ถ้าเราจะบอกว่า การเอากล้วยธรรมดาๆ ไปติดด้วยเทปกาวบนผนัง นั้นสามารถกลายเป็นผลงานศิลปะที่ขายไปในราคา 120,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 3,642,726 บาท คุณคงคิดว่าเป็นเรื่องตลกเอาฮา แต่ขอโทษที่ต้องบอกว่ามันเป็นเรื่องจริง!

เจ้ากล้วยติดเทปกาวที่ว่านี้เป็นผลงานศิลปะของศิลปินชาวอิตาเลียนจอมแสบผู้ได้ฉายา ‘จอมป่วนแห่งโลกศิลปะ’ อย่าง เมาริซิโอ คัตเตลาน (Maurizio Cattelan) ที่ถูกนำเสนอในเทศกาลค้างานศิลปะระดับโลกอย่าง อาร์ต บาเซิล (Art Basel) ณ ชายหาดไมอามี โดยมีหอศิลป์ร่วมสมัย Perrotin ที่ร่วมงานกับคัตเตลานมาอย่างยาวนานเป็นตัวแทนจำหน่ายผลงาน ข่าวเขาว่านี่เป็นครั้งแรกที่คัตเตลานเข้าร่วมในเทศกาลค้างานศิลปะในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา และผลงานชิ้นนี้ก็เป็นที่ฮือฮาและสร้างความสนอกสนใจให้แก่ผู้เข้าชมงานอย่างมาก 

เมาริสซิโอ คัตเตลาน: Comedian (2019) ภาพถ่ายโดย Zeno Zotti Jacopo Zotti ภาพจาก https://www.artsy.net/news/artsy-editorial-maurizio-cattelans-duct-taped-banana-work-sold-art-basel-miami-beachs-vip-preview

ผู้เข้าชมงานอาร์ต บาเซิล ต่างก็ถ่ายรูปกับผลงาน Comedian ของเมาริสซิโอ คัตเตลาน กันอย่างครื้นเครง, ภาพถ่ายโดย Sarah Cascone ภาพจาก https://news.artnet.com/market/cattelan-banana-art-art-basel-172567

เมาริซิโอ คัตเตลาน เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมเหมือนจริงสุดขั้วที่ท้าท้ายสังคม การเมือง ศาสนา ไปจนถึงวัฒนธรรมร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นผลงาน La Nona Ora (The Ninth Hour) (1999) ประติมากรรมรูปสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ถูกอุกกาบาตหล่นทับ หรือ Him (2001) ประติมากรรมรูปผู้นำเผด็จการนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นั่งทำท่าสงบเสงี่ยมสำรวมราวกับจะสำนึกบาปที่เคยกระทำเอาไว้

เมาริสซิโอ คัตเตลาน: La Nona Ora (The Ninth Hour) (1999) ภาพจาก http://vacioesformaformaesvacio.blogspot.com/2012/09/maurizio-cattelan.html

เมาริสซิโอ คัตเตลาน: Him (2001) ภาพจาก http://vacioesformaformaesvacio.blogspot.com/2012/09/maurizio-cattelan.html

หรือแม้แต่ผลงาน America (2016) ส้วมทองคำ 18 กะรัต ที่ติดตั้งในห้องน้ำสาธารณะชั้นห้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชื่อดัง และเปิดให้แขกผู้เยี่ยมชมทุกคนทั้งหญิงและชายเข้าไปใช้งานทั้งถ่ายเบาถ่ายหนักกันได้ตามอัธยาศัย อ้อ เมื่อไม่นานมานี้ผลงานส้วมทองคำชิ้นนี้ก็เพิ่งถูกขโมยตอนที่ไปแสดงงานที่วังเบลนิมในประเทศอังกฤษมาหมาดๆ

เมาริสซิโอ คัตเตลาน: America (2016) ภาพจาก https://www.guggenheim.org/exhibition/maurizio-cattelan-america

ส่วนผลงานศิลปะกล้วยๆ ของคัตเตลานที่เรากล่าวถึงนี้มีชื่อว่า Comedian ที่ประกอบด้วยกล้วยหอมธรรมดาๆ ที่ซื้อจากร้านขายของชำในไมอามี เอามาติดบนกำแพงด้วยเทปกาวผ้า อิมมานูแอล เปโรตอง (Emmanuel Perrotin) เจ้าของและผู้ก่อตั้งหอศิลป์ Perrotin กล่าวถึงที่มาของผลงานชินนี้ว่า 

คัตเตลานได้ไอเดียของงานชิ้นนี้มาราวหนึ่งปีที่ผ่านมา ตอนที่เราคุยกันเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ คัตเตลานบอกว่า ผมต้องการแสดงกล้วยอันหนึ่งเป็นงานศิลปะ ตอนแรกคัตเตลานคิดจะทำประติมากรรมรูปกล้วย ทุกครั้งที่เดินทางไปไหนเขาจะซื้อกล้วยมาแขวนในห้องโรงแรมเพื่อหาแรงบันดาลใจ เขาลองทำประติมากรรมกล้วยออกมาหลายหลากรูปแบบ ทั้งจากเรซิน, บรอนซ์ ทำสีต่างๆ นาๆ แต่ก็ยังไม่ถูกใจเสียที ท้ายที่สุด เขาก็ตัดสินใจว่า วิธีที่ดีที่สุดในการทำศิลปะกล้วยๆ ก็คือการใช้กล้วยจริงๆ เลยนั่นแหละ เช้าวันหนึ่งเขาตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่า “กล้วยก็ควรจะเป็นกล้วยนั่นแหละนะ” สุดท้ายมันก็ออกมาแบบที่เห็น”

เปโรตองยังกล่าวอีกว่า “กล้วย เป็นสัญลักษณ์ของตลาดการค้าของโลก และยังมีอีกความหมายในฐานะอุปกรณ์สุดคลาสสิคสำหรับการสร้างความขบขัน (ประมาณตัวตลกเหยียบเปลือกกล้วยลื่นล้มอะไรทำนองนั้น) คัตเตลานเปลี่ยนวัตถุบ้านๆ ธรรมดาชนิดนี้ให้กลายเป็นพาหะแห่งความปิติสุขและเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์ไปพร้อมๆ กัน”

แต่ไม่รู้ว่าเปโรตองมีการแจ้งกับผู้ซื้องานหรือเปล่าว่าจะทำยังไงเมื่อกล้วยมันเริ่มเน่าขึ้นมาน่ะนะ รู้แค่ว่า ถ้ากล้วยที่ติดผนังระหว่างแสดงอยู่ในงานเทศกาลเน่า เขาก็เปลี่ยนเอากล้วยใบใหม่มาติดแทนเท่านั้นแหละ

อย่างไรก็ดี กล้วยศิลปะราคา 120,000 ดอลลาร์ ที่ถูกทำขึ้นมาสามเอดิชั่น ก็ถูกขายไปสองในสามเอดิชั่นแล้ว เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว เปโรตองกับคัตเตลานก็เลยตกลงกันว่าพวกเขาจะอัพราคาผลงานชิ้นที่เหลือเป็น 150,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 4,553,407 บาท และจะขายให้กับพิพิธภัณฑ์หรือสถาบันศิลปะเท่านั้น ซึ่งก็มีพิพิธภัณฑ์และสถาบันสองแห่งสนใจที่จะซื้อแล้วด้วย

จะว่าไปก็เป็นอะไรที่ย้อนแย้งดี เพราะในขณะที่พวกเขาอ้างว่าผลงานชิ้นนี้วิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนนิยมบริโภคนิยมและเย้ยหยันความสูงค่าราคาแพงของงานศิลปะ แต่ในขณะเดียวกันศิลปินผู้สร้างงานอย่างคัตเตลาน และตัวแทนผู้ขายผลงานอย่างหอศิลป์ Perrotin ก็รับทรัพย์เหนาะๆ จากงานชิ้นนี้ไปอย่างหน้าชื่นตาบาน โดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเท่าไหร่เลยด้วยซ้ำไป

ก่อนหน้านี้คัตเตลานเองก็เคยเอาอะไรสักอย่างไปติดเทปกาวบนผนังให้กลายเป็นงานศิลปะมาแล้ว ดังเช่นในงาน A perfect day (1999) ที่จับเอา แมสซิโม เด คาร์โล (Massimo De Carlo) เจ้าของแกลเลอรีคนดังแห่งมิลาน เพื่อนสนิทของเขาติดบนผนังด้วยเทปกาวในวันเปิดนิทรรศการ เรื่องของเรื่องก็คือคัตเตลานเคยทำงานชื่อ Untitled (1999) ซึ่งเป็นประติมากรรมแผ่นหินแกรนิตสีดำที่จารึกความพ่ายแพ้ของทีมชาติอังกฤษระหว่างปี 1874 – 1998 เมื่อ เด คาร์โล ไปเห็นก็เลยขู่ว่า ถ้ามาทำแบบนี้กับทีมโปรดของเขาอย่างมิลาน เขาจะตอกตะปูตรึงคัตเตลานไว้บนผนังซะ คัตเตลานเลยบอก เด คาร์โล ว่า มันเป็นไอเดียที่น่าทึ่งมาก ว่าแล้วก็จับเอา เด คาร์โล ติดเทปกาวตรึงเอาไว้บนผนังหอศิลป์ในวันเปิดงานของเขาเสียเลย! 

เมาริสซิโอ คัตเตลาน: A perfect day (1999) ภาพจาก http://vacioesformaformaesvacio.blogspot.com/2012/09/maurizio-cattelan.html

และอันที่จริง ก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกเองก็มีคนหยิบเอาของไร้ค่าไร้ราคามาทำเป็นงานศิลปะมาตั้งนานแล้ว ไม่ต้องพูดถึง readymades ของ มาร์แซล ดูชองป์ ที่หยิบเอาวัตถุและข้าวของสำเร็จรูปธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาอย่างโถฉี่, พลั่ว, กรงนก, ที่เสียบขวดไวน์ มาทำให้กลายเป็นศิลปะ

ก็ยังมีกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1960s ถึงกลางทศวรรษ 1970s ในอิตาลีอย่าง อาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera) ที่หยิบวัสดุและวัตถุที่ไร้ค่า ราคาถูก ไปจนถึงต่ำต้อยด้อยค่า หาได้เกลื่อนกลาดดาษดื่นทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นของเก็บตก ของเก่า ของเหลือใช้ ชำรุดทรุดโทรมอย่าง ผ้าขี้ริ้ว, กระดาษหนังสือพิมพ์, ดิน, ก้อนหิน, ถ่านหิน ไปจนถึงพืชผักที่หาซื้อได้ในตลาดสด หรือแม้แต่สิ่งปฏิกูลอย่าง ‘ขี้’ ก็เคยถูกเอามาทำเป็นศิลปะมาแล้วทั้งนั้น

ยกตัวอย่างเช่นผลงานของศิลปินในกลุ่มอาร์เต้ โพเวร่า จิโอวานนี อัลเซลโม (Giovanni Anselmo) ที่มีชื่อว่า Untitled (Sculpture That Eats) (1968) ประติมากรรมรูปแท่งหินสี่เหลี่ยมคล้ายเสาเตี้ยๆ ส่วนบนของเสาโปะด้วยหัวผักกาดหอม ประกบทับด้วยแผ่นหินสี่เหลี่ยมแล้วมัดด้วยลวด ถ้าผักกาดหอมแห้งเหี่ยวจนหดตัวลง แผ่นหินที่มัดเอาไว้ก็จะร่วงหล่นลงพื้น ดังนั้น ประติมากรรมชิ้นนี้จึงต้องถูก ‘ป้อน’ ผักกาดหอมสดๆ ใหม่ๆ เข้าไปอยู่เสมอ เพื่อให้มันคงสภาพอยู่ได้ นอกจากจะเล่นกับความสมดุลและแรงโน้มถ่วงแล้ว ผลงานชิ้นนี้ยังแฝงเอาไว้ด้วยอารมณ์ขัน และการใช้สิ่งธรรมดาสามัญที่หาได้ในชีวิตประจำวันและมีราคาถูก เน่าเปื่อยง่ายอย่าง ผักกาดหอม มาทำงานศิลปะ อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของศิลปะในแนวทางนี้อย่างชัดเจน

จิโอวานนี อัลเซลโม Untitled (Sculpture That Eats), (1968) ภาพจาก http://sulphuriclike.tumblr.com/post/159521754632/giovanni-anselmo-untitled-sculpture-that-eats

และที่ศิลปินอาร์เต้ โพเวร่าทำเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะพวกเขาขี้เหนียว หรือยากจน ไม่มีสตางค์ซื้อของดีๆ มาทำงาน หากแต่เพราะต้องการแสดงนัยยะต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบและคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สถาปนาโดยสถาบันรัฐ และการที่ศิลปะกลายเป็นสินค้าสูงค่าราคาแพงมหาศาลในระบบทุนนิยมนั่นเอง

กลับมาที่งานศิลปะกล้วยๆ กันอีกที ถึงแม้ Comedian จะเป็นผลงานมีราคาที่แพงเอามากๆ แต่เปโรตองก็ไม่กังวลว่าจะมีใครมาขโมยงานชิ้นนี้เหมือนกับส้วมทองคำที่เคยถูกขโมยไปก่อนหน้า เพราะเขาซื้อกล้วยสำรองเอาไว้แล้ว และที่สำคัญ ถ้ากล้วยที่ว่านี้ไม่มีใบรับรองและลายเซ็นจากศิลปินว่าเป็นผลงานศิลปะของแท้ มันก็จะกลายเป็นแค่กล้วยธรรมด๊าธรรมดาเท่านั้น

หลังจากมีข่าวโจษขานเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ไปไม่นาน ก็มีเหตุการณ์วุ่นๆ เกิดขึ้นก็คือ มีศิลปินแสดงสดชาวอเมริกันชื่อ เดวิด ดาทูนา (David Datuna) แอบดอดเข้าไปแกะกล้วยศิลปะราคา 120,000 เหรียญสหรัฐของคัตเตลานที่ติดเทปกาวบนผนังห้องแสดงงานในเทศกาลอาร์ต บาเซิล มาปอกเปลือกแล้วยัดเข้าปากหม่ำหน้าตาเฉย พร้อมกับประกาศว่า “นี่คือศิลปะแสดงสด… ศิลปินผู้หิวโหย” อย่างไรก็ดี ทางหอศิลป์ Perrotin เจ้าของผลงานนั้นหาได้ยี่หระแต่อย่างใด ก็แค่เปลี่ยนเอากล้วยใบใหม่มาติดแทนที่เท่านั้นเอง 

“เขาไม่ได้ทำลายงานศิลปะชิ้นนี้หรอก เพราะสิ่งสำคัญของงานนี้ไม่ใช่กล้วย แต่คือความคิดต่างหาก” ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหอศิลป์ Perrotin กล่าว

ดีไม่ดี เหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะทำให้ผลงานชิ้นนี้โด่งดังยิ่งขึ้น และอาจจะถูกอัพราคาได้แพงขึ้นอีกด้วยซ้ำไป ใครจะไปรู้เนอะ!

ข้อมูล

https://edition.cnn.com/style/article/art-basel-miami-maurizio-cattelan-banana-scli-intl/

https://www.artsy.net/news/artsy-editorial-maurizio-cattelans-duct-taped-banana-work-sold-art-basel-miami-beachs-vip-preview 

https://news.artnet.com/market/maurizio-cattelan-banana-art-basel-miami-beach-1722516 

https://www.dailymail.co.uk/news/article-7768479/Man-eats-120-000-piece-art-banana-taped-wall.html