“พอเรามองไปถึงอนาคต มันมองไม่เห็นอนาคตที่สดใสนัก ดีใจก็ดีใจได้ไม่เต็มที่ คือภาพยนตร์ไทยไม่ได้รับการปกป้อง ไม่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลที่ผ่านมาเท่าที่ควร” คำกล่าวที่นุชี่-อนุชา บุญวรรธนะ ผู้กำกับหนัง มะลิลา กล่าวหลังขึ้นรับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีสุพรรณหงส์ 2562 นับเป็นสปีชรับรางวัลที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากตั้งแต่คืนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ผ่านมา

เมื่อสำรวจความคิดเห็นอย่างคร่าวๆ ในพื้นที่ออนไลน์ต่างๆ พบว่านอกเหนือจากผู้ที่ส่งกำลังใจให้วงการหนังแล้ว อีกด้านหนึ่งยังมีคำถามจากชาวเน็ตบางส่วน ที่ยังไม่เข้าใจว่าอุตสาหกรรมหนังเกี่ยวข้องอะไรกับการสนับสนุนจากรัฐบาล? รวมถึงอีกหลายคำถามอื่นๆ โอกาสนี้เราจึงอยากชวนไปดูว่า ในปีสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปกป้องหรือส่งเสริมหนังไทยอย่างไรบ้าง จนทำให้คนทำหนังเอง ‘รู้สึก’ จนต้องพูดออกมาด้วยความอัดอั้น

พูดถึงการสนับสนุนโดยตรงที่สุด คงไม่พ้นเรื่องเงินทุน ในทุกๆ ปี จะมีงบประมาณก้อนหนึ่งจากกระทรวงวัฒนธรรม ที่จัดไว้เพื่อให้เป็นทุนสำหรับคนทำหนังและงานวิดีโอ ในชื่อ ‘ทุนสนับสนุนโครงการหรือกิจกรรมด้านภาพยนตร์และวิดีทัศน์ประจำปี’ โดยในปี 2561 มีงบประมาณส่วนนี้ทั้งหมด 12 ล้านบาท มีโครงการที่ได้รับทุน 35 โครงการ ทั้งหนังยาว หนังสั้น สารคดี มิวสิควิดีโอ และเกม

ขณะที่ปีก่อนหน้าอย่าง 2560 มีงบประมาณก้อนนี้ 15 ล้านบาท นั่นหมายความว่าทุนก้อนนี้กำลังน้อยลง ยิ่งกว่านั้น จะเป็นอย่างไร หากทุนก้อนนี้จะไม่มีให้คนทำหนังอีกต่อไป ซึ่งนั่นเป็นความกังวลของคนทำหนังบางส่วนอยู่ไม่น้อย

ผู้ที่ได้รับทุนนี้ในแต่ละปี ส่วนใหญ่เป็นคนทำหนังอิสระหรือหนังนอกกระแส รวมถึง มะลิลา ของอนุชาเอง เคยได้รับทุนนี้เมื่อปี 2560 แต่วงเงินที่ได้รับจากรัฐสำหรับหนังเรื่องนี้คือ 500,000 บาท ถามว่าเพียงพอไหม ต่อการทำหนังหนึ่งเรื่องให้ได้คุณภาพตามที่ผู้กำกับคาดหวังหรือต้องการ? คำตอบที่ทำให้หนังออกมาสมบูรณ์งดงามอย่างที่เป็น คงต้องอาศัยความพยายามส่วนอื่นๆ และทุนส่วนที่ทางผู้ทำหนังจัดสรรหามาเองเสียมากกว่า และเรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน

อย่างไรก็ตามในปี 2561 กระทรวงวัฒนธรรมได้รับงบประมาณ 68 ล้านบาท จากงบกลางของปี ซึ่งมีวงเงินทั้งหมด 150,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า งบประมาณที่รัฐจัดสรรให้อุตสาหกรรมหนัง คิดเป็น 0.008% ของงบประมาณทั้งหมดที่รัฐจัดสรรให้ภาคส่วนต่างๆ นั่นได้สะท้อนความสนใจที่รัฐมีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่อันที่จริงแล้วสามารถเป็นได้มากกว่าแค่ ‘ความบันเทิง’ หากแต่สามารถเป็น ‘soft power’ อันทรงพลังอย่างที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ

กล่าวถึงกรณีเกาหลีใต้ แม้ว่าในหลายปีให้หลังผู้กำกับฯ เกาหลีใต้เองจะพบว่างบประมาณก้อนโตจากรัฐ ก็มาพร้อมกับการเซนเซอร์และแทรกแซงอันใหญ่หลวง แต่ถึงอย่างนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้หลายชุดได้ส่งต่อแนวคิดการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจังและเห็นได้ชัดว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งข้อเรียกร้องของผู้กำกับหนังไทยในงานสุพรรณหงส์ครั้งล่าสุดนี้ ก็ตรงกับหลายๆ นโยบายที่เกาหลีใต้ทำ

อย่างเช่นเรื่อง screen quota หรือการจัดสรรให้หนังไทยได้เข้าฉายในโรงในปริมาณอันสมควร ข้อนี้เป็นข้อเสนอของยรรยง คุรุอังกูร ผู้กำกับ App War แอปชนแอป ซึ่ง ธนิตย์ จิตนุกล นายกสมาคมผู้กำกับฯ ได้ย้ำอีกว่ารัฐบาลควรจำกัดโควต้าหนังต่างประเทศที่จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ต่อปี ทั้งยังควรให้คนในอุตสาหกรรมดูแลกันเองในแง่การจัดเรตหนังและเซนเซอร์ ทั้งนี้ ภาษีที่เก็บจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ควรนำกลับมาพัฒนาหนังไทยให้แข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและสากล

อีกหนึ่งประเด็นใหญ่คือเรื่องของการเซนเซอร์แทรกแซง รัฐไทยให้งบประมาณน้อยนิด แต่การแทรกแซงก็แรงไม่แพ้ใคร ย้อนไปในช่วงที่ ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 2.2 ถูกแบนจากฉากพระเคาะโลงร้องไห้ ก็เป็นสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ที่ต้องออกมาเรียกร้องกันเอง ให้มีการตระหนักเรื่องการเซนเซอร์ที่ด้อยเหตุผลจากรัฐบาล ยังไม่นับถึงการเซนเซอร์ในประเด็นอื่นที่ใหญ่กว่านั้น ที่ทำให้คนทำหนังต้องหวาดเสียวกันในทุกครั้งที่จะทำหนังท้าทายรัฐ

ยิ่งกว่านั้น อนุชากล่าวเพิ่มเติมกับสำนักข่าวไทยรัฐว่า อยากให้มีการบรรจุหลักสูตรภาพยนตร์ศึกษา ให้นักเรียนชั้นประถมและมัธยมได้มีโอกาสชมหนังที่มีเนื้อหาแตกต่างจากหนังบันเทิงกระแสหลัก ซึ่งหนังสามารถสะท้อนชีวิตและสังคม เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ ตีความ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นที่น่าติดตามว่า หากระบบการศึกษาสามารถส่งเสริมแนวคิดให้ผู้คนสนใจแง่งามของภาพยนตร์ที่มีความแตกต่างหลากหลายได้สำเร็จ อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตไปได้ไกลอีกมากแค่ไหน

 

อ้างอิง:

Tags: , ,