ผู้หญิงที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมระยะแรกอาจไม่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด แต่ใช้แนวทางการรักษา ‘แบบจำเพาะ’  (precision medicine) ที่ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลระดับโมเลกุลมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง

นี่เป็นข้อเสนอจากคณะนักวิจัยที่เสนอผลการศึกษาในการประชุมประจำปีของสมาคมวิทยาเนื้องอกอเมริกัน (American Society of Clinical Oncology) ที่เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) เช่นกัน

นักวิจัยประเมินว่า แต่ละปีมีผู้หญิง 123,000 คนในสหรัฐอเมริกา และ 23,000 คนในสหราชอาณาจักร ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม และข้อค้นพบจากการศึกษานี้จะทำให้มีผู้ป่วยเพียงแค่ 1 ใน 3 ที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด

มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ผู้หญิงทั่วโลกเป็นมากที่สุด งานวิจัยนี้ศึกษาผู้หญิงที่มีเนื้องอกมะเร็งเต้านม ประเภทตัวรับฮอร์โมนของมะเร็งเต้านมที่เป็นผลบวก (Hormone Receptor-Positive breast cancer) ประเภทโปรตีนที่สนับสนุนการเจริญเติบโตของมะเร็ง (HER2-negative) และผู้ป่วยที่มะเร็งกระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ (axillary-node-negative breast cancer) ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด

ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเข้ารับการรักษาด้วยกระบวนการเคมีบำบัดและการรักษาด้วยฮอร์โมน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้ผลดีมากกว่าสำหรับผู้ป่วยที่อายุยังไม่มากนัก

เคมีบำบัดมักจะมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง และอ่อนเพลียในระยะสั้น บางกรณีมาพร้อมกับลูคีเมีย นักวิจัยสามารถแยกได้ด้วยการทดสอบทางพันธุกรรมว่าผู้หญิงคนไหนมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นมะเร็งอีกหรือไม่ ซึ่งทำให้ไม่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด

นักวิจัยใช้เวลา 9 ปี ศึกษาผู้หญิงอายุ 18-75 คน จำนวนกว่า 10,000 คน ซึ่งผ่านกระบวนการตรวจมะเร็งแบบ oncotype DX ด้วยการตัดเนื้อเยื้อออกไปตรวจสอบยีน การทดสอบนี้จะให้คะแนนน 0-100 ขึ้นอยู่กับแนวโน้มที่มะเร็งจะกลับมาภายใน 10 ปี

จากผู้หญิงทั้งหมด 10,273 คน ปรากฏว่ามีผู้หญิง 6,711 คน คิดเป็น 69% ได้ 11-25 คะแนน มีทั้งคนที่เข้ารับการรักษาด้วยฮอร์โมนอย่างเดียวหรือร่วมกันระหว่างฮอร์โมนและเคมีบำบัด นักวิจัยสรุปว่า ผู้หญิงที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนอย่างเดียวไม่ได้มีอาการแย่กว่าคนที่ใช้เคมีบำบัดควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วยแต่ละคน

นั่นหมายความว่า ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมชนิดนี้ และได้ 0-25 คะแนนไม่ต้องทำเคมีบำบัด ส่วนผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 50 ปี ที่ได้ 0-15 คะแนนก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีนี้

นักวิจัยกล่าวว่ามันเป็นการทดลองว่าด้วยแนวทางการรักษา ‘แบบจำเพาะ’ (precision medicine) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา

“งานวิจัยของเราแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงประมาณ 70% อาจเลี่ยงวิธีการเคมีบำบัดได้ เมื่อได้รับการทดสอบ ดังนั้นมีเพียงแค่ 30% ที่จะได้ประโยชน์จากเคมีบำบัด” โจเฟซ สปาราโน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และรองประธานกรรมการกลุ่ม ECOG-ACRIN Cancer Research Group กล่าว ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และนำโดย ECOG-ACRIN Cancer Research Group

แลร์รี นอร์ตัน (Larry Norton) แพทย์จากศูนย์มะเร็ง Memorial Sloan Kettering ในนิวยอร์ก ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในคณะวิจัย แต่โรงพยาบาลของเขายังเข้าร่วมการศึกษานี้กล่าวว่า “ผมจะสามารถมองตาคนไข้ และบอกว่า ‘เราวิเคราะห์เนื้องอกของคุณแล้ว จากการพยากรณ์โรค คุณไม่จำเป็นต้องทำเคมีบำบัด’ มันดีที่ได้พูดแบบนี้กับใครสักคน”

“การจำแนกผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเหล่านี้ และการหาว่าผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดมะเร็งซ้ำใหม่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับพันธุกรรมในเนื้องอกของพวกเขา งานนี้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการรักษาที่อ่อนโยนมากขึ้นโดยที่ประสิทธิภาพไม่ลดลงได้” ศาสตราจารย์อาร์นี พูรุโชแธม (Arnie Purushotham) ที่ปรึกษาทางการแพทย์อาวุโสของสถาบันวิจัยมะเร็ง สหราชอาณาจักรกล่าว

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Eric Gaillard

ที่มา:

Tags: , , , , , ,