สังเกตไหมว่าเวลาเราเอาตัวออกไปตากแดดตากลม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้เจอต้นไม้ใหญ่ แล้วจะสดชื่นขึ้นมานิดๆ

เหตุผลแรกเป็นเพราะ การอยู่ท่ามกลางต้นไม้ในป่าช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเรา

ตั้งแต่ปี 2004-2012 ทางการญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ ศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยาและสรีรวิทยาของการ ‘อาบป่า’ (forest bathing)  ผลที่ตามมาคือ มีการกำหนด 48 เส้นทางบำบัดด้วยการอาบป่าขึ้น

ฉิง ลี่ อาจารย์มหาวิทยาลัยแพทย์นิปปอน โตเกียว ตรวจวัดระบบภูมิคุ้มกัน โดยดูกิจกรรมของเซลล์ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของมนุษย์ทั้งก่อนและหลังจากเข้าป่า งานศึกษาของลี่ในปี 2009 แสดงให้เห็นว่า เซลล์ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ มีการตอบสนองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในสัปดาห์หลังจากที่กลับจากป่า ผลเชิงบวกนี้กินเวลานานขึ้นอีกเมื่อเข้าป่าทุกสุดสัปดาห์ 

นี่เป็นผลจากน้ำมันหอมระเหยในธรรมชาติที่หลากหลาย ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า ไฟตอนไซด์ (phytoncide)  พบในป่า พืช ผัก และผลไม้บ้างชนิด ต้นไม้ปล่อยออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคและแมลง อากาศในป่าไม่เพียงแค่ทำให้รู้สึกสดชื่นและดีขึ้นเท่านั้น การหายใจเอาไฟตอนไซด์เข้าไปดูเหมือนจะช่วยพัฒนาการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้วย

ต้นไม้ยังทำให้จิตใจเข้มแข็ง มีการศึกษาทางจิตวิทยาโดยให้อาสาสมัคร 498 คนทำแบบทดสอบระดับอารมณ์ ด้านความเกลียด ภาวะซึมเศร้า ความเบื่อ ความเป็นมิตร สุขภาวะทางจิต และความมีชีวิตชีวา และแบบวัดความวิตกกังวลแบบ A-State Scale ซึ่งมีการประเมินสองครั้งในวันเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบระหว่างวันที่ใช้เวลาในป่าเฉลี่ย 20 นาทีถึง 2 ชั่วโมงต่อวัน กับวันที่ไม่ได้เข้าป่า

ผลการศึกษาออกมาว่า คะแนนภาวะซึมเศร้าและความเกลียดชังลดลง ความมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้นหลังจากที่เข้าป่า “อาจกล่าวได้ว่าสภาพแวดล้อมในป่าเป็นภูมิทัศน์แห่งการบำบัด

เหตุผลที่สองมาจากดิน ในดินมีจุลินทรีย์ไมโครไบโอม (microbiome) ที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งอาจรักษาโรคซึมเศร้าได้

ปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราขึ้นอยู่กับความแข็งของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งบางส่วนขึ้นอยู่กับปริมาณของไมโครไบโอมในธรรมชาติที่เรายอมให้เข้าไปในร่างกายของเรา มีหลักฐานที่บอกว่า ระบบภูมิคุ้มกันเชื่อมโยงกับสมองของเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า ไมโครไบโอมของธรรมชาติมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพจิตของเราด้วย จุลินทรีย์หลายล้านตัวในเส้นทางการย่อยอาหารมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของเรา การสูดกลิ่น อารมณ์ และแม้แต่การดึงดูดยุงและคนอื่นๆ

การได้สัมผัสกับแบคทีเรียในดินดีต่อสุขภาพจิต และอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าเป็นวิธีรักษาโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะที่ชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม วัคเค (Mycobacterium vaccae)

จากหลักฐานที่มีอยู่ตอนนี้ก็เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า การหายใจ เล่นดิน ขุดดิน ดีต่อสุขภาพของเรา กิจกรรมเหล่านี้ตรงกันข้ามกับชีวิตสมัยใหม่ที่ปลอดเชื้อ อย่างการอยู่ในอาคารสำนักงานและบ้านที่ปิดทึบ นักวิจัยมีหลักฐานชัดเจนว่า เด็กที่ได้สัมผัสกับจุลินทรีย์กลางแจ้งมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีกว่ามาก ตัวอย่างเช่น ในฟาร์มของชาวบาวาเรีย เด็กๆ ที่ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงของครอบครัวและดื่มนมจากฟาร์มมีอัตราการเป็นโรคหอบหืด และภูมิแพ้ตลอดชีวิตต่ำกว่าคนทั่วไป

แต่สำหรับเราที่ไม่ได้เติบโตในฟาร์ม การใช้เวลาในสวนอาจจะช่วยได้บ้าง มีนักวิจัยด้านประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบริสทอลฉีดแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียม วัคเค เข้าไปในหนู และตรวจสอบค่าความเครียดของมัน หนูตัวที่ได้รับแบคทีเรียชนิดนี้มีพฤติกรรมความเครียดต่ำกว่าหนูที่ไม่มีแบคทีเรียนี้

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า เมื่อให้หนูกินเนยถั่วที่มีแบคทีเรียไมโคแบคทีเรียม วัคเค มันกระตุ้นสมองอย่างมีนัยสำคัญ พวกมันสามารถออกจากเขาวงกตได้เร็วกว่าหนูที่ไม่ได้กินเนยถั่ว

ขั้นต่อไป นักวิจัยวางแผนศึกษาว่ามีโปรไบโอติก หรือแบคทีเรียที่ดี ที่ให้ผลคล้ายกับแบคทีเรียตัวนี้หรือไม่  ซึ่งอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) หรือป่วยจากการที่สมองบาด เจ็บเล็กน้อย

 

 

ที่มาภาพ: garryknight/ flickr

ที่มา:

Tags: , , , , ,