ไม่ว่าใครเป็นฝ่ายคว้าชัยในศึกชิงประธานาธิบดี ผลประโยชน์อเมริกันในเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศย่อมเป็นเป้าหมายสูงสุดเสมอ แม้กระนั้น ทรัมป์กับไบเดนยึดถือมรรควิธีต่างกัน ถ้าไบเดนชนะ แนวทางพหุภาคีจะเข้าแทนที่เอกภาคีของทรัมป์

  ผ่านไป 4 ปี สิทธิเลือกตัวแทนใช้อำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ชาวอเมริกันอีกครั้ง ถึงแม้โดยทั่วไปผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมักสะท้อนเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับนโยบายภายในเป็นด้านหลัก ทว่าผู้รณรงค์หาเสียง ขออาณัติจากประชาชน ต้องแสดงวิสัยทัศน์ด้านการต่างประเทศไปพร้อมกัน  

  โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ครองเก้าอี้ผู้นำจากพรรครีพับลิกัน แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาเน้นแนวทางดำเนินการฝ่ายเดียวเป็นเครื่องมือรักษา แสวงหา และเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติ

  โจ ไบเดน ผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต แสดงท่าทีว่า ถ้าชนะเลือกตั้งในวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน เขาจะใช้แนวทางดำเนินการหลายฝ่าย

  ตามผลสำรวจของหลายสำนัก ไบเดนมีคะแนนนิยมนำหน้าทรัมป์ นักสังเกตการณ์จึงเสนอฉากทัศน์ให้เห็นว่า ถ้าไบเดนชนะ ประเด็นร้อนต่างๆ ในการต่างประเทศของสหรัฐฯ จะถูกขับเคลื่อนผิดแผกไปจากยุคทรัมป์อย่างไร

ฟื้นฟูระบบพันธมิตร 

คาดกันว่า ไบเดนจะนำพาสหรัฐฯ หันหน้ากลับเข้าหาบรรดาพันธมิตร และผูกพันสหรัฐฯ เข้ากับพันธะในระดับโลกอีกครั้ง หลังจากนโยบายอเมริกาต้องมาก่อนของทรัมป์สร้างความขุ่นเคืองแก่มวลมิตรเก่าแก่และประเทศหุ้นส่วนทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป  

  ในยุคทรัมป์ อเมริกาประกาศถอนตัวจากข้อตกลงโลกร้อน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2020 และประกาศถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะมีผลในวันที่ 6 กรกฎาคม 2021

  เมื่อเดือนมิถุนายน ทรัมป์ยังประกาศที่จะลดกำลังทหารอเมริกันที่ประจำการในเยอรมนีในฐานะกองกำลังนาโต้ลงประมาณ 9,500 นาย

  ทั้งหมดนี้ ทรัมป์อ้างว่าเป็นการลดภาระที่อเมริกาแบกโลกไว้บนบ่ามานานจนเกินทน คนที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ อุปถัมภ์ค้ำจุน ควรควักกระเป๋าตัวเองให้สมน้ำสมเนื้อกว่าที่เป็นมา และทำประโยชน์แก่อเมริกาให้คุ้มค่ากว่าเดิม

  ไบเดนให้คำมั่นที่จะรื้อถอนนโยบายของทรัมป์เหล่านี้ตั้งแต่วันแรกบนเก้าอี้ประธานาธิบดี โดยคงสมาชิกภาพและจ่ายเงินสนับสนุนองค์การอนามัยโลกต่อไป พร้อมกับเลิกโต้แย้งความตกลงปารีสว่าด้วยภูมิอากาศ

  นอกจากนี้ เขาจะขอเปิดประชุมร่วมกับผู้นำชาตินาโต้เพื่อประกาศการหวนคืนสู่ยุโรป พบหารือกับบรรดาผู้นำชาติมหาอำนาจในปีแรกในตำแหน่งผู้นำอเมริกา และยกเลิกคำสั่งของทรัมป์ที่ห้ามรับคนย้ายถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศมุสลิม

  สำหรับประเด็นระดับสากลอื่นๆ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย การควบคุมอาวุธยุทธศาสตร์ และอื่นๆ รัฐบาลไบเดนมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีประสานความร่วมมือผ่านกลไกและข้อตกลงระหว่างประเทศ ด้วยความเห็นพ้องจากพันธมิตรและมิตรประเทศ

ระดมพลังทัดทานจีน

ในยุคทรัมป์ อเมริกางัดข้อกับจีนในหลากหลายประเด็น ความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์ใหญ่ตกต่ำหนักสุดนับแต่สิ้นสุดสงครามเย็น จนกระทั่งเกิดเสียงวิจารณ์ว่า วอชิงตันกำลังจะทำสงครามเย็นรอบใหม่กับปักกิ่ง

  ไมตรีที่อเมริกาเคยมีกับจีนในฐานะหุ้นส่วนเมื่อยุครัฐบาลบารัค โอบามา แปรเปลี่ยนเป็นคู่แข่ง รัฐบาลทรัมป์ถือจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงและความรุ่งเรือง ท่าทีเช่นนี้นำไปสู่สงครามการค้า มีการขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันไปมาจนเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย กระทั่งต้องเจรจาหย่าศึก คลอดข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

  แต่การประนีประนอมด้วยคำสัญญาของฝ่ายจีนที่จะซื้อสินค้าและบริการของอเมริกันให้มากขึ้นเป็นลำดับ ไม่อาจเดินหน้าสู่ข้อตกลงระยะที่ 2 หลังจากทรัมป์กล่าวโทษจีนว่าเป็นต้นตอของโรคระบาดไวรัส

ความสัมพันธ์ยิ่งดิ่งเหวเมื่อทรัมป์คว่ำบาตรฮ่องกงเพราะประเด็นกฎหมายความมั่นคง และเล่นงานจีนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

  ว่าไปแล้ว ไบเดนมองจีนไม่ต่างจากทรัมป์ เขาปราศรัยว่า ถ้าปล่อยไว้ จีนจะยังคงปล้นเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาของอเมริกันต่อไป รวมทั้งบังคับให้บริษัทอเมริกันในจีนยอมเปิดความลับทางการค้า

  อย่างไรก็ตาม เขาพูดในคราวเดียวกันนั้นว่า อเมริกาจะพยายามสร้างแนวร่วมของมิตรและหุ้นส่วนที่จะท้าทายพฤติกรรมมิชอบต่างๆ ของจีน 

หาพวกต้านภัยนิวเคลียร์ 

ภัยคุกคามจากอิหร่านและเกาหลีเหนือเป็นอีกประเด็นที่อดีตประธานาธิบดีสมัยโอบามา และอดีตวุฒิสมาชิกผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภาผู้นี้ ตั้งใจจะใช้แนวทางพหุภาคีในการรับมือ

  เมื่อปี 2018 ทรัมป์จัดการกับประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านด้วยการถอนตัวจากข้อตกลงสมัยโอบามา ซึ่งมีชาติยุโรปและรัสเซียร่วมเป็นภาคี พร้อมกับหวนกลับมาคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านอีกครั้ง และเรียกร้องให้อิหร่านเจรจาจัดทำข้อตกลงควบคุมปรมาณูฉบับใหม่

  ข้อตกลงฉบับที่ทรัมป์ฉีกทิ้งไปนี้ ไบเดนเคยมีส่วนในทีมเจรจาจัดทำเมื่อปี 2015 เขาบอกว่า ถ้าได้นั่งในทำเนียบขาว เขาจะกลับเข้าเป็นภาคีตามเดิมหากอิหร่านกลับมาปฏิบัติตามข้อห้ามต่างๆ ในสนธิสัญญา พร้อมกับบอกว่า เขาจะใช้การทูตแบบแข็งกร้าว และอาศัยแรงสนับสนุนจากชาติพันธมิตรในการปรับปรุงและต่ออายุข้อตกลง

  สำหรับเกาหลีเหนือ ทรัมป์เคยเล่นบททั้งขู่ทั้งปลอบ ในช่วงแรก เขาประกาศนโยบายกดดันขั้นสูงสุดออกมาตรการคว่ำบาตรหลายระลอก แถมขู่ที่จะส่งไฟประลัยกัลป์ไปถล่มเปียงยาง ต่อมาเขาพบหน้ากับคิมจองอึนรวม 3 ครั้งเมื่อปี 2018 และปี 2019

แต่ทั้งไม้แข็งและไม้นวมยังไม่ส่งผลคืบหน้าเท่าไรนัก การเจรจาระดับเจ้าหน้าที่ชะงักงัน เพราะต่างยังมีข้อเกี่ยงงอน  ส่งผลให้เป้าหมายถอดถอนนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลียังดูเลือนราง

สำหรับไบเดน เขาประกาศว่าจะไม่ยอมพบกับผู้นำเปียงยางโดยปราศจากเงื่อนไข และจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือยอมเจรจาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

  ที่สำคัญ เขาบอกว่าจะประสานมือพันธมิตร คือ ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ให้ช่วยกันออกแรงอีกทาง พร้อมกับผลักดันให้จีนร่วมมือโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ

  แนวทางหลายฝ่ายของไบเดนจะให้ผลลัพธ์เหนือกว่าแนวทางฝ่ายเดียวของทรัมป์หรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ยังรอคอยการพิสูจน์ 

เหนืออื่นใด ไบเดนจะต้องชนะให้ได้เสียก่อน

 

อ้างอิง:

AP, 2 August 2020

Reuters, 18 September 2020

USA Today, via MSN News, 16 October 2020

Tags: ,