จากเหตุการณ์ประท้วงปิดสนามบินในฮ่องกงเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความต่อเนื่องของการประท้วงที่เริ่มลุกลามขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันที่ 9 มิถุนายนที่เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ มีผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งล้านคนที่ไม่เห็นด้วยกับ ‘ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน’ ซึ่งจะทำให้ต้องส่งผู้ต้องหาในบางคดีไปอยู่ภายใต้การดูแลของจีน และแม้ว่าผู้ชุมนุมชาวฮ่องกงจะบุกล้อมรัฐสภาไว้จนทำให้รัฐสภายกเลิกการพิจารณากฎหมายนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน แต่การประท้วงดังกล่าวก็ยังไม่เสร็จสิ้นและมีทีท่าว่าจะยาวนานขึ้นเรื่อยๆ
ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเสวนาวิชาการ “ฮ่องกง ทำไมต้องประท้วง” ขึ้นในวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา
วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปูพื้นถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ฝังรากลึกและเป็นชนวนของการลุกฮือครั้งนี้ว่า การเกิดขึ้นของรัฐชาติและกระบวนการชาตินิยมในช่วงล่าอาณานิคมทำให้ฮ่องกงอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษยาวนานจนถึงปี 1997 ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีรัฐชาติหรือเอกราชของตัวเองไปนานแล้ว และเมื่อฮ่องกงย้ายมาอยู่ใต้อำนาจการปกครองของจีนด้วยแนวคิดที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศสองระบบ” ซึ่งก็คือการที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของจีน โดยใช้ระบบการปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความย้อนแย้งตรงที่ฮ่องกงเองเป็นเมืองที่สุดจะทุนนิยม และมาอยู่ภายใต้รัฐบาลระบอบคอมมิวนิสต์ที่เข้าสู่ระบบตลาดแล้วของจีน
อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสริมว่า นวัตกรรมหนึ่งประเทศสองระบบนี้นำมาสู่ความขัดแย้งทางกฎหมายของฮ่องกง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการประท้วงครั้งนี้ ก่อนปี 1997 ที่ฮ่องกงยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ฮ่องกงก็ใช้กฎหมายเช่นเดียวกับอังกฤษ นั่นคือ คนที่ทำผิดจากประเทศอื่น เมื่อเข้ามาในฮ่องกงจะถูกส่งกลับไปยังประเทศ แต่เมื่อฮ่องกงเข้าร่วมกับจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เปลี่ยนเงื่อนไขว่า จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปให้ประเทศนั้นๆ ได้ ก็ต่อเมื่อมีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศนั้น และเนื่องจากแนวคิดหนึ่งประเทศสองระบบ จีนจึงไม่สามารถเรียกร้องให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายกลับไปยังประเทศของตนได้
จากคดีฆ่าแฟนในไต้หวัน บานปลายสู่ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน
อาร์มกล่าวว่า เรื่องมาเป็นประเด็นเมื่อเกิดคดีหนึ่งเมื่อต้นปี 2019 ที่วัยรุ่นฮ่องกงถูกกล่าวหาว่าฆ่าแฟนที่ไต้หวันหลังจากไปเที่ยวด้วยกัน จึงหนีกลับมาที่ฮ่องกง แต่ศาลฮ่องกงไม่มีเขตอำนาจพิจารณา และไต้หวันก็ไม่สามารถเรียกตัวผู้ร้ายกลับได้เช่นกัน
ด้วยเหตุผลที่ว่า ในทางเทคนิคแล้ว ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน นักกฎหมายฮ่องกงจึงใช้โอกาสนี้เสนอให้แก้กฎหมายผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกง ด้วยการให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนแบบพิจารณาเป็นคดีๆ ไป (case by case) แต่ชาวฮ่องกงขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีน จึงรวมตัวกันประท้วงเพื่อไม่ให้รัฐบาลผ่านกฎหมายดังกล่าว พวกเขามองว่าระบบศาลของจีนไม่ได้เป็นอิสระ แต่อยู่ใต้แกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ หากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงน่ากังวลว่า ผู้ที่เป็นศัตรูของรัฐบาลจีนอาจถูกเรียกตัวกลับประเทศได้
ในเรื่องนี้ นักวิชาการหลายคนคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะมีหลายประเทศที่ทำสัญญากับรัฐบาลจีนและไม่เกิดปัญหาใดๆ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ออสเตรเลีย มีความพยายามเซ็นสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับจีน แต่ไม่สำเร็จ เพราะไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลจีนและกลัวจะถูกนำไปใช้ในเรื่องการเมือง
สัญญาเรื่องเลือกตั้งอิสระที่ถูกบิดพลิ้ว หนึ่งในสาเหตุทึ่ฮ่องกงไม่เชื่อในจีน
อาร์ม ตั้งนิรันดร ยังให้ความเห็นว่า ไม่น่าแปลกใจที่ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของจีนในตัวชาวฮ่องกงจะลดน้อยลง เพราะผู้บริหารสูงสุดของเขตฮ่องกงยังคงอยู่ใต้อำนาจของปักกิ่ง และหลายคนยังกังวลว่า เมื่อแก้กฎหมายให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแบบรายกรณีแล้ว ทั้งศาลฮ่องกงและผู้บริหารสูงสุดจะส่งผู้ร้ายกลับข้ามแดนไปทุกคนไม่มีข้อยกเว้นตามคำร้องขอของจีน ซึ่งการขาดความเชื่อมั่นนี้ ส่วนหนึ่งมีผลจากความไม่ชัดเจนของสัญญา 50 ปี ที่รัฐบาลจีนได้ให้ไว้กับฮ่องกงว่า ฮ่องกงจะอยู่ใต้การดูแลของจีนแผ่นดินใหญ่แบบหนึ่งประเทศสองระบบเป็นเวลา 50 ปี แต่หลังจาก 50 ปีนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับฮ่องกงก็ไม่มีใครทราบได้
อีกทั้งคำสัญญาที่จีนมอบให้ฮ่องกง ว่าจะให้ชาวฮ่องกงได้เลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดของเขตฮ่องกงอย่างอิสระ แต่คำสัญญานี้ก็ยังถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด และผู้บริหารสูงสุดของเขตฮ่องกงยังคงเลือกผ่านคณะกรรมการ 2,000 คน ที่มาจากปักกิ่ง
อาร์ม ตั้งนิรันดร ชี้ว่า แม้ฮ่องกงจะไม่เคยเลือกตั้งเพราะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ แต่ชาวฮ่องกงมีเสรีภาพค่อนข้างมาก มีทั้งการจัดตั้งกลุ่มผู้รักสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองเสรีภาพในสื่อสารมวลชน และมีอิสระในการประท้วงอย่างสงบ รวมถึงแสดงความคิดเห็นต่างๆ ได้ เพียงแค่ไม่มีการเลือกตั้ง แรงกดดันจากจีนจึงทำให้ชาวฮ่องกงลุกฮือขึ้นมาประท้วงในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากการประท้วงฮ่องกงเมื่อปี 2014 ที่ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนาน แต่ในครั้งนี้ พวกเขาเริ่มการประชุมแค่วันเสาร์ อาทิตย์ เพื่อไม่ให้ร่างกายทำงานหนักเกินไป และยังแบ่งหน้าที่ในกลุ่มผู้ประท้วงกันเป็นอย่างดี เช่น ถ้าถนัดด้านกฎหมายก็แจกใบปลิวคู่มือการชุมนุม หรือถนัดด้านพยาบาลก็คอยปฐมพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมที่ไม่มีใครควบคุมได้ เพราะไม่มีแกนนำให้เห็นอย่างชัดเจน
Tags: ฮ่องกง, จีน, การชุมนุม, ประท้วง, ส่งผู้ร้ายข้ามแดน