เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหากิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การยืดเวลาจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 MHz จาก 4 งวดไปเป็น 10 งวด โดยไม่คิดดอกเบี้ย และการช่วยให้ทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนฺญาตได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าประมูล 2 งวดที่เหลือ แถมได้เงินชดเชย ทำให้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนและเงินที่ควรจะได้จากดอกเบี้ยค่าประมูลคลื่นกว่า 40,000 ล้านบาท (อุ้มทีวีดิจิตอล 31,000 ล้าน / ดอกเบี้ยที่ควรจะได้จากค่ายมือถือ 20,000 ล้าน) อันตรธานหายไปอยู่ในมือนายทุน
นอกจากคำกล่าวอ้างว่าทำเพื่อจูงใจผู้ประกอบการให้เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 และ 2600 MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ที่ไม่สมเหตุสมผลนักด้วยเหตุผลหลายประการแล้วการจะตอบว่าการใช้อำนาจวิเศษอย่างมาตรา 44 ในครั้งนี้ หลงเหลืออะไรทิ้งไว้ให้กับวงการสื่อมวลชนไทยและผู้บริโภคตาดำๆ อย่างเราบ้าง เราขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจจาก ‘งานเสวนา ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร’ ซึ่งจัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 29 พ.ค. 2561 มาบอกเล่าต่อให้ทุกคนได้ฟังกัน
จาก ‘เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย’ สู่ ‘เราจะทำตามสัญญา’
ก่อนจะพูดถึงเหตุการณ์นี้ ‘สุภิญญา กลางณรงค์’ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. บอกว่าคงต้องเล่าย้อนกลับไปถึงวันแรกที่ ‘กิจการโทรทัศน์’ ถือกำเนิดขึ้นมาในประเทศไทย
ในวันที่ 24 มิถุนายน 2498 ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้เป็นวันโทรทัศน์ไทย กิจการโทรทัศน์เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคที่เผด็จการทหารเรืองอำนาจ วัฒนธรรมของสื่อโทรทัศน์ตลอดเกือบ 40 ปี จึงเริ่มต้นมาด้วยการอยู่ใน ‘ระบอบอำนาจนิยมอุปถัมภ์’ ที่ทำให้สื่อขาดเสรีภาพและถูกนำมาใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองมาตลอด
ก่อนที่จะเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้นในช่วงปี 2535 ซึ่งสื่อทีวีมีแต่การโฆษณาชวนเชื่อและปราศจากเสรีภาพในการนำเสนออย่างสิ้นเชิง จนเกิดเป็นกระแสเรียกร้องครั้งใหญ่ให้มีการปฏิรูปสื่อและตั้งองค์กรอิสระมากำกับดูแล เพื่อให้การใช้งานคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของชาติ ถูกจัดสรรเพื่อผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าผูกขาดอยู่กับชนชั้นนำและกลุ่มอำนาจทางการเมือง
หลังการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 39 – มาตรา 41 ที่ได้บัญญัติการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน และสื่อในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณาไว้ในรัฐธรรมนูญ และให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นโดยไม่ตกอยู่ ภายใต้การควบคุมของหน่วยหรือเจ้าของกิจการสื่อ
อานันท์ ปันยารชุน ผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้น ได้มีนโยบายให้เปิดโทรทัศน์เสรีที่เกิดจากการประมูลของเอกชนช่องแรกขึ้น ต่อมาจึงได้กลายมาเป็นช่อง itv แต่สุดท้ายจังหวะเวลากลับไม่ลงตัวนัก เพราะประมูลกันในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 ไม่นานนัก ไม่ต่างจากการประมูลดิจิทัลทีวีที่กำลังเกิดปัญหาในปัจจุบัน ที่ประมูลเสร็จไม่นานก็เกิดการรัฐประหารปี 2557 จนมีบางสถานีต้องปิดตัวลง
เมื่อเศรษฐกิจล้มจนทำธุรกิจไม่ได้ itv ก็ขอให้มีแก้สัญญาสัมปทาน ในตอนนั้นจึงเป็นจังหวะที่ทำให้ชิน คอร์ปอเรชั่น เข้ามาถือหุ้น itv แทน ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งพอดี สื่อจึงถูกมองว่าการที่ให้ทุนการเมืองเข้ามาถือหุ้นทีวีเอกชนอาจจะเป็นการเอื้อต่อเกมการเมืองและการเลือกตั้งได้ แต่ไม่ว่าความจริงของการถือหุ้นครั้งนั้นจะเป็นอย่างไร ความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดระหว่างเหตุการณ์ในครั้งนั้นกับครั้งนี้ก็คือ การเลือกแก้ไขปัญหาด้วยกลไกทางกฎหมายปกติ ซึ่งต่างกับการนำอำนาจพิเศษอย่างม.44 เข้ามาจัดการ
แต่ไม่ว่าความจริงของการถือหุ้นครั้งนั้นจะเป็นอย่างไร ความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดระหว่างเหตุการณ์ในครั้งนั้นกับครั้งนี้ก็คือ การเลือกแก้ไขปัญหาด้วยกลไกทางกฎหมายปกติ ซึ่งต่างกับการนำอำนาจพิเศษอย่างม.44 เข้ามาจัดการ
สุภิญญา ฉายภาพว่า ในยุคนั้นการแก้สัญญาสัมปทานใช้ พระราชกำหนด ภาษีสรรพสามิต ผ่านกระบวนตามกฎหมายอย่างที่ควรเป็น โดยถึงแม้จะใช้เวลาไปไม่น้อย แต่ในที่สุด itv ก็ถูกยกเลิกสัมปทานเพราะศาลปกครองยกเลิกเงื่อนไขในการแก้สัญญาสัมปทานที่เกิดขึ้น เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการปกติและตามหลักนิติธรรม คือมีการคานดุลอำนาจ คนที่ตัดสินใจผิดพลาดก็ต้องรับผิดรับชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เมื่อปัจจุบัน คสช.เลือกที่จะแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ด้วยการใช้ ม.44 เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ทุกอย่างจะไม่สามารถตรวจสอบได้และจะไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับอำนาจหรือสิ่งที่ตัวเองทำโดยสิ้นเชิง
20 ปีแห่งการปฏิรูปสื่อไทย ที่สูญหายไปเพราะการดีดนิ้วครั้งเดียว
จากความพยายามในการปฏิรูปสื่อและการก่อตั้งองค์กรอิสระที่สร้างความหวังใหม่ให้กับวงการสื่อมวลชนไทยในปี 2540 หรือตลอด 20 ปีที่ผ่าน สุภิญญา กลางณรงค์ ให้ความเห็นว่า กสทช. สามารถใช้กลไกในการแก้ปัญหาตามหลักการได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อรับผิดชอบกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดของตัวเองและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ไม่ต่างจากเหตุการณ์ itv
ไม่ว่าจะเป็นในด้านเงินทองหรืออภิสิทธิ์ต่างๆ แต่การเยียวยานั้นควรตั้งอยู่บนฐานของการกระทำที่ตรงไปตรงมา มีการคำนวณให้ชัดเจนว่าช่องต่างๆ มีความเสียหายมากแค่ไหน เพราะสาเหตุใด รวมถึงมีเอกสารรายงานที่มาที่ไปที่ชัดเจน ต่างจากปัจจุบันที่มาตรการเยียวยานั้นไม่มีเอกสารรองรับหรือระบุที่มาที่ไปเลยว่าตัวเลขต่างๆ นั้นมาจากไหน นอกจากนี้หากการเยียวยาเป็นไปตามกลไกปกติ กสทช.ยังสามารถสร้าง TOR เข้าไปในเงื่อนไขของการเยียวยา เพื่อควบคุมคุณภาพของสื่อที่จะออกสู่ผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยให้เงินในส่วนนี้ถูกนำลงไปสร้างประโยชน์ให้กับคนทำงานจริงๆ ของแต่ละช่อง เพื่อคืนกำไรกลับสู่สาธารณะและไม่ใช่แค่การตกลงสู่มือนายทุนอย่างไร้ความหมาย
“นี่คือสิ่งที่ส่วนตัวเศร้าที่สุดกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพราะเราทำงานกันมา 2 ทศวรรษ เพื่อปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ตั้งแต่ดิฉันเป็นนิสิตจบใหม่ จนมาเป็น กสทช.เอง จนตอนนี้เลิกเป็นแล้ว มันก็สะท้อนว่าเรายังปฏิรูปจากระบอบเดิมไปไม่ได้มากนักและก็อาจจะหนักมากยิ่งขึ้น รวมถึงเรายังอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหานั้นมาเองด้วย” สุภิญญา กลางณรงค์
รัฐเอื้อนายทุน ประชาชนได้อะไร?
เมื่อรัฐบาลและกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งในที่นี้คือ ‘สื่อ’ เกื้อหนุนซึ่งกันและกันอย่างไม่จบไม่สิ้น นอกจากความฝันว่าจะได้เห็นสื่อที่มีเสรีภาพและคุณภาพจะยิ่งห่างไกลออกไปเรื่อยๆ แล้ว จะเห็นได้เลยว่าสิ่งที่เสียไปคืองบประมาณจำนวนไม่น้อย เฉพาะแค่การอุ้มทีวีดิจิทัลก็มากถึง 31,000 ล้านบาท และการขยายช่วงเวลาการจ่ายหนี้ให้คลื่นโทรศัพท์อีกรวมเกือบ 20,000 ล้านบาท จากปกติการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 และ 2600 MHz ซึ่งต้องใช้เงินราว 11,000 ล้านบาท จึงเท่ากับว่านายทุนทั้ง 3 รายอย่าง AIS TRUE และ DTAC จะสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก คือ AIS 2600 ล้านบาท, TRUE 2200 ล้านบาท และ DTAC 8400 ล้านบาท
‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การใช้ม.44 เข้ามาแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำให้ความฝันที่จะทำให้สื่อมีเสรีภาพและความชอบธรรมต้องจบลง และสถานการณ์ในครั้งนี้ยังเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าแค่สถานการณ์ในวงการสื่อและโทรคมนาคม แต่เป็นสิ่งที่เปิดขึ้นกับหลายวงการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการค้าปลีก พลังงาน หรืออุตสาหกรรม
ธนาธร ชี้ว่า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในการเกลี่ยทรัพยากรที่ควรจะเป็นสาธารณะให้เป็นธรรมอย่าง ‘ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทุนใหญ่กับอำนาจรัฐ’ ไม่เคยถูกแก้ไข และเมื่ออำนาจไม่ได้อยู่กับประชาชน กลุ่มทุนใหญ่และชนชั้นนำก็มีสิทธิ์ที่จะแบ่งสรรปันส่วนโดยไม่จำเป็นต้องสนใจว่าทรัพยากรของประเทศจะถูกกระจายสู่ประชาชนอย่างเท่าเทียมหรือจะตกอยู่ในมือผู้ได้ประโยชน์จำนวนน้อยนิด
Innovate to survive
สุภิญญา ชี้ว่า เมื่อมองย้อนกลับไปก่อนที่ทุกอย่างจะดำเนินมาสู่ความล้มเหลวของธุรกิจทีวีดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้เกิดการใช้ม.44 เข้าช่วยเหลืออย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยถูกสนับสนุนและแก้ไขอย่างจริงจังเลยสักครั้ง กลับเป็นปัญหาเชิงโครงที่สำคัญที่สุดในการอยู่รอดของสื่อโทรทัศน์อย่าง ‘การพัฒนาคุณภาพและเสรีภาพ’ การที่เงินก้อนใหญ่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องสื่อโทรทัศน์ แต่เงินทุกบาททุกสตางค์กลับเข้าสู่กระเป๋านายทุนโดยไม่ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเชิงคุณภาพให้กับ Content และ Production ของสื่อจึงเป็นเรื่องที่ตลกร้ายอยู่ไม่น้อย
ถ้าหากสิ่งที่ Disrupt สื่อโทรทัศน์คือสื่อออนไลน์ สิ่งที่สื่อโทรทัศน์ควรทำจึงอาจเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าสื่อโทรทัศน์ก็สามารถสร้าง Content ที่ร่วมสมัย มีคุณภาพ และที่สำคัญคือ ‘มีอิสระเสรี’ ได้ไม่ต่างจากสื่อออนไลน์ ที่สามารถพูดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเรื่อง ‘การเมือง’ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนซึ่งอัดอั้นตันใจมาตลอด 5 ปีกำลังให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในขณะนี้
“ถ้าคุณยังไม่มีอิสระ ยังนำเสนอแค่การ stabilize ฝั่งอำนาจรัฐ ประชาชนส่วนหนึ่งก็จะไม่ดู เพราะว่าตอนนี้ทีวีดิจิทัลที่เรตติ้งดีที่สุดคือช่อง 10 ทีวีรัฐสภา ซึ่งมีหน้าที่ถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ส่วนรายการอื่นๆ นอกจากนั้นเรทติ้งต่ำลงทั้งหมด มันจึงสะท้อนให้เห็นว่าถ้าทีวีไม่ปรับตัว แล้วยังนำเสนอสิ่งเดิมๆ ละครแบบเดิม เกมโชว์แบบเดิม และในทางการเมืองก็ไม่กล้าที่จะท้าทายอำนาจทางการเมือง คนก็จะไม่ดูและหันไปเสพสื่อออนไลน์ที่มีเสรีในการแสดงออกได้มากกว่าสื่อทีวีแน่นอน” สุภิญญา กลางณรงค์
นอกจากความตั้งใจที่จะพัฒนาเชิงคุณภาพของตัวคนทำสื่อเองแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ คิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้สื่อไทยไม่พัฒนาไปข้างหน้าก็คือ ‘หลักประกันด้านเสรีภาพ’ และบรรยากาศทางการเมือง ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจในการตรวจสอบและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพราะเขาเชื่อว่าคนเราจะสามารถแสดงศักยภาพของตัวเองได้ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย
“สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรามีข่าวที่มีคุณภาพได้ก็คือหลักประกันด้านเสรีภาพ ถ้าคุณไม่มีหลักประกันด้านเสรีภาพใครจะไปกล้าตรวจสอบนายทุนขนาดใหญ่หรืออำนาจรัฐ มันเป็นเรื่องของบรรยากาศทางการเมืองด้วย ถ้าคุณไม่มีสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบผู้มีอำนาจมันก็จบ เพราะหน้าที่ที่สำคัญของสื่อคือการหาความจริง โดยเฉพาะความจริงที่ผู้มีอำนาจไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ คุณถึงจะสร้าง Impact กับสังคมให้เกิดขึ้นได้” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
เมื่อ ‘อิสระในการนำเสนอ’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของมาตรวัดคุณภาพของสื่อในสายตาผู้บริโภค และการเกื้อหนุนกันของกลุ่มอำนาจทางการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย จึงไม่แปลกเลยที่ผู้บริโภคจะเลือกเสพสื่อจากโทรทัศน์น้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนอาจไม่ได้อยากเลิกดูทีวี แต่ทีวีมีอะไรที่คนอยากดูแล้วหรือยัง?
หมายเหตุ:
สรุปความจากจากงานเสวนา ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 29 พ.ค. 2562
และ http://web.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/think/think6.pdf
Tags: สุภิญญา กลางณรงค์, สื่อ, มาตรา 44, กสทช., ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ทีวีดิจิทัล, สื่อไทย, ค่ายมือถือ, ปฏิรูปสื่อ