“มีเหตุการณ์ในบราซิลที่คนกลุ่มหนึ่งลากคนออกมาบนถนน ทุบตีเขาจนตายเพราะพวกเขาคิดว่าคนๆ นั้นทำอะไรผิดและควรจะได้รับบทเรียน ชายคนนี้เป็นคนผิวดำ ยากจน และป่วยทางจิต คนกลุ่มนี้ก็เลยบอกว่าเขาเป็นอาชญากร การทำร้ายร่างกายลักษณะนี้มักเกิดขึ้นกับคนจนและคนผิวดำ นี่แสดงให้เห็นอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมนี้ ว่าใครกันที่สังคมเห็นว่าเป็นอาชญากร ไม่ว่าคุณจะเป็นคนอย่างไร ถ้าคุณจนและผิวดำ สังคมจะตัดสินคุณ”

“เพลงนี้พูดถึงการใช้ความรุนแรงต่อคนที่เราไม่รู้จักเพียง เพราะว่าเราเห็นว่าเขาเป็น ‘คนอื่น’ (other)”

นักร้องสาวชาวบราซิลนาม Bartira Fortes เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของเพลงที่ชื่อ Outrofobia ที่พูดถึงโรคกลัว ‘other’ หรือโรคกลัวคนที่แตกต่างจากตน หนึ่งในเพลงในอัลบั้ม Identidades ของเธอ ซึ่งนำมาขับร้องในการแสดงสด ณ บาร์แจ็ส Foojohn ย่านเจริญกรุง เมื่อเดือนที่ผ่านมา

บทเพลงของเธอมีความเป็นแจ็ส ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยจังหวะที่ไม่คุ้นเคย เราพอจะจับความเป็น bossa nova และ samba ได้ แต่ดนตรีของเธอก็มีอย่างอื่นอีก การแสดงสดของเธอไม่เหมือนนักดนตรีคนอื่น มันเป็นการแสดงดนตรีที่ต้องเสพด้วยตา มากพอๆ กับเสพด้วยหู เธอไม่เพียงร้อง แต่ยังใช้ภาษากายและการเคลื่อนไหวในการสื่ออารมณ์เพลง บางครั้งดูเหมือนมีการใช้ความเป็นละครเข้ามา มีการเล่นกับคนดู อิมโพรไวซ์กับนักดนตรี บางครั้งร้องๆ อยู่ก็ทิ้งนักดนตรีบนเวที แล้วเดินไปส่ายสะโพกประกอบเพลงในหมู่ผู้ชมเสียอย่างนั้น 

เพลงที่มีความเป็นแจ็สผสมผสานกับจังหวะแปลกๆ ที่ชวนให้ค้นหานี้ คือการนำจังหวะดนตรีจากบราซิล ทั้ง bossa nova, samba, afoxé, baião และองค์ประกอบของดนตรีพื้นเมืองจากแถบ Minas Gerais ซึ่งอยู่ตอนตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล มาผสมกับดนตรีแจ็สแบบสแกนดิเนเวีย และเสียงแนวทดลองที่เธอสร้างสรรค์ขึ้น

Bartira ซึ่งเป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลง ผู้กำกับละครเวที และนักวิชาการ ซึ่งปัจจุบันนอกจากงานดนตรีแล้ว เธอกำลังศึกษาปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาสังคม โดยศึกษาเรื่องขบวนการต่อต้านในระดับนานาชาติของบราซิลที่มหาวิทยาลัยในสวีเดน เธอบอกว่า อัลบั้มนี้ชื่อว่า Identidades (อัตลักษณ์) ซึ่งอยู่ในรูปพหูพจน์ เพราะนอกจากเนื้อเพลงในอัลบั้มจะพูดเรื่องอัตลักษณ์และประเด็นทางสังคมอื่นๆ แล้วในแง่ของดนตรี อัลบั้มนี้ยังเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางดนตรีที่หลากหลายด้วย 

“เพลงในอัลบั้มเฉลิมฉลองความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยเมโลดี้หรือจังหวะดนตรี โดยนำดนตรีหลายแนวจากทั้งบราซิลและแถบสแกนดิเนเวียเข้ามาผสมกัน เพราะมันเป็นประสบการณ์ของฉัน การอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดนทำให้ฉันได้รับอิทธิพลจากดนตรีในสแกนดิเนเวีย ขณะเดียวกันฉันก็เป็นคนลาติน จังหวะดนตรีต่างๆ จากบราซิล จากทวีปอเมริกาใต้ รวมทั้งดนตรีแบบแอฟโฟร-บราซิลเลียนก็มีอิทธิพลต่อฉันด้วย นอกจากนี้นักดนตรียังมาจากหลากหลายวัฒนธรรม อัลบั้มนี้ก็ไม่ใช่งานของฉันคนเดียว แต่ยังมีนักดนตรี เช่น มือกลองจากตุรกี นักเป่าแซกโซโฟนจากสวีเดน เหล่านี้คือการผสมผสานกัน และการเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ต่างๆ” 

ส่วนอัตลักษณ์ที่หลากหลายที่สะท้อนอยู่ในเนื้อเพลงนั้น มาจากทัศนะที่ว่า “ฉันคิดว่าคนเราไม่สามารถนิยามตัวเองแบบใดอย่างแบบได้ การที่คนนิยามตัวเองแบบหนึ่งทำให้เกิดอคติต่อคนที่แตกต่างไปจากตน และก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า outrofobia”

ภาษาโปรตุเกสที่ถูกขับร้องผ่านเสียงอันทรงพลังของเธอนั้นไพเราะ แต่สำหรับคนที่ไม่เข้าใจภาษานี้เช่นฉัน เราไม่อาจรู้เลยว่า นอกจากสุ้มเสียงที่ไพเราะแล้ว เนื้อเพลงที่เธอร้องออกมายังมีเนื้อหาวิพากษ์วิจาร์การเมืองและสังคมของบราซิล ซึ่งเราก็เพิ่งจะได้รู้เมื่อได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอหลังการแสดงครั้งนี้

ฉันคือ…

ฉันคือ ลา วิกติม เด แซตตองตาตส์ เด ปารีส์
ฉันคือ เล ซองฟอง ซีเรียง กี ฟองก์ มอร์ต์ ออง แมร์
ฉันคือคนหลายพันที่ถูกฆ่าในการสังหารหมู่ ณ เมืองบากา
ฉันคือ ضحايا تفجير انتحاري في بيروت
ฉันคือ ลานเซรอส เนโกรส กีซีมาดอส โน มาสาเคร เด โปรองโกส
ฉันคือ ลอส 3,000 นีโญ่ มวร์ยโตส เอ็น ลา เกียร์รา เดล ชาโก

เนื้อร้องของเพลง Je suis (แปลว่า ‘ฉันคือ’ ในภาษาฝรั่งเศส) มีประโยคในภาษาต่างๆ ปนกันอยู่ 5 ภาษา ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ โปรตุเกส อารบิก และสเปน  Bartira กล่าวถึงรูปแบบการนำเสนอเพลงเช่นนี้ว่า เธอต้องการสื่อให้เห็นว่า ทุกคนคือคนเหมือนกัน แม้ว่าจะอยู่คนละชาติ พูดกันคนละภาษา

“เพลงนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ฉันเขียนเพลงนี้ขึ้นหลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในปารีส และหลังการเผยแพร่รูปเด็กชายชาวซีเรียที่ตายบนชายหาด สื่อมักทำให้กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์บางอย่างหรือมาจากบางประเทศดูเหมือนไม่ใช่มนุษย์คนหนึ่ง ฉันใช้คำว่า Je suis (ฉันคือ) ในเพลงนี้เพื่อสื่อว่าทุกชีวิตมีค่า วิกฤตผู้ลี้ภัยสร้างให้เกิด outrofobia หรือความกลัวคนที่แตกต่างจากตน และสร้างให้เกิดอคติต่อคนเหล่านี้”

“ฉันคิดว่าทุกอย่างในโลกนี้เชื่อมโยงกัน ถ้าผู้คนเคลื่อนย้ายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศ มันก็ไม่ใช่แค่ความผิดของประเทศของพวกเขาอย่างเดียว ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน คุณจะโยนคนเหล่านี้ทิ้งไม่ได้ คนหลงลืมไปว่าสงครามที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของพลเมือง คนเคลื่อนย้ายเพราะพวกเขาดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เราไม่ควรจะชี้นิ้วบอกว่าฉันไม่ต้องการผู้อพยพเหล่านี้ในประเทศของฉัน เพราะวันหนึ่ง สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นกับคุณก็ได้ ใครจะไปรู้”

สำหรับ Bartira เธอเชื่อว่าดนตรีมีพลังในการต่อสู้กับอคติและความกลัวคนที่ต่างจากตน เนื่องจากดนตรีสามารถเชื่อมโยงคนเข้าหากัน 

“ดูตัวอย่างงานคาร์นิวัล ในงานนี้ คนจน คนรวย คนผิวขาว ผิวดำ คนที่มีชีวิตแตกต่างกัน ซึ่งปกติแล้วมักไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน ได้มาใช้เวลาร่วมกัน ความแตกต่างเหล่านั้นไม่มีความหมายเลย สิ่งสำคัญคือความสุขที่เกิดขึ้น และความเชื่อมโยงกับผู้อื่น” 

“ฉันคิดว่าดนตรีเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีวาทกรรมทางการเมืองและอื่นๆ มากมายที่สร้างกำแพงขวางกั้นระหว่างคนเรา”

นอกจากจะเชื่อว่าดนตรีสามารถสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนแล้ว เธอยังเชื่อด้วยว่า ดนตรียังมีพลังในการขับเคลื่อนทางสังคม

“เวลาที่ฉันร้องเพลง ฉันไม่ได้คิดว่า โอ เพลงนี้เพราะเหลือเกิน เสียงของฉันเพราะเหลือเกิน แต่ฉันต้องการให้คนมีประสบการณ์ร่วมกับเนื้อเพลง หรือบางทีถ้าคนฟังไม่เข้าใจ ฉันก็อยากกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเขา”

“ดนตรีมีพลังในการสร้างความเคลื่อนไหว คำว่า move ในที่นี้ไม่ได้เพียงแค่การเต้นเท่านั้น แต่หมายถึงการทำให้คนรู้สึกเชื่อมโยงกับดนตรี สร้างความรู้สึกที่ว่า ‘เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว’ คนเรามีพลังเมื่อเรารวมตัวกัน”

“ขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ เริ่มมาจากความรู้สึกแบบนี้แหละ ความรู้สึกที่ว่าเราต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง แล้วได้มาเจอคนที่รู้สึกแบบเดียวกัน”

 

ร่างกายของฉัน ฉันกำหนดเอง 

เนื้อหนังนี้เป็นของฉัน
ร่างกายของฉัน ฉันกำหนดเอง
เนื้อหนังนี้เป็นของฉัน
เป็นเสื้อเกราะและที่คุ้มกัน

Minha Carne (เนื้อหนังของฉัน) คือเพลงแรกในอัลบั้มนี้ เนื้อเพลงพูดถึงอิสรภาพของผู้หญิง Bartira เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Braz ว่า ร่างกายของผู้หญิงในบราซิลเหมือนถูกตีตรา เมื่อผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ เธอมักถูกมองว่าเป็นคนผิด ความสั้นของกระโปรงที่เธอสวมใส่คือสิ่งสร้างความชอบธรรมให้ผู้ชายที่มาล่วงละเมิด ในขณะที่ผู้ชายถูกมองว่าเป็นเพศที่ไม่สามารถควบคุมสัญชาตญาณตนเองได้ Bartira เล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของเพลงว่า

“ส่วนใหญ่เพลงของฉันมีนัยยะทางการเมือง ฉันพยายามติดตามความเคลื่อนไหวในบราซิล ตอนที่ฉันเขียนเพลง Minha Carne มีขบวนการที่พยายามดิสเครดิตประธานาธิบดีหญิงคนแรก (นาง Dilma Rousseff) ของบราซิลด้วยการโจมตีความเป็นหญิงของเธอ ความเห็นต่อต้านเหล่านั้นเป็นความเห็นแบบโอ้อวดความเป็นชาย และวางอยู่บนฐานคิดแบบชายเป็นใหญ่ ตอนนั้นฉันค้นคว้าเกี่ยวกับปฏิกิริยาของผู้ชายที่มีต่อประธานาธิบดีเพศหญิง ว่าคนเหล่านี้ใช้ความเป็นหญิงของเธอเพื่อผลทางการเมืองอย่างไร เพื่อเอาเธอลงจากตำแหน่งโดยแสดงให้เห็นว่าเธอไม่มีความสามารถ และด้วยการโจมตีรูปลักษณ์ภายนอก”

“เนื้อเพลงท่อนที่ร้องว่า ‘Meu corpo, minha regras’ (ร่างกายของฉัน ฉันกำหนดเอง) ฉันหยิบยืมมาจากวลีที่ขบวนการสตรีนิยมในบราซิลใช้เพื่อเคลื่อนไหวในช่วงนั้น”

“ในบราซิล ครูบางคนใช้เพลงของฉันสอนเรื่องสตรีนิยม มีกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อผู้หญิงที่ถูกข่มเหงรังแกใช้เพลงของฉันสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิง ฉันรู้เพราะมีผู้หญิงคนหนึ่งเขียนมาเล่าให้ฟัง ซึ่งทำให้ฉันตื้นตัน” 

“เวลาที่ศิลปินอย่างเราสร้างสรรค์บางอย่างขึ้น เราไม่รู้หรอกว่ามันจะนำไปสู่อะไร เราสร้างมันขึ้นเพราะรู้สึกว่าเราต้องแสดงความรู้สึกออกมา ไม่ว่าจะผ่านดนตรีหรือการแสดงออกอย่างอื่น ถ้างานของฉันสามารถช่วยทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกถึงพลังในตัวเอง มันก็เป็นสิ่งที่ฉันรู้สึกว่าต้องทำ”

ในการแสดงดนตรีส่วนใหญ่ รวมถึงการแสดงในครั้งนี้ เธอแต่งแต้มใบหน้าด้วยลวดลายและสีสันแปลกตา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการระบายสีหน้าของชนพื้นเมืองในบราซิล

“หลังจากที่ทำอัลบั้มชุดนี้สำเร็จ ฉันก็เริ่มทำงานกับกลุ่มชนพื้นเมือง แล้วก็พยายามเข้าใจพื้นเพที่มาจากชนพื้นเมืองของฉันเองด้วย ในบราซิล อัตลักษณ์ความเป็นชนพื้นเมืองถูกละเลย เราไม่ได้มีประสบการณ์ในเรื่องนี้แบบตรงๆ ในชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะคนในเมือง”

“สิ่งนี้เป็นปัญหาในบราซิลทุกวันนี้ เพราะประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (นาย Jair Bolsonaro) พยายามที่จะพรากสิทธิต่างๆ ไปจากกลุ่มคนเหล่านี้ มีความพยายามในการขัดขวางวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง ฉันคิดว่าเราควรพูดถึงสิ่งนี้ ทำให้คนมองเห็นในเรื่องนี้ ทำให้คนเข้าใจว่าเรากลายมาเป็นคนบราซิลได้อย่างไร ว่าประเทศบราซิลกลายมาเป็นบราซิลอย่างทุกวันนี้ก็เพราะการผสมผสาน”

ความไม่ใช่ภาษาสากลของดนตรี

ดนตรีไม่ใช่ภาษาสากล เราจำเป็นต้องเข้าใจภาษาโปรตุเกสเพื่อที่จะรับรู้ข้อความที่แฝงนัยยะทางการเมืองและการต่อสู้ของ Bartira แม้จะไม่อาจทำหน้าที่สื่อความหมายดังเช่นภาษา ทว่า ‘ความเป็นสากล’ ของดนตรีก็ทำให้อย่างน้อย เราสามารถมีความสุขกับเสียงเพลงและจังหวะแปลกๆ ที่ไม่คุ้นหู สำเนียงที่แตกต่างเหล่านั้นอาจทำให้คุณอยากรู้จักเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังดนตรีที่ได้ฟังก็เป็นได้

และหากคุณอ่านบทความนี้จบ คุณก็คงจะรู้แล้วว่าบทเพลงฟิวชั่นของ Bartira มิใช่มีไว้เพื่อฟังเพราะเสนาะหู ระหว่างฟังเพลงของเธอ คุณอาจจะได้ยินเสียงเธอกรีดร้องถ้อยคำเหล่านี้ในภาษาเพราะๆ อย่างภาษาโปรตุเกส…justiça (ความยุติธรรม), violência (ความรุนแรง), intolerância (การไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง), pobreza (ความยากจน), ignorância (ความไม่ตระหนัก), liberdade (อิสรภาพ) และ outrofobia (โรคกลัวคนที่แตกต่างจากตน)

ติดตามผลงานเพลงของ Bartira Fortes ได้ที่ Youtube และ Spotify