15.04น. ริมชายหาด อ.เขาหลัก จ.พังงา
ต้องมีสายตาที่พร่าเลือนเพียงไหน ถึงจะมองข้ามความสวยงามของผืนป่าและภูเขา
และต้องผ่านเสียงอึกทึกครึกโครมขนาดไหน ถึงไม่ยลยินเสียงร่ำไห้ของเกลียวคลื่นในเวลานี้
ท้องฟ้าครึ้มเป็นสีเทา เกลียวคลื่นซัดสาดเข้ากระทบหาดอย่างรุนแรง ว่ากันตามตรง เป็นห้วงเวลาที่ท้องทะเลไม่อยากต้อนรับใครเสียเท่าไร ทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และนับวัน โลกยิ่งเจอกับความแปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวการที่ทำร้ายโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก ‘มนุษย์’ ผู้มาขออาศัยอยู่อย่างพวกเรา
บางคนอาจไม่เชื่อว่ามนุษย์ยังสามารถเยียวยาโลกใบนี้ได้ทัน และหันไปเก็บเงินซื้อตั๋วเตรียมตะลุยความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นในล่าอาณานิยมอวกาศกับเทสล่าแล้ว ช้าก่อน! อย่างน้อยเราก็อยากแนะนำให้รู้จักอันดามัน โก กรีน (Andaman Go Green) การรวมกลุ่มของภาคเอกชนหลากหลายสาขาอาชีพทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่ศรัทธาและเชื่อว่า มนุษย์ โลก และเทคโนโลยี ยังสามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ หรือถ้าพูดให้ชัด มนุษย์และธรรมชาติสามารถถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ดีมากกว่าที่เคยเป็นมา
อันดามัน โก กรีน เป็นความร่วมมือของภาคเอกชน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน อันประกอบไปด้วย พังงา กระบี่ ระนอง ภูเก็ต สตูล และตรัง มีจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ทั้งการท่องเที่ยว ธรรมชาติ พลังงาน อาหาร และวัฒนธรรม
ที่มาของอันดามัน โก กรีน
‘เราเริ่มจากกระบี่ โก กรีน ก่อนมาเป็นพังงา โก กรีน และสุดท้ายมาสู่อันดามัน โก กรีน’ หนุ่มใหญ่ มาดศิลปินที่มิตรสหายเรียกเขาว่า โอ๊ต-ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา เล่าความเป็นมาของกระบี่ โก กรีน ด้วยสายตาที่สะท้อนความปลื้มปิติและแฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่น มันเริ่มจากคำถามพื้นฐานที่ว่า เราควรดำเนินแนวทางการพัฒนาไปในทิศทางไหนเพื่อไม่ทำร้ายทรัพยากร และรักษาสิ่งแวดล้อมเอาไว้เพื่อลูกหลานรุ่นต่อไป
เขาเล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มเมื่อหลายปีที่แล้ว ภายหลังกระบี่เริ่มพัฒนาเป็นจังหวัดท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่าต้องการพัฒนาจังหวัดในเรื่องใด ด้วยรูปแบบใด สุดท้ายได้ออกมาเป็นแผนยุทธศาสตร์กระบี่ 2020
เนื้อหาทั้งหมด พอดูแล้ว ประชาชนทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ชาวประมง กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มเรือหางยาว กลุ่มมอเตอร์ไซค์วิน ฯลฯ ต่างลงความเห็นเหมือนกันว่า กระบี่ไม่จำป็นต้องเป็นเมืองที่เน้นแสงสี ไฮเทค แต่ต้องการจะเป็นเมืองที่พัฒนาภายใต้พื้นฐานของทรัพยากรตัวเองอย่างยั่นยืน และลดการรบกวนธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ปรากฏว่า แรงผลักดันของพวกเขาสามารสร้างความตื่นตัวให้คนทั้งเกาะลันตา ก่อนแพร่กระจายสู่ชายฝั่งกระบี่ มาพังงา และกำลังลุกลามไปทั่วชายฝั่งอันดามันในขณะนี้
พลังงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อันดามัน โก กรีน มุ่งมั่นจะทำให้พื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงาน โดยสนับสนุนให้เกิดการผลิตพลังงานขึ้นมาใช้เองในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยขณะนี้พื้นที่ฝั่งอันดามัน มีทั้งการผลิตไฟฟ้าจากขยะ น้ำเสีย และลม รวมถึงเทคโนโลยีที่กำลังถูกสปอร์ตไลต์ฉายแสงจับจ้องอยู่ นั่นคือ พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ เซลล์ (Solar Cell)
ขวัญ – ขวัญกนก กษิรวัฒน์ เจ้าของธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและบ้านพัก อีกทั้งเป็นหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ มีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดการใช้โซลาร์ เซลล์ ในเกาะลันตา และยังเป็นผู้ประกอบการเจ้าแรกที่นำโซลาร์ เซลล์มาใช้ในสเกลระดับใหญ่
เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความคิดและการตัดสินใจติดตั้งโซลาร์ เซลล์ว่า “พอเราเดินทางไปต่างประเทศ เราเห็นว่าเกือบทุกบ้านจะมีการติดตั้งโซลาร์ เซลล์บนหลังคาบ้าน เราเลยคิดว่ามันต้องได้ผลเพราะถ้ามันใช้ไม่ได้ผลคงไม่มีการติดตั้งกันมากขนาดนั้น เราก็เลยลองนำมันกลับมาใช้กับธุรกิจของเรา”
“ก่อนที่จะตัดสินใจทำ เราไม่มีความรู้เกี่ยวกับโซลาร์ เซลล์เลย แต่เชื่อมั่นว่ามันต้องได้ผล ในปี 2558 ลงทุนครั้งแรกไปเกือบ 2 ล้าน เพราะในเวลานั้น ราคาตกแผ่นละ 10,000 บาท ในใจคิดว่าถ้ามันลดค่าไฟฟ้าให้เราได้ 30,000 บาท เราก็พอใจแล้ว เดือนแรกบิลมา มันลดไปได้ 30,000 บาท แต่เดือนต่อๆมากลับลดไปได้ถึง 60,000 บาท”
ตอนนี้เธอกับเพื่อนอีก 6 คน จับกลุ่มร่วมมือกันตั้งบริษัทเพื่อสังคม (Social Enterprise) บริษัทรับติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์ ในนาม บริษัทลันตา โซลาร์ เซลล์ โดยเป้าหมายหลักไม่ได้อยู่ที่ผลกำไร หากเป็นการให้ความรู้และเผยแพร่การใช้โซลาร์ เซลล์ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ทั้งหมด อีกทั้งเพื่อพิสูจน์ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่ทางออก โดยเธอเล่าว่า ผลกำไรของบริษัททั้งหมด ถูกเก็บไว้เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่อาทิ ธนาคารปู อนุบาลปลา โครงการบำบัดน้ำเสีย โครงการเก็บขยะ เป็นต้น
เทคโนโลยีโซลาร์ เซลล์ กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากแผงโซลาร์ เซลล์จะมีอายุการใช้งานที่นานถึง 25 ปี โดยมีจุดคุ้มทุนในระยะเวลาแค่ 7 ปี หลังจากนั้น แผงโซลาร์ เซลล์ก็ยังสามารถทำงานได้อยู่เพียงแต่ประสิทธิภาพอาจจะลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำงานของโซลาร์ เซลล์ที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือเรื่องการแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า ว่าโซลาร์ เซลล์ต้องการแสงแดดจัดและร้อนแรงจำนวนมาก นั่นคือ ถ้าฟ้าเปิด แดดส่อง ก็จะยิ่งผลิตกระแสไฟฟ้าได้มาก แต่หากฟ้าครึ้ม เมฆหม่น โซลาร์ เซลล์จะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น
การผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์ เซลล์ เกิดจากแสงจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและมีพลังงาน ทำปฏิกิริยากับสารกึ่งตัวนำที่มีอยู่ภายในแผงโซลาร์ เซลล์ (มักจะเป็น ซิลิกอน) ทำให้เกิดเป็นอิเลคตรอน และกลายเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้าที่สามารถต่อไปใช้ได้ เพราะฉะนั้น วันที่ท้องฟ้ามีเมฆมากไม่ได้หมายความว่าโซลาร์ เซลล์จะไม่สามารถทำงานได้ โซลา เซลล์ต้องการให้รังสีจากดวงอาทิตย์กระทบกับแผ่นโซลาร์ เซลล์ ไม่ใช่ความร้อนจากแสงแดดเพียงอย่างเดียว
การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
ไม่มีใครปฏิเสธความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของทะเลอันดามัน เมื่อธรรมชาติสวยงาม แปลกตา น่าดึงดูด นักท่องเที่ยวย่อมต้องการจะสัมผัสและเห็นด้วยตาตัวเอง ผลที่ตามมาเมื่อนักท่องเที่ยวให้ความสนใจและเดินทางเข้ามามากเกิน คือ ‘อาการสำลักนักท่องเที่ยว’ พื้นที่และผู้อาศัยในพื้นที่ไม่สามารถรองรับและอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่สมบูรณ์แบบเดิมได้ ทำให้ธรรมชาติเสื่อมถอยลงและอาจจะไม่สามารถฟื้นฟูได้ในที่สุด
การออกแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงเป็นหนึ่งแนวคิดที่สำคัญของปฏิญญาอันดามัน โก กรีน เพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติที่สวยงาม และสอดรับกับกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism) ซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ตระหนักต่อขีดจำกัดของธรรมชาติ นักท่องเที่ยวจะไม่เดินทางมายังสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจเพียงอย่างเดียว แต่จะใส่ใจและเป็นอีกหนึ่งแรงที่ร่วมช่วยฟื้นฟู เรียนรู้ และรับผิดชอบธรรมชาติ วัฒนธรรม และประเพณีในพื้นที่ อีกทั้งยังใส่ใจการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้งในแง่ของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
นอกจากกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จากฟากฝั่งนักท่องเที่ยวแล้ว อันดามัน โก กรีน ยังสนับสนุนให้ธุรกิจโรงแรมที่พักอาศัย ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เป็นรูปแบบของ ‘โรงแรมสีเขียว (Green Hotel)’ มีระบบการผลิตพลังงานสะอาด อาทิ ติดตั้งแผงโซลาร์ เซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้เอง มีระบบการกำจัดและคัดแยกขยะที่ถูกวิธี เพื่อนำขยะที่รีไซเคิลได้กลับมาใช้ใหม่
อ.เขียว – สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ภาคตะวันออก หนึ่งในแนวร่วมหลักผู้ริเริ่มคิดและออกแบบอันดามัน โก กรีน บอกว่า สนับสนุนให้เกิดแนวคิด Toursim for all ทุกพื้นที่สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดทางเลือกแต่บริเวณที่มีชายหาด ทะเล หรือภูเขา เช่น การเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณี และอาศัยอยู่กับชาวบ้านในชุมชนต่างๆ คล้ายการออกค่ายอาสาชนบทของนักศึกษามหาวิทยาลัย และเสนอว่า คนในชุมชนไม่ควรจะนำการท่องเที่ยวมาเป็นอาชีพหลัก หากแต่ให้เป็นเพียงอาชีพเสริม เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าบ้าน-ลูกบ้าน ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้การออกแบบบรรยากาศ ความสัมพันธ์ ธรรมชาติ และข้อตกลงร่วมกันในชุมชนด้วย
สำหรับ อันดามัน โก กรีน ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่ต้องการกำหนดทิศทางการพัฒนาตนเอง ลักษณะความร่วมมือที่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทการเมืองที่อื้ออึงงงวยเช่นนี้ สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่จะไม่รอคอยให้ภาครัฐเป็นฝ่ายกำหนดทิศทางการพัฒนาจากส่วนกลาง หรือที่เรียกว่านโยบายแบบบนลงล่าง (Top-Down) ซึ่งบ่อยครั้ง ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
และหลายครั้งเช่นกันที่นำไปสู่ความสูญเสีย ผิดพลาด หลงทิศทาง จนไม่อาจนำความรุ่มรวยของพื้นที่นั้นหวนคืนมาได้ในชั่วรุ่นอายุเดียว
Tags: โซลาร์ เซลล์, อันดามัน โก กรีน