นอกจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 วิกฤตการณ์ความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลกก็ยังคงคุกรุ่นไม่เว้นวาย ทั้งแนวรบตะวันออกกลาง การสู้รบในซีเรีย หรือล่าสุดอย่างสงครามในอัฟกานิสถาน ที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องบาดเจ็บล้มตาย หลายคนต้องพลัดถิ่นฐาน กลายเป็นผู้ลี้ภัยสงคราม ไร้แผ่นดินอาศัย
วันนี้จะขอกล่าวถึงศิลปินหนึ่งในอดีตผู้ลี้ภัย ผู้ทำงานศิลปะผ่านการลงสำรวจพื้นที่สงครามและค่ายผู้ลี้ภัยอย่างใกล้ชิดจริงจัง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า รัชดี อันวาร์ (Rushdi Anwar) เป็นชาวเคิร์ดจากเมืองฮาลับจา เขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก ทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองของเคอร์ดิสถานอิรักและตะวันออกกลางอย่างตรงไปตรงมา ผ่านผลงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง
ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวเคิร์ดที่อาศัยอยู่ในกรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย อันวาร์สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ความรุนแรง และวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในภูมิภาคบ้านเกิดของเขาตลอดหลายปีที่่ผ่านมา ด้วยผลงานศิลปะจัดวาง จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย และวิดีโอ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึงวิกฤตที่เกิดจากความขัดแย้งเหล่านี้ ผลงานของเขาได้จัดแสดงไปทั่วโลก ทั้งในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ คาซาบลังกาเบียนนาเล่ ปี 2020, เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ฮาวานาเบียนนาเล่ ปี 2019 และนิทรรศการเดี่ยวที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ ปี 2019 และล่าสุด ปีที่ผ่านมา อันวาร์เข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ซึ่งเป็นงานที่เรากำลังจะพูดถึงในตอนนี้นั่นเอง โดยอันวาร์กล่าวถึงผลงานชุดนี้ของเขาว่า
“ผลงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะที่ผมทำในระหว่างปี 2016 – 2017 โดยผมเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เคอร์ดิสถาน อิรัก ใช้เวลาค้นคว้า เก็บข้อมูล ถ่ายภาพ ถ่ายทำวิดีโอ สัมภาษณ์ผู้คน และใช้ชีวิตร่วมกับผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 4 เดือนในค่ายผู้ลี้ภัย 7 แห่ง เมื่อกลับไปยังออสเตรเลีย ผมค่อยๆ ใช้เวลาสำรวจข้อมูลและวัตถุดิบที่ได้มา ผลลัพธ์จากการลงพื้นที่ในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านั้นกลายเป็นโครงการศิลปะ 5 โครงการ หนึ่งในจำนวนนั้นคืองานชุดที่แสดงในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ปี 2020 และอีกหนึ่งผลงานคือโครงการที่ผมนำไปร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ กวางจูเบียนนาเล่ ปี 2018 ส่วนอีกโครงการเป็นโครงการที่ผมทำขึ้นในค่ายผู้ลี้ภัยร่วมกับเด็กๆ และวัยรุ่นที่นั่น โดยใช้วัสดุเก็บตกที่พบในค่าย ซึ่งจะไปร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะคาซาบลังกาเบียนนาเล่ ครั้งที่ 5 ที่ถูกเลื่อนไปจัดในปี 2022 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19”
แนวคิดเบื้องหลังโครงการนี้ของอันวาร์มีชื่อเรียกว่า ‘I AM NOT FROM EAST OR WEST… MY PLACE IS PLACELESS’ (2016-2018) เกี่ยวกับการสำรวจประเด็นของคนพลัดถิ่นและผู้ลี้ภัย รวมถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตภายใต้ช่วงเวลาของความขัดแย้งที่กลุ่มไอซิส (ISIS) ยึดครองดินแดนครึ่งหนึ่งของซีเรียและอิรักตั้งแต่ 2014-2018 ทำให้หลายคนต้องพลัดถิ่นฐาน ซึ่งถ้านับแค่ในเคอร์ดิสถานแห่งอิรักนั้น จำนวนคนถึง 1.8 ล้านคน ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ไร้แผ่นดินอยู่อาศัย
ค่ายผู้ลี้ภัยแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่ไม่ต่างกับเมืองเมืองหนึ่ง บางแห่งมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ถึง 2-5 หมื่นคน ค่ายผู้ลี้ภัยบางแห่งมีคนอาศัยอยู่ถึง 1 แสนคน และผู้คนที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก็ไม่ได้มีแต่คนเชื้อชาติหรือศาสนาเดียว หากแต่ผสมปนเปกันไป ทั้งอิสลามนิกายต่างๆ คริสเตียน ชาวเคิร์ด อัสซีเรีย ยาซิดี ซีเรีย อาหรับ และชนกลุ่มน้อยอีกสารพัด ผู้คนหลากหลายต่างอยู่ร่วมกันในพื้นที่เหล่านี้อย่างสันติ
“ในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งที่ผมเดินทางไป ผมได้ทำงานร่วมกับชาวยาซิดีและชาวชาบักส์ ติดตามข่าวการต่อสู้ของกองกำลังชาวเคิร์ดและอิรักในการต่อต้านขับไล่ไอซิสออกจากเมืองโมซูล ช่วงเวลานั้น หลายเมืองใกล้เคียงถูกยึดคืนจากไอซิส หนึ่งในนั้นคือเมืองบาชิกา ที่ไม่ได้มีแค่ชาวมุสลิม แต่มีทั้งชาวยาซิดีและชาวคริสต์จำนวนครึ่งล้านคนอาศัยอยู่ร่วมกันที่นั่น
“ผมต้องการไปที่นั่นหลังจากเมืองถูกยึดคืนจากกลุ่มไอซิสแล้ว เพราะผมได้พบกับผู้ลี้ภัยจากเมืองแห่งนี้ในค่ายอพยพ พวกเขาเล่าว่าต้องเสียญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงจากการสังหารหมู่ของไอซิส แต่ในช่วงเวลานั้น เมืองแห่งนี้ไม่อนุญาตให้พลเรือนเข้าไป เพราะเป็นเมืองแนวหน้าของสมรภูมิ และกองกำลังไอซิสก็ยังอยู่ห่างไปแค่ 4 กิโลเมตรจากตัวเมือง ผมจึงติดต่อกองกำลังชาวเคิร์ดเพื่อขอเข้าไปที่นั่น พวกเขามอบใบอนุญาตและใบผ่านทางพิเศษให้ผม
“เมื่อผมได้เข้าไปในเมืองนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำลายย่อยยับจนกลายเป็นเมืองร้างที่เหลือแต่ซากปรักหักพัง เหมือนที่คุณเคยเห็นในหนังสงครามของฮอลลีวูด สิ่งที่เห็นทำให้ผมช็อกมาก จากนั้นผมเดินทางไปในโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองแห่งนั้น ชื่อโบสถ์บาชิกา ซึ่งเป็นโบสถ์คริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ เพื่อดูว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่นั่น เพราะก่อนหน้าที่จะทำงานในโครงการนี้ ผมเคยได้ยินคนตะวันออกกลางบางคนพูดกันว่า คนตะวันตกอย่างชาวอเมริกันและยุโรปจะกลับมายึดตะวันออกกลางอีกครั้งเหมือนเป็นสงครามครูเสดครั้งใหม่ นั่นเป็นโฆษณาชวนเชื่อจากไอซิส ผมจึงต้องการเห็นด้วยตาว่าอะไรเกิดขึ้นในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ที่นั่น
“เมื่อผมไปถึงโบสถ์ (ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1885 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบออตโตมัน) มันถูกทำลายจนสิ้นซากจากสงคราม ผมเข้าไปในซากปรักหักพังของโบสถ์ เห็นซากของกล่องไฟที่เคยเป็นภาพประดับโบสถ์รูปพระเยซูคริสต์ในช่วงเวลาต่างๆ หล่นเกลื่อนกราดอยู่ทั่วพื้น ภาพทางศาสนาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความศรัทธาของผู้คนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ก่อนที่ไอซิสจะเข้ามา ในโถงด้านหลังของโบสถ์ ผมพบเห็นเสื้อผ้าของพลเรือน ทั้งเด็กๆ และผู้หญิง ผู้เป็นเหยื่อการสังหารหมู่โดยไอซิส ผมบันทึกภาพภายในโบสถ์แห่งนี้เอาไว้ เมื่อผมกลับมาที่สตูดิโอ และได้ดูสิ่งที่ผมบันทึกเอาไว้ ก็เกิดความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าจะต้องทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ได้
“ในช่วงแรก ผมคิดจะทำงานเป็นกล่องไฟ เพื่อจำลองกล่องไฟประดับแบบเดียวกับที่เห็นภายในโบสถ์ ผมตั้งใจจะหยิบเอาภาพทางศาสนาจากซากของกล่องไฟที่นั่นกลับมาด้วย แต่ทหารชาวเคิร์ดเตือนว่าห้ามแตะต้องข้าวของอะไรก็ตามที่อยู่ในนั้นเป็นอันขาด เพราะอาจจะมีระเบิดที่ไอซิสทิ้งไว้อยู่ใต้กล่องและข้าวของต่างๆ ผมจึงทำได้แค่ถ่ายภาพมาเท่านั้น
“อีกอย่าง ภาพในกล่องไฟเองก็อาจจะดูสะอาดสะอ้านและสวยงามเกินไป จนไม่อาจจะสื่อสารประสบการณ์อันน่ารันทดที่ผมได้รับจากการเข้าไปในโบสถ์แห่งนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นซากปรักหักพัง เถ้าถ่านจากสงคราม หลักฐานของผู้คนที่ถูกสังหารหมู่ ผมจึงเปลี่ยนเป็นกล่องไม้บรรจุภาพนับร้อยที่ถ่ายมาจากโบสถ์แห่งนั้นข้างใน และทำการเผาภาพถ่ายทุกภาพที่อยู่ในกล่อง เพื่อจำลองสภาพของโบสถ์และเมืองที่ถูกทำลายจนกลายเป็นขี้เถ้า และรักษาสภาพมันเอาไว้ด้วยพลาสติกเรซิน นั่นคือที่มาของงานศิลปะจัดวางชุดนี้ของผม ที่มีชื่อว่า We have found in the ashes what we have lost in the fire (2018)”
ผลงานชุดนี้ของอันวาร์มีแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ และการทำให้ศาสนาเป็นการเมือง อันเป็นผลพวงให้เกิดสงคราม ในทางกลับกัน อันวาร์นำพาเราย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกได้มาพบกันเป็นครั้งแรก เมื่อชาวมุสลิมเดินทางไปยึดครองอาณาจักรสเปน จนกลายเป็นอาณาจักรใหม่ที่เรียกว่า ‘อัลอันดะลุส’ (ปี ค.ศ. 711-1492) ช่วงเวลานั้นไม่ได้มีแค่ชาวมุสลิมอยู่ที่นั่น หากแต่มีชาวยิว เปอร์เชีย แอฟริกัน คริสเตียน เคิร์ด และผู้คนที่มีความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมอาศัยอยู่ร่วมกัน สิ่งนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างงานสถาปัตยกรรม ศิลปะ ดนตรี ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลวดลายในศิลปะอิสลาม ที่เดิมทีมีความอ่อนช้อยนุ่มนวล อันได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของดอกไม้พืชพรรณในธรรมชาติ ก็ถูกพัฒนาขึ้นที่อัลอันดะลุส จนกลายเป็นลวดลายเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ผสมผสานระหว่างรูปทรงเรขาคณิตและลวดลายในธรรมชาติอันเปี่ยมสีสันในปัจจุบัน
“ผมนำลวดลายเหล่านี้ ซึ่งเป็นลวดลายเดียวกับที่อยู่บนกระจกหน้าต่างของโบสถ์บาชิกา มาออกแบบและตีความใหม่ ด้วยการเอาสีสันหลากหลายที่เคยมีอยู่ในลวดลายเหล่านี้ออกไป และเปลี่ยนให้กลายเป็นสีเดียวคือสีส้ม ซึ่งอ้างอิงถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งในประวัติศาสตร์การเมืองในปัจจุบัน สีส้มนั้นเป็นสีของชุดนักโทษที่ถูกกองทัพสหรัฐฯ คุมขังและทรมานในเรือนจำอ่าวกวนตานาโม และชุดสีส้มแบบเดียวกันนี้เอง ที่กองกำลังไอซิสหรืออัลกออิดะฮ์มักจะบังคับให้เหยื่อหรือตัวประกันสวม ก่อนที่จะลงมือสังหารเพื่อเป็นการตอบโต้”
“สำหรับผม สีส้มจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งในโลกตะวันออกและตะวันตกในปัจจุบัน ลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์แห่งอดีตเหล่านี้ถูกนำเสนอด้วยสีสันของความขัดแย้งในปัจจุบัน ผมนำลวดลายเหล่านี้มาประดับลงบนกระจกใสที่เป็นฝากล่อง ส่วนตัวกล่อง ถึงจะได้แรงบันดาลใจจากกล่องไฟที่ผมเห็นในโบสถ์บาชิกา แต่ก็ไม่ใช่กล่องไฟแบบเดิมอีกต่อไป หากแต่เป็นกล่องที่บรรจุทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งประวัติศาสตร์ อดีต ปัจจุบัน การเมือง ศาสนา ความยัดแย้ง การยอมรับ (หรือไม่ยอมรับ) ในความแตกต่าง เพื่อเป็นการตั้งคำถามว่า เมื่อครั้งที่ทุกศาสนา ทุกความเชื่อ ทุกเชื้อชาติ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เมื่อเราเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราจะสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นอารยธรรมของมนุษย์ขึ้นมา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราหันมาต่อสู้กันเองเพราะความแตกต่างทางศาสนา เชื้อชาติ ภาษา สีผิว ความเชื่อ ศรัทธา และความแตกต่างทางการเมือง เราจะมีจุดจบเช่นเดียวกับเมืองและโบสถ์แห่งนั้น
“ผลงานชุดนี้ของผมไม่ใช่การชี้นิ้วกล่าวโทษว่าใครเป็นคนผิด แต่เป็นการตั้งคำถามว่าเราจะเดินไปในเส้นทางไหน ถ้าเราเดินไปในเส้นทางหนึ่ง เราอาจจะมีจุดจบแบบเดียวกันกับอีกหลายประเทศที่ต้องล่มสลายจากภัยสงคราม แต่ถ้าเราเดินไปในอีกเส้นทาง เราจะพบความสงบ สันติ และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมา เช่นเดียวกับเมืองบาชิกาในอดีต ที่ผู้คนแตกต่างเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธ์ุ อยู่ร่วมกันมาช้านานโดยไร้ปัญหา ก่อนที่ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นในภายหลัง
“ความขัดแย้งที่ว่านี้มีรากเหง้ามาจากมนุษย์ ที่ไม่ว่าจะมีพื้นเพแบบไหน เชื้อชาติ ศาสนาหรือความเชื่อแบบใดก็ตาม ต่างไม่มีความอดทนอดกลั้น หรือยอมรับต่อความแตกต่างของผู้อื่น พวกเขาไม่อาจอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการที่เราทำให้ทุกอย่างกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ไปจนถึงมิตรภาพ ความสัมพันธ์ และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือแม้แต่อากาศที่เราหายใจก็ตามที
“เราพยายามที่จะกำจัดซึ่งกันและกันมากกว่าจะพูดคุยกัน การสื่อสารอันไร้พรมแดนและสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ก็เป็นแค่พื้นที่สร้างความเกลียดชังมากกว่าจะเป็นพื้นที่สร้างบทสนทนา เราต่างกลั่นแกล้งรังแก ก่นด่า ข่มขู่ ตะโกนกรีดร้องใส่กันและกัน มากกว่าจะพูดคุยและแก้ปัญหา ความขัดแย้ง ความโกรธเกรี้ยว ความรุนแรงไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายไหนก็ตาม ทุกคนต่างสูญเสียกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมักจะเป็นประชาชนและพลเรือนมากกว่าคนที่ก่อสงคราม”
ถ้างานศิลปะจัดวางชุด We have found in the ashes what we have lost in the fire (2018) เป็นผลงานที่นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับความขัดแย้งและสงครามในตะวันออกกลางด้วยองค์ประกอบทางทัศนธาตุในเชิงกวี ผลงานวิดีโอจัดวางชุด I AM NOT FROM EAST OR WEST… MY PLACE IS PLACELESS (2016-2018) ของอันวาร์ก็นำเสนอสิ่งที่ตรงไปตรงมายิ่งกว่านั้น
อันวาร์เก็บภาพชีวิตของผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีภูมิหลังแตกต่างกันในค่ายอพยพหลายแห่ง พร้อมทั้งบันทึกการดำรงอยู่ของพวกเขา เพื่อเน้นย้ำถึงความเปราะบางของชีวิตและความหวังของผู้คนที่อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพของผู้ลี้ภัยที่กำลังร้องไห้ด้วยความโศกเศร้า ผู้ลี้ภัยเฝ้าฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าในดินแดนที่ไร้สงครามและความขัดแย้ง หรือภาพเด็กๆ จากหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ที่กำลังเล่นด้วยกันโดยไม่ถูกจำกัดหรือกีดกันด้วยความแตกต่างใดๆ ที่เคยกั้นขวางพวกเขา
“ผมคิดว่าบทบาทของงานศิลปะในปัจจุบันนั้นมีความจำเป็นยิ่งที่จะต้องเชื่อมโยงกับสังคม ในการทำโครงการศิลปะครั้งนี้ ผมไม่ได้เป็นศิลปินที่นั่งฟังข่าวสงครามที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางเอามาทำเป็นงานศิลปะอยู่ในสตูดิโอ การทำงานศิลปะสำหรับผมไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมเดินทางจากออสเตรเลียไปยังอิรักและเคอร์ดิสถาน และใช้เวลา 4 เดือนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยโดยไม่ได้ทำงานศิลปะสักชิ้นที่นั่น แต่ผมทำการค้นคว้า เก็บข้อมูล ลงพื้นที่ และใช้ชีวิตร่วมกับผู้ลี้ภัยจริงๆ ที่นั่น
“ผมพูดคุย กินอาหาร ดื่มชากาแฟ เข้าสังคม และทำความเข้าใจร่วมกันกับพวกเขา ผมไม่ได้ไปที่นั่นในฐานะศิลปิน แต่เป็นเหมือนกับนักมานุษยวิทยามากกว่า ผมไปที่นั่นเพื่อเรียนรู้พวกเขาทั้งจากสภาพแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ ความยากลำบาก ความคิดเห็นทางการเมือง ความหวังและความต้องการของพวกเขา เรียนรู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับความขัดแย้งเหล่านี้”
“สำหรับผม การทำงานศิลปะในโครงการนี้ ผมต้องเดินทางไปสัมผัสพบเจอกับผู้คนในชุมชนผู้ลี้ภัยจริงๆ ไปอยู่ท่ามกลางพวกเขา เพื่อทำความเข้าใจกับความเจ็บปวดและบาดแผลของพวกเขา เพื่อทำงานเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา นั่นคือการทำงานศิลปะแบบที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม
“ผลงานศิลปะทั้งหมดของผมถูกก่อร่างสร้างขึ้นจากประเด็นทางสังคมการเมือง ซึ่งมีที่มาจากพื้นเพของผมที่เป็นชาวเคิร์ด เราผ่านประวัติศาสตร์แห่งความยากลำบากทางการเมืองมากมาย นับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันก็ยังไม่อาจยุติ แต่ในขณะเดียวกัน วรรณกรรมและบทกวีก็เป็นองค์ประกอบทางวัฒนธรรมอันเข้มแข็งของเรา ถึงแม้งานของผมจะพูดถึงความขัดแย้งการเมือง การพลัดถิ่น และความเลวร้ายของสงครามอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็ยังแฝงเอาไว้ด้วยคุณลักษณะแบบเดียวบทกวี ถึงแม้ผมจะเล่าเรื่องราวอันน่ารันทดหดหู่ แต่ก็สามารถเล่าอย่างงดงามในเชิงกวี เพื่อดึงดูดให้คนหันมาสนใจฟังได้ นั่นคือหน้าที่ของศิลปะ คือการกระตุ้นให้คนตั้งคำถามและคิดต่อ
“ถ้าผมเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโบสถ์แห่งนี้ให้ใครก็ตามฟัง ถึงแม้เขาจะไม่รู้จักไอซิส ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามในตะวันออกกลาง แต่สิ่งแรกที่พวกเขารู้สึกคือความเสียใจกับผู้คนในเมืองนี้ ที่สูญเสียชีวิตคนรักและบ้านเกิดเมืองนอน พวกเขาจะรู้สึกเศร้าโศกกับเจ้าของเสื้อผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในโบสถ์ที่เป็นเหยื่อผู้บริสุทธิ์ในการสังหารหมู่ สิ่งเหล่านี้คือคุณลักษณะแห่งความเป็นบทกวีที่งานศิลปะสามารถสื่อสารไปถึงผู้ชมได้ เช่นเดียวกับบทกวีและวรรณกรรม
สุดท้ายนี้ รัชดี อันวาร์ยืนยันว่า เขาไม่คิดว่าศิลปะจะสามารถยุติความขัดแย้ง ยุติความรุนแรง หรือยุติสงครามได้”
“แต่ศิลปะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการสร้างพื้นที่แห่งความตระหนักรู้ และสื่อสารว่า เราสามารถอยู่ร่วมกัน แบ่งปัน ยอมรับ รวมทั้งทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่านี้ได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา เชื้อชาติ หรือวัฒนธรรมก็ตามที เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งต่างๆ จะงดงามที่สุดเมื่อมันมีความแตกต่าง อะไรที่เหมือนกันไปหมดนั้นไม่น่าสนใจ และไม่ใช่ความสวยงามที่แท้จริง
“ความงดงามที่แท้จริงก็คือ เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านความแตกต่างหลากหลาย นั่นคือที่มาของอารยธรรมมนุษย์ในโลกใบนี้ นั่นคือสิ่งที่ศิลปะสามารถทำได้ ในความคิดของผม ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสอนให้เรารู้จักชีวิต”
ข้อมูล
บทสัมภาษณ์ศิลปิน รัชดี อันวาร์
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน รัชดี อันวาร์ และ BAB 2020
Tags: ศิลปะ, ผู้ลี้ภัย, ตะวันออกกลาง, Rushdi Anwar, รัชดี อันวาร์, สงความ