แบดูนา หญิงสาวที่มากไปด้วยเสน่ห์แม้หน้าตาจะไม่ได้สะสวยแบบพิมพ์นิยม และเมื่อได้เห็นผลงานการแสดงของเธอ ก็มีแต่จะต้องตกหลุมรักมากยิ่งขึ้น
แบดูนา มีดีกรีเป็นทั้งนักแสดงหญิงและช่างภาพชาวเกาหลีใต้ เธอเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการเป็นนางแบบ ก่อนจะหันมามุ่งหน้าเข้าสู่การแสดง
แบดูนา เริ่มต้นอาชีพนักแสดงโดยรับบทบาทเป็นผีในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง The Ring Virus (1999) จากนั้นไม่นาน เธอก็เริ่มโดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากภาพยนตร์ Sympathy for Mr. Vengeance (2002) ของผู้กำกับปาร์ค ชานวุค (Memories of Murder (2003), Snowpiercer (2013)) และ The Host (2006) ของผู้กำกับบอง จุน โฮ (Oldboy (2003), Stoker (2013)) จนไปเข้าตาสองพี่น้องวาชอว์สกี้ ซึ่งอาจถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของเธอในฮอลลีวูด
แบดูนา มีผลงานออกมาเรื่อยๆ และแต่ละเรื่องก็มีบทบาทที่หลากหลาย หนึ่งในผลงานที่ประทับใจไม่รู้ลืมของเธอ มาจากการร่วมงานกับผู้กำกับชาวญี่ปุ่นในบทตุ๊กตายาง เธอไม่รังเกียจการโชว์ใบหน้าไร้เครื่องสำอางหรือร่างกายที่เปลือยเปล่า แบดูนาท้าทายตัวเองด้วยการแสดง และทุ่มเทพลังออกมาอย่างเต็มที่ เธอจึงสะกดสายตาใครๆ ได้อย่างอยู่หมัด
ภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องต่อไปนี้จะแนะนำแบดูนาให้คุณรู้จักได้เป็นอย่างดี
The Host (2006)
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของบองจุนโฮ จะกลายเป็นข้อถกเถียงใหญ่โตถึงความเหมาะสมในการเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธว่าภาพยนตร์ของเขาได้นำเสนอประเด็นใหญ่ๆ ในโลกทุนนิยม ที่บางอย่างก็โสมมเกินกว่าจะเหยียบไว้
The Host เป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์ลำดับที่สามของบองจุนโฮ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอสูรกลายพันธุ์และครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมีสภาพลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งความเป็นอยู่และความสัมพันธ์
เหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้นริมแม่น้ำฮัน ที่ที่ปู่ของเด็กหญิงฮุนเซียวเปิดร้านขายของชำอยู่ สัตว์ประหลาดโผล่ขึ้นมาจากแม่น้ำและเริ่มไล่กินผู้คนอย่างเอาเป็นเอาตาย กังดูรีบพาฮุนเซียวลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวหนีตาย แต่แล้วในจังหวะชุลมุนนั้นเอง ฮุนเซียวก็หลุดมือไปและตกอยู่ภายในเงื้อมมือของสัตว์ประหลาด เธอหายไปพร้อมๆ กับความตายของคนหลายคน แต่กังดูเชื่อว่าลูกสาวยังมีชีวิตอยู่
ดังนั้นคนในครอบครัวซึ่งประกอบไปด้วย แฮบอง นัมอิล และนัมจู (ซึ่งรับบทโดยแบดูนา) จึงต้องมาร่วมด้วยช่วยกันทวงคืนหลานสาวกลับมา เพราะไม่ว่าจะขอร้องผู้ที่มีอำนาจเท่าไรและอย่างไร เขาก็ไม่เหลียวแลหนึ่งชีวิตนี้เลย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังมัวทุ่มเทให้กับอย่างอื่นซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ด้วย
ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นและตบหน้าอเมริกาแบบไม่แคร์ใครหน้าไหน ถึงแม้ภายนอกจะดูเป็นภาพยนตร์ครอบครัวที่เกิดความขัดแย้ง ไม่ลงรอย และผิดใจกันจนประสานรอยร้าวแทบไม่ได้ แต่เบื้องลึกก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของสังคมและการเข้ามามีส่วนเอี่ยวของประเทศมหาอำนาจ ที่มักซุกซ่อนบางอย่างไว้ใต้ภาพลักษณ์อันดีงามนั้นเสมอ
Air Doll (2009)
ฮิโรคาสุ โคริเอดะ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่หลายคนถวายตัวเป็นแฟนเดนตาย เป็นคนช่างสังเกตถึงสิ่งรอบข้างและความเป็นไปรอบตัว ทั้งในสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ภาพยนตร์ของเขาจึงเต็มไปด้วยปรัชญาและความเรียบง่ายอันสมจริงสมจัง ซึ่งส่งผลให้คนดูสัมผัสได้ถึงความละมุนในทุกสิ่งที่เขาพยายามจะนำเสนอ ความว่างเปล่าอาจกลายเป็นความอบอุ่น และความอบอุ่นอาจกลายเป็นความว่างเปล่าได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ของโคริเอดะ
ตุ๊กตาอย่างคือสิ่งไม่มีชีวิตและหัวใจ แต่เมื่อวันหนึ่งปาฏิหาริย์เกิดขึ้น โคริเอดะก็ทำให้ทุกคนเชื่ออย่างสนิทใจโดยไม่ทักท้วงว่าตุ๊กตายางจะสามารถมีชีวิตขึ้นมาได้จริงๆ และโนโซมิคือชื่อของเธอ
ตุ๊กตายางนี้มีเจ้าของเป็นชายมีอายุ ฮิเดโอะซื้อโนโซมิมาเพื่อคลายเหงา แต่เขาก็ปฏิบัติกับเธออย่างเช่นมนุษย์คนหนึ่ง พาไปนั่งเล่นนอกบ้าน ชวนดูดาว นั่งกินข้าว พูดคุยทักทายด้วยเสมอ จนเมื่อโนโซมิเริ่มมีชีวิต มีเนื้อหนังคล้ายมนุษย์และสามารถสื่อสารได้ เธอพบกับสิ่งสวยงามอันแปลกใหม่และตัดสินใจก้าวออกจากบ้าน
โนโซมิค่อยๆ เรียนรู้ความเป็นมนุษย์และที่สำคัญเธอได้รู้จักความรัก จุนอิจิคือพนักงานหนุ่มที่ทำงานอยู่ร้านเช่าวิดีโอ และเป็นเขานี่เองที่ทำให้โนโซมิได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ เธอผู้ไม่มีหัวใจได้มีหัวใจแล้วในขณะนี้
แต่ความเป็นจริงอันสวยงามก็เริ่มมอดลง เมื่อโลกได้ทำให้เธอเห็นว่าแท้จริงแล้วชีวิตนั้นเป็นแบบไหน ความไม่สมบูรณ์ของเธอจะไม่ถูกเติมเต็ม และเธอก็เป็นแค่ของเทียมเท่านั้น สิ่งของที่เมื่อมีใหม่เข้ามาแทนที่ก็จะถูกลืม สิ่งของที่ถ้าทรุดโทรมก็จะถูกทิ้งไป และความไม่เข้าใจโลกก็จะทำร้ายเราทุกคน ซึ่งแน่นอนว่าโลกจะไม่มีวันให้เราเข้าใจมัน
Air Doll สะท้อนความโดดเดี่ยวและความเป็นคนเมืองออกมาอย่างเข้มข้น ท่ามกลางผู้คนมากมายแต่มนุษย์กลับมีช่องว่างในหัวใจไม่ต่างจากความกลวงเปล่าในตุ๊กตา ทุกบทสนทนาของตัวละครแทนที่สัญลักษณ์และคำถามมากมายต่อชีวิต ทั้งความไม่สมบูรณ์ มนุษย์และลมหายใจ ไม่ว่าใครดูก็จะสามารถมองเห็นได้ เพราะความเปลี่ยวเหงานั้นเป็นสากล
Cloud Atlas (2012)
“กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นคืนสนอง” คงเป็นประโยคที่ใช้ได้กับภาพยนตร์เรื่องนี้
Cloud Atlas ผลงานจากสามผู้กำกับมากฝีมืออย่างพี่น้องวาชอว์สกี้ และทอม ไทเควอร์ ที่มีชื่อเสียงติดลมบนมานานแล้วจากผลงานอย่าง The Matrix (1999) และ Run Lola Run (1998) สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ พวกเขาดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกัน และทุ่มทุนสร้างกว่าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
Cloud Atlas เป็นภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องสลับไปมา ซึ่งคงจะไม่สับสนเท่าไร หากช่วงเวลาในการเล่ามีเพียงอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตเข้าไปด้วย แต่เรื่องนี้ช่วงเวลาถูกแบ่งออกเป็น 6 ช่วง จนบางคนตั้งตัวไม่ติดและยอมแพ้ไป แต่หากใครดูจนจบจะทราบว่านี่คือความสนุกของการร้อยเรียงทุกชีวิตให้เป็นหนึ่ง เพราะทั้ง 6 เรื่องจะสอดประสานและเชื่อมโยงกัน ไล่มาตั้งแต่ยุคสมัยของการล่าอาณานิคมที่มีการค้าทาส ไปจนถึงยุคที่เจริญรุ่งเรืองจนขีดสุด ซึ่งมีการโคลนนิ่งมาแทนที่แรงงานมนุษย์ และจวบจนวาระสุดท้ายของโลกในยุคที่อารยธรรมล่มสลาย
ทั้งหมดคือการเวียนว่ายตายเกิด และการทำผิดซ้ำซากของมนุษย์ ทุกอย่างเกิดขึ้นและดับสูญ ซ้ำไปซ้ำมา ไม่ต่างจากวงแหวนโมบิอุส ความรุนแรงจะยังคงอยู่เรื่อยไป นั่นเพราะสังคมยังมีการกดขี่และแบ่งชนชั้น ความเหลื่อมล้ำจะนำมาซึ่งคำถามและการใฝ่หาความเท่าเทียม ไม่ว่าจะกับมนุษย์แท้หรือมนุษย์เทียม มนุษย์เลือกที่จะปฏิบัติได้ แต่ทำไมเรายังเลือกที่จะทำร้ายกัน…
A Girl at My Door (2014)
ภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับหญิงชาวเกาหลี จูลีจัง ที่ได้ลีชางดง ผู้กำกับมือเอกจาก Oasis (2002) Secret Sunshine (2007) และ Poetry (2010) มาร่วมเป็นโปรดิวเซอร์
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการกลับมาทำงานที่เกาหลีใต้อีกครั้งของแบดูนา หลังจากห่างหายไปนานถึงสองปี และการแสดงครั้งนี้ยังส่งผลให้เธอได้รับรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมจากเวที Asian Film Awards ครั้งที่ 9 อีกด้วย
A Girl at My Door เป็นภาพยนตร์ที่มีความหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม บอกเล่าความรุนแรงในครอบครัว การโดนกดขี่ข่มเหงโดยที่ไม่มีทางหนีไปทางไหน รวมถึงการปล่อยผ่านความรุนแรงนั้นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่หยิบยื่นความช่วยเหลือหรือแม้แต่เห็นอกเห็นใจ คล้ายอาชญากรรมที่มีส่วนรู้เห็น เพียงแต่ไม่ได้ลงมือ
ในชนบทอันไกลห่าง ความแปลกหน้าอาจนำมาซึ่งเรื่องซุบซิบนินทาและการตีความเอาเองว่าใครเป็นคนแบบไหน และนี่คือสิ่งที่ลียองนัมต้องเจอ สารวัตรตำรวจสาว (รับบทโดยแบดูนา) ย้ายจากกรุงโซลมาประจำการในหมู่บ้านติดทะเลแห่งหนึ่ง เธอพบกับซอลโดฮี เด็กสาววัย 14 ปีคนหนึ่งโดยบังเอิญ และเข้าไปพัวพันกับเธออย่างไม่คาดคิด เนื่องจากหลังได้พบโดฮีไม่นาน ยองนัมก็ได้รู้ว่าโดฮีต้องทนอยู่กับพ่อเลี้ยงและยายที่คอยแต่จะว่าร้ายและทุบตีเธอ จึงรับโดฮีมาดูแลชั่วคราว
แต่เมื่อโดฮีได้รับความอบอุ่นและรู้สึกปลอดภัยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เธอจึงติดยองนัมแบบไม่ไปไหน และถึงขั้นแสดงออกมาอย่างรุนแรงมากเกินความรักฉันแม่หรือพี่สาว จนยองนัมตกเป็นเป้าสายตาจากคนทั้งหมู่บ้าน เพราะความจริงที่ว่าเธอรักเพศเดียวกันถูกเปิดเผย
เธอถูกเพ่งเล็งถึงเบื้องลึกเบื้องหลังในการรับโดฮีมาเลี้ยงดู เหตุการณ์ทุกอย่างเลวร้ายลงเรื่อยๆ สถานการณ์ทั้งหลายบานปลายไปกันใหญ่ หัวใจเดียงสาของเด็กหญิงนั้นแปดเปื้อนและผิดรูปผิดรอย คำพูดและการกระทำของเธอจึงชวนเศร้าและสลด เพราะผลจากการกระทำของผู้ใหญ่
The Tunnel (2016)
The Tunnel ภาพยนตร์เกาหลีที่นำเสนอและเสียดสีในหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องราวเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องราวใหญ่โต เช่น การทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย การทำงานและนำเสนอข่าวของผู้สื่อข่าว การเพิกเฉยหรือช่วยเหลือของรัฐบาล การหยิบฉวบผลประโยชน์จากนักการเมืองบางคย ความละเลยในหน้าที่การงาน และความไม่รับผิดชอบของหลายๆ ฝ่าย
การเดินทางกลับบ้านเพื่อไปฉลองวันเกิดลูกสาวของลีจองซูต้องพังทลายลง เพราะในระหว่างทางนั้น อยู่ๆ อุโมงค์ที่สร้างเพื่อใช้เดินทางจากเมืองฮาโดไปกรุงโซลก็ถล่มลงมา
โชคยังดีอยู่บ้างที่เขาไม่เสียชีวิตในทันที แต่ก็ต้องมาติดอยู่ภายใต้อุโมงค์ที่พังลงมานี้ เขาติดต่อกับทีมกู้ภัยได้และทำตามคำแนะนำต่างๆ ในการยืดชีวิตที่ไม่มีทางออก น้ำและอาหารซึ่งมีไม่มากมาย แต่ต้องจุนเจือไปให้ได้อย่างน้อยๆ เป็นสัปดาห์ เพราะการช่วยเหลือเขาไม่ง่ายนัก และอากาศภายนอกก็เลวร้ายไม่แพ้กัน ท่ามกลางความหนาวเย็นทำให้ทุกฝ่ายทำงานไปอย่างยากลำบาก
เหตุการณ์ยิ่งทรุดลงไปอีกเมื่อทีมช่วยเหลือต้องเสียชีวิตจากการดำเนินการช่วยชีวิตจองซู หลายประเด็นถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและความคุ้มได้คุ้มเสียในการช่วยเหลือคนหนึ่งคน เหตุการณ์อันตึงเครียดนี้ผลักไสให้ภรรยาและลูกของจองซูกลายเป็นผู้ต้องรับผิดชอบทั้งความรู้สึกและความเกลียดชังที่ทำให้ชีวิตทีมช่วยเหลือต้องมาตายที่ถาโถมและซัดลงมาใส่ทั้งคู่
Tags: ภาพยนตร์, นักแสดง, เกาหลีใต้, Bae Doona, แบดูนา