พอพูดถึง BNK48 แล้ว ภาพแรกที่แวบเข้ามาในหัวของเราคือความน่ารักสดใสในแบบที่เมื่อได้เจอแล้ว โลกทั้งโลกก็พลันจะสว่างขึ้นทันตา… แต่ก็นั่นแหละ หลายคนก็คงจะพอเดาได้ว่าเบื้องหลังรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของพวกเธอนั้น ต้องแลกมากับน้ำตา ความผิดหวังและความเสียใจมานักต่อนัก 

นี่คงเป็นสารสำคัญของภาพยนตร์สารคดี BNK48: One Take ที่เจาะลึกถึงเบื้องหลังของการทำงานของเกิร์ลกรุ๊ปกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในช่วง General Election ครั้งแรก กว่าจะมาเป็น BNK48 ในวันนี้ได้ มันไม่ง่ายเลย และในโอกาสเปิดตัวภาพยนตร์นี้เองที่เดอะ โมเมนตัมได้มีโอกาสพูดคุยกับสมาชิก 5 คนของวง ได้แก่ เฌอปราง เจน มิวสิค โมบายล์ และเจนนิษฐ์ ถึงเรื่องราวมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตพวกเธอตั้งแต่เริ่มต้นเดินบนทางสายนี้

รู้สึกอย่างไรบ้างกับภาพยนตร์เรื่องนี้

เฌอปราง: พวกหนูยังไม่ได้ดูเลยค่ะ ตอนถ่ายทำก็ไม่ได้รู้เลย ส่วนใหญ่เป็นแคนดิด รู้ตัวแค่ตอนที่มีคลาสแอคติ้ง แต่เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาถ่ายมุมไหน

เจน: สำหรับเจนคิดว่าตอนคลาสการแสดง นึกว่าเป็นการถ่ายตอนต้น ไม่รู้ว่ามีการถ่ายก่อนหน้านั้นด้วย หลังจากนั้นที่รู้ตรงๆ คือมีการสัมภาษณ์ แต่ว่าหลังจากนั้นก็ไม่รู้เลยว่าเขาเก็บภาพตอนไหนไปบ้าง ตื่นเต้นเหมือนกันค่ะ

ในภาพยนตร์เป็นช่วงที่เริ่มมีรุ่นสองเข้ามา คิดว่าคาแร็กเตอร์ของแต่ละรุ่นแตกต่างกันมั้ย เพราะแต่ละรุ่นมีแบ็คกราวด์ไม่เหมือนกัน 

เจนนิษฐ์: รุ่นหนึ่งก็อาจจะเป็นเหมือนผู้บุกเบิก เป็นผู้กรุยทางเนอะ เป็นทางลูกรัง (หัวเราะ) แล้วเป็นทางลูกรังที่ไม่มีปลายทาง ตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าวงจะไปรอดไหม หรือต้องยุบวงหลังเดบิวท์ไหม จะได้เดบิวท์รึเปล่า จะมีคนมาดูรึเปล่า ไม่รู้อะไรเลย ก่อนเดบิวท์ก็ซ้อมไปเฉยๆ ซ้อมไปเรื่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ ก็บูมขึ้นมา ได้ประสบการณ์ในช่วงเวลาอันสั้นค่ะ อยู่ดีๆ ก็ได้ทำงานทุกอย่าง 

โมบายล์: แตกต่างคือรู้สึกว่ารุ่นหนึ่งจะเริ่มดาร์คมากขึ้น เหมือนกาลเวลาค่อยๆ เปลี่ยนเราไป ทุกคนเริ่มเปลี่ยนหมดเลย รุ่นสองเข้ามาก็มีความสดใส แต่เวลาจะหล่อหลอมเองค่ะ แต่ก็แตกต่างกันชัดเจนนะคะ  ไม่ใช่แค่รุ่นหนึ่งรุ่นสองหรอก แต่หมายถึงแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วย 

เจนนิษฐ์: แต่รุ่นสองก็จะเกรงใจเรานะ บางอย่างก็ให้เราแนะนำ เหมือนเราเจอมาก่อนด้วย น้องบางคนที่ขี้อายไปทำรายการใหม่ๆ เขาก็จะถามว่าพูดแบบนั้นแบบนี้ได้รึเปล่า

การมีรุ่นน้องเข้ามาทำให้มุมมองของเราเปลี่ยนไปหรือเปล่า

เจนนิษฐ์: ก็มีคนช่วยเพิ่มนะ มีช่วงนี้ที่งานเยอะมากแล้วคนขาด กระจายไม่พอ แล้วมีเธียร์เตอร์ด้วย เราก็อยากให้แฟนคลับที่ไม่ได้ไปสามารถไปได้ทุกที่ 

โมบายล์: ตอนแรกคนเยอะขึ้นก็เครียดหน่อยๆ เรพาะเรายังไม่สนิทกับเขา แต่พอผ่านไปก็รู้สึกว่าไม่กดดันแล้ว พอเราสนิทกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรเดี๋ยวเราจะผ่านมันไปด้วยกัน 

คิดว่าตัวเองเปลี่ยนไปแค่ไหนจากวันแรกที่เราเข้ามา เราโตขึ้นไหม เราจัดการอะไรได้ดีขึ้นบ้าง

โมบายล์: คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องการยอมรับคำวิจารณ์ มันก็ไม่เชิงว่าตอนนี้สบายแล้ว แต่มันก็มีวิธีที่จะรับมือกับมันมากขึ้น ตอนแรกเราใหม่ ไม่เคยเจอ สมมติว่าเวลาเราเป็นนักเรียนทั่วไปก็อาจจะมีคนไม่ชอบเรา ซึ่งเราก็ต้องไปทำอะไรให้ เขาถึงไม่ชอบ แต่อันนี้คืออยู่เฉยๆ ก็มีคนไม่ชอบเรา อะไรแบบนี้ 

มิวสิค: คิดเหมือนโมบายล์เหมือนกันค่ะ อีกอย่างคือเรื่องทัศนคติ หนูเองเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูงมาก แต่เราต้องยอมสละพื้นที่ตรงนี้ไป เลยรู้สึกว่าเราต้องทำความเข้าใจและยอมรับอะไรหลายอย่างมากขึ้น 

เจนนิษฐ์: การเข้ามาอยู่ตรงนี้มันบังคับให้เราโตขึ้นเหมือนโดนสารเร่งโต ต้องมีวุฒิภาวะ คนไม่ได้สนว่าเด็กแค่ไหน เขาสนแค่ว่าเป็นไอดอลทำไมคิดไม่ได้ ทำไมวุฒิภาวะต่ำ การที่เขาเร่งให้โตก็เหมือนที่เขาพูดกันว่า ยิ่งโตขึ้นยิ่งพูดสิ่งที่อยู่ในใจได้น้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นยิ่งโตยิ่งเก็บกด มีอะไรก็อดทนๆ พูดไม่ได้ 

ในภาพยนตร์ดูมีเรื่องเกี่ยวกับความคาดหวังเยอะเหมือนกัน ที่ผ่านมาเรามีวิธีรับมือกับความคาดหวังอย่างไรบ้าง ทั้งจากตัวเอง จากแฟนคลับ

เจน: แต่ก่อนเราเป็นคนคาดหวังค่อนข้างเยอะ ค่อนข้างสูง มันเป็นประสบการณ์ เราต้องเรียนรู้จากมัน ว่าถ้าเราคาดหวังแล้วเราไม่ได้น่ะ มันเจ็บมากนะ สู้ที่เราไม่คาดหวังดีกว่าแล้วเราทำให้มันเต็มที่ ไม่มีใครเจ็บด้วย ส่วนการคาดหวังจากแฟนคลับเนี่ย เราก็คงไปห้ามไม่ได้ว่าห้ามคาดหวังจากเรานะ ให้เขาได้เข้าใจว่าเราทำเต็มที่ที่สุดนะ 

เฌอปราง: แค่อย่าโกหกตัวเองละกันว่าเราเต็มที่จริงๆ สำหรับเฌอนะ ถ้าเราโกหกตัวเองเราจะรู้สึกผิดกับสิ่งที่เราพูดออกไป ถามตัวเองว่าเราเต็มที่กับมันจริงๆ รึเปล่า และทำให้ดีที่สุด ส่วนรับมือกับความกดดันอย่างไร เฌอว่าเราต้องเผชิญกับมันก่อน เชื่อว่าใครก็ตามก็ต้องเผชิญก่อนสักรอบนึงที่ต้องเจอับความกดดันแบบนั้น แต่ถ้าเราผ่านไปได้ รับมือกับมันได้หรือผ่านมาแล้วย้อนคิดดู เราจะรู้ว่าเราต้องรับมือกับมันยังไง ถ้าใครได้เห็นในภาพยนตร์ก็น่าจะรู้ว่ามันเป็นแบบไหน คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนได้สะท้อนคิดว่าเขาก็น่าจะเคยเจอ และมันก็ยังมีคนอื่นที่เคยเจอเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็สู้ๆ อย่าไปท้อง่ายๆ เพราะเดี๋ยวมันก็จะผ่านไปค่ะ

เจนนิษฐ์:  หนูลืมเร็วค่ะ เพราะมีเรื่องอื่นต้องทำ หนูเปลี่ยนโฟกัสเร็ว เรามีเรื่องต้องจัดการอีกเยอะ แล้วก็ลืมไปเลย

โมบายล์: ถ้าเป็นจากคนอื่น เหมือนไม่ว่าเราจะพูดยังไง เขาก็ยังจะมีความคิดของเขาอยู่ ไม่ได้เปิดใจอะไรกับเรา ก็คิดว่าทำในสิ่งที่เรารักให้คนที่รักเรา ใครที่ไม่รักเราเราก็รับรู้แหละ แต่ก็ไม่อยากเอาใจไปอยู่ที่เขาอย่างเดียว

มิวสิค: เราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนได้หรอก เหมือนคู่รักที่คบกัน เรารู้สึกว่าเดี๋ยวเขาต้องเปลี่ยนเป็นแบบนี้แน่นอน แต่จริงๆ แล้วมันก็ไม่มีทาง เหมือนกันค่ะ อย่างเราก็ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้หรอกว่าเขาจะคิดยังไง หนูก็เลยรู้สึกว่าการเอาใจเราไปให้เขา หรือไปโฟกัสกับเค้ามันมีแต่เราเสีย เขาไม่เสียหรอก ก็แค่ปล่อยมันไป

ด้วยวัยของเราที่ไม่ได้เยอะ แล้วได้ไปยืนอยู่ตรงนั้น โดนทุกคนรายล้อม แล้วต้องเจอกับความกดดัน ทั้งจากตัวเอง จากเพื่อนรอบข้าง จากทั้งแฟนคลับ เคยคิดไหมว่าทำไมมาอยู่ตรงนี้ แล้วอยู่ตรงนี้แล้วมันคุ้มค่าหรือเปล่า

เฌอปราง: เคยค่ะ เคยคิดหนักมากด้วยว่าฉันจะมาอยู่ทำไม เกิดมาทำไมด้วยซ้ำ ถึงจุดที่เป็นซึมเศร้าแหละ แต่เราไม่เป็นบ่อย อย่างตัวหนูเองอาจจะเป็นสักเดือนละครั้ง บางทีมันดาวน์ลงมา ด้วยแรงกดดันที่มันเหนื่อยจากการทำงาน ด้วยจิตใจที่เจอเรื่องราวหลายๆ อย่าง ทีนี้ของตัวเฌอคือปล่อยให้ตัวเองคิดค่ะ หนูห้ามความคิดตัวเองไม่ได้ แต่ก็รับรู้ไว้เสมอว่ามีคนรักเรา แม้ว่าเราไม่รักตัวเองแต่ก็ไม่คนรักเรา คุณแม่ คุณพ่อ คุณตาคุณยายที่บ้าน เมื่อไรที่เรากรี๊ดหรือร้องไห้ เราจะรู้สึกเหมือนเราทำเขาเดือดร้อน ซึ่งหนูไม่ชอบ รวมถึงแฟนๆ เมื่อไรที่เราหายไป เขาก็จะเริ่มแล้วว่าเอ๊ย เฌอไปไหน เฌอเป็นอะไร ไปโรงบาลอีกรึเปล่า โกหกว่าไม่อยู่บ้านอีกหรือเปล่า ก็พยายามระลึกไว้เป็นขั้นสุดท้ายไม่ให้ดิ่ง หรือเวลาคิดไม่ดี ว่ามีคนรักเราอยู่ เราไม่อยากให้เขาทุกข์เพราะเรื่องของเรา แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้ตัวเองคิด คิดจนเหนื่อยแล้วก็นอนไปค่ะ รีสตาร์ทตัวเองใหม่ 

เจน:  ต้องบอกก่อนว่าแต่ก่อนเจนไม่ได้มีกระบวนการคิดที่เป็นผู้ใหญ่มาก แต่ก็แค่คิดว่าเราไม่เจอตอนนี้อนาคตเราก็ต้องเจออยู่ดี ใกล้หรือไกลสุดท้ายเราก็อยู่กับมันตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนความคิดว่าไม่อยากอยู่ตรงนี้มั้ยเชื่อว่าหลายคนก็ต้องมีความคิดนี้แวบเข้ามา แต่สุดท้ายแล้วเราเป็นคนเลือกมาอยู่ตรงนี้เอง เราก็ต้องรับให้ได้กับสิ่งที่เราเลือก ถ้าเราคิดแบบนั้นแล้วเราเสียใจทีหลัง มันมีอีกตั้งหลายคนที่อยากมาอยู่ตรงนี้แต่ไม่ได้มา แล้วเราได้เป็นตัวแทนมาอยู่ตรงนี้ก็ต้องดีใจสิ แต่ก่อนคือเครียดมาก 

เฌอปราง: ถ้าถามว่ายืนอยู่บนเวที เรายืนอยู่ตรงนั้นแล้วเราดาวน์ ก็ทำหน้าที่เรา เราเลือกที่จะมาเป็นไอดอล เราเลือกที่จะมามอบความสุข ซ้อมมาแล้ว เต้นมาแล้ว ลุยเต็มที่ อะไรจะเกิดก็เกิด 

เจน: หนูก็เคย ตอนนั้นขึ้นเธียร์เตอร์แล้วรู้สึกดาวน์มากๆ เต้นไปร้องให้ไป ปรากฏว่าแฟนคลับเห็น เต้นอยู่แถวหลัง ตอนนั้นเป็นความรู้สึกที่สับสนมากว่าเราควรจะทำยังไงกับตัวเองดี แต่ก่อนเจนไม่เคยรู้เรื่องการคุยกับตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง ไม่รู้การผ่อนคลาย ก็สับสนไปพักใหญ่ๆ แล้วก็รู้สึกว่าไม่ไหว ก็เลยหาหนทางด้วยการอ่านหนังสือ อ่านหนังสือเรื่อง mindset แบบใหม่ ก็เลยเปลี่ยนตัวเองได้

เฌอปราง: ต้องบอกว่าพอได้เผชิญมั้งคะ เด็กอาจจะไปเจอในอนาคตที่เราทำงานก็ได้ แต่พวกเราได้ทำงานตั้งแต่อายุเท่านี้ก็เลยได้เจอตั้งแต่อายุเท่านี้ แต่เราก็โชคดีที่มีพี่ๆ สตาฟ พี่ๆ ทีมงาน มีครอบครัวหรือใครหรือเพื่อนๆ เมมเบอร์ที่อยู่ด้วยกันตลอด คอยสอดส่องด้วยว่าวันนี้คนนี้เป็นไรป่าววะ ทำไมดูดาวน์ๆ ผิดปกติ (หัวเราะ) มันจะมีออร่าบางอย่างที่ถ้าเราอยู่ด้วยกันแล้วเราจะรู้สึก และยิ่งเป็นช่วงนี้เราเก็บไม่ค่อยมิดหรอกค่ะ ถ้าเป็นผู้ใหญ่กว่านี้เราอาจจะเก็บมิดก็ได้ เพียงแต่ว่าเราอยู่ตรงนี้เราเรียนรู้ที่จะจัดการตัวเอง เรื่องในอนาคตก็อาจจะง่ายขึ้นหรือทำให้เราเก่งขึ้น โตกว่าวัยเดียวกัน ซึ่งหนูมักจะโดนเม้าว่าทำไมความคิดแก่จัง หนูก็ไม่รู้จะบอกยังไงดีว่า นั่นล่ะ ก็มันเจอมาเยอะ (หัวเราะ)

โมบายล์: ข้อดีของการมีเมมเบอร์คือถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราจะรู้กันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะคุยกันเอง บ่นๆ กันเองแล้วเราก็จะเข้าใจกัน คิดว่าขนาดเมมเบอร์ยังสนิทกันเองมากกว่า คนนอกเขาเป็นใครไม่รู้ เขายังไม่เคยมานั่งคุยกับเราด้วยซ้ำ ก็ต้องแยกแยะด้วยว่าอันไหนมันคือติเพื่อก่อ ติเพื่ออยากให้เราดีขึ้น

เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานเป็นทีม 

มิวสิค: สั้นๆ เลยคือเชื่อใจและเข้าใจกัน รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่จะทำให้เราเดินต่อไปได้ 

เจนนิษฐ์: สำหรับหนูคือมีอะไรต้องคุยค่ะ ถ้ามีเรื่องผิดใจกัน ทะเลาะกับคนอื่นๆ เราก็จะคิดว่าในอนาคตเราคงไม่ได้ใช้ชีวิตกับคนนี้หรอก ก็ปล่อยผ่านก็ได้ แต่พอเป็นการทำงานมันไม่ใช่แค่กระทบกับเรา แต่มันกระทบกับบริษัท งานที่ออกมา แฟนคลับ มีปัญหาอะไรปุ๊ปหนูต้องเคลียร์เลย  ไม่งั้นมันไปต่อไม่ได้

โมบายล์: เป็นตัวของตัวเองในแบบที่มีขอบเขต ไม่ได้ตามใจตัวเองจนเกินไป เราต้องอยู่กับคนหมู่มากค่ะ

จินตนาการภาพของความสุขตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา จนถึงวันนี้ หน้าตาของความสุขยังเป็นเหมือนเดิมไหม

เจนนิษฐ์: ตอนแรกมันก็ไม่ได้มีหน้าตาชัดเจนนะ แค่เป็นวงอยู่รอดก็พอแล้ว แค่ได้ทำก็พอค่ะ

โมบายล์: ถ้ามองการร้อง เต้น การแสดงบนเวทีเป็นความสุขก็ตรงกับที่คาดไว้ค่ะ แต่ว่ามันไม่ได้คาดว่าจะมีเรื่องที่ต้องรับมือกับมันด้วย ดราม่าเอย หรือว่าการแข่งขันกันระหว่างแฟนคลับแล้วมากระทบเรา มันก็มีหลายๆ อย่างที่เราไม่ได้คิดไว้ว่าเราก็จะเจอ

มิวสิค: เหมือนเราก็คาดหวังให้คนมารักเรา ให้กำลังใจเรา แต่เราไม่ได้คาดหวังให้มีคนเกลียดเราเยอะขนาดนั้น เหมือนความรักมันก็มาพร้อมกับความเกลียดด้วยเหมือนกัน เราก็ต้องยอมรับมันให้ได้ 

อยากรู้ว่าเวลาเราไม่ไหวจริงๆ เราคัมแบ็คยังไง เราบอกตัวเองว่าอะไร

เฌอปราง: เฌอเองอาจจะเป็นพวกความรับผิดชอบสูงมั้ง เราไม่อยากให้ใครเดือดร้อนเพราะเรา ถ้าเราเดี้ยงมาตอนนี้ งานพรุ่งนี้แย่เลยนะ คนเดือดร้อนเพราะเรื่องของเราคนเดียวไม่ได้ เราก็จะฮีดขึ้นมา แม่จะเดือดร้อนนะ…ไม่ได้ แฟนคลับจะเดือดร้อนนะ…ไม่ได้ หนูเป็นพวกไม่ชอบทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดีหรือเดือดร้อนเพราะการกระทำของเรา ซึ่งบางอย่างเราก็ควบคุมไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยเราไม่ได้มีเจตนาร้าย ไม่ได้ตั้งใจทำให้เขาเดือดร้อน แต่ถ้าเราเลือกที่จะไปปฏิบัติงานก็ต้องทำให้ได้ ร้องไห้ให้เจ็บแล้วก็ฮีด

เจน: ของเจนก็ปล่อยตัวเอง อย่างที่พี่เฌอบอกว่าก็จะปล่อยตัวเองให้ร้องไห้ไป ดีกว่าเก็บไว้แล้วไปร้องไห้บนเวที ร้องไห้ให้สุดแล้วทบทวนตัวเองอีกครั้งว่ามันเป็นของคนอื่นหรือของเราเอง ถ้าเป็นของคนอื่นเราก็ตัดทิ้ง ถ้าเป็นของเราเองก็ต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็กินของหวานเพิ่มอินซูลิน (หัวเราะ)

เฌอปราง: ของหวาน เสพเพลง เสพซีรีส์ 

เจน: แต่ต้องเป็นเพลงที่แฮปปี้นะ ถ้าฟังเพลงเศร้าก็…

เฌอปราง: อีกอย่างก็คือดูไอดอลค่ะ ดูไอดอลของเราจริงๆ บางทีตัวเฌอก็คือดูไอดอลจาก 48 Group นี่แหล่ะ เพราะเฌอก็ชอบเขาอยุ่แล้ว ดูแล้วก็บอกตัวเองว่าเอาน่า ก็มีคนผ่านมาแล้วเหมือนกัน เราก็ต้องทำได้วะ ก็มีกำลังใจขึ้น ส่วนไอดอลคนที่ทำให้มายืนอยู่ตรงนี้คือยามาโมโตะ ซายากะซังค่ะ เป็นไอดอลญี่ปุ่นที่ชอบมากๆ รู้สึกชอบสไตล์เขาด้วย แล้วก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาตั้งแต่เป็นศิลปินข้างถนนจนเป็นไอดอลและพัฒนาตัวเองในทุกด้านจริงๆ ปัจจุบันก็เป็นศิลปินเดี่ยว ตามฝันของตัวเองได้ และยังคงพัฒนาตัวเองต่อไป ชอบคนสไตล์ ด้วยภาพลักษณ์เขาด้วย แต่สุดท้ายเขาก็เป็นแรงใจให้เรามาทำงานตรงนี้ด้วย และแรงใจในการเห็นคนนึงยังสู้อยู่ 

เจน: แล้วก็ดูสารคดีสัตว์ค่ะ รู้สึกว่ามันฮีลเราในแต่ละวันมาก

เฌอปราง: เสริมอีกอย่างค่ะ อยากให้ทุกคนทำคือหาความสุขเล็กๆ ของตัวเอง เป็นเรื่องง่ายๆ ที่รู้สึกว่าตัวเองทำแล้วมีความสุข กินของหวาน ไอศกรีม ก็ทำไป ความสุขเล็กๆ แล้วมันจะรวมเป็นความสุขใหญ่เอง

หน้าที่ของการเป็นไอดอลคืออะไร

เจน: คือเป็นตัวอย่างในสิ่งที่ดี ถึงเราไม่ได้เป็นไอดอลเราก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนที่เห็นเรา แต่พอมาอยู่ตรงนี้ เป็นบุคคลสาธารณะ เราก็อยากจะเป็นคนที่ใครเห็นก็อยากจะทำสิ่งดีๆเหมือนกับเรา 

เฌอปราง: ถ้าในความหมายของญี่ปุ่น ไอดอลคือผู้ที่กำลังพัฒนาฝึกฝนตัวเอง เอนเตอร์เทนทุกคนและหาเส้นทางที่จะอยู่ในวงการบันเทิง นั่นคือของญี่ปุ่นทีเขาจะก็เริ่มจากไม่เก่งมาก่อน ผ่านมาสักพักก็มาเป็นวง เป็นกลุ่มๆ เป็นพลัง อยู่คนเดียวก็อาจเป็นศิลปิน เป็นนักร้องไป แต่การเป็นไอดอลคือเราอยู่กันเป็นกลุ่ม เรามีเพื่อน เราอยู่ด้วยกัน ส่งพลังไปด้วยกัน พลังคนเดียวเทียบกับพลังสิบๆ คน ถ้าส่งไปพร้อมกันมันก็เยอะกว่า ส่วนไอดอลแบบเกาหลีคือศิลปินที่เพียบพร้อมเพอร์เฟ็กต์ ของไทยเราเหมือนเอาสองอย่างบวกกัน บวกกับคำว่าเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย 

เป้าหมายไปในการมุ่งไปถึงต่อไปในฐานะไอดอลคืออะไร

เฌอปราง: ถ้าในระยะที่อยู่กรุงเทพฯคือการทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ทำเต็มที่ที่สุด ไม่ว่าจะมีโอกาสไหนเข้ามา ถ้ามีโอกาสต่อยอดหรือไม่ไอเดียที่อยากจะทำก็คงจะบอกกับทางผู้บริหาร แล้วก็ตัวเฌอในฐานะกัปตันคือปั้นรุ่นต่อไปค่ะ สุดท้ายก็คือการเอ็นจอยกับการขึ้นสเตจ การเพอร์ฟอร์ม เต็มที่ค่ะ เป็นจุดเดียวที่เราจะได้ทำในช่วงเวลานี้กับเพื่อนๆ ที่อยู่ด้วยกัน ถ้าออกไปจากตรงนี้ก็คงไม่ได้มาเต้นสิบกว่าคนพร้อมกันแล้วถ้าไม่ได้เป็นอาชีพนักแสดงหรือเป็นแดนเซอร์ 

เจน: ในฐานะไอดอลก็อยากลองประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เรายังไม่ได้ลอง ลองเล่นหนังเล่นซีรีส์อะไรอย่างงี้ อยากลองอะไรใหม่ๆ ดูบ้างนะคะ

อยากจะบอกอะไรกับตัวเองในวันนี้ ในฐานะคนที่ต้องทำหน้าที่ต่อไป

มิวสิก: ถ้าชีวิตเป็นหนัง ก็คงยังไม่ถึงเวลาคัต มันยังมีเรื่องราวที่ต้องไปต่อ อย่าเพิ่งท้อกับตอนนี้ กับทุกอย่างที่มันกำลังผ่านเข้ามา ไว้เรารอให้ถึงเวลาที่จะคัตมันก็จะคัต ตอนนี้ก็ได้แต่สู้ต่อไป เล่นหนังเรื่องนี้ต่อไปให้จบ

โมบายล์: เรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาในเรื่องนี้ก็คือบทเรียนในชีวิต ในอดีตหรือในปัจจุบัน มีแต่รับรู้มัน เพราะเราก็กลับไปแก้ไขในอดีตไม่ได้ ตอนนี้ก็ได้แต่ทำอนาคตให้ดีที่สุด อยู่ไปกับมัน เป็นตัวของตัวเอง เวลามันมีเรื่องอะไรเข้ามาก็ให้คิดว่ามันคือชีวิตเนอะ ชีวิตคนที่เหมือนหนัง ก็ต้องรับมือและต้องเดินหน้าต่อไป

เจนนิษฐ์: ขออย่างเดียวแค่ให้ดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด ป่วยปุ๊ปเหมือนทุกอย่างหยุดไปเลย ซึ่งอาชีพเราป่วยไม่ได้ คนมาแทนไม่ได้ ถ้าเราป่วย งานเขาพัง แล้วส่วนใหญ่เราเป็นวัยรุ่นเนอะ ไม่ใช่นอนดึก แต่นอนเช้า ทำนู่นทำนี่ ส่วนใหญ่อาชีพแบบนี้จะเป็นส่วนเสียมากเลยในอนาคต ในระยะยาว อยากเตือนตัวเองค่ะ ถึงจะทำได้บ้างไม่ได้บ้าง

ฝากอะไรถึงแฟนๆ หน่อย

เจน: One Take เป็นภาพยนตร์สารคดีไทยออริจินัลของไทยบน Netlifx เป็นเรื่องแรก ฉายวันที่ 18 มิถุนายน ทั่วโลกสามารถดูได้พร้อมกันค่ะ

เฌอปราง: เป็นเรื่องราวความเข้มข้นของพวกเรา BNK 48 ที่ทุกคนอาจจะยังไม่เคยเห็น ว่าเบื้องหลังงานก่อนที่จะขึ้นสเตจได้ต้องมีอะไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง การที่เราจัดการอารมณ์ตัวเองหรือการแข่งขันภายใน ช่วงของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องตั้งแต่ที่มีรุ่น 2 เข้ามา รวมถึงเป็นช่วง General Election ครั้งแรก ซึ่งพวกเราก็ไม่เคยเจอความกดดันรูปแบบนี้มาก่อน เพราะฉะนั้นในภาพยนตร์ที่เห็นน่าจะเป็นอะไรที่เรียลมากๆ และอยากให้ทุกคนสู้ๆนะคะ เพราะอยากให้เห็นว่ามีคนที่พยายามในเส้นทางของแต่ละคนอยู่ และความกดดันเหล่านี้ได้เจอกันในทุกรูปแบบอยู่แล้ว หรือบางคนอาจไม่คิดว่าเจอแต่เหมือนเจอโดยอัตโนมัติค่ะ

จากการที่ได้ชมภาพยนตร์ BNK48: One Take และการได้พูดคุยกันสั้นๆ กับเมมเบอร์ทั้ง 5 คน สิ่งที่เราสัมผัสได้คือแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นสารคดีเกี่ยวกับชีวิตไอดอล แต่ท้ายสุดแล้ว สิ่งที่พวกเธอต้องเจอก็คือภาพสะท้อนของสิ่งที่พวกเราต้องเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งความดราม่า ความรัก ความเกลียด การแข่งขัน ซึ่งถึงจุดหนึ่ง ก็คงขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วว่าจะเลือกจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร แต่สำหรับพวกเธอ ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าพวกเธอเลือกที่จะทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะชีวิตนี้ ช่วงเวลานี้ คงมีแค่เทคเดียวเท่านั้น

Fact Box

  • ภาพยนตร์ BNK 48: One Take ภาพยนตร์สารคดีไทยออริจินัลเรื่องแรกของ Netflix กำกับโดย โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ฉายวันที่ 18 มิถุนายน ที่ Netflix เท่านั้น
Tags: ,