“ฉันแชร์ ฉันจึงมีอยู่ (I Share, therefore I am)” อาจเป็นประโยคล้อเลียนวลีเด็ดของนักคิดชาวฝรั่งเศส เรอเน เดส์การ์ตส์ ที่ว่า “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่ (I think, therefore I am)” ได้น่าสนใจทีเดียว

ความน่าสนใจของวลีที่ว่านี้คือ มันกำลังหมายความถึง คนเจน C นั้นก็คือคนยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ผูกพันกับ Creation (การสร้างสรรค์), Curation (การรวบรวมข้อมูล), Connection (การเชื่อมโยง), และ Community (กลุ่มสังคม) หรือพูดง่ายๆ คือกลุ่มคนยุคใหม่ที่ไม่ได้แบ่งตามอายุเหมือนเจเนอเรชั่นก่อนๆ แต่จัดกลุ่มตามพฤติกรรมที่ชอบใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อตนเองเข้ากับโซเชียลเน็ตเวิร์ค และแสดงความเป็นตัวเองให้โลกเห็น

APP WAR เป็นหนังที่สะท้อนตัวตนของคนเจน C โดยเล่าเรื่องของหนุ่มสาวสองคน คือ จูน (วริศรา ยู) และบอมบ์ (ณัฏฐ์ กิจจริต) หนุ่มสาวยุคใหม่ที่ตัดสินใจลาออกจากงาน เข้าสู่โลกของการทำธุรกิจสตาร์ทอัป โดยทั้งสองทำแอปพลิเคชันที่คล้ายคลึงกัน เป็นแอปที่รวมคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ชวนกันไปกินข้าวหรือนัดกันไปเล่นเกมเลเซอร์แท็ก เป็นต้น จูนและบอมบ์ค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งไปเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องห้ำหั่นกันเองเพื่อให้ได้ทุนจากนักลงทุนรายใหญ่เพื่อไปพัฒนาแอปพลิเคชันของตนเอง ความขัดแย้งระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานจึงกลายเป็นธีมหลักของหนังเรื่องนี้

เพราะเป็นเจน C จึงอยากเปลี่ยนโลก

ในหนัง เราจะสัมผัสได้ว่าตัวละครมีแรงขับเคลื่อนอย่างรุนแรงที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ไอดีไลน์ของจูนกับสัญลักษณ์รูปยูนิคอร์นที่เธอพกติดตัวเสมอเป็นตัวแทนของความใฝ่ฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและเป็นคนสำคัญ ในขณะที่อีกฉากหนึ่ง เราจะเห็นบอมบ์เสนอไอเดียเรื่องแอปให้กับเพื่อนอย่างตื่นเต้นในวงเหล้า และตัดสินใจอย่างง่ายดายที่จะลาออกจากงานเพื่อมาทำสิ่งที่เขาเชื่อ นี่เป็นคุณสมบัติหนึ่งของคนเจน C ที่อยากจัดการชีวิตตนเอง และเชื่อว่าตนเองสามารถประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วได้ ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากเทคโนโลยี ที่ทำให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เป็นประโยชน์ได้ภายในคลิกเดียว ดังที่เราจะเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เรียนรู้สิ่งที่สนใจด้วยตนเองผ่านยูทูปหรือข้อมูลเนื้อหาฟรีตามเว็บไซต์ต่างๆ จนกลายเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ

นอกจากนั้น เจน C ยังประกอบสร้างตัวตนของตนเองผ่านการแชร์เนื้อหา เช่น อัพสเตตัสเฟซบุ๊ก หรือรีวิวแบรนด์ที่ตนเองชื่นชอบในโซเชียลมีเดีย เมื่อบวกกับการเข้าถึงข้อมูลจำนวนมหาศาลแล้ว ยิ่งทำให้เจน C เป็นกลุ่มคนที่มีความชอบหลากหลาย และเข้าใจว่าอะไรคือความชอบของตนเอง อีกทั้งยังต้องการเชื่อมโยงกับกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนตนเอง แอปของจูนและบอมบ์ ที่เน้นจับกลุ่มคนจากความชอบสามารถสะท้อนอัตลักษณ์นี้ได้เป็นอย่างดี โดยจุดตั้งต้นมาจากการที่ทั้งจูนและบอมบ์มีสิ่งที่ตนเองชอบและต้องการเพื่อนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างกลุ่มก้อน ที่จะช่วยทำให้ตัวตนของพวกเขาชัดเจนขึ้นไปอีกนั่นเอง

อีกประเด็นที่จะเห็นในหนังคือเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย จูนนั้นออกมาทำสตาร์ทอัปด้วยเงินของพ่อ และถ้าเธอทำไม่สำเร็จก็จะต้องกลับไปช่วยกิจการของที่บ้าน ส่วนมากแล้ว พ่อแม่ของคนเจน C จะอยู่ในช่วง Generation X หรือ Baby Boomer ซึ่งเชื่อในการทำงานหนักและค่อยๆ ไต่ระดับไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างจากคนเจน C โดยสิ้นเชิง ความต่างนี้เกิดจากการเรียนรู้อย่างรวดเร็วของคนเจน C ที่มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้กรอบความคิดของคนเจน C พัฒนาไปเร็วกว่าสมัยก่อน การสื่อสารกับพ่อแม่เกี่ยวกับความสำเร็จในมิติต่างๆ นั้นจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

การเลือกนักแสดง เห็นได้ชัดว่าค่าย T Moment ต้องการสื่อสารความเป็น Gen C ออกมาอย่างชัดเจน โดยเลือกนักแสดงที่เป็นผู้สร้างกระแสหรือมีอิทธิพล (Influencer) ต่อกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะสื่อสาร รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่ แทนที่จะเป็นดาราระดับแม่เหล็ก ตัวละครรองลงมาอย่างเช่น เติร์ด จาก The Face Men หรือ อร  BNK48 ที่ช่วยสื่อสารภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ออกมาได้อย่างมีสีสัน แม้ว่าการเลือกนักแสดงหน้าใหม่นี้จะมีความเสี่ยง แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดกระแสการรับรู้ที่น่าสนใจทีเดียว

ความโดดเดี่ยวของคนเจน C บนโลกดิจิทัล

บทความจากเว็บไซต์ thebalancecareers กล่าวไว้ว่า “อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้จักความจริงที่นอกเหนือไปจากยุคของอินเทอร์เน็ต พวกเขาใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อติดต่อกับเพื่อน ครอบครัว และคู่ค้าทางธุรกิจ และเชื่อมโยงกับผู้คนที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน”

ด้วยความที่คนเจน C ประกอบสร้างตัวตนจากการเรียนรู้และแชร์ตัวตนผ่านช่องทางดิจิทัล พวกเขาจึงมีความสัมพันธ์กับตัวตนออนไลน์ค่อนข้างมาก ในขณะที่การสื่อสารแบบเห็นหน้าค่าตาในชีวิตจริงลดบทบาทลงไป พวกเขามีความกลัว ‘ตกกระแส’ (FOMO – Fear of Missing Out) และไม่อยู่ในกระแส ตัวตนออนไลน์นี้เป็นเพียงตัวตนใน ‘โลกเสมือน’ แต่ยิ่งพวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับมันมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งส่งผลกลับมาก่อร่างสร้างรูปตัวตนในชีวิตจริงมากขึ้นเท่านั้น ดูเหมือนตัวตนของพวกเขาจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน และความยากอย่างหนึ่งก็คือการประณีประนอมและจัดการตัวตนทั้งสองส่วนนี้ให้ได้

การมีชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Alone Together’ นั่นคือ ทุกคนล้วนรู้สึกเหงาอยู่ลึกๆ แม้จะติดต่อกับผู้คนมากมายและออนไลน์อยู่ตลอดเวลา แต่ยิ่งเหงามากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งโหยหายการเชื่อมโยงกับผู้อื่นมากตามไปด้วย กลายเป็นวังวนที่ไม่สิ้นสุด สิ่งนี้สะท้อนออกมาผ่านการที่จูนและบอมบ์นัดทำกิจกรรมด้วยกันผ่านแอป ที่ซึ่งอัตลักษณ์ของพวกเขาถูกนิยามผ่านความสนใจแต่เมื่อได้มาศึกษากันในชีวิตจริงแล้วกลับพบว่ามีสิ่งที่คาดไม่ถึงรออยู่อีกมากมาย

Tags: , , ,