คำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.) ปลด 3 เจ้าคณะจังหวัด ประกอบด้วย พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดประชานิยม เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และพระราชปริยัติสุนทร (อมรภิรักษ์ ปสนฺโน) โดยไม่บอกสาเหตุ สั่นสะเทือนทั้งวงการสงฆ์ หลายจังหวัดล่ารายชื่อนับแสน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เกิดปรากฏการณ์ ‘พระ’ ให้กำลังใจกัน ไม่ยอมรับมติจากมหาเถรสมาคม
แม้ว่ากรรมการมหาเถรสมาคมจะมี ‘สมเด็จพระสังฆราช’ เป็นประธาน และพระราชบัญญัติสงฆ์ 2505 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2561 จะกำหนดให้เป็น ‘พระราชอำนาจ’ ในการแต่งตั้ง-เปลี่ยนแปลงสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ แต่ก็ดูเหมือนเรื่องดังกล่าวจะไม่สามารถหยุดความเคลื่อนไหวของพระ-ฆราวาสทั่วประเทศได้
ยังไม่ทันพ้นสัปดาห์ก็ปรากฏเรื่องใหม่ เมื่อ มส. ออกประกาศห้ามพระสงฆ์เรียนหนังสือ – สอบ เหมือนกับฆราวาส หากแต่ให้เรียนเฉพาะหลักสูตรสงฆ์เท่านั้น
The Momentum ได้แลกเปลี่ยนทัศนะในร่มกาสาวพัสตร์ กับ ‘ครูใหญ่ขอนแก่น’ – อรรถพล บัวพัฒน์ แกนนำกลุ่มราษฎร หนึ่งในสมาชิก ‘คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่’ โดยเริ่มตั้งแต่ความสำคัญของเจ้าคณะจังหวัด ไปจนถึงการศึกษาในวงการสงฆ์ไทย
อรรถพลเริ่มต้นจากการอธิบายความสำคัญของ ‘เจ้าคณะจังหวัด’ ว่า เจ้าคณะฯ จะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายธรรมยุตกับฝ่ายมหานิกาย ซึ่งจะปกครองสงฆ์แต่ละนิกายแตกต่างกันออกไป แต่หลายคนอาจรู้สึกว่าประเทศไทยมีพุทธศาสนาเพียงนิกายเดียวเพราะถือพระธรรมวินัยเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วสงฆ์ทั้งสองนิกายไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น การจำพรรษา การบวช
“เท่าที่จำได้ มีการบวชพร้อมกันสองนิกายเพียงครั้งเดียวคือ กรณีของพระยาพหลพลพยุหเสนาเท่านั้น หรือในกรณีการบวชของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ แม้ว่าจะมีพิธีบวชสองนิกาย แต่เมื่อเข้าจำวัดที่วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ต้องบวชใหม่อีกครั้ง นั่นหมายถึงสังฆกรรมก่อนหน้าเป็นโมฆะ”
ดังนั้น หากมองเป็นโครงสร้าง เจ้าคณะจังหวัดจึงมีอำนาจหลายส่วน เช่น การออกคำสั่งต่างๆ ประกาศภายในจังหวัด ถือเป็นอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนอำนาจบริหารคือสามารถดำเนินนโยบายศาสนาในจังหวัดได้ อำนาจตุลาการคือการตัดสินอธิกรณ์ความผิด ซึ่งทุกอย่างรวมอยู่ที่เจ้าคณะจังหวัด และมีการปกครองเป็นทอดๆ ไป เช่น เจ้าคณะจังหวัดปกครองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะอำเภอปกครองเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะตำบลปกครองเจ้าอาวาส การปกครองสงฆ์ลอกเลียนแบบมาจากการปกครองแบบมหาดไทย เพราะฉะนั้นจึงแปลความอีกอย่างได้ว่า อำนาจอธิปไตยทั้งหมดอยู่ในมือเจ้าคณะจังหวัด
“หากให้เปรียบเทียบว่าทำไมตำแหน่งนี้ถึงสำคัญ เป็นเพราะตำแหน่งการปกครองไม่แตกต่างจากผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากอำนาจในการปกครองแล้ว ยังมีลาภสักการะด้วยคือ ความนิยมศรัทธาของประชาชนหรือความนิยมศรัทธาในพระสงฆ์เอง ซึ่งตรงนี้ตอบไม่ได้ว่าทำไมพระสงฆ์ถึงอยากเป็นกัน แต่คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่อยากยกเลิก”
ในความเห็นของอรรถพล เหตุการณ์ประท้วงและลุกฮือของสงฆ์ครั้งนี้ไม่สามารถสะท้อนอะไรได้เลย ทั้งหมดเป็นเพียงความล้มเหลวของระบอบการปกครอง ที่ไม่ยอมแยกอำนาจรัฐออกจากศาสนา
มหาเถรสมาคมเป็นอำนาจรัฐ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นอำนาจรัฐ ‘พระราชดำริ’ ที่บรรจุไว้ในกฎหมายก็เป็นอำนาจรัฐ รวมถึงเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะตำบล แม้แต่ราชาคณะก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ สงฆ์ไทยจึงปกครองโดยการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งถือว่าขัดกับพระธรรมวินัยที่บอกว่าไม่ให้สงฆ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
“ถ้าเราไม่แยกรัฐออกจากศาสนา ในที่นี้ หมายถึงทุกศาสนาไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธ หรืออย่างน้อยรักษาอำนาจรัฐกับศาสนา ให้รัฐมีอำนาจน้อยกว่านี้ โดยให้ศาสนาจัดการตัวเองมากขึ้น ถ้าไม่แก้ตรงนี้ เราก็ไม่สามารถหลุดจากวังวนนี้ได้
“หลายคนอาจถามว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่จะทำอะไรไหม คำตอบคือไม่ เพราะหากเราทำ หมายถึงเรายอมรับการมีอยู่ ดำรงอยู่ต่อไปของระบบนี้ มันไม่ใช่การต่อสู้เรื่องโครงสร้าง แต่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นมาอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของครูบาศรีวิชัย หลวงปู่วัดพระแท่นบ้านแดง วัดพระธรรมกาย หรือกรณี 2 พส. ก่อนหน้านี้ ล้วนเป็นเพียงภาพสะท้อนโครงสร้างอำนาจที่อยู่เหนือศาสนา ดังนั้นพวกผมจึงจะไม่วิจารณ์ว่าเป็นธรรมหรือไม่ ไม่สนใจสารัตถะเรื่องนี้ ตราบใดที่โครงสร้างนี้ยังอยู่ จะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ”
ส่วนประเด็น ‘พระราชอำนาจ’ ในการแต่งตั้ง ซึ่งมีการพูดถึงตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ครูใหญ่ขอนแก่น บอกว่า หากถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับพระราชอำนาจไหมก็ขอตอบว่า The king can do no wrong because The king can do nothing. กษัตริย์ถูกฟ้องร้องไม่ได้เพราะถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าจะบอกว่ากษัตริย์ไม่มีความผิด เราก็ต้องบอกว่ากษัตริย์ต้องไม่มีพระราชอำนาจ
“เพราะทางมหาเถรสมาคมก็ออกมาพูดเองว่าไม่รู้ไม่เห็นใครชงเรื่องนี้มา เรื่องนี้ไม่สามารถหาต้นสายปลายเหตุได้ ตราบใดที่กฎหมายยังมอบอำนาจให้กษัตริย์อยู่ หรือแม้แต่ให้อำนาจกับรัฐ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เรื่องนี้จะถูกตั้งคำถามและระคายเคืองพระยุคลบาท ถ้าไม่อยากให้ระคายเคืองถึงเบื้องพระยุคลบาทหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องเอาพระราชอำนาจนี้ออกไปทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย แล้วพระมหากษัตริย์จึงจะลอยตัวเหนือปัญหา”
ส่วนกรณีที่มีพระหรือฆราวาสออกมาประท้วงคำสั่งมหาเถรสมาคม อรรถพลก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า แล้ววันที่มีการแก้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เมื่อปี 2561 หรือก่อนหน้านั้น วันนั้น คนกลุ่มนี้ไปอยู่ที่ไหนกันหมด
“ทำไมตอนมีกระบวนการแก้ไขบังคับออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกลับเงียบกันหมด หรือตอนนั้นกำลังเพ้อเจ้อว่ากลุ่มตัวเองเป็นผู้สูงส่งไม่ยุ่งการเมืองใดๆ แต่ขณะเดียวกัน กลับรับเอาพระราชอำนาจ พระราชบัญญัติสงฆ์ ยอมรับสมณศักดิ์ รับตำแหน่งการปกครองทางสงฆ์ที่รัฐเป็นคนแต่งตั้ง สิ่งนี้ปฏิเสธได้หรือไม่ว่าเรื่องของสงฆ์ไม่เกี่ยวกับการเมือง”
ส่วนคำสั่งล่าสุด ที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มส. ออกคำสั่งห้ามไม่ให้พระสงฆ์และเณรเล่าเรียนเหมือนประชาชนทั่วไปนั้น อรรถพลมองว่า พระสงฆ์ก็คือ ‘พลเมือง’
“สิ่งนี้มันเหมือนกับคำถามว่าพระสงฆ์ควรมีสิทธิ์เลือกตั้งไหม ฆราวาสบางส่วนอาจมีอคติ หรือคิดว่าสงฆ์ที่ยุ่งการเมืองไม่น่านับถือ ดังนั้นพวกท่านก็ไม่ต้องนับถือ ให้สิทธิพระสงฆ์ว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ใช้ สงฆ์ไหนที่มองว่าไม่ควรยุ่ง ก็ไม่ต้องใช้
“ที่สำคัญคือสถานะสงฆ์เป็นสถานะไม่ถาวร ลาออกได้ ลาสิกขาได้ ตัดสินใจได้ว่าจะอยู่ต่อหรือจะไป มันเป็นเพียงสถานะชั่วคราว ลองนึกภาพว่า บางคนอาจเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ต้องตัดสินใจบวชระหว่างเรียน ดังนั้นไม่มีสิทธิ์มาเรียนร่วมกับคนทั่วไปเลยหรือ”
หรือหากพูดในแนวคิดเชิงศาสนา ผู้ใดเห็นโลก ผู้นั้นเห็นธรรม การเข้าใจโลกก็คือการเข้าใจธรรมในแบบหนึ่ง การที่รัฐออกกฎมาแบบนี้จึงเหมือนต้องการควบคุมสงฆ์ให้ ‘เชื่อง’ และมีโลกทัศน์ที่ ‘แคบ’ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ จำกัดสิทธิสงฆ์ไม่ให้เข้าถึงโลกทัศน์ที่รัฐ ให้อยู่ในโลกทัศน์ที่รัฐศาสนากำหนดเท่านั้น
“ส่วนบทลงโทษที่สงฆ์-เณรใด ฝ่าฝืน ให้ขับออกจากวัด นี่คือกลไกที่ใช้กำจัด ลองนึกภาพว่าถ้าเราเป็นชาวบ้านธรรมดาในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านไม่มีสิทธิ์ไล่เราออกจากบ้านได้ ดังนั้นสงฆ์จึงถูกบีบให้มีทางเลือกน้อยที่สุด เพื่อการควบคุม ผมมองว่า ถ้าพระสงฆ์ไม่ตื่นรู้ว่าตัวเองกำลังถูกควบคุมอยู่ หรือบางคนคิดว่าตัวเองมีเสรีภาพทั้งๆ ที่ถูกควบคุม บางคนพึงพอใจกับเสรีภาพที่ถูกควบคุมด้วยซ้ำ พระสงฆ์จะไม่อาจหลุดจากวังวนที่ถูกทำให้เชื่องและรับใช้รัฐต่อไปได้ ถ้าขาดการตื่นรู้”
ภาพ: อรรถพล บัวพัฒน์