ยุทธศาสตร์หลักของจีนในการพยายามขยายอิทธิพลบนเวทีโลกผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งครอบคลุมกว่า 165 ประเทศทั่วโลกทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา กำลังสร้างปัญหาใหญ่ เมื่อ AidData หน่วยงานวิจัยการพัฒนาระหว่างประเทศเผยว่า การปล่อยสินเชื่อโครงการ BRI ที่คลุมเครือของจีนทำให้ 42 ประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เป็นหนี้โดยไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีงบดุลกว่า 3.85 แสนล้านเหรียญฯ (12.9 ล้านล้านบาท)
AidData ได้ตรวจสอบโครงการ BRI มากกว่า 1.3 หมื่นโครงการ ที่มีมูลค่ามากกว่า 8.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 165 ประเทศระหว่างปี 2007 ถึง 2017 พบว่าการปล่อยกู้ในต่างประเทศของจีนช่วงก่อน BRI เกือบ 70% ได้เปลี่ยนจากปล่อยสินเชื่อรัฐบาลสู่รัฐบาล ไปให้ธนาคารของรัฐ บริษัทร่วมทุนระหว่างธุรกิจจีน และคู่ค้าระดับท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ที่เป็นหนี้จีนหนักอยู่แล้วกู้ ซึ่งนำไปสู่รายงานการชำระคืนต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้กู้หลักไม่ใช่สถาบันของรัฐบาลกลางที่มีข้อกำหนดการรายงานเข้มงวดมากกว่า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.85 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้บางประเทศ เช่น ลาว ปาปัวนิวกินี มัลดีฟส์ บรูไน กัมพูชา และเมียนมาร์ มีภาระหนี้ต่อจีนเกินกว่า 10% ของจีดีพี
ในรายงานกล่าวว่า หนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏในบัญชีงบดุลของรัฐบาลประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ทำให้ความแตกต่างระหว่างหนี้ภาคเอกชนและหนี้สาธารณะไม่ชัดเจน และเกิดความท้าทายด้านการจัดการการคลังสาธารณะที่สำคัญต่อประเทศ
แบรด พาร์คส (Brad Parks) กรรมการบริหารของ AidData ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ว่า รัฐบาลประเทศยากจนไม่สามารถกู้เงินได้อีก ดังนั้น จีนจึงต้องใช้วิธีดังกล่าว และเมื่อสัญญาไม่ชัด รัฐบาลเองก็ไม่ทราบตัวเลขที่เป็นหนี้จีนแน่ชัดด้วย
รายงานยังพบด้วยว่า จีนขยายการให้สินเชื่อเร่งด่วนแก่ประเทศร่ำรวยทรัพยากรที่มีการทุจริตอยู่ในระดับสูง และ 35% ของโครงการ BRI ประสบปัญหาการทุจริต การละเมิดแรงงาน มลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และการประท้วงของประชาชน เช่น ในเมืองบาโลจิสถานทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศปากีสถาน ชาวบ้านกล่าวว่า พวกเขาได้ประโยชน์เพียงน้อยนิด ขณะกลุ่มติดอาวุธก็เปิดฉากโจมตีบ่อยครั้งเพื่อทำลายการลงทุนของจีน
ปีเตอร์ ไช่ (Peter Cai) นักวิจัยจากสถาบันโลวี ประเทศออสเตรเลีย ตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารหลายแห่งไม่ยอมให้ปากีสถานกู้ด้วยซ้ำ เพราะหากสามารถกู้เงินได้ ปากีสถานจะต้องจ่ายเบี้ยประกันเสี่ยงสูงมาก แต่จีนใช้ข้อตกลงอื่นเป็นหลักค้ำประกันแทน โดยส่วนใหญ่มักเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในอนาคต เหมือนประเทศรัสเซียและเวเนซุเอลาที่ค้ำประกันด้วยการส่งออกน้ำมันไปให้จีน
สองปีที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อของจีนชะลอตัวลง เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและมีระยะเวลาการชำระคืนสั้นลง โดยตามรายงานของนิกเคอิเอเชียระบุว่า เงินที่ปากีสถานกู้จีนมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.76% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทั่วไปขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) ซึ่งอยู่ที่ 1.1%
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงในรายงานว่า ไม่ใช่หนี้ทั้งหมดจะเป็นหนี้ที่ไม่ยั่งยืน (Unsustainable debt) และตั้งแต่เปิดตัว BRI มา จีนได้ยึดถือหลักการแบ่งปันการปรึกษาหารือกัน แบ่งปันผลงาน และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
ที่มา:
Tags: โครงการ Belt and Road, จีน, หนี้, Belt and Road Initiative, โครงการ BRI