หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวแมกนิจูด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ตามการรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ที่พักอาศัย คอนโดมิเนียม และอาคารจำนวนมากในกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหาย จนสร้างความวิตกกังวลเป็นอย่างมากว่า ที่พักอาศัยและออฟฟิศที่ทำงานนั้นแข็งแรงหรือไม่ ไปจนถึงคำถามว่า หลังการซ่อมแซมแล้ว สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะกลับมาแข็งแรงแบบเดิมอยู่ไหม
วันนี้ตัวแทนวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ มีวิดีโอให้ความรู้แนวทางการตรวจสอบและซ่อมแซมโครงสร้างอาคารมาให้ทุกคนดูกันว่า รอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นนั้นมีอันตรายหรือไม่ และหากผ่านการซ่อมแล้วต้องตรวจสอบดูแลอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่า อาคารที่เราอยู่นั้นแข็งแรงและปลอดภัย
สามารถติดตามวิดีโอได้ทาง https://fb.watch/yTh9zbDvfd/
1. จุดที่ควรตรวจสอบ
• โครงสร้าง
– เสา
– พื้น– ปล่องลิฟต์
• ที่ไม่ใช่โครงสร้าง
– ผนัง
– ฝ้า
– เพดาน
– ท่อและอุปกรณ์แขวน
ในผนังแต่ละชนิด เช่น ผนังอิฐ ผนังมวลเบา หรือผนังสำเร็จรูป จะเกิดรอยร้าวที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบางครั้งรอยร้าวดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างพื้นฐาน แต่เพราะอาคารโยกจึงทำให้เกิดรอยแตกร้าวได้ หากรอยร้าวข้างต้นไม่มีปัญหาต่อโครงสร้างหลัก ก็สามารถฉาบปูนและซ่อมแซมตามกระบวนการวิศวกรรมได้
ด้านวิธีการตรวจสอบว่า ส่วนไหนคือผนังที่รับน้ำหนักหรือไม่รับน้ำหนักนั้น ให้สังเกตจากความหนา เพราะโดยปกติแล้วส่วนที่รับน้ำหนักมักจะมีลักษณะหนา และส่วนที่ไม่ได้รับน้ำหนักจะมีลักษณะที่เบากว่า ซึ่งรอยร้าวมักจะเกิดตรงส่วนที่ไม่ได้รับน้ำหนักเป็นส่วนใหญ่
“ส่วนการตรวจสอบตรงจุดท่อและอุปกรณ์แขวน เราต้องดูว่า ท่อที่ติดตั้งไว้มีน้ำรั่วไหม หรือตัวซัพพอร์ตตัวแขวนมีตรงไหนหลุดหรือเปล่า เนื่องจากอะไรที่แขวนอยู่กับโครงสร้างหลักอาจเกิดการหลุด หลวม จากการสั่นคลอนและโยกตัวได้”
2. วิเคราะห์รอยร้าวผนังและฝ้าเพดาน
– เปิดดูวัสดุข้างในว่า มีรอยร้าวถึงไหม
– พิง กด หรือดันผนัง เพื่อตรวจสอบว่า มีการยุบ ดันออก หรือเสียรูปหรือไม่
“หลายคนถามว่า ผนังที่แตกร้าวเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ยังใช้งานได้ปกติ ตรวจสอบด้วยการลองพิง กด และดันดู ให้เช็กว่าผนังเกิดการยวบ เกิดการดันออก หรือเสียรูปไหม ซึ่งหากเป็นผนังสำเร็จรูปแล้วเกิดรอยแตกเป็นแนวนอน หมายความว่า ผนังชิ้นนี้เกิดการหัก ต้องเสริมกำลังผนังนี้
“แต่หากลองพิงแล้ว ผนังนิ่งไม่ขยับตัว ไม่มีปัญหาล้มดิ่ง ยังถือว่าใช้งานได้ ก็จัดการซ่อมเรื่องรอยแตกร้าว ปรับเปลี่ยนวิธีในการดูแลรอยต่อ แต่หากมีรอยแตกร้าวรอยใหญ่ หรือเกิดการหลุดออกจากตำแหน่งก็ต้องมีการซ่อม ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาต่อการใช้งานในอนาคต”
ส่วนการวิเคราะห์ฝ้าเพดานให้เช็กดูก่อนว่า ผนังตรงที่ไม่ใช่ส่วนที่รับน้ำหนักบริเวณเสา หรือคานมีความเสียหายไหม ซึ่งเป็นจุดที่มีโอกาสเสียหายได้ เนื่องจากเกิดการยกตัว แต่ทั้งนี้ไม่มีอันตรายต่อโครงสร้าง สามารถแก้ไขปัญหาได้ผ่านการวางแผนซ่อมแซมกับทางวิศวกร ช่าง และทีมออกแบบ
“ผนังที่ตรงจุดโครงสร้างเป็นส่วนที่รับน้ำหนักมากที่สุด ทำให้ผนังที่โครงสร้างแข็งแรงมักจะแตก ให้เราเช็กผนังก่อนว่า ผนังอยู่ในจุดที่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่
“ส่วนคนที่ใช้ผนังสำเร็จอาจจะมีปัญหาคือ การขยับตัวออกจากตำแหน่งเดิม ต้องลองเช็กดู วิธีการซ่อมอาจต้องมีการขยับดันให้กลับสู่ตำแหน่งเดิม และต้องพิจารณาว่า ต้องมีการรื้อเปลี่ยนหรือเปล่า ก็ต้องมาคุยด้านเทคนิคกับช่างอีกที”
3. ตรวจสอบรอยร้าวโครงสร้างหลัก
– ประเมินความเสียหาย ต้องซ่อมทันทีหรือเฝ้าระวัง
หากดูโครงสร้างเสาแล้วไม่พบรอยแตกหรือร่องรอยความเสียหาย แปลว่าเสายังแข็งแรงดี แต่หากเกิดรอยแตกร้าวตรงรอยต่อระหว่างผนังนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการเก็บกวาดหรือเอาวัสดุฉาบเหล่านี้ออกเพื่อไม่ให้ร่วงใส่ผู้พักอาศัย
“อย่างแรกให้ดูก่อนว่า เป็นส่วนโครงสร้างหรือเปล่า ดูรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นว่า มันร้าวเข้าไปถึงโครงสร้างหรือเปล่า วิธีทดลองคือต้องหาอะไรมาแซะแกะปูนออก ถ้าแกะออกมาดูแล้วโครงสร้างไม่มีรอยแตกเลยยังถือว่าโอเค แต่หากพบรอยแตกตรงโครงสร้างต้องเรียกวิศวกรมาดู
“แต่อย่าตื่นตระหนกเกินไป โครงสร้างก็อาจจะมีรอยแตกร้าวบ้าง เนื่องจากรับแรงค่อนข้างเยอะซึ่งอาคารเหล่านี้สามารถซ่อมได้ไม่ยาก”
4. การซ่อมแซม
– ทีมวิศวกรประเมินและวางแผนการซ่อมแซมที่เหมาะสม
หากโครงสร้างมีรอยร้าวหรือได้รับผลกระทบเหล่านี้ สามารถซ่อมแซมได้ผ่านการวางแผนมาตรการต่างๆ เช่น มีการมอนิเตอร์ ตั้งเลเซอร์วัดศูนย์กลางของอาคาร ตั้งแต่ก่อนซ่อม ระหว่างซ่อม และหลังซ่อมว่า มีการเลื่อนหรือขยับหรือไม่ จากนั้นติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เช่น วัดทุก 3 ชั่วโมงตลอดระยะเวลากี่วันว่า มีการเคลื่อนตัวหรือไม่ หากพบว่าโครงสร้างมีความเสียหาย อย่างแรกคือต้องมีการลดความเสี่ยง โดยการขนอะไรก็ได้ออกมาก่อน
“หากพบว่าไม่มีการเคลื่อนตัวแปลว่า โครงสร้างมันก็สมดุลในตัวมันเอง ถือว่าอยู่ในสภาวะปลอดภัย แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังกันต่อ แนะนำว่า ต้องติดตามไปจนกว่าจะซ่อมเสร็จ”
5. มาตรการเฝ้าระหวังหลังซ่อม
– วางแผนตรวจสอบต่อเนื่อง 6-12 เดือน
– มอนิเตอร์เก็บข้อมูลระยะยาว
ตึกหรืออาคารที่ได้รับผลกระทบและความเสียหาย หากจัดการอย่างถูกวิธี ตามเก็บข้อมูล และตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถสร้างความมั่นใจในการเข้าพักอาศัยได้โดยไม่มีอันตราย
“อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า โครงสร้างอาคารที่มีปัญหา ไม่ได้หมายความว่า มีปัญหาแล้วจะพังไปเลย อาคารทุกอาคาร ทีมวิศวกรในบ้านเราสามารถซ่อมได้ อย่าวิตกกังวลเกินไป ส่วนที่หลายคนถามมาว่า จะตรวจสอบว่าโครงสร้างหลังการซ่อมแซมจะกลับมาใช้งานได้อย่างไร มีทางเดียวคือ เราต้องคอยติดตามกับเจ้าของโครงการ และดูว่าพวกเขามีมาตรการอะไรบ้าง”
6. ประเมินความปลอดภัย
– ให้ Third-party ตรวจสอบและรองรับ
– ตรวจสอบโครงสร้างให้รับแรงลมและแผ่นดินไหวได้
หลังการซ่อมแซมและตรวจสอบอาคารที่ได้รับความเสียหายแล้ว แนะนำว่า ควรใช้บุคคลที่สาม (Third-party) ตรวจสอบและรับรองเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น และต้องตรวจสอบว่าโครงสร้างสามารถรับแรงลมและแรงจากแผ่นดินไหวในอนาคตได้
Tags: ปลอดภัย, ตรวจสอบ, วิศวะ, วสท., แผ่นดินไหว, คอนโดมิเนียม, Branded Content, ตึก