ย้อนกลับไปราว 30 ปีก่อน คนจำนวนมากประสบภาวะอดอยากหิวโหยและทุพโภชนาการ ปัญหาดังกล่าวค่อยๆ ได้รับการแก้ไข ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จนดูเหมือนว่ามนุษยชาติกำลังจะก้าวพ้นจากปัญหาเรื่องความหิวโหยและขาดแคลนอาหารมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว แต่รู้ไหมว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต

หากสามทศวรรษก่อน เราถูกท้าทายโดยโรคขาดสารอาหาร ในทศวรรษนี้ เรากำลังถูกท้าทายด้วยโรคร้ายจากการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และไม่ได้สัดส่วน ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคทางสุขภาพจิต ฯลฯ โรคร้ายที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก รวมถึงคนไทย

ที่มาของการขับเคลื่อนเรื่องผักผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในปัจจุบันว่า “ในแง่ปริมาณ คนไทยมีแนวโน้มบริโภคเยอะขึ้น แต่ถ้าถามว่าเรื่องของคุณภาพเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะเป็นการกินของหวาน มัน เค็ม แต่ในขณะที่สัดส่วนของผักและผลไม้ยังไม่เยอะ หรือยังไม่ถึงร้อยละ 50”

เมื่อโลกเผชิญวิกฤตโควิด-19 ปัญหาเรื่องการเข้าถึงอาหารที่ดีของประชากรโลกยิ่งถูกท้าทายและรุนแรงมากขึ้น เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน สังคม ประเทศชาติ ไปจนถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทั้งโลก เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ จัดเวทีหารือสาธารณะ (National Dialogue) ครั้งที่ 3 หัวข้อ การออกแบบ ‘ไทยพร้อม’ สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดให้การกินผักผลไม้ที่ปลอดภัยและเพียงพอของคนไทย เป็นเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับชาติ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยในเวทีดังกล่าวได้รับความสนใจจากภาคีองค์กรเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพของไทย รวมทั้งตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ที่ผลัดกันมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อการนำไปขับเคลื่อนในเชิงนโยบายในอนาคต โดยสามารถย้อนชมบรรยากาศการหารือดังกล่าวได้ทาง https://bit.ly/3C4Qva9

ราคาของผักผลไม้กับปัญหาระบบการผลิตอาหาร

ทุกคนรู้ว่าการกินผักผลไม้ดีต่อสุขภาพ เราพูดเรื่องนี้กันมาหลายสิบปี แต่ทำไมคนไทยส่วนใหญ่ถึงยังไม่สามารถเข้าถึงผักและผลไม้ที่มีคุณภาพดีและเพียงพอ ดร.นพ.ไพโรจน์ได้เผยให้เห็นภาพใหญ่ของปัญหาดังกล่าวว่า อย่าดูแค่ปลายทาง แต่ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น

“ทำไมคนไทยถึงกินผักผลไม้น้อย? ต้องย้อนขึ้นไปดูตั้งแต่ต้นน้ำ เริ่มจากเกษตรกรผู้เพาะปลูก การขนส่ง กระจายสินค้ามาสู่ตลาด ห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหาร จะพบว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอยู่แทบทุกขั้นตอนของวงจรการผลิต ทั้งเรื่องค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เลือกประกอบอาชีพ หันหลังให้กับอาชีพเกษตรกร การใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจ ไปจนถึงการแสวงหาประโยชน์ของนายทุนต่อเกษตรกร ผักผลไม้อินทรีย์จึงมีราคาแพงมาก ส่วนของไม่ดีที่มีน้ำตาลสูงหรือโซเดียมเกินมาตรฐานกลับราคาถูก”

สุดท้าย คนจนหรือคนเปราะบางกลายเป็นผู้ที่ต้องรับเคราะห์จากความไม่พอเพียงของอาหารที่มีคุณภาพดี ส่งผลให้มีโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากกว่าคนชั้นกลางหรือคนที่มีฐานะดี

วิกฤตโควิด-19 กับภาวะขาดแคลนอาหารของคนไทย

คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองเชื่อว่า กรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ ของไทยหาอาหารกินง่าย แค่เดินไปปากซอยก็มีร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อเปิดให้บริการตลอดเวลา แต่วิกฤตโควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงจุดอ่อนไหวของระบบการผลิตอาหารที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตคนเมือง

“วิกฤตโควิด-19 ไม่ได้ทำให้แหล่งผลิตอาหารลดลง เกษตรกรยังคงเพาะปลูกได้ผลผลิตไม่ต่างจากเดิม แต่กลับไม่สามารถขายของได้ ทำให้มีของเหลือทิ้งเต็มไปหมด ส่วนคนที่อยู่ในเมืองก็ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร เพราะการขนส่งและกระจายสินค้าถูกตัดขาด แม้แต่คนมีเงินยังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร คนจนและคนเปราะบางคงไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะพวกเขามักจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงที่สุดอยู่เสมอ”

วรางคนางค์ นิ้มหัตถา ผู้จัดการโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมกับเล่าถึงโครงการที่เธอดูแลอยู่ ซึ่งเป็นความพยายามส่งเสริมให้คนเมืองใช้พื้นที่ในเมืองเพาะปลูกผักไว้บริโภคเองมากขึ้น

“เราอยากให้คนทุกกลุ่มไม่ว่าจะมีเงินหรือไม่มีเงินก็ตาม สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้ด้วยการลงมือเรียนรู้และเพาะปลูกด้วยตัวเอง เรามีการจัดเวิร์กช็อปให้กับผู้ที่สนใจ และมีงบประมาณให้คนในชุมชนใช้ในการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาคนให้ความสนใจเยอะขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่วิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 ที่ทำให้คนเมืองขาดแคลนอาหารในการบริโภค นั่นคือคลื่นลูกแรกที่คนหันมาสนใจเรื่องของวิกฤตอาหาร และทำให้โครงการสวนผักคนเมืองถูกพูดถึงเยอะมาก”

“ในวิกฤตโควิด-19 ชุมชนที่เข้ามาร่วมโครงการกับเรามีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตัวเอง สามารถดูแลตัวเองได้ มีอาหารกิน ไม่ต้องเสี่ยงออกไปติดเชื้อนอกชุมชน แตกต่างจากคนเมืองอื่นๆ ที่ถูกตัดขาดจากแหล่งอาหาร หลายคนต้องอดมื้อกินมื้อ ดังที่ปรากฏให้เห็นผ่านภาพการร่วมด้วยช่วยกันบริจาคอาหารให้คนเปราะบางในพื้นที่ต่างๆ”

ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

จะเห็นได้ว่าการจะรณรงค์ขับเคลื่อนเรื่องการกินผักและผลไม้ มองผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องเชิงพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล แต่แท้จริงแล้วกลับสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของวงจรการผลิตอาหารทั้งหมด และส่งผลกระทบต่อกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในการแก้ไขปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีอย่างมั่นคงและเพียงพอได้นั้น ต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติ

ดร.นพ.ไพโรจน์ให้เหตุผลว่า รัฐต้องเข้ามามีบทบาทสนับสนุนและส่งเสริมเรื่องนี้ “บ้านเรามักจะมีปัญหาเรื่องการทำงานแยกส่วนกัน กระทรวงต่างๆ แยกกันไปทำ หรือภาคประชาสังคมขับเคลื่อนกันเอง ทุกคนล้วนมีความตั้งใจ แต่ในการจะขับเคลื่อนทั้งระบบ ทุกภาคส่วนควรขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น ทาง สสส. และภาคีเครือข่ายจึงต้องการผลักดันให้รัฐบาลบรรจุประเด็นเรื่องผักผลไม้ ซึ่งสำคัญและส่งผลต่อชีวิตของทุกคนในสังคม ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 13 เพื่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ลดการทำงานที่ทับซ้อน และจะช่วยให้ทุกฝ่ายมองเห็นเป้าหมายเป็นภาพเดียวกัน”

ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมผักและผลไม้ปลอดภัย โดยใช้มาตรฐานทางกฎหมายและนวัตกรรมเชิงนโยบาย อาทิ การใช้นโยบายทางภาษี เพื่อจูงใจการขายอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กำหนดจำนวนสินค้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพขั้นต่ำที่ร้านอาหารต้องขาย การให้ร้านอาหารติดข้อมูลแสดงค่าพลังงานอาหารบนเมนู

ปัจจุบัน ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังกล่าวอยู่ในระหว่างการจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ คงต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า การขับเคลื่อนเรื่องผักและผลไม้ปลอดภัย จะเป็นส่วนหนึ่งในแผนฯ หรือไม่ หวังว่าเมื่อถึงเวลานั้น ประเทศไทยที่เคยได้รับการขนานนามว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ จะยกระดับระบบการผลิตอาหารให้คนทั่วประเทศไม่ว่าจะยากดีมีจน สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ

Tags: , , , ,