กรณีสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากสมาชิกฯ ให้ส่งหนังสือให้นายกรัฐมนตรีแนะนำ โดยอ้างถึงกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน “หนังสือแนะนำจากนายกฯ ประจำสัปดาห์นี้” ของกระทรวงวัฒนธรรม และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปก่อนหน้านี้
วันนี้ (14 มิ.ย.) นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตามที่สมาคมฯ ได้เชิญชวนสมาชิกส่งหนังสือให้นายกรัฐมนตรีแนะนำนั้น ทางสมาคมฯ จะขอเลื่อนกิจกรรมนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีการหารือและได้ข้อสรุปในการดำเนินการที่เหมาะสม
ก่อนหน้านี้ มีการเผยแพร่ภาพจากสมาคมฯ ที่ส่งไปยังแต่ละสำนักพิมพ์ เรื่อง ขอความร่วมมือส่งหนังสือให้ท่านนายกรัฐมนตรีแนะนำ โดยเนื้อหาระบุว่า เนื่องด้วยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน “หนังสือแนะนำจากนายกฯประจำสัปดาห์นี้” เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาทุนมนุษย์ สมาคมฯ จึงขอความร่วมมือในการส่งหนังสือให้นายกฯ แนะนำ โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมกำหนดกรอบเนื้อหา 6 ข้อ ประกอบด้วย
-
ส่งหนังสือได้ทุกหมวด ทุกประเภทที่เหมาะกับทุกช่วงวัย
-
ควรมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสถานการณ์สังคมปัจจุบัน แต่ไม่เสียดสีการเมือง
-
เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาด้านคุณธรรม จริยธรรม และความประพฤติที่เหมาะสม
-
มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความหวังในการดําเนินชีวิต
-
เป็นหนังสือที่ก่อให้เกิดความมานะบากบั่น ไม่ท้อถอยต่อปัญหาอุปสรรค
-
เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาให้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งนี้ มีการแนบแบบฟอร์มให้กรอกรายละเอียดเนื้อหาหนังสือ และขอให้ส่งหนังสือจริง ปกละ 1 เล่มไปด้วย
จากกรณีดังกล่าว มีสำนักพิมพ์ออกมาแสดงความเห็นในทางสาธารณะ อาทิ สำนักพิมพ์สมมติ ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า “สารภาพว่า ทันทีที่ได้รับอีเมลขอความร่วมมือนี้จากสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีความรู้สึกสองอย่างคือ โกรธถึงโกรธมาก คล้ายๆ กับโมโหอะไรสักอย่างแต่ไม่รู้ว่าจะโมโหใครหรืออะไรดี ปนๆ กับความรู้สึกหดหู่และสิ้นหวัง จริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกับคำว่า ‘แต่ไม่เสียดสีการเมือง’ แต่คิดเร็วๆ ได้ว่า ที่มาของความรู้สึกข้างต้นคงเป็นเพราะวิธีคิดหรือคอนเซ็ปท์เกี่ยวกับหนังสือขององค์กรที่กำกับดูแลเรื่องการอ่าน และคิดๆ ไป การที่เรายังทำหนังสือหนังสือแบบนี้อยู่ ก็ควรจะตั้งคำถามถึงหน้าที่การงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ต่อตัวเองเหมือนกันว่า แท้ที่จริงแล้ว สนพ.แบบเราๆ ต่างหากที่ผิดแปลก”
ขณะที่สำนักพิมพ์กำมะหยี่ ทวีตภาพว่า “ไม่ส่งค่ะ” พร้อมคำบรรยาย “กรณีขอความร่วมมือส่งหนังสือให้นายกฯ แนะนำในครั้งนี้ เข้าใจเจตนาของคนคิดโครงการนี้นะว่าต้องการช่วยกระตุ้นยอดขาย แต่สำหรับเรา ยอดขายไม่ได้สำคัญมากขนาดจะทำอะไรก็ได้เพื่อจะได้มันมา”
โดย ณ เวลา 17.50 น. ข้อความของทั้งสองสำนักพิมพ์นั้นมีผู้รีทวีตอย่างน้อย 16,000 ครั้ง ความเห็นส่วนใหญ่มีเนื้อหาในทางเห็นด้วยกับสำนักพิมพ์ มีผู้แสดงความเห็นว่าควรจะอุดหนุนหนังสือไม่ใช่ขอกันฟรีๆ ขณะที่บางส่วนระบุว่าควรใช้โอกาสนี้ในการโฆษณาหนังสือเสียเลย
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แนะนำหนังสือมาแล้วสามเล่ม คือ หนึ่ง Animal Farm ฉบับภาษาไทย ซึ่ง พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำให้อ่าน เพราะเป็นหนังสือที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี
สอง หนังสือ “อิศปปกรณัม” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า หนังสือดังกล่าวเป็นวรรณกรรมประวัติศาสตร์ของไทยที่มีความสำคัญ และกระทรวงวัฒนธรรม ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบชำระประวัติศาสตร์ ซึ่งพิจารณาแล้วเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรม อักษรศาสตร์ และวรรณคดี โดยหนังสือนี้ได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 หลายอย่างของไทยสอดคล้องกับนิทานอีสป จึงอยากให้เยาวชนได้อ่าน จะได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ของไทยเป็นมาอย่างไร และ สาม หนังสือเศรษฐีมั่งมีทรัพย์กับห่าน Swan ซึ่งเป็นสุภาษิตสอนใจ
Tags: หนังสือ, การอ่าน, แนะนำหนังสือ, กระทรวงวัฒนธรรม