AIS มีแนวทางหรือนโยบายอย่างไรต่อการสนับสนุน ผลักดันการเติบโตของ Startup และ SME ในประเทศ
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ CEO AIS ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า จุดยืนในการทำงานกับ Startups มาโดยตลอดคือการร่วมกันทำงานภายใต้พลังจากคู่คิด (Digital Partnership) ที่จะอยู่เคียงข้าง สนับสนุนไม่ให้ SMEs และ Startup ต้องทำงานเพียงลำพัง หากแต่ใช้ศักยภาพทั้งจากภายใน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม องค์ความรู้ ทั้งของ AIS และในกลุ่ม Singtel รวมถึงการเชื่อมต่อกับกลุ่มพันธมิตรภายนอกและกลุ่มนักลงทุน เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน เสริมขีดความสามารถรอบด้านของกลุ่ม Startup อย่างรอบด้าน เพื่อให้พร้อมที่จะแข่งขันในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างยั่งยืน
อธิบายอย่างง่าย ไอเดียใหม่ของตลาดหลักทรัพย์อย่าง Live Exchange และ Live Platform คืออะไร
สำหรับการเข้าไปทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการเป็นหนึ่งในพันธมิตรของ Live Platform ในส่วนของ Scaling Up Platform ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจและการเตรียมความพร้อมในการระดมทุนของ SMEs และ Startups ด้วยการจัดให้มีหลักสูตรการอบรมเชิงลึก การจัดให้มีระบบงานที่สำคัญ การจัดให้มีการจับคู่ทางธุรกิจและการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ซึ่ง AIS ได้ระดมทีมผู้บริหารมาร่วมกันส่งมอบองค์ความรู้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ SMEs และ Startup สร้างความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดทุน
ดร.ศรีหทัย พราหมณี Head of AIS The StartUp อธิบายเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนต่อไปอีกว่า ในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์มีกระดานให้เราซื้อขายอยู่ 2 ประเภทคือ กระดานตลาดของหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และของตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
Live Exchange คือกระดานที่ 3 ของตลาดหลักทรัพย์ โดยความแตกต่างอยู่ตรงที่ขนาดและความพร้อมของบริษัทใน 2 กระดานก่อนหน้า ที่เหมาะสำหรับบริษัทที่เติบโตมา มีรายได้ มีผลกำไร Live Exchange จึงตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้บริษัท SMEs และ Startups มีโอกาสเข้าถึงตลาดทุนได้ เพราะด้วยความที่บริษัทเหล่านี้พึ่งอยู่ในขั้นเริ่มต้น ขนาดของบริษัทจึงจะไปเทียบกับบริษัทที่อยู่ใน 2 กระดานก่อนหน้าไม่ได้แน่ๆ กระดานนี้จึงเหมาะแก่บริษัทเล็กๆ ที่ต้องการเงินทุนเข้ามาช่วยเติบโตและขยายบริษัทต่อ ซึ่งในกระดานนี้จะมีความพิเศษตรงที่นักลงทุนไม่ได้ดูเพียงผลกำไรอย่างเดียว เขายังดูไอเดีย ดูแนวคิด ดูทิศทางของบริษัทว่ามีความสอดคล้องกับคำว่า Growth and Scale มากแค่ไหน
ส่วน Live Platform คือพื้นที่เพิ่มเติมที่ตลาดหลักทรัพย์พร้อมกับหน่วยงานเอกชนต่างๆ เช่นตัว AIS เองตั้งขึ้นมา เพื่อมอบความรู้ด้านต่างๆ ให้กับบริษัทที่มีโอกาสจะเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ได้ ดังนั้น Live Platform จึงเป็นอีกหนึ่ง Frame Work ที่จะให้ความรู้และผลักดัน SME และ Startup เข้าไปอยู่ใน Live Platform
โดยปัจจุบันเนื้อหาที่ Live Platform นำเสนอแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และ Startup (Advance Learning) ที่จะสอนและมอบความรู้เฉพาะในด้านต่างๆ ซึ่ง AIS ก็ได้เข้าไปร่วมมือและพัฒนาออกมาเป็น 5 เนื้อหาหลักๆ คือ
– โอกาสในการทำธุรกิจต่างๆ ในยุค 5G
– การให้บริการทางการเงินในยุคดิจิทัล Digital Financial Services (DFS)
– การบริหารทรัพยากรบุคคล
– การพัฒนาสินค้าและบริการในยุคดิจิทัล
– เทคนิคการหาหุ้นส่วน (Partnership) ที่เหมาะสมกับรูปแบบของบริษัท
2. การสร้างโอกาสการเติบโตของผู้ประกอบการผ่านการเจรจาทางธุรกิจ (Business Matching)
ด้วยความที่ Live Exchange คือตลาดทุน มีนักลงทุนเข้ามาให้ทุนบริษัทไม่ว่าจะ SMEs หรือ Startups ดังนั้นที่นักลงทุนอยากเห็นในบริษัทเหล่านี้คือ แนวโน้มในการ Growth and Scale นักลงทุนอยากเห็นการเติบโต ซึ่งในปัจจุบันเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีหุ้นส่วนเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้บริษัทมีการเติบโตได้มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น AIS จึงจะเข้ามาให้ความรู้ในส่วนนี้ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อให้ชุดความรู้ตรงที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างบริษัทขนาดใหญ่ที่กำลังมองหา SMEs หรือ Startup ได้เจอและจับมือกันได้จริง ส่งเสริมให้ตลาดทุนมันสามารถขับเคลื่อนในกระดาน Live Exchange ได้
ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Business Guru ที่ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาช่วยตอบคำถาม แบ่งปันประสบการณ์สำหรับใครที่มีคำถามในเชิงธุรกิจ และ Enterprise System ที่ AIS จะแบ่งปันประสบการณ์การทำงานร่วมกับบริษัททางดิจิทัลอื่นๆ ว่าโครงสร้างต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนหลังบ้านของบริษัท (Backend) ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
จะเห็นได้ว่าในฝั่งของ AIS เราเข้าไปเสริมใน Live Platform ในเกือบๆ ทุกส่วน เพื่อทำให้มั่นใจว่า ผู้ประกอบการที่เข้ามาอยู่ใน Live Platform ต้องมีอาวุธครบมือทั้งในเรื่องของลูกค้า ในเรื่องของระบบ ในเรื่องขององค์ความรู้ เพื่อที่จะให้เขาเติบโต Growth and Scale ได้จริง
ทาง AIS เห็นอะไรในธุรกิจประเภท SMEs และ Startup รวมไปถึงตัว Live Platform จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาในจุดนี้
ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ AIS กับตลาดหลักทรัพย์ เรามีเวิร์กช็อปเล็กๆ เพื่อที่จะแบ่งปันความรู้เหล่านี้ให้ฟัง ซึ่งในวันนั้น คุณประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai ที่เป็นหนึ่งในผู้ให้ความรู้วันนั้น ก็ได้เล่าไอเดียของ Live Exchange และ Live Platform ให้ฟัง ซึ่งในตอนนั้น AIS ก็เป็นเจ้าแรกที่ยกมือแล้วบอกว่าขอเข้าร่วมด้วย อยากจะเข้ามาช่วยเสริมในส่วนนี้ ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ ในวันที่สิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงแค่ไอเดียอยู่
ทำไม AIS ถึงตัดสินใจแบบนั้น ต้องบอกก่อนว่า เวลาจะทำอะไรเราจะมองถึงอนาคตข้างหน้าก่อน คุณเชื่อไหม วันนี้ที่เราคุยกันอยู่ ก็เกิดจากการการมองอนาคตของตัวเราเมื่อ 2 ปีที่แล้วกันทั้งนั้น ดังนั้นในทุกวันนี้ที่โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราต้องตีโจทย์ของอนาคตให้ออก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว AIS เคยลุกมาสร้างเวทีให้ Startup เป็นเจ้าแรกๆ อย่างจริงจัง เพราะเห็นว่าเทรนด์ของผู้ประกอบการที่ใช้ Tech มาแก้ปัญหา มันมี Ecosystem ที่เติบโตได้ ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ในปัจจุบัน
ดังนั้นหากเรามองประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้าที่ดีขึ้น เราจะมัวมาทำแบบเดิมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มลองอะไรใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากันต่อไป
ในวันนี้ที่ประเทศไทยกำลังมีกระดานซื้อขายที่ 3 บนตลาดหลักทรัพย์ เราก็มานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้กระดานที่ 3 มีประสิทธิภาพ เป็นกระดานที่นักลงทุนเข้ามาลงทุนแล้วมีประโยชน์ เป็นกระดานที่ผู้ประกอบการเข้ามาระดมทุนแล้วมีประโยชน์ ที่สำคัญที่สุดคือลูกค้าของผู้ประกอบการมีประโยชน์ แล้วเราจะเข้าไปเสริมตรงไหนเพื่อให้ลูกค้าของเราก็จะได้มีประโยชน์ นั่นคือจุดมุ่งหมายของเรา เพื่อร่วมสร้างอนาคตข้างหน้าของประเทศ
แล้วทำไมต้องเป็น SMEs และ Startup เราจะเริ่มจากแนวคิดว่า การขับเคลื่อนไปข้างหน้าต้องขับเคลื่อนไปทุกภาคส่วน หากบริษัทใหญ่ต้องการจะเคลื่อนเร็ว เราต้องพาบริษัทเล็กให้เคลื่อนตามเราให้ทันด้วย จึงเป็นเหตุผลให้เราตั้งเป้าหมายกันต่อว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจขนาดเล็กเคลื่อนตามเราให้ทัน ซึ่งคำตอบก็คือ เราก็ต้องไปช่วยสนับสนุนเรา
พูดถึงตัวเนื้อหาของ AIS บน Live Platform ในส่วนเนื้อหา โอกาสในการทำธุรกิจต่างๆ ในยุค 5G คุณมองว่าเรื่องนี้สำคัญต่อธุรกิจประเภท SMEs และ Startup อย่างไรบ้าง
ต้องมาดูว่า SMEs และ Startup อยู่ในหมวดหมู่ของธุรกิจแบบไหน ถ้าอยู่ในหมวดธุรกิจอุตสาหกรรม คุณเกี่ยวข้องแน่นอน ไม่วันนี้ก็วันหน้าคุณจะต้องเกี่ยวข้อง แต่ถ้าคุณเป็นธุรกิจให้บริการผู้บริโภค B2C Business to Consumer ก็ยังไม่เห็นความต่างมากนักในตอนนี้ แต่การที่เรายังไม่เห็นความแตกต่าง มันไม่ใช่เพราะเทคโนโลยียังไม่มา มันอาจเป็นเรื่องของ Ecosystem ยังไม่ขับเคลื่อนดีพอ ซึ่งเราเชื่อว่าวันหนึ่งที่มีการจุดประกายขึ้นมา มันจะขับเคลื่อนทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมและบริโภคได้
หากพูดให้เห็นภาพชัดขึ้น ยกตัวอย่างในเชิงอุตสาหกรรม 5G มีความสำคัญในระดับที่ยกระดับคุณภาพของธุรกิจได้เลย หรืออย่างวงการแพทย์ การที่แพทย์จะผ่าตัด ต้องมีการส่งสัญญาณระหว่างเครื่องมือไปมา ทำให้ความเที่ยงตรงของเวลามันสำคัญมาก เพียงเสี้ยววินาทีก็ตัดชีวิตคนได้ ซึ่ง 5G ที่ทำให้เกิดเสี้ยววินาทีที่แตกต่าง ซึ่งนั่นหมายถึงความเป็นความตายของผู้คน หรือในเหตุไฟป่าที่ต้องใช้การบินโดรน สัญญาณ 5G ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องของระยะสัญญาณได้
แล้วในส่วนเนื้อหาการร่วมมือทางธุรกิจ (Business Matching) ทาง AIS เองจะนำประสบการณ์ตรงไหนมาแลกเปลี่ยน
ส่วน Business Matching คือการลงมือทำจริงๆ แล้ว คือการเอาปัญหาหรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ มาวิเคราะห์ หาทางออก ทำอย่างไรให้ 1+1=10 ให้เห็นผลได้จริง ซึ่งต้องเป็นการแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติ
เราจะเอาสิ่งที่แต่ละคนมี มากางดูเลย สิ่งที่ AIS มี สิ่งที่ผู้ประกอบการมีคืออะไร แล้วมาหาทางออกร่วมกัน ดังนั้นในส่วนนี้จะเป็นการให้ความรู้และร่วมแก้ไขเป็นกรณีไป ซึ่งจะทำให้ข้อมูลและผลลัพธ์ที่ออกมามีความละเอียด เจาะลึก และเป็นประโยชน์กับ SMEs และ Startup มากกว่า
ในมุมมองของ AIS การที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดกระดานที่ 3 แบบนี้ สะท้อนทิศทางเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างไร
อันดับแรกคือการเติบโตของผู้ประกอบการรายใหม่ จริงๆ แล้วประเทศไทยหลายภาคส่วนขับเคลื่อนด้วย SMEs และ Startup เยอะมาก ถ้าเราออกไปต่างจังหวัดเราก็จะเห็นธุรกิจที่เป็นที่เป็น Local SMEs หรือ Local Startup อยู่ตลอด ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าความแข็งแรงของธุรกิจประเภทนี้มันเติบโตในระดับที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อยู่แล้ว
อันที่สองคือการเป็นตลาดทุนให้กับผู้ประกอบการ ในปัจจุบัน คนที่เป็นนักลงทุนหรือกองทุนต่างๆ ก็มีองค์ความรู้และให้ความสนใจต่อการลงทุนกับธุรกิจกลุ่ม SMEs และ Startup มากขึ้น มันจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องผลักดันธุรกิจประเภทนี้ให้เกิดการเติบโตอย่างจริงจัง
สุดท้ายการเปิด Live Exchange และ Live Platform จะทำให้แนวโน้มและทิศทางเหล่านี้ที่ยังกระจุกอยู่ในบางกลุ่ม หรือในบางพื้นที่เช่นต่างจังหวัด เกิดการรวมตัวสร้างความแข็งแรง เป็นปึกแผ่นได้มากยิ่งขึ้น
แล้วทาง AIS จะได้อะไรจากการร่วมมือในส่วนของ Live Platform ครั้งนี้
CEO AIS กล่าวว่า AIS กำลังมองหาบางสิ่งบางอย่างสำหรับประเทศในอีก 10 ปีข้างหน้า เชื่อไหมว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราทำเรื่อง Startup คนก็ถามว่า AIS จะได้อะไร ทำเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ AIS ได้และ Startup ก็ได้ด้วย คือหนึ่งในโมเดลธุรกิจที่เราสามารถทำงานร่วมด้วย เรากลายเป็น Backend ข้างหลังที่เขาใช้บริการเรา เพื่อให้เขาพัฒนาสินค้าและบริการ ร่วมเติบโตไปพร้อมกับพวกเขาด้วยได้
ถ้าเราโตคนเดียว วันหนึ่งหากฟองสบู่แตก ก็จะไม่เหลืออะไรเลย แต่ถ้าเพื่อนร่วมทางโตด้วย มันจะเป็น Ecosystem ที่โตไปอย่างมั่นคง เราเชื่อแบบนั้น ดังนั้นการที่ AIS ทำอยู่จึงเป็นการลงทุนกับอนาคต เพียงแต่การลงทุนของเราไม่ได้เกิดในรูปแบบของการร่วมทุนเพียงเท่านั้น
แล้วสุดท้ายประชาชนจะได้อะไรจาก Live Exchange และ Live Platform บ้าง
ในส่วนของผู้บริโภค ต้องบอกว่าในวันที่ผู้คนอยากมีทางเลือก อยากมีตัวเลือกที่ดี ซึ่งคำว่าดีที่สุดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก ดังนั้นความร่วมมือตรงนี้จึงมีหน้าที่สร้างดีที่สุดให้มีหลากหลายรูปแบบ ให้มีทางเลือกมาขึ้น ดังนั้นการที่เราจะเคลื่อนไปข้างหน้านอกจากเรา แล้วก็ต้องสอดรับความต้องการของพวกเขาด้วย
ในส่วนของผู้ผลิตอย่าง SMEs และ Startup นี่คือโอกาสสำคัญที่ทำให้เห็นว่าธุรกิจของเรามีดีอย่างไร สามารถผลิตและนำเสนอองค์ความรู้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งหากเกิดการเจอกับกลุ่มทุนใหญ่ๆ ได้ก็จะทำให้คุณเติบโตต่อไปใน Live Exchange แต่หากยังติดขัดอะไรตรงไหนการมีอยู่ของ Live Platform ก็จะช่วยหาตัวตนและโอกาสในการเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้น
Tags: Live Platform, AIS, Branded Content, ตลาดหลักทรัพย์, The Chair, Live Exchange