มีเรื่องสั้นกี่เรื่องนะ ที่เราอ่านซ้ำอยู่บ่อยๆ ตามจังหวะชีวิตและสิ่งที่เข้ามากระทบ
ครั้งนี้ก็เช่นกัน…
ตอนที่ได้รับรู้และตามติดชะตากรรมของเด็กชายอายุ 10 ขวบคนหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกของญาติภรรยาที่แม่ของเขาหายออกจากบ้านที่อุบลราชธานีไปตั้งแต่ยังสาว ทำมาหากินด้วยการขายอาหารตามแคมป์คนงานก่อสร้าง และติดโควิด-19 พอรู้ว่าตัวเองจะตายก็โทรหาญาติที่อุบลฯ คล้ายเป็นการร่ำลา
ข่าวเริ่มแพร่สะพัดไปตามหมู่ญาติ หลายคนนึกหน้าเธอไม่ออกด้วยซ้ำ หลายวันต่อจากนั้น เด็กน้อยตามผู้เป็นพ่อมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล เพราะพ่ออาการเริ่มแย่ พอมาถึงพ่อของเขาก็ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เด็กน้อยเองก็ติดเชื้อ แต่หมอให้กลับไปรักษาที่บ้านเพราะอาการไม่หนัก เด็กน้อยไม่มีญาติที่รู้จักในกรุงเทพฯ และไม่มีเงินค่ารถกลับห้องพัก
นาทีที่ผู้เป็นพ่อลับตา เด็กน้อยก็เริ่มร้องไห้ และเดินไปทั่วโรงพยาบาล…
เข้าใจว่าคงจะมีใครสักคนหยุดและนั่งลงพูดคุยกับเขา แล้วให้เขาพยายามติดต่อกับญาติ เด็กน้อยโทรมาหาน้องสาวของแม่ที่อยู่อุบลฯ (น้องสาวของแม่คนนี้เคยเข้าไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน ก็น่าจะเคยพบเห็นกัน) เธอจึงพยายามติดต่อหาคนไปรับหลานชาย เด็กน้อยถูกพามาอยู่ที่ห้องพักเพียงคนเดียว
อีกไม่กี่วันแม่ของเขาก็ตาย เจ้าหน้าที่ติดต่อหาญาติที่จะมารับศพ เขาเด็กเกินไปจึงไม่ได้รับสิทธิ์นั้น ภาระจึงไปตกที่ลูกของนางกับแฟนเก่าที่โตพอจะรับศพได้ แต่เธอก็ตกงานมาเป็นปีแล้ว จึงไม่มีเงินหมื่นกว่าบาทไปรับศพมาจัดการ ญาติๆ จึงได้ระดมเงินส่งไป และพอเรื่องของแม่เสร็จสิ้น ปัญหาต่อมาก็คือ เด็กคนนี้จะอยู่อย่างไร
ยายของเขา ซึ่งไม่เคยเห็นหน้าหลาน จึงไหว้วานผู้คนและดิ้นรนหาทางให้ไปรับหลานชายมาดูแลที่บ้านเกิดของแม่ของเขา ปัญหาจึงตามมาอีกสองข้อ คือจะหารถที่ไหนไปรับ เพราะหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่เป็นธุระ ถ้าเหมารถจากบ้านก็มีเงื่อนไขว่าเขาเรียกค่าบริการแพงมากถึงเที่ยวละหมื่น และเด็กต้องนั่งข้างหลังกระบะ และปัญหาต่อมา ใครจะเป็นคนบอกกับเด็กว่าแม่ของเขาตายแล้ว และตอนนี้ ยายซึ่งเขาเองก็ไม่เคยเห็นหน้าจะรับไปอยู่บ้านนอก
…..
เรื่องราวของเด็กคนนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องสั้นๆ ชื่อ ต้นไม้สวรรค์ ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี ที่ สุชาติ สวัสดิ์ศรี แปลไว้อย่างดีและพิมพ์อยู่ในเล่ม ความรื่นรมย์ครั้งสุดท้าย รวมเรื่องสั้นรัสเซีย ก่อนปฏิวัติถึงสังคมนิยมล่มสลาย
ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี เขียนเรื่องต้นไม้สวรรค์และพิมพ์ไว้ในบันทึกชื่อ ‘A Diary of a Writer’ ฉากในเรื่องสั้นๆ เรื่องนี้คือมหานครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (เลนินกราด) โดยที่ดอสโตเยฟสกีจินตนาการว่า คืนวันคริสต์มาสอันหนาวเหน็บในบ้านเรือนที่มีฐานะร่ำรวย จะอบอุ่น สว่างไสวงดงามด้วยแสงไฟและต้นคริสต์มาส แต่จะมีเด็กที่เดินร้องไห้ เหน็บหนาว นิ้วแข็งจนงอไม่ได้ เท้าแตกเป็นแผลเพราะคมความเย็นของหิมะ หิวโซ และเดินไปตามถนน ไม่มีใครเหลียวแล หรือถ้าเห็นก็เบือนหน้าหนี บางทีโชคร้ายกว่านั้นอาจโดนแกล้งและทำร้าย
ในเรื่อง เด็กชายคนนั้นตามแม่มาจากชนบท แม่ของเขาล้มป่วย มีคนแบ่งห้องให้พักรวมกับคนยากไร้อื่นๆ ก่อนที่เขาจะออกมาจากห้องเพราะความหิว หวังหาเศษขนมปังที่หล่นอยู่ตามพื้นตามถนน เขาสัมผัสเนื้อตัวของแม่ที่นอนอยู่บนพื้นที่เย็นมากๆ เขารู้สึกว่าตัวแม่เย็นเหมือนกำแพง
เด็กน้อยคลุมกายด้วยผ้าห่มบางๆ เดินไปตามถนน มองเข้าไปในห้องกระจกตามบ้านเรือนและร้านค้าที่มีต้นคริสต์มาสและตุ๊กตาน่ารัก เด็กหญิงเด็กชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกำลังเต้นรำอย่างเบิกบาน ได้รับขนมเค้กและของขวัญจากผู้ใหญ่
แต่ไม่มีประตูบ้านไหนเปิดให้เด็กน้อยคนนี้เข้าไปเลย มีหลังเดียวที่เขาหลุดรอดเข้าไปได้ แต่ก็ถูกนำตัวออกมาพร้อมกับเศษเหรียญจากหญิงแต่งตัวดีคนหนึ่ง ก่อนที่เธอจะปิดประตูกันเขาไม่ให้เข้า เศษเหรียญนั้นหล่นจากมือ เพราะเขางอนิ้วที่แข็งเพราะความหนาวนั้นไม่ได้
เด็กน้อยคนนี้เดินไปตามถนน จ้องมองตุ๊กตาในร้าน เอื้อมมือไปจับ และก็โดนคนออกมาทุบหัว เด็กน้อยวิ่งหนีเข้าไปในความมืด จนมาพบกองฟืนในสุสาน ที่ซึ่งเขารู้สึกว่าปลอดภัยจากการทำร้าย เขานั่งลง และรู้สึกว่ามันอุ่น เขาเหนื่อยและต้องการนอนอยู่ตรงนี้จึงเอนตัวลง จากนั้นเขาก็ฝันเห็นต้นไม้สวรรค์คล้ายต้นคริสต์มาส มีเด็กหญิงเด็กชายผู้ยากไร้ เนื้อตัวมอมแมมแบบเดียวกับเขาเต้นรำกันและต้อนรับเขา เด็กน้อยเห็นแม่ในฝันนั้นด้วย เขาเห็นแม่ยิ้มให้เขา
ตอนเช้ามีคนมาพบเด็กคนนี้นอนแข็งตาย ผู้คนออกตามหาแม่ของเด็ก และพบว่าในห้องเช่าไม่ไกลจากนี้ แม่ของเด็กน้อยได้ตายมาก่อนหน้าลูกของนางแล้ว
ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกีบอกว่า แม้ว่าเรื่องนี้จะเขียนขึ้นจากจินตนาการของเขา แต่เขายืนยันว่าเมืองใหญ่ๆ ในคืนคริสต์มาสแบบนี้ จักต้องมีเด็กแบบเดียวกับเด็กชายที่เขาเขียนถึงอีกมากมาย
…..
ก่อนหน้าจะได้รับรู้ชะตากรรมของเด็กชายที่ต้องนั่งกระบะหลังข้ามคืนมาสู่แผ่นดินอีสานที่ไม่เคยรู้จักมาเพียงลำพัง ผมพบเด็กหญิงเด็กชายหลายคนที่เฝ้ารอคอยการกลับมาของพ่อแม่ ที่ไม่สามารถกลับมาเยี่ยมลูกได้เหมือนปกติ เพราะจังหวัดที่พ่อแม่ไปทำงานอย่างกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงยังคงอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง และการรอคอยก็ยืดยาวออกไปแบบไม่รู้จุดสิ้นสุด เมื่อรัฐบาลสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง แล้วผู้คนก็แตกออกจากกรุงเทพฯ กลับต่างจังหวัด โดยที่ไม่ได้มีการตรวจโรคให้ก่อนออกมา ทำให้ต่างจังหวัดมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจนรับมือไม่ทัน กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงแบบเดียวกัน
เด็กๆ เหล่านี้อยู่กับตา ยาย ปู่ ย่า หรือญาติว่าแย่แล้ว แต่ในภาวะปกติ พวกเขายังมีโอกาสเจอพ่อแม่ได้บ่อย โดยไม่ต้องรอแค่ช่วงเทศกาลเหมือนเด็กสมัยก่อนเมื่อยี่สิบหรือสามสิบปีที่แล้ว เพราะการเดินทางสะดวกขึ้น แต่เมื่อมาเป็นเช่นนี้ ต่างคนต่างไปหากันไม่ได้ ที่เลวร้ายกว่านั้นคือไม่รู้ว่าจะติดโรคเมื่อไร และหลังจากนั้นจะมีโอกาสได้พบเจอกันอีกหรือไม่ เพราะไม่แน่ว่าใครสักคนในครอบครัวอาจติดโควิด-19 และอาจตายจากไป แย่กว่านั้น อาจตายกันหมดเพราะที่เหลือไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ผมได้แต่คัดหนังสือสารานุกรมชุดที่เคยผ่อนซื้อให้ลูกๆ เมื่อครั้งยังเล็กในราคาที่แพงมากๆ ส่งไปให้เด็กบางคน ให้ยาย ตา ปู่ ย่า ได้มีกิจกรรมทำร่วมกันระหว่างรอให้เด็กๆ เหล่านั้นได้พบพ่อแม่ นอกจากนี้ก็แบ่งเงินที่ได้จากการขายหนังสือส่งไปให้เด็กบางคนซื้อขนม เติมเงินโทรศัพท์ไว้ดูคลิป หรือเล่นเกมในระหว่างกักตัว ในขณะเดียวกัน เราก็ได้รับรู้ข่าวคราวของเด็กที่มีชะตากรรมแบบนี้มากขึ้นๆ ทุกวัน
เราทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม?
นี่คือเสียงที่กึกก้องและบีบคั้นเราอยู่ทุกวันคืน อาจเพราะเป็นพ่อคน จึงรู้สึกต่อเรื่องนี้รุนแรง
…..
ผมกลับไปอ่าน ต้นไม้สวรรค์ อีกครั้งและอีกครั้ง
และก็แปลกใจว่าทำไมคนเราเวลาเศร้า จึงชอบอ่านเรื่องที่เศร้า ฟังเพลงเศร้า เพราะมันทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนร่วมความเศร้า หรือเพื่อตอกย้ำความเศร้านั้น คล้ายดังการฉีดวัคซีนความเศร้าเข้าสู่ชีวิตและหัวใจให้มันมีภูมิมีพลังต้านทานความเศร้า เพื่อที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างให้คนที่เศร้ากว่า
แต่ก็น่าแปลกใจที่ว่า ทำไมผมถึงไม่นึกถึงเรื่องราวของเด็กสองคนที่ถูกพรากจากอกพ่อแม่อย่างกัณหา ชาลี ในพระเวสสันดรชาดก ที่เคยสร้างความสะเทือนใจให้สมัยเป็นเด็ก ทั้งๆ ที่ก่อนที่จะเข้าสู่โลกหนังสือสากลอันหลากหลาย ก่อนที่จะอ่านหนังสือออก ภาพ เรื่องเล่า และเทศนาเรื่องนี้ถูกเล่าซ้ำทุกปีในงานบุญพระเวสหรือบุญมหาชาติ
ภาพที่ชูชกแขวนเปลนอนบนต้นไม้ ปล่อยให้กัณหา ชาลีที่ถูกมัดไว้โคนต้นนอนเผชิญภัยกลางป่ายามค่ำคืน มันก็เป็นภาพชวนสะเทือนใจอย่างยิ่ง
เป็นไปได้ว่าที่ผมไม่คิดถึงเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะเรื่องของเด็กน้อยกัณหา ชาลี มีเทวดาแปลงกายมาเป็นพ่อแม่ กอด ปกป้องภัย และกล่อมนอน สุดท้ายเราก็รู้ว่าเทวดาจะทำให้ชูชกหลงทาง แล้วเดินทางไปถึงเมืองที่ปู่ย่าของกัณหา ชาลีครองเมืองเป็นกษัตริย์ แล้วจะมีการไถ่ตัวเด็กน้อย ยกขึ้นนั่งบัลลังก์ แล้วแต่งขบวนเสด็จไปรับพ่อและแม่ (พระเวสสันดรและพระนางมัทรี) กลับคืนเวียงวัง
แต่เด็กๆ ของเราในวันนี้ที่กำลังอยู่ท่ามกลางโรคระบาดอันน่ากลัว ซึ่งรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการวัคซีน เด็กๆ ของเราเหล่านี้ไม่มีเทวดาแปลงกายมากอด มาให้ข้าวให้นม กล่อมนอนในยามค่ำคืน มองไม่เห็นจุดหมายปลายทางของชีวิต อยู่ในความกังวลรอคอยว่าจะได้พบพ่อแม่เมื่อไร และหวั่นกลัวว่าพ่อแม่จะตายไหม (แต่ตัวเด็กๆ เองคงไม่คิดว่าตัวเองจะติดโรค ป่วย และตายไป) ซึ่งในจำนวนเด็กเหล่านั้น มีมากมายหลายต่อหลายคนที่สูญเสียพ่อแม่ไปแล้ว
มีนักเขียนไทยคนไหนเขียนถึงเด็กๆ ของเราเหล่านี้บ้าง?
คุณได้ยินเสียงเต้นของหัวใจและเสียงร้องของเด็กๆ เหล่านี้ไหม?
คุณเห็นน้ำตาของเด็กๆ เหล่านี้หรือเปล่า?
Tags: คนขายหนังสือ, โควิด, ต้นไม้สวรรค์, ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี, เด็ก