“Don’t Eat Before Reading This” คือชื่อบทความของ แอนโทนี บอร์เดน ที่ตีพิมพ์ใน The New Yorker  เมื่อเดือนเมษายน ปี 1999 และเป็นผลงานที่ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่แค่ในวงการอาหาร แต่ยังขยายมาถึงวงการสื่อ เพราะเขาบอกเล่าความลับเบื้องหลังเมนูหรูของร้านอาหารในนิวยอร์กอย่างจริงใจด้วยภาษาน่าอร่อย

เรื่องราวสุดสนุกในบทความนี้ ยังต่อยอดมาเป็นหนังสือเรื่อง Kitchen Confidential: Adventures in the Culinary Underbelly งานเขียนพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกของบอร์เดน ที่ติดอันดับหนังสือขายดี พร้อมๆ กับที่ชื่อของเขาก็กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ในฐานะเชฟที่เขียนหนังสือได้ออกรสชาติไม่แพ้การทำอาหาร จะเรียกเขาว่าเป็นนักเขียนก็ได้อย่างไม่มีข้อกังขา

ชื่อเสียงนอกห้องครัวของเขา ทำให้นอกจากจะเป็นเชฟและนักเขียนแล้ว เขายังพ่วงตำแหน่งผู้ดำเนินการรายทีวี เริ่มจากรายการ A Cook’s Tour  (2002) ต่อด้วย Anthony Bourdain: No Reservations (2005-2012) รายการอาหารของ Travel Channel ที่เขาเดินทางไปทำความรู้จักวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ผ่านทางอาหาร แทรกด้วยรายการคอนเซปต์น่าสนใจอย่าง The Layover (2011-2013) ที่บอร์เดนสำรวจเมืองต่างๆ ที่อาจมีโอกาสทำความรู้จักในระยะเวลาสั้นๆ เวลาที่ต้องแวะพักบางเมืองระหว่างเดินทางไกล หรือเลย์โอเวอร์ 24-48 ชม.

ก่อนจะมาถึง Anthony Bourdain: Parts Unknown (2013 – 2018) รายการอาหารของ CNN ที่คนดูจะได้เห็นฟุตเทจทั้งเรื่องอาหาร วัฒนธรรม และการเมืองรวมอยู่ในรายการเดียวกัน

ด้วยชื่อชั้นและผลงานของเขาทำให้ไม่น่าแปลกใจที่การจากไปของเชฟชาวอเมริกันวัย 61 ปีคนนี้จะเป็นข่าวใหญ่ในโลกตะวันตก ทั้งยังมีคนดังจำนวนมากออกมาโพสต์ข้อความถึงเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะเซเลบริตี้เชฟหรือคนในวงการเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา และอดีตนักบินอวกาศของนาซ่าอย่าง สก็อต เคลลี

แต่ที่น่าคิดก็คือ เหตุการณ์นี้ยังเป็นเฮดไลน์ในโลกตะวันออกอีกหลายประเทศ รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในฟิลิปปินส์ ที่เมื่อวันคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียของที่นั่นเต็มไปด้วยข้อความไว้อาลัยถึงบอร์เดน

หนึ่งในนั้นคือข้อความจาก โจเอล บินามิรา (Joel Binamira) นักธุรกิจด้านอาหารที่เริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของร้านเล็กๆ ในเซบู ที่บอร์เดนเคยเดินทางไปเยือนใน No Reservations ซีซัน 5 เมื่อปี 2009 และกินหมูหัน (lechon) อาหารขึ้นชื่อของที่นั่นเป็นครั้งแรก บินามิราโพสต์ถึงเชฟคนดังในอินสตาแกรมของเขาว่า บอร์เดนคือคนที่ไม่เพียงเปลี่ยนชีวิตเขา แต่ยังเป็นคนทำให้อาหารฟิลิปปินส์กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลก

เช่นเดียวกับที่ คล็อด ตายัก (Claude Tayag) เจ้าของร้านและนักวิจารณ์อาหารชาวฟิลิปปินส์ พูดถึงบอร์เดนในการให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Newsroom ของ CNN ที่นั่นว่า บอร์เดนคือคนที่จุดประกายความสนใจที่ทั่วโลกมีต่ออาหารฟิลิปปินส์ และยังทำให้โลกรู้จักอาหารของที่นั่นอย่าง sisig หรือหัวหมูต้มกับเครื่องเทศจนเปื่อย

สิ่งที่ชาวฟิลิปปินส์จดจำบอร์เดนไม่ได้มีแค่เรื่องอาหาร แต่ยังมีความผูกพันอื่นๆ ที่ทำให้การจากไปของบอร์เดนสะเทือนใจคนฟิลิปปินส์จำนวนไม่น้อย เขาเคยเล่าว่าพี่เลี้ยงของลูกสาวก็เป็นชาวฟิลิปปินส์ เขาจึงรู้สึกเชื่อมโยงทั้งกับผู้คน อาหาร และวัฒนธรรมที่เอื้ออาทรของคนที่นี่ ครั้งหนึ่งเขาเขียนบทความลงใน CNN Travel บอกถึงความประทับใจในน้ำใจไมตรีของคนชาตินี้ตามที่เขารู้สึก

อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่ No Reservations ของบอร์เดนเดินทางไปถึงตั้งแต่ซีซันที่ 2 ผลจากรายการที่ออกอากาศในปี 2006 ทำให้ babi guling หรือหมูย่างสไตล์บาหลี กลายเป็นเมนู must eat ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปที่นั่น

ในขณะที่สำหรับคนมาเลเซีย เรเชล คอง (Rachel Khong) นักเขียนด้านอาหารชื่อดังในอเมริกา บอกว่า สิ่งที่ทำให้เธอร้องไห้เมื่อวันก่อนนี้ไม่ใช่ตอนที่รู้ข่าว แต่เป็นตอนที่ครอบครัวของเธอคุยกันถึงเรื่องนี้ในกรุ๊ปแชท เพราะพ่อแม่ชาวมาเลเซียของเธอชื่นชมบอร์เดนมาก เขาเป็นคนแรกที่ถ่ายทอดเรื่องราวของอาหารมาเลเซียในแง่มุมที่ต่างจากรายการทีวีอื่นๆ ตั้งแต่ในสมัยที่อาหารมาเลเซียยังไม่ได้เป็นที่รู้จักและยากที่จะหาคำมาใช้อธิบายให้คนต่างชาติเข้าใจถึงความอร่อยของมัน

คลาริสซา แจน ลิม (Clarissa-Jan Lim) คนข่าวชาวมาเลเซียอีกคนที่ทำงานในนิวยอร์กและติดตามผลงานของบอร์เดนทวีตว่า เหตุผลที่ทำให้เธอรักรายการของเขา โดยเฉพาะตอนใดๆ ที่ถ่ายทำในมาเลเซีย ก็เพราะบอร์เดนไม่ได้เล่าถึงเรื่องอาหารและวัฒนธรรมเหมือนกับสื่อตะวันตกอื่นๆ ที่มักจะพะยี่ห้อความเอ็กโซติกให้กับวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บอร์เดนเลือกที่จะเรียนรู้และสนุกไปกับทุกสิ่งที่เขาสัมผัส

“ผมสนใจและอยากไปเห็นประเทศนี้ด้วยตาตัวเองตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับลาว” บอร์เดนพูดถึงลาวเมื่อครั้งที่ Parts Unknown เดินทางไปเยือนที่นั่นก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี ความเป็นประเทศที่เคยอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส เคยปลูกฝิ่น อยู่ในวงล้อมของจีน ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เหล่านี้ทำให้บอร์เดนสนใจที่นี่

แม้รายการตอนนี้ เราจะได้เห็นบอร์เดนเอร็ดอร่อยกับข้าวเปียกเส้นและอาหารเสียบไม้ย่างในตลาด แต่น้ำหนักในการเล่าเรื่องที่แท้จริงกลับอยู่ที่บทสนทนากับคนที่เคยผ่านสงครามและได้รับบาดเจ็บจากระเบิด รวมถึงคนที่งานของเขาคือการเก็บกู้ระเบิดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เพราะบอร์เดนเชื่อว่า นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศนี้ที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ และเป็นสิ่งที่ควรได้รับการพูดถึง

แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเลือกพูดถึงประเด็นหนักๆ ในรายการอาหาร เพราะเมื่อครั้งที่บอร์เดนไปเยือนกัมพูชา ภาพจำของรายการตอนนั้น นอกจากความสนุกในการลิ้มลองอาหารทะเลท้องถิ่นแล้ว ยังมีซีนที่บอร์เดนนั่งคุยกับนักการเมืองในกัมพูชาเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันเกี่ยวกับเรื่องกัมพูชาในยุคเขมรแดง

ความเข้าใจถึงสถานการณ์ในอดีตและความเห็นใจผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามที่ทำร้ายประเทศอย่างยาวนาน ทำให้บอร์เดนไม่เคยปิดบังความเห็นที่เขามีต่อ เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) ผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ในกัมพูชาที่คร่าชีวิตคนไปหลายพันคน ระหว่างปี 1965-1973 และนำไปสู่การยึดครองอำนาจของเขมรแดงและการสูญเสียอีกมากที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ทางความรู้สึก

สำหรับที่พม่า บอร์เดนและทีมงาน Parts Unknown เดินทางไปที่นั่นในปี 2013 แทบจะในทันทีหลังจากรัฐบาลเริ่มเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว ภายใต้กลิ่นกรุ่นของชาพม่า เครื่องดื่มยอดนิยมของคนที่นั่น และขนมอบที่มีทั้งชนิดที่ได้อิทธิพลจากจีนและอินเดีย ความเป็นมิตรของคนท้องถิ่นที่นั่นคือสิ่งที่เชฟรุ่นใหญ่สัมผัสได้และถ่ายทอดความประทับใจนั้นออกมาผ่านรายการของเขา

ประเทศใกล้กันอย่างเวียดนาม คืออีกที่ที่หลายคนยังจำภาพของบอร์เดนที่นั่นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาพที่เขานั่งดวดเบียร์เวียดนามกับ บารัค โอบามา อยู่ในร้านขาย bun cha หรือเส้นขนมจีนกินคู่หมูย่างกลางกรุงฮานอย ซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะตารางในการถ่ายทำที่นั่นของเขาตรงกับช่วงที่อดีตประธานาธิบดีเดินทางไปเยือนเวียดนามพอดี การเจอกันในครั้งนั้นเลยทำให้รายการ Parts Unknown ที่ออนแอร์เมื่อปี 2016 จึงไม่ใช่แค่การแนะนำให้คนดูรู้จักถึงความอร่อยในแบบเวียดนามเท่านั้น แต่ยังเปิดเผยให้เห็นถึงอีกด้านของโอบามาที่คนทั่วโลกไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ

บารัค โอบามา และ แอนโทนี บอร์เดน ในร้านอาหารเวียดนามที่ฮานอย ภาพเมื่อ 25 พฤษภาคม 2016 โดย manhhai

เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้า บอร์เดนเพิ่งโพสต์ภาพโต๊ะอาหารที่ร้านซึ่งเขาและโอบามาเคยนั่งด้วยกัน หลังจากที่ทางร้านสั่งทำพลาสติกใสครอบโต๊ะนั้นไว้ และเซ็ตอุปกรณ์บนโต๊ะ รวมถึงตั้งขวดเบียร์ไว้ เพื่อจำลองมื้ออาหารในวันนั้น หลังจากข่าวร้ายเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โต๊ะอาหารที่เจ้าของร้านเก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ มานั่งกินที่ร้านเขา ก็กลายเป็นที่ที่ลูกค้าส่วนหนึ่งตั้งใจมาเพื่อระลึกถึงบอร์เดน เชฟจากอีกฝั่งของโลก

เมืองไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ใน Parts Unknown ของบอร์เดน

หลังจากที่ No Reservations ซึ่งถ่ายทำก่อนหน้าหลายปี เน้นเล่าเรื่องสตรีตฟู้ดในกรุงเทพฯ และลงใต้ไปที่ภูเก็ต Parts Unknown มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปที่เชียงใหม่ โดยมี แอนดี้ ริกเกอร์ (Andy Ricker) เชฟเจ้าของร้าน Pok Pok ร้านอาหารไทยชื่อดังในอเมริกา ผู้หลงใหลในอาหารไทยอย่างจริงจังเป็นคนพาบอร์เดนไปผจญภัยด้านรสชาติตามร้านต่างๆ รวมไปถึงร้านขายหลู้ หรือซุปเลือดที่บอร์เดนให้ฉายาว่าเป็น ‘CSI soup’ ก่อนจะใช้ช้อนจ้วงเลือดดิบในชามเข้าปาก แล้วลงความเห็นว่าเป็นหนึ่งในมื้อที่อร่อยที่สุดในไทยที่เขาเคยได้กินมา

หลายร้านและหลายเมนูที่ได้เห็นในรายการที่ออกอากาศเมื่อปี 2013 เป็นร้านที่ต่อให้เป็นคนไทยเองก็ยากที่จะรู้จักหากไม่ใช่คนในพื้นที่ และคงไม่ใช่ทุกคนที่จะเอร็ดอร่อยกับอาหารเหล่านั้นได้เท่าหรือแม้แต่ใกล้เคียงกับที่เราเห็นบอร์เดนรู้สึกในรายการ

ทำให้ในบางครั้ง Parts Unknown ของบอร์เดนจึงไม่ใช่แค่การแนะนำให้คนนอกเปิดใจทำความรู้จักวัฒนธรรมที่แตกต่างในต่างแดน แต่เป็นการสะกิดให้คนในได้รู้จักวัฒนธรรมของตัวเองมากขึ้นและเห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัวยิ่งกว่าเดิม

 

อ้างอิง:

Fact Box

แอนโทนี ไมเคิล บอร์เดน เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 1956 ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ

ตลอดชีวิตของบอร์เดน เขาเป็นทั้งเชฟ นักเขียน พิธีกร และนักผลิตรายการเกี่ยวกับอาหาร ความหลงใหลในเรื่องนี้ของเขาถูกจุดประกายด้วยหอยนางรมสดๆ ที่เขาได้กินบนเรือประมง เมื่อครั้งเดินทางไปเที่ยวฝรั่งเศสกับครอบครัวสมัยเด็ก ก่อนจะสะสมแพสชั่นในเรื่องนี้มาเรื่อยๆ จนทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยและลงเรียนที่ The Culinary Institute of America แทน เพื่อจะได้ทำงานในครัวอย่างเต็มตัว

หลังจบจากสถาบันสอนทำอาหารเมื่อปี 1978 บอร์เดนทำงานในร้านอาหารหลายแห่งในนิวยอร์กซิตี้ ก่อนจะขึ้นเป็นเอ็กเซ็กคิวทีฟเชฟของ Brasserie Les Halles ร้านหรูในย่านแมนฮัตตันหลังจากเริ่มอาชีพคนทำอาหารมานาน 20 ปี

นอกจากจะถนัดในการทำอาหารแล้ว บอร์เดนยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่เล่าเรื่องได้สนุกมากคนหนึ่ง งานสร้างชื่อของเขาในด้านนี้เริ่มต้นจากบทความใน The New Yorker ที่ขยายต่อมาเป็น Kitchen Confidential: Adventures in the Culinary Underbelly (2000) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของเขาและเป็นเบสต์เซลเลอร์ รวมถึงมีภาคต่อเป็น Medium Raw: A Bloody Valentine to the World of Food and the People Who Cook (2010) เบสต์เซลเลอร์ของบอร์เดนยังรวมถึง A Cook's Tour (2001) และ The Nasty Bits (2006) ด้วย งานเขียนเกี่ยวกับอาหารของบอร์เดนยังปรากฏอยู่ในสื่ออื่นๆ อีกมาก ทั้งใน The New Yorker, The New York Times, The Los Angeles Times, The Independent ฯลฯ

บอร์เดนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเมื่อเขาขยับมาเป็นพิธีกรรายการทีวีที่เกี่ยวกับอาหาร ตั้งแต่ A Cook's Tour, Anthony Bourdain: No Reservations, The Layover มาจนถึงรายการที่ออกอากาศทาง CNN อย่าง Anthony Bourdain: Parts Unknown ที่เด่นด้วยการพาคนดูไปทำความเข้าใจวัฒนธรรม ผู้คน และเรื่องราวของเมืองต่างๆ ผ่านทางอาหารแบบไม่ผิวเผิน

ผลงานของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเชฟ เจ้าของร้านอาหาร นักเขียน คนทำรายการ หรือคนธรรมดาทั่วไปที่ได้เห็นโลกผ่านสายตาของบอร์เดน และกล้าที่เปิดรับสิ่งที่แตกต่างจากความคุ้นเคยของตัวเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2018 โลกโซเชียลจึงเต็มไปด้วยข้อความไว้อาลัยถึงบอร์เดน หลังจากที่เขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงในวัย 61 ปี

Tags: , , , , , ,