ในตอนที่ผ่านมา เราได้นำเสนอเรื่องราวของศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของโลกที่มาร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่กันไปแล้ว ในตอนนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับเทศกาลศิลปะอีกเทศกาลในประเทศไทยอย่าง เทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ (Thailand Biennale Krabi 2018) ที่มีศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้ามาแรงของโลก มาร่วมแสดงมากหน้าหลายตา และหนึ่งในนั้นเป็นศิลปินผู้สำรวจสภาวะของมนุษย์ในยุคดิจิทัลได้เจ็บแสบที่สุดคนหนึ่ง เขาผู้นั้นมีชื่อว่า
อราม บาร์ธอลล์ (Aram Bartholl)
ศิลปินคอนเซ็ปชวล ชาวเยอรมัน ผู้อาศัยและทำงานในกรุงเบอร์ลิน เขาเป็นที่รู้จักจากการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างโลกดิจิทัลและโลกกายภาพได้อย่างลุ่มลึกและท้าทาย ผลงานของเขามักจะเล่นกับประเด็นของความไร้ตัวตนและความเป็นส่วนตัวในโลกอินเตอร์เน็ต, ความขัดแย้งระหว่างโลกอินเตอร์เน็ต, โลกแห่งความเป็นจริง และวัฒนธรรมแห่งการสื่อสารที่ส่งอิทธิพลต่อมนุษย์ ไปจนถึงการสำรวจความตึงเครียดระหว่างความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ, โลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ และความลุ่มหลงในเทคโนโลยีและวิถีชีวิตประจำวัน
สิ่งเหล่านี้เป็นแก่นแกนอันสำคัญในผลงานศิลปะจัดวางและการแทรกแทรงพื้นที่สาธารณะด้วยงานศิลปะของเขา ผลงานของเขามักจะแสดงให้เห็นถึงการแสดงออกทางกายภาพอันน่าประหลาดใจของโลกดิจิทัล ที่ท้าทายแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นจริงและความคิดเชิงนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์
เดิมที บาร์ธอลล์ไม่ได้ร่ำเรียนทางศิลปะมาโดยตรง แต่เขาจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมโยธา และเข้าฝึกงานในบริษัทสถาปนิก MVRDV ในรอตเทอร์ดาม เนเธอร์แลนด์ อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะผันตัวไปเข้าร่วมกับกลุ่มศิลปิน Freies Fach ที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นของชุมชนเมืองและงานศิลปะที่แทรกตัวเข้ากับพื้นที่สาธารณะ ต่อมาเขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มศิลปินในโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง Free Art and Technology Lab (F.A.T) ที่มีเป้าหมายในการหลอมรวมวัฒนธรรมป๊อปเข้ากับเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชนเข้าถึงได้อย่างเสรี และวิพากษ์วิจารณ์กฏหมายลิขสิทธิ์สากลที่ปิดกั้นผู้คนจากการเข้าถึงแหล่งความรู้ จนกระทั่งกลุ่มปิดตัวไปในปี 2015
บาร์ธอลล์ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายรูปแบบเขาสำรวจความหมายของสื่อดิจิทัล รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างละเอียดลึกซึ้งต่อมนุษย์ ด้วยผลงานศิลปะสาธารณะที่เชื่อมระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริง ในวิถีทางอันแปลกใหม่
“ทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ตหลอมรวมเข้ากับชีวิตของเราทุกภาคส่วน ทั้งเศรษฐกิจ, การเมือง วิถีชีวิตประจำวัน ฯลฯ นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราต้องถกเถียงและตั้งคำถามเกี่ยวกับมัน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติดิจิทัล หรือ การปฏิวัติอุตสาหกรรม (4.0) ที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกทำให้เป็นดิจิทัล หรือแม้แต่คำถามเกี่ยวกับลิขสิทธิ์, การเซ็นเซอร์, ความเป็นส่วนตัว และการปิดบังตัวตนในโลกอินเตอร์เน็ต เรามีบริษัทใหญ่ๆ ห้าหกบริษัทในโลก ที่สะสมข้อมูลจำนวนมหาศาลในโลกออนไลน์ เรามีรัฐบาลที่ต้องการสอดส่องทุกเรื่องราวเกี่ยวกับพลเมืองทุกคนด้วยการใช้เทคโนโลยีเฝ้าระวังที่มีราคาถูกลงทุกวัน นี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มากที่กำลังเกิดขึ้นในโลกเรา
แน่นอนว่าทุกวันนี้เรามีความเป็นไปได้ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ด้วยตัวเอง ต่างจากสมัยก่อน ที่เราต้องเสพมันจากสื่อสารมวลชนอย่าง โทรทัศน์, วิทยุ, หนังสือพิมพ์ ที่มีคนไม่กี่คนเขียนข่าวให้ทุกคนอ่าน ดู หรือฟังมัน ทุกวันนี้เราทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างเนื้อหาของข่าวสารเหล่านั้นออกมา ซึ่งเป็นอะไรที่แตกต่างจากแต่ก่อนอย่างมาก
มองในแง่ดี มันเป็นเรื่องเยี่ยมมากที่เรามีเครื่องมือเหล่านี้ เหมือนเมื่อสิบปีก่อนที่เรามีบล็อก ที่สามารถเผยแพร่ข่าวสารส่วนตัวของเรา แต่ในทางกลับกัน มองในแง่ลบมันก็ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความโกรธเกรี้ยว บ้าคลั่งกันได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่เรื่องต่างๆ กลายเป็นไวรัล อย่างเรื่องผู้ลี้ภัย หรือประเด็นดราม่าระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ สิ่งที่เราต้องทำ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสื่อใหม่ๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก
งานที่ผมกำลังทำ เป็นแค่การสะกิดเปลือกนอกของสิ่งเหล่านี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการทำงานศิลปะของผม คือการถกเถียงและตั้งคำถามเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ และกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักและตั้งคำถามเกี่ยวกับมัน”
บาร์ธอลล์กล่าวถึงแก่นความคิดในการทำงานของเขา
ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของบาร์ธอลล์คือโครงการศิลปะ Dead Drops (2010) ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2010 โดยเขาสร้างเครือข่ายการแชร์ไฟล์อย่างเสรี ด้วยการใช้แท่ง USB ติดบนผนังตามพื้นที่สาธารณะห้าแห่งในนิวยอร์ก และให้คนเอาคอมพิวเตอร์มาเสียบเพื่อดาวน์โหลดไฟล์ไปได้ตามใจชอบ โครงการนี้ขยายตัวไปทั่วโลก จนในที่สุดมีแท่ง USB จำนวน 1,400 ชิ้นกระจายตัวอยู่เกือบสิบสองประเทศ ทั้งแอฟริกาใต้, กาน่า, เยอรมนี, อิหร่าน และรัสเซีย และยังคงถูกทำต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
แนวคิดของโครงการนี้ขยายตัวไปเป็นงานศิลปะจัดวาง DVD Dead Drop (2012) ที่เขาเอาเครื่องไรท์แผ่นดีวีดีซ่อนไว้ในผนังด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ Museum of the Moving Image ในนิวยอร์ก ให้คนที่พบเห็น เอาแผ่นดีวีดีเปล่ามาเสียบเพื่อไรท์เอาข้อมูล, ภาพนิทรรศการศิลปะดิจิทัล, สื่อต่างๆ และเนื้อหาหรือผลงานศิลปะของศิลปินที่เขาคัดสรรกลับไปได้อย่างอิสระทั้งวันทั้งคืนตลอด 24 ชั่วโมง
“เดิมที อินเทอร์เน็ตเริ่มต้นขึ้นในฐานะของโครงการที่ค่อนข้างเปิดกว้างในมหาวิทยาลัย ในรูปแบบของระบบโอเพนซอร์ส หรือซอฟต์แวร์ฟรี บริษัทออนไลน์ต่างก็คิดค้นเทคโนโลยีอันแตกต่างหลากหลายในการสื่อสาร ซึ่งเป็นอะไรที่ทรงพลังมากๆ แต่ในทุกวันนี้ เรากลับติดกับอยู่กับโซเซียลมีเดียไม่กี่บริษัท อย่าง Facebook, Instagram ซึ่งก็เป็นบริษัทเดียวกัน หรือ Youtube, Google, Twitter ซึ่งเป็นอะไรที่ผูกขาดและค่อนข้างเป็นปัญหาอย่างมากในทุกวันนี้ เพราะถ้าคุณโพสต์บางสิ่งบางอย่างที่พวกเขาไม่ชอบและคิดว่าไม่เหมาะสม พวกเขาก็จะเซ็นเซอร์คุณ ทุกวันนี้คนเราไม่ค่อยเข้าเว็บไซต์มากเท่าแต่ก่อนอีกต่อไป ซึ่งจริงๆ มันเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถเปิดเว็บไซต์ หรือบล็อกของตัวเองได้ในแบบที่คุณต้องการฟรีๆ
สิ่งสำคัญเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และเครือข่ายออนไลน์ก็คือความมีอิสระเสรี เมื่อผมถ่ายรูปดิจิทัลแล้วส่งให้คุณ คุณอาจเอาไปโพสต์ลงวิกิพีเดีย ที่ทุกคนก็สามารถใช้ได้ นั่นแปลว่ารูปและข้อมูลเหล่านี้สามารถคัดลอก, ส่งต่อ และเผยแพร่ความรู้ได้ ซึ่งเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมและมีประโยชน์มาก วิกิพีเดียเป็นตัวอย่างที่ดี มันอาจจะมีปัญหาบางอย่าง แต่มันก็เป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้อย่างเสรีที่ดี แต่เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ ซึ่งแน่นอน ว่าคนที่ทำงานสร้างสรรค์ควรจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน การแบ่งปันภาพและข้อมูลในโลกอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีลิขสิทธิ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ในอุตสาหกรรมดนตรีและภาพยนตร์ก็ประสบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ตอนนี้ปัญหาเหล่านั้นก็ถูกจัดการได้แล้ว ทุกวันนี้ทุกคนก็ซื้อเพลงและหนังจาก iTunes และ Netflix และมันก็กลับมาเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ได้อีกครั้ง
ผมคิดว่าต่อไปการเผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นระบบที่ปิดมากๆ อีกครั้ง เพราะในยุโรปกำลังมีกฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่กำลังจะโหวตในสภาของยุโรป ที่ถ้าคุณอัปโหลดภาพบางอย่างแล้วมีคนอ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ภาพนั้นจะถูกบล็อกทันที มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างเข้มงวดและปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก เพราะอันที่จริง ศิลปะและวัฒนธรรมต่างๆ มันก็เกิดจากการดัดแปลง ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมากจากสิ่งเก่าๆ น่าตลกตรงที่ ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่กฎหมายกลับกดดันให้มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกให้น้อยลง ในอนาคตกฏหมายลิขสิทธิ์อาจทำให้เราไม่สามารถส่งต่อภาพหรือข้อมูลให้กันได้อีกต่อไป ซึ่งทางการตลาดมันเป็นอะไรที่ดี แต่สำหรับการแบ่งปันข้อมูลความรู้อย่างเสรี เป็นอะไรที่เลวร้ายมากๆ”
หรือผลงานสุดแสบอย่าง Map (2006–2013) ศิลปะจัดวางสาธารณะ ที่บาร์ธอลล์ติดตั้งประติมากรรมรูปสัญลักษณ์หมุดที่ปักบนแผนที่ Google Map ขนาดใหญ่ ตามจุดที่มีการปักหมุดโลเคชั่นศูนย์กลางของเมืองต่างๆ เป๊ะๆ ทั้ง ไทเป, เบอร์ลิน, อาร์ลส์ และ คาสเซล โดยขนาดของมันมีมาตราส่วนเท่ากับขนาดของหมุดเมื่อมองบนแผนที่บน Google Map จนดูราวกับว่ามีคนเอาหมุดสีแดงมาปักบนพื้นที่จริงๆ ยังไงยังงั้น
ผลงานชิ้นนี้ถูกทำขึ้นเพื่อยั่วยุความตระหนักรู้ของผู้คน เกี่ยวกับการทับซ้อนที่เพิ่มขึ้นระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกเสมือน และเพื่อเน้นย้ำว่าแผนที่ดิจิทัล ส่งอิทธิพลต่อการรับรู้สถานที่จริงได้อย่างไร การนำเสนอภาพลักษณ์ทางกายภาพของหมุดปักบนแผนที่ Google Map ของบาร์ธอลล์ กระตุ้นให้ผู้ชมประเมินข้อมูลที่ได้รับจากแผนที่ดิจิทัลในมุมมองใหม่ๆ และสำรวจประเด็นทางการเมืองของพื้นที่บนแผนที่ และตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพื้นที่ในฐานะข้อมูลดิจิทัลและพื้นที่จริงๆ ในชีวิตประจำวัน
“ทุกวันนี้ รัฐบาลหลายแห่งในโลกต่างคอยสอดแนมและแทรกแซงการสื่อสารของประชาชน พวกเขาคอยสอดส่องว่าคุณกำลังทำอะไรในโลกออนไลน์ จริงอยู่ ที่คนบางคนตระหนักรู้ถึงเรื่องราวเหล่านี้และสามารถใช้เทคโนโลยีป้องกันตัวเองจากการถูกสอดส่อง, จับตา, หรือแม้แต่ถูกแบน, เซ็นเซอร์ หรือจำกัดเสรีภาพในการใช้อินเตอร์เน็ตได้ แต่สำหรับคนทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับการเป็นแค่ผู้ใช้งานที่ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เรายังใช้ Google ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจิน (โปรแกรมค้นหา) ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดบริษัทหนึ่งในโลก และคุณก็ให้ข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดกับพวกเขา แลกกับการใช้งานมัน”
บาร์ธอลล์เป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะนานาชาติ Skulptur Projekte Münster ในปี 2017 ผลงานของเขาถูกแสดงในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำทั่วโลก อาทิ พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) และหอศิลป์ Palais de Tokyo ในปารีส
ล่าสุดเขาเข้าร่วมแสดงงานใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ (Thailand Biennale Krabi 2018) ในผลงานที่มีชื่อว่า Perfect Beach HD (2018) ศิลปะแสดงสดประกอบฉากไวนีล พิมพ์รูปชายหาดเขตร้อนสวยแบบเว่อร์ๆ ที่คนมักจะใช้เป็นภาพสกรีนเซฟเวอร์หรือวอลล์เปเปอร์บนจอคอมพิวเตอร์ ขึ้นมาสามฉาก ให้นักแสดงเดินยกออกไปบนชายหาดไร่เลย์ให้นักท่องเที่ยวดู และเปลี่ยนรูปและเคลื่อนฉากไปเรื่อยๆ ให้พวกเขาโพสท่าถ่ายรูปคู่เปรียบระหว่างหาดดิจิทัลกับหาดจริงที่อยู่ตรงหน้า
“ผลงานชุดนี้ของผมเป็นการแสดงสดบนชายหาดที่ใช้ฉากไวนีลขนาดใหญ่พิมพ์รูปชายหาดเขตร้อนสวยๆ ที่ผมหามาจากอินเตอร์เน็ต หลายภาพเป็นภาพที่ถูกตกแต่งและตัดต่อขึ้นมาใหม่ บางภาพมีต้นปาล์มอยู่บนชายหาด ซึ่งถูกตัดต่อต้นปาล์มต้นเดิมลงไปอีกมุมของภาพเพื่อความสวยงามลงตัวจนดูน่าขัน ชายหาดเขตร้อนเหล่านี้เป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนในยุโรป ภาพของชายหาดเขตร้อนเป็นสัญลักษณ์ของสถานที่อันพิเศษและสมบูรณ์แบบ เมื่อผมให้นักแสดงแบกฉากพวกนี้ออกไปที่ชายหาด มันเลยเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่าขัน เพราะคุณอยู่บนชายหาดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกอยู่แล้ว อยู่ดีๆ ก็มีคนแบกภาพของชายหาดจากที่อื่นออกมาข้างหน้า ปฏิกิริยาของคนที่เห็นก็มีทั้งงุนงงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่? ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการให้พวกเขาสงสัยและตั้งคำถาม, บางคนก็ขบขัน หรือรำคาญ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวหลายคนมาถ่ายรูปหน้าฉากชายหาดเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจด้วยเหมือนกัน แต่ในขณะเดียวกัน มันก็น่าตลก เพราะเอาจริงๆ พวกเขาก็อยู่บนชายหาดจริงๆ อยู่แล้ว แต่เหมือนคุณถูกฝึกมาให้ทำแบบนั้นโดยอัตโนมัติ
ภาพถ่ายชายหาดมีประวัติศาสตร์ยาวนานในฐานะภาพสำหรับการท่องเที่ยว ย้อนกลับไปในอดีตที่จิตรกรไปเที่ยวทะเลแล้ววาดภาพทิวทัศน์ชายทะเลกลับมา ทุกวันนี้ ที่โซเชียลมีเดียบังคับให้เราบริโภคธรรมชาติในการท่องเที่ยวอย่างล้นเกิน จนกลายเป็นเรื่องของตัวคุณในฉากหลังต่างๆ นี่คือสิ่งที่โซเชียลมีเดียทำให้เราเป็น ทุกวันนี้คุณไม่เพียงแค่ถ่ายรูปทิวทัศน์ แต่ถ่ายรูปตัวเองที่อยู่ในทิวทัศน์เหล่านั้น มันเหมือนกับเราเอาอัตตาของตัวเองมาแสดงออกในโซเชียลมีเดีย คำถามก็คือ อะไรคือความเป็นจริงที่เราอาศัยอยู่กันแน่ เพราะมีความจริงที่แตกต่างกันในโลกออนไลน์ ซึ่งทับซ้อนกันหลายชั้นมาก
ในปัจจุบันเราใช้ชีวิตอยู่กับโลกสองมิติบนจอ เมื่อคุณดูรูปในอินเตอร์เน็ตที่มีแฮชแท็ก (#) เป็นชายหาดต่างๆ คุณจะเห็นรูปเป็นตันๆ ของผู้คนที่อยู่ริมทะเลที่โพสท่าถ่ายรูปเหมือนกัน กระโดดตัวลอยแบบเดียวกัน จนกลายเป็นแบบแผนซ้ำๆ ที่ทุกคนต้องทำเมื่อไปเที่ยวทะเล ผมต้องการทำลายแบบแผนเหล่านี้ลง”
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้มาร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่ ในครั้งนี้ บาร์ธอลล์กล่าวทิ้งท้ายว่า
“การได้มาเมืองไทย ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากในยุโรป ได้เผชิญหน้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ช่างเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ และเป็นอะไรที่ท้าทายผมมากๆ”
เข้าไปดูผลงานอื่นๆ ของเขาได้ที่ https://arambartholl.com/
ผลงาน Perfect Beach HD ของ อราม บาร์ธอลล์ แสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัย ไทยแลนด์ เบียนนาเล่ กระบี่, ที่หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2018 – 28 กุมภาพันธ์ 2019 ใครสนใจจะไปชม ก็เข้าไปดูรายละเอียดของสถานที่ติดตั้งงาน, ข้อมูลศิลปิน, ตารางกิจกรรม หรือดาวน์โหลดไกด์บุ๊กของงานได้ที่ http://thailandbiennale.org/th/ กันได้ตามอัธยาศัย
ข้อมูล
บทสัมภาษณ์ศิลปิน อราม บาร์ธอลล์ โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ขอบคุณ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เอื้อเฟิ้อการชมงานและการสัมภาษณ์
https://arambartholl.com/https://en.wikipedia.org/wiki/Aram_Bartholl
Tags: Art and Politic, Aram Bartholl, Creative Commons, anti-copyright, internet, conceptual art