ในโลกยุคใหม่ ดูเหมือนว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีจะโฟกัสเรื่องซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ แต่หากมองในภาพกว้างแล้ว ฮาร์ดแวร์ยังเป็นตลาดที่บริษัทซอฟต์แวร์ทั้งหลายยังต้องจำตามอง

Google เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน จากแรกเริ่มมีที่มาจากการคิดค้นระบบค้นหาหรือ Search Engine แต่ก็ขยับขยายมาทางผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์มากขึ้น

เทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์มีมากมาย เริ่มต้นตั้งแต่ Internet of Things (IoT) จนถึงรถยนต์อัจฉริยะ ตัวอย่างของ IoT ที่เริ่มบุกตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ เห็นได้ชัดจากอุปกรณ์สมาร์ตโฮมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลำโพงอัจฉริยะ และระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะภายในบ้าน

แต่อีกเทรนด์หนึ่งที่มีหลายคนจับจ้องมานาน และดูเหมือนยังไม่มีใครตีโจทย์ได้แตก นั่นก็คือ เทรนด์ด้าน Augmented Reality (AR) หรือเทคโนโลยีที่ช่วยจำลองสภาพแวดล้อม ทำให้เห็นภาพเสริมเพิ่มเติมจากสิ่งที่ตาปกติคนเราเห็น

บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ต่างมองเห็นเทรนด์นี้ และกำลังซุ่มหาไอเดียสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ เพราะต่างก็หวังว่าจะได้เป็น First-mover advantage หรือเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่คิดค้นและผลิตนวัตกรรมที่สร้างแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพราะตัวอย่างในอดีตเห็นได้ชัดว่า ใครเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม บริษัทย่อมเติบโตอย่างมหาศาล เช่น แอปเปิลเป็นเจ้าของ iOS แพลตฟอร์ม เฟซบุ๊คเป็นแพลตฟอร์มสำหรับโซเชียลเน็ตเวิร์ค เป็นต้น

บริษัทยักษ์ใหญ่เจ้าแรกๆ ที่กระโดดลงมาใน Augmented Reality คือ กูเกิล (Google) กับผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ กูเกิลกลาส (Google Glass) ในปี 2013 ด้วยการออกแบบที่ล้ำยุคเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เมื่อห้าปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่า กูเกิลกลาส สามารถสร้างกระแสในวงการได้อย่างมาก คุณสมบัติที่กูเกิลใส่มาในผลิตภัณฑ์มีมากมาย เรียกได้ว่าเป็นแว่น AR ในฝันได้เลย ตั้งแต่มีกล้องที่สามารถถ่ายรูปหรือวิดีโอได้ มีจอโปรเจ็กเตอร์เล็กๆ สามารถให้ผู้ใช้มองเห็นข้อมูลหลังจากโต้ตอบกับกูเกิลกลาสผ่านเสียงพูด

 

 

หลังจากเปิดตัวกูเกิลกลาส ก็มีผลตอบรับที่หลากหลาย ส่วนใหญ่จะไปในทางต้องที่ปรับปรุงและพัฒนาอีกเยอะ เช่น แบตเตอรี่ที่ใช้งานได้เพียง 3-5 ชั่วโมง ความรู้สึกของคนรอบข้างที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดูแปลกแหวกแนวเกินไป และราคาที่ค่อนข้างแพง (1,500 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5 หมื่นบาท) สำหรับทั้งผู้ใช้และผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้กูเกิลกลาส ยังไม่สามารถครองตลาด AR ได้แม้ว่าจะเปิดตัวมานานแล้วก็ตาม

บริษัทยักษ์ใหญ่อีกเจ้าหนึ่งที่สนใจ AR เหมือนกัน นั่นก็คือ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ด้วยการเปิดตัวโฮโลเลนส์ (Hololens) ในปี 2016 ผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบให้มีขีดความสามารถสูงสุด อัดแน่นไปด้วยคุณสมบัติและระบบเซนเซอร์ต่างๆ มากมาย เช่นกล้องที่ถ่ายภาพและอัดวิดีโอแบบความละเอียดสูง กล้องที่วัดมิติความลึกได้ ไปจนถึงไมโครโฟนสี่ตัว เพื่อให้มีความสมจริงของคุณภาพไฟล์วิดีโอที่อัด

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างสูง (เริ่มต้นที่ 3,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนบาท) แน่นอนว่า โฮโลเลนส์ไม่ใช่อุปกรณ์สำหรับตลาดผู้บริโภคทั่วไป แต่ไมโครซอฟท์พยายามเน้นที่กลุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีความพร้อมและต้องการแพลตฟอร์มที่มีฟีเจอร์หลากหลายแบบ

 

 

บริษัทต่อไปที่กระโดดเข้ามาในเทรนด์ของ AR คือ สแนป (Snap) หรือ สแนปแชท (Snapchat) โซเชียลเน็ตเวิร์คที่โด่งดังมาจากการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับการแชทโดยไม่เก็บข้อความย้อนหลังของผู้ใช้ อีกทั้งยังครองใจตลาดวัยรุ่นด้วยการเน้นให้ผู้ใช้ถ่ายวิดีโอแปลกๆ แบบไม่ต้องสนใจภาพลักษณ์มากนัก แล้วส่งไปให้กลุ่มเพื่อนต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มของวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียลที่ผู้ใหญ่งงไปตามๆ กัน

สแนปต่อยอดแผนธุรกิจมาเน้นเรื่องฮาร์ดแวร์ด้วยการออกผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ ‘สเปคทาเคิล’ (Spectacles) ที่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2016 ด้วยแนวความคิดที่แตกต่างจากกูเกิลและไมโครซอฟท์อย่างสิ้นเชิง อีวาน สปีเกล (Evan Spiegel) ซีอีโอหนุ่มอายุเพียง 28 ปี แต่สามารถนำบริษัทออก IPO ที่สหรัฐฯ ได้ มีแนวความคิดว่า สเปคทาเคิลควรจะเพิ่มสีสันให้กับผู้ใช้แอปสแนปแชทอยู่แล้ว

จากไอเดียตั้งต้น สู่ผลที่สะท้อนออกมาในรูปลักษณ์การออกแบบและวิธีโฆษณาที่ ‘ร่าเริง’ ให้เหมาะกับกระแสวัยรุ่น เรียกได้ว่าสร้างเสียงฮือฮาให้กับวงการเทคโนโลยีได้อย่างดี

 

 

สเปคทาเคิล มีลักษณะคล้ายแว่นกันแดด แต่มีกล้องที่แอบติดอยู่ที่มุมขวาของแว่น เมื่อผู้ใช้ใส่แว่นและต้องการจะถ่ายวิดีโอก็สามารถกดปุ่มที่อยู่ด้านซ้ายได้ วิดีโอเหล่านี้จะเก็บไว้ที่แว่นและส่งต่อไปยังแอปสแนปแชท หลังจากนั้น ผู้ใช้ก็สามารถแชร์ไฟล์วิดีโอเหล่านี้กับเพื่อนๆ ได้

สแนปพยายามโฟกัสที่ฟีเจอร์ง่ายๆ ไม่กี่ฟีเจอร์ เมื่อเทียบกับกูเกิลกลาสหรือไมโครซอฟท์ โฮโลเลนส์ แต่ถึงกระนั้น ยอดขายหรือจำนวนคนใช้สเปคทาเคิลก็ไม่ได้เติบโตอย่างที่สแนปคาดหวังไว้ จนหลายคนคิดว่า สปีเกลน่าจะยอมถอยออกจากตลาดฮาร์ดแวร์ แต่ข่าวล่าสุดกลับเป็นตรงกันข้าม สแนปปล่อยสเปคทาเคิลเวอร์ชันสองออกมา หน้าตายังคล้ายแบบเดิม แม้สีสันไม่โฉบเฉี่ยวเหมือนเวอร์ชันแรก แต่ก็มากับฟีเจอร์ที่น่าสนใจ เช่น สามารถกันน้ำได้ ถ่ายภาพและวิดีโอได้ มีน้ำหนักเบาลงกว่าแต่ก่อน เหมาะสำหรับการสวมใส่ ในราคา 150 เหรียญสหรัฐ หรือราว 5 พันบาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นราคาที่น่าจะเจาะตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้

จากบริษัทไอทีรุ่นใหม่ที่กระโดดลงมาชิมลางเทคโนโลยี AR อีกบริษัทหนึ่งที่น่าสนใจคือ อินเทล (Intel) ภาพลักษณ์ของคนทั่วไปคงรู้อยู่แล้วว่าธุรกิจของอินเทลคือการทำชิปคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์แล็บท็อปหรือเครื่องเซิรฟ์เวอร์ ด้วยโฟกัสของอินเทลที่พยายามจะ ‘เร่ง’ ความเร็วของชิป ทำให้มันประมวลผลได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และทำให้ธุรกิจของอินเทลโตขึ้นมากในหลายปีที่ผ่านมา

แต่ Intel เริ่มเห็นแล้วว่า ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบชิปเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้น ไม่สามารถออกชิปที่เร็วขึ้นได้มากอย่างแต่ก่อน ผู้บริหารจึงมองหาธุรกิจอื่นๆ เพื่อมาเสริมเติมยอดรายได้ให้เติบโตต่อไป อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (Wearable Device) อย่าง AR เป็นหนึ่งในตลาดที่อินเทลเล็งไว้ด้วยความหวังว่า จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์บางอย่างที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อินเทลเปิดตัว Vaunt ด้วยรูปลักษณ์หน้าตาที่เหมือนแว่นสายตาธรรมดาและไม่ได้มีกล้องติดอยู่ที่แว่นเหมือนผลิตภัณฑ์ AR จากบริษัทอื่นๆ ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ใช้ให้ความสนใจและซื้อไปลองใช้ได้ไม่ยาก คุณสมบัติหลักของ Vaunt คือ มีโปรเจ็กเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถแสดงข้อความต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ ข้อความจากถูกแสดงผลอยู่บริเวณขอบแว่นและเป็นข้อความที่สำคัญๆ เท่านั้นเพื่อไม่ให้น่ารำคาญสำหรับผู้ใช้

 

(ภาพจาก https://thealtweb.com/intels-smart-glasses-supposedly-normal-far-cry-google-glass )

 

ด้วยแนวความคิดที่น่าสนใจนี้ หลายคนจับตาว่า หากอินเทลประกาศขายหรือให้นักพัฒนาได้ร่วมคิดแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์ม Vaunt น่าจะทำให้เกิดกระแสของ AR ต่อผู้บริโภคในวงกว้างได้

แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่อินเทลกำลังพัฒนาต้องใช้ระยะเวลาและเงินลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้สุดท้ายผู้บริหารของอินเทลตัดสินใจยุบแผนก New Devices ที่รับผิดชอบ Wearable Device นี้ไป

จากตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงผลิตภัณฑ์จากองค์กรใหญ่ ยังไม่นับรวมสตาร์ตอัปหลายเจ้าที่พยายามสร้างแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ด้าน AR เพื่อสร้างตลาดใหม่นี้

แต่ละบริษัทต่างเผชิญปัญหาแตกต่างหลากหลายกันไป ทั้งข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ด้านแผนกลยุทธ์ที่จะเลือกเจาะตลาดกลุ่มไหนก่อน ซึ่งสามารถสื่อออกมาจากฟีเจอร์และแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์ ที่บางทีอาจล้ำหน้าเกินความต้องการของผู้ใช้ สุดท้ายคือความพร้อมขององค์กรที่จะกล้าลงทุนในเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ

ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญ ที่หากผสมผสานกันอย่างลงตัวจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ ไอเดียหรือกระแสเทรนด์ต่างๆ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น คงต้องรอดูกันต่อไปว่าใครสามารถแก้โจทย์ สามารถสร้างแพลตฟอร์ม AR ที่ตอบโจทย์ได้ในที่สุด

Tags: , , , , , , , , , ,