรกของเธอจึงยากที่จะลืม เธอใช้เวลาอีกเกือบปีที่ต้องเห็นหน้าเขาอยู่ทุกวัน กว่าที่จะหักใจหอบหัวใจที่เจ็บปวดออกเดินทางอย่างโดดเดี่ยว เพื่อที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เหตุการณ์ซ้ำเดิมแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับแป้ง—เพื่อนสนิทของเธอเช่นกัน แต่คราวนี้บาดแผลในใจลึกกว่านั้น และทำให้หลายคนต้องเจ็บปวดจากการสูญเสีย

“เราเริ่มเขียนเรื่อง ‘เท่ารักเธอ’ ช่วงที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ เพราะมันทำให้เราคิดถึงเพื่อน” พี่อิ๊มเอ่ยขึ้นหลังจากจิบจินโทนิค และยอมรับว่าเพื่อนหลายคนไม่เห็นด้วยที่จะรื้อฟื้นอดีตขึ้นมา เพราะมันมีผลกระทบต่อความรู้สึกของหลายๆ คน แต่สำหรับเธอ มันเป็นการบำบัดตัวเอง เธอคิดว่าการที่เธอเขียนมันออกมาก็เป็นเหมือนการตรวจสอบตัวเองอีกครั้ง โดยการทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดผ่านเรื่องเล่าของจูน และผ่านสายตาของนักเขียนในเวลาเดียวกัน เธอสำรวจความรู้สึกของผู้อื่นในเรื่อง และพยายามรู้สึกถึงสิ่งที่พวกเขาอาจจะรู้สึก เมื่อผ่านเวลาและได้มองอย่างรอบด้านเหมือนสายตาของพระเจ้า ทำให้เธอเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วค่อยๆ ปลดเปลื้องตัวเองให้หลุดออกจากความรู้สึกผิด ความรู้สึกสูญเสีย เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

“การสูญเสียและพลัดพรากจากคนรักในวัยนั้น คนที่ตายก็ตายไป แต่คนที่มีชีวิตอยู่บางทีดำเนินชีวิตต่อไปไม่ได้ มันติดอยู่ในความรู้สึกผิด ทุกคนไม่อยากเป็นเหมือนเดิม แต่ก็เริ่มต้นใหม่ไม่ได้ พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันในอดีต ถูกล็อคไว้ในกล่องดำ เรารู้สึกว่าเราป่วย ไม่รู้สึกรักใครเลย การเขียนของเราคือความพยายามที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นการบำบัดตัวเอง เราคิดว่ามันไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะไป sentimentalize มัน เราควรปล่อยมันไป”

แม้เธอจะใช้เวลายาวนานเพื่อเดินออกจากฉากเศร้าของชีวิต แต่เพื่อนบางคนยังจมอยู่กับความเศร้า…หรือชีวิตก็คงเป็นเช่นนี้

พี่อิ๊มลาออกจากสตูดิโอบันทึกเสียงหลังอกหักเสียศูนย์ เพราะรักไม่สมหวัง เสียเพื่อนสนิท และพี่ผู้เป็นที่รัก เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของชีวิต เธอเดินทางไปหลายที่เพื่อทบทวนสิ่งที่ผ่านมา เธอทำงานหลายอย่างกระทั่งมาลงเอยที่งานภาพยนตร์ ในช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเจริญรุ่งเรืองหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

เธอเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่คอยเป็นแม่บ้านอยู่เบื้องหลัง โดยเป็นผู้ช่วย ‘พี่อ้อม’ ดวงกมล ลิ่มเจริญ (2507-2546) อดีตผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ และผู้บุกเบิกภาพยนตร์ไทยที่ผลักดันผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่จากสายงานโฆษณาออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ  นั่นทำให้พี่อิ๊มได้รู้จักผู้คนหลากหลาย มีโอกาสร่วมจัดเทศกาลภาพยนตร์อีกหลายครั้ง ปัจจุบันเธอทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์อิสระ ทำงานกับผู้กำกับฯ ในยุคที่เธอคุ้นเคย เช่น นนทรีย์ นิมิบุตร เป็นเอก รัตนเรือง

เธอเล่าให้ฟังว่า ความจริงแล้วเธอคุ้นเคยและใฝ่ฝันจะทำงานภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก ในช่วงวัยรุ่น เธอตื่นตะลึงกับหนังเรื่อง ‘What’s Eating Gilbert Grape’ (Lasse Hallstrom, 1993) กระทั่งเคยเขียนจดหมายไปสมัครงานที่อาร์เอสฟิล์มทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เปิดรับสมัคร หลังจากได้ดูหนังเรื่อง ‘โลกทั้งใบให้นายคนเดียว’ (ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล, 2538)

“เราเกิดที่บ้านไม้หลังโรงหนังแมคแคนน่า ตอนเป็นเด็กเราวิ่งเล่นให้แม่ป้อนข้าวในโรงหนัง” พี่อิ๊มเล่าด้วยรอยยิ้ม เหมือนกำลังบอกความลับให้ผมฟัง เรากำลังพูดถึงโรงหนัง Stand Alone ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเชิงสะพานหัวช้างที่โด่งดังคู่ไปกับโรงหนังสยาม ลิโด้ สกาล่า ผมเคยไปดูหนังที่โรงหนังแห่งนี้บ่อยๆ เช่นกันเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น (โรงหนังแมคแคนน่าสร้างเมื่อปี 2512 และปิดกิจการเมื่อปี 2547)

การได้คุยกับพี่อิ๊มเหมือนได้ระลึกถึงความหลัง ทั้งบทเพลง บรรยกาศการเดินทาง และภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่เธอเขียนถึงในหนังสือทั้งสองเล่ม ผมรู้สึกเหมือนพี่อิ๊มเป็นพวกฮิปปี้ที่แสวงหาความหมายของชีวิตผ่านการเดินทาง สนทนากับคนแปลกหน้า ในวงเหล้า และในม่านควันมาลีฮวนน่า เธอเป็นคนคุยสนุก มีเรื่องเล่าไม่รู้จบ และความจำดี งานเขียนของเธอก็เป็นเช่นนั้น เธอเก็บรายละเอียดของบรรยากาศยุคปี ’80-’90 ไว้ เหมือนกับจะทำให้เราย้อนเวลากลับไปได้ ทั้งอากาศของยุคสมัย ความรู้สึกของหนุ่มสาวในวัยแรกรัก ความรู้สึกเมื่อได้ดื่มเหล้าครั้งแรก และการเดินทางหลังจากความรู้สึกที่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ (แต่ยังคงต้องขออนุญาตพ่อแม่ ซึ่งบางครั้งก็ยังต้องโกหก)

“ทำไมถึงชอบกินเหล้านัก” ผมถาม เพราะเรื่องเล่าในหนังสือของเธอ บทสนทนาของตัวละครบ่อยครั้งมักเกิดขึ้นในวงเหล้า และที่สำคัญ เธอเปิด ‘บาร์บาหลี’ เป็นปีที่ 18 ในยุคสมัยที่ ‘มินิซีรีส์จุดนัดฝัน’ เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์

“การกินเหล้าและร้านเหล้าเป็นโรงเรียนของเรา เราเรียนรู้ชีวิตหลายอย่างในวงเหล้า เรียนรู้รสนิยมการแต่งตัว ถกเถียงทางความคิด แลกเปลี่ยนทัศนะการใช้ชีวิต ภาพยนตร์ หนังสือ และเพื่อนหลายคนเราก็พบเจอในวงเหล้า”

พี่อิ๊มเล่าถึงบรรยากาศของ RCA ร้านเหล้าที่เชียงใหม่ บลูบาร์ เรดบาร์ ฯลฯ สารพันร้านที่เป็นแหล่งชุมนุมของนักโฆษณาและศิลปินในห้วงยามนั้น สำหรับบาร์บาหลี เธอบอกว่าอยากทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่พบปะกันของเพื่อน และดูเหมือนมันจะกลายที่รวมของคนที่สนใจศิลปะหลากหลายแขนง ถึงผมจะแวะเวียนมาในปีหลังๆ แต่ก็พบว่าเธอไม่เคยเมา แม้จะดื่มจากดึกดื่นไปจนถึงเช้าของวันใหม่ (ซึ่งในสมัยสาวๆ เรื่องแบบนี้ของเธอคงเกิดขึ้นแทบทุกวัน)

“อยู่ในวงเหล้าแวดล้อมด้วยหนุ่มๆ สายนักล่าราตรี แล้วดูแลตัวเองยังไง”

“ก็อย่าให้เมาสิ….แปลกนะ—ถ้าเราเห็นคนที่เมากว่าเราจะหายเมา เราจะประคับประคองตัวเอง เว้นระยะการดื่ม แต่ถ้าวันไหนจิบเหล้าแก้วแรกแล้วเหล้าหวานนะ ซวยละ วันนั้นต้องระวังเป็นพิเศษ” พี่อิ๊มหัวเราะเสียงดังเหมือนเคย แล้วเธอก็เล่าย้อนถึงช่วงเพิ่งเรียนจบและเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ ในสตูดิโอบันทึกเสียง เธอเป็นเด็กสาวคนเดียวที่แวดล้อมด้วยหนุ่มๆ ซาวนด์เอ็นจิเนียร์ และศิลปิน 12 คน ซึ่งมีบุคคลิกลักษณะแตกต่างกัน พี่อิ๊มบอกว่าทั้ง 12 คนเป็นตัวแทนของชายหนุ่ม 12 แบบที่เธอได้เรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกัน แต่ละคนเป็นทั้งพี่ ทั้งเพื่อน และบางคนเป็นคนที่เธอเคยรัก

“เรารู้ว่าเราควรจะดีลกับผู้ชายแต่ละแบบยังไง คนไหนควรเข้าใกล้ คนไหนอย่าแม้แต่จะคิด อย่างบางเรื่องในเล่ม ‘ความสั่นสะเทือนระหว่างเรา’ ผู้ชายบางคนหากใช้ชีวิตด้วยเราจะถูกวิถีชีวิตของเขาเผาไหม้ ทั้งวิธีคิด วิธีใช้ชีวิตของเขา เราบอกตัวเองว่าอย่าดีกว่า”

นับจากรักครั้งแรกจนถึงตอนนี้ เธอยังไม่ได้มีความรู้สึกรักใครอย่างที่เคยรักผู้ชายคนหนึ่งคนนั้น และผู้ชายทั้ง 12 คนในอดีตก็เป็นมาตรฐานที่ค่อนข้างสูงกว่าที่เธอจะพบเจอได้ในตัวผู้ชายสมัยนี้

ภายนอกร้าน ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว พี่อิ๊มเดินไปเปิดไฟ พลันทั้งห้องสว่างขาวโพลน ผมขอให้เธอปิดไฟ บรรยากาศนุ่มละมุนกลับมาอีกครั้ง เราคุยกันต่อในความสลัวรางที่มีเพียงแสงไฟสีเหลืองของไฟถนนสาดเข้ามาในห้อง

“เราพบผู้ชายอยู่คนหนึ่งที่มีรสนิยมดี มีวิธีคิดและการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ มีทัศนะเกี่ยวกับความรักที่เปิดกว้าง และความสามารถเหมือนพี่ๆ ที่เราเคยรู้จัก แต่นิวเชื่อไหม ปัจจุบันเราพบคนนี้คนเดียว แต่สมัยก่อนเราพบคนแบบนี้ถึง 12 คน” ผมนั่งคิดตาม อาจเป็นเพราะว่าขณะที่เราพบบางคนที่เป็น ‘รุ่นพี่’ สมัยที่เรายังเด็กกว่านี้ เราอาจจะมองพวกเขาเป็นมากกว่าที่เขาเป็นจริงๆ ขณะที่เมื่อเราโตขึ้น รู้จักชีวิตมากขึ้น และมีประสบการณ์มากขึ้นตามวัย เราอาจจะมองคนตามเป็นจริงมากขึ้นก็เป็นได้  

วันนั้น ผมคุยกับพี่อิ๊มตั้งแต่บ่ายจนเกือบค่ำ จากแสงแดดที่สาดผ่านประตูกระจกสีเขียวบนชั้นสองของร้านบาร์บาหลี ย่านถนนพระอาทิตย์ กระทั่งแสงแดดอ่อนแรง ผมเห็นบางความรู้สึกของเธอ…อาจเป็นเรื่องที่เราคุยกันก่อนหน้านั้นที่สะกิดให้เรื่องราวในวัยหนุ่มสาวเผยตัวขึ้นอีกครั้ง เรื่องราวของความรักและความสูญเสีย ที่ทำให้วัยหนุ่มสาวของเธอจบลง สิ่งที่ผมเห็น—อาจจะเป็นความเศร้า—อยู่หลังดวงตาที่ฉ่ำชื้นอยู่ในเงา

10 กว่าปีที่เธอใช้สำหรับทำความเข้าใจชีวิต หลังการเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์และอีกหลายสถานที่เพื่อลืมอดีต แต่สิ่งที่เป็นบาดแผลในใจไม่เคยหายไป กลับย้ำเตือนความรู้สึกสูญเสียกับเธอเสมอเมื่ออยู่โดดเดี่ยว การกลับไปสู่เพื่อนในแวดล้อมเดิมทำให้เธอไม่สามารถเริ่มชีวิตใหม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือเดินผละออกมา ทั้งจากการงานและชีวิตเก่าๆ

“คิดว่าจะเจอคนที่ ‘ใช่’ อีกไหม” ผมถามพลางผสมจินโทนิคที่พร่องแก้วไปแล้ว

“นี่ก็เพิ่งอกหักมา” เธอยิ้ม

“ไม่เอาสิ เอาแบบรักแท้” ผมยืนยันในคำถาม

“เราคิดว่าต่อไปนี้จะไม่ประนีประนอมกับคนที่ไม่ใช่ เรารู้ว่าอันไหนเป็นอารมณ์ของความรัก อันไหนเป็นแค่เฟลิร์ต กับบางคนบางครั้งเราไม่ได้คิดอะไรมาก กับคนที่ใช่เราเคยเจอแล้วนะ ที่เมื่อกี้เล่าให้ฟัง แต่มันไม่ใช่เวลาไง อืม…เป็นเวลาของเราแต่ไม่ใช่ของเขา เราหวังว่าเราจะพบใครคนนั้นอีก แต่จะพบเจอได้มันต้องอยู่ใน space ที่ถูกต้องด้วย เคมีนี้ถึงจะเกิด มันเป็น miracle นะ เราเชื่อเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ทำให้คนสองคนได้มาเจอกัน แต่ไม่ใช่ว่าจะเวิร์กทุกครั้ง บางทีเขามาเพื่อที่จะบอกอะไรบางอย่าง มันไม่ใช่ happy ending ทุกครั้ง การพบเจอใครคนนั้นบางทีมันต้องผ่านการขัดเกลาตัวเองประมาณหนึ่ง เหมือนวาสิฏฐีที่ภาวนาเพื่อจะได้พบกับกามนิต ถ้าเราเป็นคนหยาบ คิดถึงแต่ตัวเอง เราจะเจอผู้ชายที่ดีไหม คงไม่นะ เราอยากพบผู้ชายละเอียดอ่อน เราก็ต้องละเอียดอ่อน อยากได้คนใจกว้าง เราก็ต้องเป็นคนใจกว้างนะ เหมือนที่เขาว่าศีลต้องเสมอกัน”

“แต่ตอนตกหลุมรัก โลกมันสวยงาม เราชอบการมีความรักนะ ชอบมาก” พี่อิ๊มยังยืนยันถึงศรัทธาในความรัก พลางยกแก้วขึ้นจิบในแสงสลัวของยามค่ำ ผมชอบความมืดสลัวแบบนี้ และผมเห็นรอยยิ้มของเธอ

“แล้วพี่วางแผนเดินทางอีกเมื่อไหร่” ผมถาม โดยหวังว่าเธอจะไม่เดินทางในฤดูหนาวอีก เพราะทุกครั้งที่เดินทางในฤดูหนาว ดูเหมือนเธอมักจะพบเรื่องรักที่ไม่สมหวังเสมอ

เธอบอกว่าอยากกลับไปฟลอเรนซ์อีกครั้ง แต่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไร พลางถามผมว่า “รู้จักดังเต้*ไหม ดังเต้เกิดที่เมืองนี้ เขาเป็นกวี แต่รู้ไหม ในชีวิตเขาหลงรักผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง เธอซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานของเขา โรแมนติกมาก และฟลอเรนซ์ก็ถูกสร้างด้วยสิ่งนี้—passion เราอยากอยู่ในสถานที่ที่แวดล้อมด้วยสิ่งนี้” เธออยากกลับไปที่นี่อีกจากที่เคยไปแล้ว 2 ครั้งในรอบ 10 กว่าปี ครั้งแรกเธอไปพบกับความโหวงเปล่าในหัวใจหลังความรักแตกสลาย ครั้งที่สองเธอใช้เวลาหนึ่งเดือนเพื่อที่จะเขียนหนังสือ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด เธอไม่สามารถทำสิ่งที่ใจต้องการ

ผมหวังว่าการหวนกลับไปเยือนฟลอเรนซ์ครั้งที่สาม อาจทำให้เธอสามารถเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในชีวิต

 

อรุณี ศรีสุข | โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ เจ้าของร้านบาร์บาหลี นักเขียน

Medium Format 6 x 6

Black and White Negative Film

 

* ดังเต้ (Dante Alighieri, 1265-1321) มหากวีชาวฟลอเรนซ์ มีชีวิตอยู่ในยุคกลาง ชั่วชีวิตของเขา เขาหลงรักผู้หญิงที่เคยพบเจอแค่สองครั้ง (Beatrice Portinari – Bice di Folco Portinari, 1265-1290) ทั้งที่ดังเต้และเบียทริซต่างก็มีคู่รักของตัวเองและแต่งงานแล้ว ฝ่ายหญิงสาวนั้นจะคิดอย่างไรไม่รู้  แต่ดังเต้ทุ่มเทร่ำเรียนและเขียนกวีอุทิศเพื่อเธอ ผลงานชิ้นเอก 2 เล่มของเขาที่เขียนถึงเธอ คือ La VIta Nouva และ Divine Comedy โดยมีเบียทริซเป็นคนนำพาสู่สรวงสวรรค์

Tags: ,