เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวฮือฮาในโลกศิลปะอีกครั้ง เมื่อผลงานศิลปะดิจิทัลในรูปของ NFT (Non-fungible token) รูปสี่เหลี่ยมสีเทาขนาดจิ๋วที่มีชื่อว่า The Pixel ถูกประมูลขายไปในการจัดประมูลของ Sotheby’s ด้วยราคา 1.36 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย อีริค ยัง (Eric Young) นักลงทุนคริปโตและนักสะสมศิลปะดิจิทัล หลังจากการสู้ราคากับนักประมูลฝ่ายตรงข้ามยาวนานถึง 90 นาที ทวีตในบัญชีส่วนตัวของเขาหลังจากประมูลผลงานชิ้นนี้มาได้ว่า
“ผลงาน The Pixel ตราตรึงใจผมมาก่อนหน้านี้หลายวันแล้ว หลังจากนี้ประวัติศาสตร์จะสะท้อนช่วงเวลานี้ออกมาเช่นไร ผลงานชิ้นนี้และตัวผมจะถูกจดจําอย่างไรบ้าง”
The Pixel เป็นผลงานศิลปะ NFT ของศิลปินดิจิทัลนิรนาม ผู้มีฉายาว่า Pak (ที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นใครกันแน่) มันเป็นภาพสี่เหลี่ยมสีเทาธรรมดาๆ ที่มีขนาดเพียง 1 พิกเซล หรือแค่เพียงจุดเดียวของหน่วยพื้นฐานของจุดภาพบนจอแสดงผลในอุปกรณ์แสดงภาพอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นงานศิลปะที่นําเสนอความเรียบง่าย ลดทอนรายละเอียดจนเหลือ ‘น้อย’ ที่สุดในโลกดิจิทัลเลยก็ว่าได้
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานศิลปะดิจิทัลที่ถูกขายไปในการประมูลครั้งนั้นที่มีมูลค่ารวมถึง 16.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ความจริง การที่สี่เหลี่ยมธรรมดาๆ กลายเป็นผลงานศิลปะที่มีมูลค่าแพงมหาศาลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการศิลปะแต่อย่างใด เพราะเมื่อ 100 ปีก่อนหน้านี้ก็มีภาพวาดสี่เหลี่ยมสีดําสีดําธรรมดาๆ อันเรียบง่ายที่สุดภาพหนึ่ง กลายเป็นผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสูงค่าที่สุดที่ชิ้นหนึ่งหนึ่งในโลกมาแล้วเช่นกัน ภาพวาดภาพนั้นมีชื่อว่า The Black Square (1915)
The Black Square เป็นผลงานของ คาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) ศิลปินหัวก้าวหน้า (Avant-garde) ชาวรัสเซีย ผู้บุกเบิกผลงานที่ส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของศิลปะไร้รูปลักษณ์ (Non-objective art) และศิลปะนามธรรม (Abstract art) ในศตวรรษที่ 20
มาเลวิชวาดภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดําภาพแรกขึ้นในปี 1915 ภาพวาดนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนของพัฒนาการของศิลปะกลุ่มหัวก้าวหน้าของรัสเซีย (Russian Avant-Garde) สี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดําบนพื้นขาวกลายเป็นสัญลักษณ์และองค์ประกอบพื้นฐานของศิลปะกระแสใหม่ในยุคนั้น ที่เรียกว่า Suprematism ซึ่งหมายถึงศิลปะนามธรรมที่แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่สูงสุดของความรู้สึกทางศิลปะและความคิดเชิงนามธรรม มากกว่าจะนําเสนอเรื่องราวหรือรูปทรงที่เลียนแบบความเป็นจริง
มาเลวิชได้รับแนวคิดบางส่วนมาจากลัทธิศิลปะคิวบิสม์ (Cubism) และนํามาดัดแปลงให้มีความเป็นนามธรรมยิ่งขึ้น โดยให้ความสนใจกับรูปทรงพื้นฐานที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตอย่างสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ฯลฯ และใช้สีสันที่เรียบง่ายอย่างขาว ดํา แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน
ผลงานในแนวทางนี้ที่เรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อที่สุดของเขาคือภาพ White on White (1918) ซึ่งเป็นภาพวาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาวบนผ้าใบสีขาวที่กลมกลืนกันจนแทบมองไม่เห็น ที่ทําเช่นนี้เพราะเขาต้องการแสดงความรู้สึกอันบริสุทธิ์ผ่านความเรียบง่ายของรูปทรงและสีสันเหล่านั้น
มาเลวิชเชื่อว่าศิลปะไม่จําเป็นต้องรับใช้สังคม รัฐ และศาสนา ไม่จําเป็นต้องบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไม่จําเป็นต้องแสดงภาพของบุคคล วัตถุ หรือสิ่งของอะไรก็ตามแต่ เขากล่าวว่า สิ่งต่างๆ ในโลกล้วนแล้วแต่ไม่มีความหมายในตัวเอง ความรู้สึกของคนเราที่มีต่อสิ่งต่างๆ ที่พบเห็นในโลกรอบตัวเหล่านั้นต่างหาก ที่มีความสําคัญมากกว่ารูปร่างภายนอกที่มองเห็นและจับต้องได้
Suprematism จึงเป็นแนวทางศิลปะที่ให้อิสรภาพทางความรู้สึกนึกคิดกับผู้ชมอย่างเต็มที่โดยไม่ปิดกั้นผู้ชม ไม่จําเป็นต้องถูกบังคับและครอบงําทางความคิดด้วยรูปทรงและเรื่องราวในภาพอย่างที่ศิลปินต้องการให้เป็น จึงนับเป็นศิลปะที่เปิดกว้างทางความคิดอย่างมาก แนวทางศิลปะกระแสนี้ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่องานศิลปะสมัยใหม่จวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับศิลปะนามธรรม
ผลงานแนวทางนี้ของมาเลวิชสร้างความตื่นตะลึงให้กับคนดูงานและวงการศิลปะในยุคนั้นอย่างมาก (อย่าว่าแต่คนยุคนั้นเลย ต่อให้เป็นคนยุคนี้ก็น่าจะตื่นตะลึงเหมือนกันแหละ) แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันก็ได้รับการยกย่องชื่นชมอย่างสูงจากเหล่าปัญญาชนและนักคิด ด้วยความที่มันเปิดให้มีเสรีภาพทางความคิดและอิสระในการตีความอย่างไร้ขีดจํากัดของมัน เพราะคนดูจะมองว่ามันเป็นอะไรก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา ซึ่งนับว่าเป็นการปฏิวัติทางความคิดที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญที่สุดครั้ง หนึ่งในวงการศิลปะเลยก็ว่าได้
ในทางกลับกัน เมื่อจอมเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ก้าวขึ้นสู่อํานาจในฐานะผู้นําของสหภาพโซเวียตในปี 1924 พรรคคอมมิวนิสต์ของสตาลินดําเนินนโยบายในการจํากัดและริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างหนักหน่วง ไม่เว้นแม้แต่บรรดาศิลปินเองก็ถูกบังคับให้ทําแต่ผลงานศิลปะแบบเหมือนจริงแนวสังคมนิยม (Socialist realism) ที่แสดงภาพโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์ นําเสนอภาพท่านผู้นําผู้ยิ่งใหญ่สง่างาม กองทัพที่เกรียงไกร และเหล่าชนชั้นแรงงานที่ทุ่มเททํางานหนักเพื่อรัฐและท่านผู้นําอย่างไม่ย่อท้อ
ด้วยความที่สตาลินไม่ต้องการให้ประชาชนมีความคิดเป็นของตัวเอง หากแต่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคําสั่งของรัฐโดยไม่มีข้อแม้ ศิลปะแนวนามธรรมของมาเลวิชที่กระตุ้นให้คนใช้สมอง เปิดโอกาสให้คนแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี และสนับสนุนความแตกต่างหลากหลายทางความคิด จึงเป็นที่ชิงชังของสตาลินเป็นอย่างมาก เป็นเหตุให้ผลงานของมาเลวิชส่วนใหญ่ถูกยึดและทําลายในปี 1930 ตัวเขาเองก็ถูกจับกุม คุมขัง และถูกเจ้าหน้าที่รัฐเฝ้าคอยอบรมเพื่อปรับทัศนคติ ซึ่งศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นหลายคนก็ได้รับชะตากรรมที่ไม่ต่างกัน
เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา มาเลวิชก็เริ่มหันมาวาดภาพเหมือนจริงในแบบประเพณี ซึ่งเป็นแนวทางแบบเดียวที่นโยบายทางวัฒนธรรมของสตาลินอนุญาตให้ทํา แต่อย่างไรก็ดี เขาก็แอบใส่รูปสี่เหลี่ยมสีดําบนพื้นสีขาวเล็กจิ๋วลงในภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศอุดมการณ์ที่แท้จริงลงในภาพ ดังเช่นในภาพวาด Self-Portrait (1933) ของเขา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศอุดมการณ์ที่แท้จริงของตนเองลงไป
ภายหลังจากที่มาเลวิชเสียชีวิต มีการเปิดเผยว่าภาพวาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีดําภาพนี้หลุดรอดจากการถูกยึดและทําลาย และถูกเก็บซ่อนโดยครอบครัวของมาเลวิชเพื่อให้พ้นมือของรัฐบาลสตาลินมาโดยตลอด ว่ากันว่ามันถูกซ่อนเอาไว้ใต้โลงศพของเขาในวันที่ถูกฝัง เมื่อภรรยาของมาเลวิชเสียชีวิต ภาพจึงถูกส่งต่อให้กับญาติของเธอ ซึ่งต่อมาขายต่อให้กับธนาคารอินคอม (Incombank) ในราคาราว 320,000 ดอลลาร์ฯ
ภายหลังในปี 1998 กระทรวงวัฒนธรรมของสหพันธรัฐรัสเซียได้สิทธิในการซื้อภาพนี้ด้วยการช่วยสนับสนุนทางการเงินจาก วลาดิเมียร์ โปตานิน (Vladimir Potanin) ประธานบริษัท Interros Holding และนักอุปภัมภ์ศิลปะผู้เลื่องชื่อ ผู้เป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่รักในเสรีภาพ และเกลียดเผด็จการอย่างสตาลินเข้าไส้ โดยมอบงานศิลปะของมาเลวิชที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเสรีภาพและการต่อสู้กับเผด็จการให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจเพื่อให้เพื่อนร่วมชาติของเขาได้ชื่มชมร่วมกันนั่นเอง
ภาพวาดสีเหลี่ยมจัตุรัสสีดําภาพนี้เคยถูกนํามาประมูลในปี 2002 แต่ถูกถอดออกจากการประมูลก่อนที่จะมีใครซื้อไป เพราะทางกระทรวงวัฒนธรรมของสหพันธรัฐรัสเซียประกาศว่า ภาพวาดชิ้นนี้เป็นอนุสรณ์ทางวัฒนธรรมของชาติที่มีคุณค่าเกินกว่าจะซื้อขายได้ แต่มีผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ถ้าภาพนี้ถูกนํามาประมูลจริงๆ ก็จะมีราคาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว
ภาพวาด The Black Square ของมาเลวิช หรือแม้แต่ผลงานศิลปะ NFT ของ Pak อย่าง The Pixel นั้น เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เราเห็นว่า แม้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ หรือเรียบง่ายสามัญที่สุดอย่างสี่เหลี่ยมสีดําหรือพิกเซลสีเทาธรรมดาๆ ก็กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าได้ ถ้าถูกนําเสนอให้ถูกที่ ถูกจังหวะเวลา และถูกทําขึ้นอย่างเปี่ยมความคิดสร้างสรรค์
อ้างอิง
https://www.theartnewspaper.com/news/sotheby-s-voyage-nft-sale-nets-usd16-8m
https://artreview.com/crypto-artist-pak-single-grey-pixel-nft-sold-for-1-36-million-dollars/
https://futurism.com/the-byte/artist-sells-nft-single-pixel
https://en.wikipedia.org/wiki/Black_Square_(painting)
https://whyartisexpensive.wordpress.com/2019/01/28/why-is-black-square-so-expensive/
http://news.bbc.co.uk/2/hi/entertainment/1930450.stm