ท่ามกลางการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในอิสราเอลที่กำลังร้อนแรง หลัง บนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิสราเอลกล่าวปราศรัย แต่สถานการณ์กลับกลายดุเดือดยิ่งกว่าเดิม 

เมื่อเขาให้คำมั่นในการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะประกาศอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลบริเวณเหนือหุบเขาจอร์แดนและทะเลเดดซีตอนเหนือทันที หากได้กลับเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งและ ‘ได้รับคำสั่งชัดเจนจากประชาชน’ รวมถึงจะผนวกที่ตั้งของชาวยิวทั้งหมดในเวสต์แบงก์ทันทีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศเกี่ยวกับข้อตกลงสันติภาพ

ทำให้อิสราเอลถูกกลุ่มประเทศอาหรับหลายชาติ อาทิ จอร์แดน ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย ฯลฯ รุมประณามเนื่องจากพื้นที่เหนือหุบเขาจอร์แดนและทะเลเดดซีดังกล่าวกินบริเวณกว่า 1 ใน 3 ของเขตเวสต์แบงก์ที่อยู่ระหว่างความขัดแย้งของอิสราเอลกับปาเลสไตน์

โดยการเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนเมษายนนั้นเกิดขึ้นหลัง บนจามิน เนทันยาฮู ล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และ Tom Bateman ผู้สื่อข่าวตะวันออกกลางของสำนักข่าว BBC ประเมินว่าการประกาศของนายกรัฐมนตรีอิสราเอลมีแนวโน้มจะช่วยให้เขาได้รับการสนับสนุนทางการเมือง

ด้าน Saeb Erekat ผู้นำการเจรจาฝั่งปาเลสไตน์ กล่าวว่า การกระทำของนายกรัฐมนตรีอิสราเอลนั้นผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและข้อเสนอดังกล่าวฝังโอกาสในการทวงคืนความสงบลงไปแล้ว เช่นเดียวกับที่ผู้นำชาติอาหรับทั้งหลายล้วนประณามสถานการณ์ดังกล่าวด้วยถ้อยคำรุนแรงอย่าง ‘น่ารังเกียจ’ หรือ ‘ภัยคุกคาม’

Yair Lapid ผู้นำร่วมของพันธมิตร Blue and White ก็แสดงความห่างเหินกับนาย เนทันยาฮู โดยระบุว่า  นายกรัฐมนตรีอิสราเอลไม่ได้ต้องการผนวกดินแดน แต่ต้องการที่จะผนวกคะแนนเสียง

หลังจากนั้น ความรุนแรงในฉนวนกาซ่าก็ดูเหมือนจะปะทุเพิ่มขึ้นอีก เมื่อมีจรวดจากฝั่งปาเลสไตน์ยิงออกจากฉนวนกาซาและอิสราเอลตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินรบสู่เป้าหมาย 15 แห่งในฉนวนกาซา 

อิสราเอลยึดครองพื้นที่เวสต์แบงก์มาตั้งแต่ปี 1967 ก่อนจะหยุดยั้งการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์เรียกร้องพื้นที่เวสต์แบงก์ทั้งหมดสำหรับการก่อตั้งรัฐเอกราชในอนาคต แต่ก่อนหน้านี้นายเนทันยาฮูยืนยันว่าอิสราเอลจะยังคงอยู่ในหุบเขาจอร์แดน เพื่อจุดประสงค์ด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้ ชะตากรรมของเวสต์แบงก์เป็นหัวใจของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ หลังจากอิสราเอลยึดครองเวสต์แบงก์ พร้อมกับกรุงเยรูซาเลม ฉนวนกาซาในปี 1980 และดินแดนที่ราบสูงโกลานในปี 1981 รวมถึงได้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว แม้จะไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

โดยตั้งแต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนล่าสุดอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะให้การยอมรับกับการยึดครองดินแดนดังกล่าว ทำให้นโยบายของสหรัฐอเมริกาพลิกคว่ำหงายและก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนการแก้ปัญหาในรูปแบบใดเพื่อให้เกิดสันติภาพในภูมิภาค

ที่มา

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-49657915

https://www.aljazeera.com/news/2019/09/netanyahu-announces-post-election-plan-annex-jordan-valley-190910155523634.html

ภาพ: REUTERS/Amir Cohen

Tags: ,