วันแรกของการผจญภัยในเกม Animal Crossing: New Horizons บนเครื่อง Nintendo Switch คือการเดินทางไปยังเกาะร้างเพื่อสร้างเมืองในฝัน แต่มันอาจไม่โรแมนติกเหมือนในหนัง Cast Away เพราะหลังจากเครื่องบินลงจอด ทอม นุก (Tom Nook) แรคคูนนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทนุก (Nook Inc.) ก็ออกมาต้อนรับพร้อมคิดบัญชีเสร็จสรรพทั้งค่าตั๋วเครื่องบิน โทรศัพท์มือถือและค่าก่อสร้างบ้านหลังน้อยบนเกาะแห่งนี้

ไม่น่าแปลกใจนักที่หลายคนจะมองว่าเรากำลังกลายเป็นเบี้ยรับใช้นายทุนแรคคูนจอมโหดที่พร้อมเรียกร้องให้ ‘บริจาค’ ภาคบังคับและคิดสตางค์ทุกครั้งที่เราขยับตัว โดยมีปลายทางเพื่อสร้างมูลค่าเกาะร้างแห่งนี้ให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและอยู่อาศัยที่เหล่าสรรพสัตว์ต้องการมาสัมผัส

หากมองข้ามความทุนนิยมของแรคคูนนายทุน เราจะได้สนุกสนานกับความประหลาดใจที่ชวนให้ค้นหาทุกซอกในทุกซอกทุกมุมของเกาะ อุปกรณ์แต่งบ้านและประดับพื้นที่รอบเกาะที่มากมายนับไม่ถ้วน เกมนี้ยังเปิดโอกาสให้เชิญชวนเพื่อนมาแฮงค์เอาท์ ชมดอกไม้ เก็บผลไม้ จับแมลง ตกปลา และร่วมทำสารพัดกิจกรรมได้บนเกาะของเรา

แต่ภารกิจหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดในเกมนี้ คือการแสวงหาปลา แมลง และฟอสซิล เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

ไกลคน ใกล้ธรรมชาติ ฉบับ Animal Crossing: New Horizons

จากเกาะร้างที่มีผู้เล่นและพนักงานบริษัทนุกตั้งรกราก สัตว์ตัวแรกที่เดินทางมาขออาศัยคือ บลาเธอร์ส (Blathers) นกฮูกนักวิชาการที่มาขอรับบริจาคสัตว์หลากชนิดที่พบเจอได้บนเกาะเพื่อนำมาจัดแสดงอย่างสวยงามในพิพิธภัณฑ์

ความน่าประทับใจในระบบสะสมแมลงและปลาคือรายละเอียดที่ออกแบบมาอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ช่วงเวลาและฤดูกาลที่สมจริง สถานที่พบเจอที่ชวนค้นหา ผู้เล่นอาจเคาะก้อนหินแล้วเจอกระสุนพระอินทร์ตัวจ้อยดีดออกมา เดินฝ่าดงดอกไม้แล้วเจอกับตั๊กแตนตำข้าว ตกปลาบริเวณน้ำไหลแรงแล้วได้แซลมอน แต่หากตกในบ่อน้ำนิ่งอาจเจอกับกุ้งนางหรือลูกอ๊อด นี่คือความรื่นรมย์ที่ยากจะหยุดค้นหา

รายละเอียดช่วงเวลาที่พบ สถานที่ที่พบ และภาพวาดปลาการ์ตูนในแอพฯ รวบรวมข้อมูลปลาและแมลง

ในสมุดสะสมที่ผู้เล่นทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือยังประกอบด้วยภาพวาดสวยงามรวมถึงช่วงเวลาที่สามารถพบเจอสัตว์เหล่านั้นได้ ที่สำคัญ เมื่อนำสัตว์หรือฟอสซิลไปบริจาค บลาเธอร์สก็จะรับอาสาอธิบายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจของสิ่งที่นำมาบริจาคอีกด้วย ตัวอย่างเช่นหากเรานำปลาการ์ตูนไปบริจาค บลาเธอร์สก็จะสาธยายให้ฟังว่า

“น้อยคนที่จะปฏิเสธความน่ารักน่าชังของปลาการ์ตูน ปลาที่มีสีสันสดสวยนี้อยู่อาศัยท่ามกลางดอกไม้ทะเลที่มีพิษ มันคือการพึ่งพาอาศัยแบบได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ปลาการ์ตูนจะแสวงหาความปลอดภัยและเศษอาหารท่ามกลางระยางค์พิษของดอกไม้ทะเล ในทางกลับกัน ปลาการ์ตูนก็จะคอยกำจัดปรสิตและไล่เหล่านักล่าที่จ้องจะทำร้ายดอกไม้ทะเล ดังนั้น ปลาที่สดใสตัวนี้ทำให้เรานึกถึงค่าความสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิด”

นี่เป็นหนึ่งในสัตว์และฟอสซิลหลายร้อยชนิดที่สามารถมาขอเกร็ดความรู้จากบลาเธอร์ส

ส่วนจัดแสดงสัตว์น้ำภายในพิพิธภัณฑ์

เมื่อเหล่าสัตว์และฟอสซิลถูกส่งถึงพิพิธภัณฑ์ที่แม้ว่าภายนอกจะดูเล็กจิ๋วราวกับห้องแถว แต่ภายในสวยงามจนน่าตื่นตะลึง ทั้งหมู่แมลง ฝูงปลา และซากฟอสซิล ถูกจัดประเภทหมวดหมู่และนำเสนอได้อย่างน่าสนใจราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์จริงๆ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้ทุกครั้งที่ส่งมอบสัตว์หรือฟอสซิลชนิดใหม่ ก็อดไม่ได้ที่จะเข้ามาดูว่าบลาเธอร์สจะนำไปจัดแสดงอยู่ที่ส่วนใด

ส่วนจัดแสดงผีเสื้อภายในพิพิธภัณฑ์

อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเกม Animal Crossing: New Horizons ที่ยังมีเรื่องราวให้ประหลาดใจอยู่เสมอในทุกวันที่เข้าไปเล่น ทั้งสินค้าใหม่ที่นำมาวางขาย สัตว์หน้าใหม่ที่เดินทางมาเยี่ยมเยือนเกาะ รวมถึงเนื้อเรื่องที่ขับเคลื่อนผ่านประกาศหน้าลานชุมชนทุกวันโดยนายทุนแรคคูนทอม นุก จึงไม่น่าแปลกใจนักที่คนจำนวนไม่น้อยจะเลือกผ่อนคลายบนเกาะร้างเพื่อผ่านช่วงเวลาของการอยู่เพียงลำพัง

ส่วนจัดแสดงฟอสซิลภายในพิพิธภัณฑ์

ไกลคน ใกล้ธรรมชาติ ฉบับคนไม่มีคอนโซล

แล้วสำหรับคนที่ไม่มีเครื่องคอนโซลหรือไม่ถนัดภาษาอังกฤษแต่อยากใกล้ชิดธรรมชาติบ้างจะทำอย่างไรดี?

ไม่ต้องห่วงครับ เพราะผู้เขียนมีอีก 2 ทางเลือกฉบับภาษาไทย นั่นคือคู่มือชีวิตป่าเมืองกรุงโดยมูลนิธิโลกสีเขียว และเว็บไซต์กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ Siamensis

สำหรับคู่มือชีวิตป่าเมืองกรุง แม้บนปกจะมีเขียนคำว่ากรุงเทพฯ แต่ความจริงแล้วคือพืชและสัตว์ที่สามารถพบได้ทุกที่ในบริเวณเมืองและชานเมือง หนังสือเล่มนี้นับว่าครบเครื่องเพราะนำนักวิชาการชั้นแนวหน้าของพืชและสัตว์ในแต่ละประเภทมาถ่ายทอดรายละเอียดสั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะพื้นฐาน ดอกใบ สีสัน และสถานที่พบ พร้อมภาพประกอบพิมพ์สี่สีสวยงามทั้งเล่มสนนราคา 350 บาทเท่านั้น

ในเล่มมีเนื้อหาตั้งแต่เห็ดรา ไลเคน ไม้ยืนต้น ไส้เดือน ตะขาบ ผีเสื้อ แมงมุม แมลงปอ ปลา กิ้งก่า จิ้งจก งู นก ตบท้ายด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นหนังสืออ้างอิงที่เหมาะแก่การหยิบออกไปในบริเวณใกล้บ้านเพื่อสังเกตธรรมชาติให้ใกล้ชิดและเข้าใจมากยิ่งขึ้น

บทที่ผู้เขียนชอบที่สุดคือนก โดยคุณอายุวัต เจียรวัฒนกนก จากสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ที่ทำให้ได้เห็นหน้าค่าตานกกาเหว่าหลังจากได้ยินเสียงมาหลายวัน รู้จักนกตะขาบทุ่งที่มีปีกสีน้ำเงินมันวาว รวมถึงนกกะเต็นน้อยธรรมดาที่ยังพอพบเห็นได้บ้างบริเวณชานเมืองสมุทรปราการ

สำหรับใครที่งบประมาณจำกัด และยังอยู่ในช่วงรัดเข็มขัดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผู้เขียนขอแนะนำเว็บไซต์ Siamensis ในหน้าดัชนีสิ่งมีชีวิตที่รวบรวมรายละเอียดทั้งพืชและสัตว์ในประเทศไทยพร้อมฟังก์ชันการค้นหาโดยใช้ชื่อพืชหรือสัตว์ ในแต่ละหน้ามีรายละเอียดเบื้องต้นทั้งชื่อไทย ชื่อสามัญ การกระจายพันธุ์ และถิ่นอาศัย พร้อมภาพถ่ายสวยงามโดยนักอนุรักษ์ทั่วฟ้าเมืองไทยที่นำมาเผยแพร่ให้ชมกันแบบฟรีๆ

รายละเอียดของนกกะเต็นปักหลักจากการค้นหาในเว็บไซต์ Siamensis

ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและสุขภาพ หลายคนติดตามข่าวสารรายนาทีเพราะเกรงว่าจะพลาดประกาศหรือประเด็นใดที่สำคัญ แต่มันก็นำพามาซึ่งความเครียดหากไม่ได้หยุดพักเพื่อผ่อนคลาย โรคระบาดบังคับให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ลดลง ผู้เขียนจึงขอเสนอให้เราลองใช้เวลาที่ต้องอยู่เพียงลำพังและต้องห่างจากสังคม ขยับตัวเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้นอีกสักนิด

Tags: