การถูกจำกัดเสรีภาพ

นับตั้งแต่ปี 1988 การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างเคร่งครัดภายใต้รัฐบาลทหาร โดยมีกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อทำลายทั้งผลงานศิลปะและตัวศิลปิน ทว่าหลังจากที่องค์กรระหว่างประเทศกดดันรัฐบาลทหารในทางเศรษฐกิจมายาวนาน กฎหมายนี้ก็ถูกยกเลิกไปในปี 2012

แม้ผลงานจะไม่ถูกทำลายและศิลปินจะไม่ถูกทำร้ายโดยตรง นั่นก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ถูกบีบด้วยอำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตามการถูกกดขี่มานานหลายทศวรรษนั้นได้เปลี่ยนแปลงทิศทางงานศิลปะและชีวิตของศิลปินไปตลอดกาล

ศิลปินนักปฏิวัติ

ออง มินต์ โดย aura art asia

ออง มินต์ (Aung Myint) เกิดเมื่อปี 1946 ถือเป็นศิลปินที่ได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของสังคมพม่ามายาวนาน จากเกือบจะได้เป็นประชาธิปไตยสู่ยุคมืด จากยุคมืดสู่ยุคแห่งความหวัง เขาให้สัมภาษณ์กับออร่า อาร์ต เอเชียว่า การกดขี่ของรัฐบาลที่มีต่อศิลปะนั้นนานถึง 50 ปี ไม่ใช่ 24 ปีตามที่ระบุในกฎหมาย แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกความรักที่มีต่อศิลปะแต่อย่างใด

ออง มินต์ทำงานศิลปะแนวแอ็บสแตรกต์โดยใช้สีแดง ขาว ดำ เป็นหลัก ซึ่งในช่วงปี 1960 ที่รัฐบาลเข้มงวดเรื่องการใช้สี สีแดงและดำถูกมองว่าสื่อนัยทางการเมือง ออง มินต์จึงถูกจับตามองจากรัฐและถูกกดดันมาตลอด 

การกดดันนี้เองเป็นแรงผลักดันให้ออง มินต์ก่อตั้งกลุ่มศิลปินเพื่อเสรีภาพและสร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง การแสดงผลงานในยุคนั้นไม่ได้เป็นระบบแกลเลอรีเหมือนอย่างทุกวันนี้ ศิลปินมักทำหน้าที่เขียนป้ายประท้วง ออกแบบอักษร ทำโปสเตอร์และใบปลิวติดตามที่ต่างๆ หากเป็นภาพเขียนมักเปิดให้ชมตามบ้านศิลปินเฉพาะในกลุ่มคนรู้จักเท่านั้น เพื่อหลบเลี่ยงการเพ่งเล็งจากรัฐบาล 

Flying Red ถ่ายโดย aura art asia

ในปี 1988 หลังเหตุการณ์ 8888 Uprising และการมาถึงของอองซานซูจี ออง มินต์ก็ก่อตั้งอินยา อาร์ต แกลเลอรี (Inya Art Gallery) เพื่อจัดแสดงงานศิลปะของตัวเอง เพื่อนฝูง และศิลปินรุ่นใหม่ รู้กันว่าพื้นที่นี้เป็น ‘ที่หลบภัย’ ของศิลปินที่ถูกดำเนินคดีการเมืองด้วย

อาย โก (Aye Ko) อีกหนึ่งศิลปินนักปฏิวัติคนสำคัญของพม่า เดิมทีเขาเป็นจิตรกรเขียนภาพแอ็บสแตรกต์ แต่หลังจากจัดกิจกรรมการเมืองจนถูกตั้งข้อหานักโทษการเมือง และติดคุกนาน 3 ปี (ระหว่างปี 1990-1993) มุมมองต่อศิลปะของเขาก็เปลี่ยนไป

ศิลปะแนวทดลองของอาย โก

อาย โกมองว่า ยิ่งงานศิลปะตีความง่ายและเข้าถึงคนหมู่มากได้ก็ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมได้มากขึ้น จึงหันมาฝึกทักษะการแสดงละครเชิงสัญญะอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเดินสายเล่นละครการเมืองทั่วประเทศพม่าและจัดแสดงในพื้นที่ชั้นนำทั่วโลก 

ปี 2008 เขาและมิตรสหายศิลปินก็จัดตั้งกลุ่มนิว ซีโร อาร์ต สเปซ (New Zero Art Space) ขึ้นที่ย่างกุ้ง เป็นองค์กรศิลปะที่ไม่แสวงผลกำไร มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนจิตวิญญาณของศิลปินรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนความคิดทางศิลปะ รวมถึงจัดแสดงงาน ‘เลขศูนย์’ หมายถึงการเริ่มต้นของศิลปินรุ่นใหม่ และยังหมายถึง ‘วงรี’ ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด สื่อถึงการขับเคลื่อนทางศิลปะและสิทธิมนุษยชนที่ต้องดำเนินไปอย่างไม่จบสิ้นแต่ก็ยังมีความหวัง 

ระหว่างปี 2008-2012 รัฐบาลยังคงมีกฎหมายลงโทษศิลปินและทำลายงานศิลปะ การแสดงออกของศิลปินกลุ่มนี้กลับไม่ถูกจับกุมแต่อย่างใด เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสถานที่จัดกิจกรรมการศึกษาและตัวผลงานก็ใช้สัญญะที่ต้องตีความ ไม่ได้โจ่งแจ้งชัดเจน

การที่อาย โก ผลิตผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังสนับสนุนคนรุ่นใหม่นี้เองทำให้เขาได้รับรางวัลระดับนานาชาติบ่อยครั้ง ส่งผลให้ในปี 2017 เขาได้รับรางวัลโจเซฟ บาเลสเทียร์ จากเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศสิงคโปร์ เพื่อประกาศเกียรติคุณศิลปินผู้ทรงอิทธิพลในภูมิภาคนี้

อาย โก รับรางวัลโจเซฟ บาเลสเทียร์ ถ่ายโดยสถานทูตสหรัฐฯ

รูปที่มีทุกบ้าน

รูปที่มีทุกบ้านของคนพม่าคือภาพอองซานซูจี หลายบ้านนำพวงมาลัยมาแขวนไว้ที่รูปภาพ บ้างเป็นรูปวาด บ้างเป็นภาพกราฟิกร่วมสมัย ในบรรดาภาพเหล่านี้ผลงานที่คนพม่านิยมมากที่สุดคือผลงานของกราฟิกอาร์ติสชาวอเมริกันนามว่า ช็พเพิร์ด แฟรี (Shepard Fairey) ซึ่งสร้างสรรค์ภาพนี้ขึ้นในปี 2009 ช่วงที่ซูจียังถูกคุมขัง เพื่อระดมทุนให้กับองค์กรการกุศลนำไปช่วยเหลือการผลักดันประชาธิปไตยในพม่า สะท้อนชัดว่าปัญหาในพม่าเป็นปัญหาระดับโลก ไม่ใช่แค่ระดับชาติหรือภูมิภาค

Freedom to Lead โดย Shepard Fairey, 2009

อย่างไรก็ดี ความนิยมในตัวอองซานซูจีเสื่อมลง เนื่องจากเธอเพิกเฉยต่อวิกฤติการณ์ของชาวโรฮีนจา คนพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพม่าจึงเลิกแขวนรูปเธอ แม้กระแสการต่อต้านเธอจะมีให้เห็นพอสมควรโดยเฉพาะในสื่อต่างประเทศ แต่คนพม่าส่วนใหญ่ก็ยังเคารพรักนางซูจี และเชื่อมั่นว่าพรรคเอ็นแอลดีจะไม่ทำร้ายประชาชนเหมือนที่รัฐบาลทหารปัจจุบันทำ และยังมีความหวังว่าเธอจะสามารถนำพม่าให้พัฒนาเท่านานาประเทศได้ 

ความเหมือนและความต่างของศิลปะจากยุค 8888 และปีนี้

จากสายตาของโลกภายนอก ศิลปะจากยุค 8888 คล้ายถูกผูกขาดเฉพาะในกลุ่มปัญญาชนและชนชั้นนำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศิลปะจากกลุ่มศิลปิน 8888 ก็ประกอบไปด้วยผู้คนทุกชนชั้นเช่นกัน ทว่าเนื่องจากเทคโนโลยีมีจำกัด การเผยแพร่ผลงานจึงไม่กว้างขวางและรวดเร็วเท่าปัจจุบัน 

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการออกแบบป้าย โปสเตอร์ และภาพถ่ายต่างๆ ได้กระจายไปสู่โลกภายนอกอย่างรวดเร็ว มีสีสันของงานสตรีทอาร์ต งานวิดีโอ การตัดต่อภาพยนตร์ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้คนหลากหลาย ทั้งยังสร้างแรงกระเพื่อมได้ในวงกว้าง ทุกวันนี้รัฐบาลไม่ได้ห้ามให้ศิลปินใช้สีแดงและดำในงานศิลปะ สีแดงจึงถูกเลือกเป็นสีหลักในการประท้วง ซึ่งนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยคนหนึ่งเล่าว่า นอกจากสีแดงจะหมายถึงเลือดของนักปฏิวัติแล้ว สีแดงยังเป็นสีประจำพรรคเอ็นแอลดีอีกด้วย นอกจากนี้ หากมองในมุมความเท่าเทียมทางเพศ ปัจจุบันนี้มีศิลปินหญิงที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างเปิดเผยมากกว่าแต่ก่อนด้วย

ขณะเดียวกัน การรวมตัวของศิลปินพม่ายุคนี้ แทนที่จะใช้บ้านหรือสถานที่รวมกลุ่มแสดงงานในวงจำกัด ก็ปรับมาใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์ โดยตั้งกลุ่ม Art For Freedom เพื่อสื่อสารกับโลกภายนอก

ผลงานของศิลปินหญิงคูคูล (KueCool) บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวพม่าในปีนี้

ศิลปินเพนต์กราฟฟิตี้ชูสามนิ้ว ถ่ายโดย New York Times

รวมผลงานศิลปินจากกลุ่ม Art For Freedom

ปัจจุบันและวันพรุ่งนี้

ปัจจุบัน ศิลปินพม่ายังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยมีผู้สนับสนุนหลักเป็นนักสะสมจากต่างประเทศทั้งระดับบุคคลและองค์กร ผู้สนับสนุนศิลปะเพื่อประชาธิปไตยของพม่าหลายคนสะสมงานศิลปะเหล่านี้อย่างเปิดเผย ส่วนผู้ที่ยังต้องประสานงานกับรัฐบาลทหารมักสะสมงานโดยไม่ประสงค์ออกนาม ส่งผลให้ศิลปะร่วมสมัยของพม่าเติบโตต่อเนื่อง และเป็น ‘กระบอกเสียง’ ให้ประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ตอกย้ำความจริงว่าไม่มีใครกดขี่ศิลปะได้ ยิ่งกำจัดไม่ให้โต ศิลปะก็ย่อมจะหาทางงอกงามได้เสมอ

หมายเหตุ: ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ‘เมียนมา’ เนื่องจากไม่ยอมรับชื่อประเทศและระบอบการปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร

 

อ้างอิง

https://www.theartnewspaper.com/news/myanmar-s-artists-give-three-fingers-to-military-junta

https://www.theartnewspaper.com/…/myanmar-s-artists…

Tags: , , , ,