ทั้งที่สหราชอาณาจักรมีกำหนดจะต้องออกจากอียูหรือเบร็กซิตในวันที่ 31 ตุลาคมนี้แล้วแท้ๆ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสภายังไม่ได้พิจารณาหรือลงมติต่อข้อตกลงใดๆ เลย แต่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีก็เสนอให้สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เห็นชอบคำสั่งพักการประชุมรัฐสภา (prorogue)
ความเคลื่อนไหวของจอห์นสันครั้งนี้ มีผลต่อกรอบเวลาในการตัดสินใจของเบร็กซิต จากเดิมที่รัฐสภาจะมีเวลา 5 สัปดาห์เพื่อพิจารณาข้อเสนอ แต่จอห์นสันทำให้เวลาในการตัดสินใจของรัฐสภาหดสั้นลงเหลือไม่ถึง 3 สัปดาห์เท่านั้น จึงเป็นไปได้มากที่สหราชอาณาจักรจะออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลงใดๆ
ตามกำหนดเดิม จะมีการประชุมรัฐสภาในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน และตามกำหนดเดิมจะยังมีสามสัปดาห์สำหรับการประชุมประจำปีของพรรคการเมือง รัฐสภาจะกลับมาประชุมอีกครั้งในวันที่ 9 ตุลาคม แต่ข้อเสนอที่จะให้พักประชุมรัฐสภาทำให้วันประชุมรัฐสภาเลื่อนออกไปจนถึง 14 ตุลาคม นั่นหมายความว่า สหราชอาณาจักรและรัฐสภามีเวลาเพียงแค่สองสัปดาห์ก่อนถึงเส้นตายเบร็กซิต
การพักประชุมสภาเป็นช่วงเวลาระหว่างสมัยประชุมสภาสิ้นสุดลงกับการเริ่มสมัยประชุมสภาใหม่ สมเด็จพระราชินีจะเป็นผู้เห็นชอบ ซึ่งตามปกติแล้วก็จะเห็นชอบตามที่มีการเสนอมา ในกรณีนี้ สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธเห็นชอบให้สภายุติสมัยการประชุมจากเดิมตั้งแต่ 9-12 กันยายนเปลี่ยนเป็น 14 ตุลาคม
สมัยประชุมสภาใหม่จะมีขึ้นวันที่ 14 ตุลาคม เริ่มด้วยการอ่านนโยบายของรัฐบาลโดยสมเด็จพระราชินี (Queen’s Speech) และจะต้องมีการอภิปรายอีกหลายวัน จนทำให้เหลือเวลาน้อยลงในการพิจารณาข้อเสนอเบร็กซิต ขณะที่ผู้นำประเทศสมาชิกอียูจะมีการประชุมเรื่องเบร็กซิตครั้งสุดท้ายในวันที่ 17 ตุลาคม
ทันทีที่รู้ข่าว ประชาชนพากันไปลงชื่อเพื่อยับยั้งการสั่งพักประชุมสภา ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ได้รายชื่อมาแล้วกว่า 1 ล้านคนแล้ว การระดมรายชื่อครั้งนี้เพิ่งเริ่มในวันอังคารที่ 27 สิงหาคม ข้อความตอนหนึ่งของแคมเปญลงชื่อระบุว่า รัฐสภาต้องไม่พักการประชุม หรือยุบสภา ถ้าไม่มีการยืดเวลาออกจากอียูตามมาตรา 50 ออกไป หรือการออกจากอียูถูกยกเลิก
สิ่งที่จอห์นสันดำเนินการทำให้ถูกมองว่าเป็นการก่อรัฐประหาร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่พอใจต่อสิ่งที่รัฐบาลทำ เพราะมองว่าเป็นการยับยั้งไม่ให้สภาทำงาน ทั้งที่เป็นบทบาทของสภาตามกระบวนการประชาธิปไตย จอห์น เบอร์โคว์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า การยับยั้งการประชุมสภาเป็นการป้องกันไม่ให้ ส.ส.ได้ถกเถียงเรื่องเบร็กซิต
ส่วนเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานบอกว่า การยับยั้งการประชุมสภาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ สิ่งที่จอห์นสันทำเป็นการใช้อำนาจดึงเอาประชาธิปไตยของประชาชนไป สัปดาห์หน้าที่จะมีการประชุม ส.ส. สิ่งแรกที่พวกเราจะทำก็คือ พยายามให้กฎหมายป้องกันการดำเนินการของนายกรัฐมนตรี ตามด้วยการโหวตลงมติไม่ไว้วางใจ
ประชาชนแสดงความไม่พอใจออกมารวมตัวกันที่ย่านเวสมินเตอร์ และตะโกนว่าหยุดการรัฐประหาร ส่วนในทวิตเตอร์จากแฮชแท็ก #StopTheCoup (หยุดรัฐประหาร) ที่ติดเทรนดิ้งในตอนแรก คืนวันที่ 28 สิงหาคม แฮชแท็กติดอันดับเทรนดิ้งในทวิตเตอร์ของสหราชอาณาจักรคือ #AbolishTheMonarchy (ล้มเลิกสถาบันกษัตริย์)
ที่มา:
https://www.nytimes.com/2019/08/28/world/europe/british-parliament-suspended.html
https://www.theguardian.com/politics/2019/aug/28/petition-stop-proroguing-parliament
https://www.bbc.com/news/uk-politics-49493632
https://www.bbc.com/news/uk-politics-49504526
ภาพ: REUTERS/Tom Jacobs
Tags: Brexit, สหราชอาณาจักร, บอริส จอห์นสัน, เบร็กซิต