เสียงโห่ร้องด้วยความยินดีดังขึ้นท่ามกลางแท่งไฟหลากสี หลัง ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศ ที่ถูกยื่นเรื่องถอดถอนจากสมัชชาแห่งชาติเกาหลีใต้ (National Assembly) ต่อจาก โน แทอู (Roh Tae-woo) และพัค กึนฮเย (Park Geun-hye) ด้วยมติเห็นชอบ 204 ต่อ 85 เสียง ขณะที่มีผู้งดออกเสียงและผู้ทำบัตรเสียรวมทั้งสิ้น 11 คน
“พวกคุณทั้งหลาย ประชาชนทำได้ พวกคุณเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่”
คือคำกล่าวแรกจากปากของ อี แจมยอง (Lee Jae-myung) หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Democratic Party of Korea) หรือพรรคมินจูดัง (민주당) ที่ตะโกนแสดงความยินดีกับประชาชนหน้ารัฐสภา ผู้ฝ่าอุณหภูมิเย็นยะเยือกยืนกดดันผู้แทนของปวงชนให้ทำตามอาณัติ คือ การขับไล่ผู้นำที่ใช้อำนาจฉ้อฉลด้วยการประกาศกฎอัยการศึก ไม่ต่างจากการ ‘รัฐประหาร’ ในคราบนักการเมือง เพียงเพราะเก้าอี้ประธานาธิบดีกำลังระส่ำระสาย หลังเผชิญวิกฤตทางการเมืองรอบด้าน และพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในรัฐสภา
แม้บรรยากาศหลายวันที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความชื่นมื่น โดยเฉพาะ ‘ความหวัง’ ของประชาชนที่ต้องการให้ประเทศผ่านพ้นจากฝันร้ายในวันวานอย่าง ‘วิกฤตทางการเมือง’ อีกครั้ง แต่ในโลกความเป็นจริงดูเหมือนว่า ความสงบในปลายทางยังยาวไกลเหลือเกิน
ไม่ใช่แค่การย้ำเตือนจากผู้นำสูงสุดที่บอกว่า อนาคตของเขาจะยังไม่จบลงเท่านี้ แต่เกาหลีใต้อาจยังต้องเผชิญอุปสรรคทางการเมืองมากมายที่ใครหลายคนมองไม่เห็น หลังนักวิเคราะห์เผยว่า ประเทศอาจกำลังเผชิญ ‘วิกฤตทางรัฐธรรมนูญ’ (Constitutional Crisis) ครั้งใหญ่จากผลพวงของกฎอัยการศึก หลังสภาฯ เป็นอัมพาต อำนาจตุลาการเผชิญทางตัน และภาวะไร้ผู้นำขับเคลื่อนประเทศ
“ต่อให้ผมหยุดปฏิบัติหน้าที่ตอนนี้ แต่หนทางที่ผมร่วมเดินกับประชาชนตลอด 2 ปีครึ่ง รวมถึงในอนาคต จะต้องไม่หยุดเพียงเท่านี้ ผมยอมแพ้ไม่ได้” ชายผู้ที่เคยอยู่ในจุด ‘สูงสุด’ ของของประเทศทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
ด่านแรกของวิกฤต: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหมดวาระ
แม้สมัชชาแห่งชาติเห็นชอบมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากพิเศษ (Supermajority) ทว่าขั้นตอนต่อจากนี้คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณามติถอดถอนภายในระยะเวลา 6 เดือนหรือ 180 วัน โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือ ตุลาการต้องเห็นชอบด้วยมติ 6 ต่อ 9 เสียงขึ้นไป
ในผลลัพธ์ที่ดีที่สุดคือ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ ยุน ซอกยอล พ้นจากตำแหน่ง เกาหลีใต้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ภายในระยะเวลา 60 วัน แต่หากคำตัดสินไม่เป็นตามสิ่งที่หลายคนคาดหวัง เขาจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป โดยที่สมัชชาแห่งชาติสามารถยื่นเรื่องถอดถอนได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
ตามคำร้องของทีมสอบสวน ยุน ซอกยอลถูกกล่าวหาในข้อหาเป็น ‘แกนนำกบฏ’ จากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ผู้นำเกาหลีใต้ปฏิเสธคำร้องสอบสวนของอัยการถึง 2 ครั้ง ซึ่งหากเขาไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอสอบสวนอีกครั้ง อาจนำไปสู่การขอออก ‘หมายจับ’
อย่างไรก็ตามกุญแจสำคัญที่กลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ในการเมืองเกาหลีใต้ คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 ใน 9 คนหมดวาระไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะที่กฎหมายกำหนดให้การพิจารณาคดีต้องมีตุลาการอย่างน้อย 7 คนขึ้นไป
แม้ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมีความยืดหยุ่น โดยใช้ตุลาการ 6 คนปฏิบัติหน้าที่ในบางครั้ง ทว่า ราฟาเอล ราชิด (Raphael Rashid) นักข่าวที่ประจำการในเกาหลีใต้ ลงความเห็นว่า คดีความดังกล่าวอาจซับซ้อนกว่าที่หลายคนคิด เพราะการถอดถอนประธานาธิบดีถือเป็นคดีทางการเมืองและมีความละเอียดอ่อนสูง อาจทำให้ศาลต้องระมัดระวังการใช้อำนาจกว่าปกติ
ขณะที่ขั้นตอนการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ ดูจะเป็นหนทางที่ยากเย็นไม่แพ้กัน เนื่องจากต้องอาศัย ‘สภาฯ’ เป็นกลไกสำคัญ โดยตามธรรมเนียมแล้วพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคจะเลือกแคนดิเดตตุลาการและหารือเห็นชอบในวาระถัดมา
อย่างไรก็ตามพรรคมินจูดังหักธรรมเนียมปฏิบัติในเดือนที่ผ่านมา หลังขอใช้สิทธิเป็นพรรคเดียวที่ได้เลือกแคนดิเดตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน โดยอ้างว่า มีที่นั่งในรัฐสภามากที่สุด ขณะที่พรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลโต้แย้ง โดยมีการคาดว่า คดีในศาลรัฐธรรมนูญนับ 1,200 คดี ต้องถูก ‘ทิ้ง’ ไว้กลางทาง
แม้จะยังไม่มีใครรู้แนวโน้มว่า ‘ไพ่ใบเด็ด’ จะออกมาในรูปแบบใด แต่ความเคลื่อนไหวล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญคือ การประชุมนัดแรกเพื่อไต่สวนคดีการถอดถอนประธานาธิบดีในวันนี้
คิม ฮยองดู (Kim Hyung-du) หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เผยว่า กำลังมีการหารือกันภายใน ขณะที่ศาลจะต้องผนึกกำลังและปฏิบัติงานร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงกลาโหม และหน่วยปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งมีกำหนดการสอบสวนยุน ซอกยอล ในวันที่ 15 ธันวาคม 2024 เวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม ฮัน อินซอบ (Han In-sup) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) วิเคราะห์ว่า หากยุน ซอกยอลจะถูกถอดถอน เป็นไปได้ว่าอาจจะไม่ใช่แค่แรงจูงใจทางการเมือง แต่ยังรวมถึงประเด็นทางกฎหมาย ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่ 77 หลังระบุว่า การประกาศกฎอัยการศึกต้องกระทำเพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม หรือเหตุเร่งด่วนแห่งชาติ ทว่าพฤติกรรมของประธานาธิบดีไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขแม้แต่น้อย
ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า ยุน ซอกยอลมีความผิดจริง เขาอาจเผชิญกับ ‘โทษประหารชีวิต’ หรือ ‘จำคุกตลอดชีวิต’ ในข้อหากบฏต่อประเทศชาติ นับว่าร้ายแรงกว่าพัค กึนฮเย ประธานาธิบดีคนแรกที่ถูกถอดถอน และได้รับโทษจำคุก 22 ปีในข้อหารับสินบนและใช้อำนาจในทางมิชอบ ก่อนได้รับอภัยโทษจาก มุน แจอิล (Moon Jae-in) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้
ด่านสองของวิกฤต: สภาวะสูญญากาศทางการเมือง เมื่อเกาหลีใต้ไร้ผู้นำ ‘ตัวจริง’
น่าสนใจว่า การนั่งเก้าอี้ผู้นำชั่วคราวของ ฮัน ด็อกซู (Han Duck Soo) นำมาซึ่งความกังวลและข้อกังขาของประชาชนในประเทศ หลังเกิดคำถามทางกฎหมายว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ ‘นายกรัฐมนตรี’ หรือ ‘ผู้นำของพรรค’ จะใช้อำนาจของประธานาธิบดี แม้จะถูกระงับการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับการขึ้นมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาผู้คาดเดาไม่ได้ รวมถึงเกาหลีเหนือ พี่น้องข้างบ้านที่พร้อมเผด็จศึกตลอดเวลา
ทั้งนี้รายงานจากสำนักข่าวโคเรียไทม์ (KoreaTimes) ชี้ให้เห็นวิกฤตตั้งแต่การเจริญสัมพันธไมตรีกับรัฐบาลวอชิงตันว่า โดยปกติแล้ว ผู้นำเกาหลีจะต้องส่งผู้แทนเพื่อหารือในวาระสำคัญ และชี้แจงจุดยืนของประเทศต่อว่าที่รัฐบาลใหม่ แต่ดูเหมือนว่า วิกฤตการเมืองในประเทศทำให้เกาหลีใต้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากช่องทางดังกล่าว ในระหว่างที่หลายประเทศ ‘ยืนต่อแถว’ จับมือกับทรัมป์
นอกจากนี้ปัญหาปากท้องและนโยบายทางเศรษฐกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน หลังยุน ซอกยอลเดินหน้าผลักดันโครงการต่างๆ เช่น การเพิ่มโควตารับนักศึกษาแพทย์ 2,000 ต่อปีในอีก 5 ปี ข้างหน้า ทว่ากฎอัยการศึกเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ด้วยการสั่งให้บุคลากรทางการแพทย์กลับไปทำงานเหมือนเดิมภายใน 48 ชั่วโมง ทิ้งให้หลายคนสับสนและงุนงงต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ยังไม่รวมถึงแผนปฏิรูปเงินบำนาญที่กลายเป็นการต่อสู้ขนาดย่อมในรัฐสภา หลังพรรคมินจูดังออกโรงคัดค้าน ยิ่งทำให้ความคืบหน้าด้านนโยบายห่างไกลไปเรื่อยๆ จนนักวิเคราะห์ถึงกับยอมรับว่า วิกฤตในครั้งนี้ต้องมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเสนอให้จัดตั้งสภาที่ปรึกษาระดับสูง และมีผู้นำของสองพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกัน
ทว่าการปรองดองในรัฐสภาอาจเป็นเรื่องไกลตัวไปเสียแล้ว เมื่อรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอของ อี แจมยอง ที่แนะนำให้ทั้งสองฝ่ายจับมือจัดตั้งสภาที่ปรึกษาระดับสูง โดยย้ำว่า พรรคพลังประชาชนคือพรรครัฐบาล เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก หากพรรคมินจูดังจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองในยามนี้
ความขุ่นข้องหมองใจสะท้อนได้จากการลงมติถอดถอนผู้นำเกาหลีใต้ ที่เป็นอันต้อง ‘ล่ม’ ในครั้งแรก เพราะขาดองค์ประชุม หลังพรรครัฐบาลตัดสินใจเดินออกจากรัฐสภา โดยมีสมาชิกของพรรคเข้าร่วมประชุมเพียง 3 คน
ด่านสามของวิกฤต: สภาฯ แตกแยก ไม่จับมือ ‘ปรองดอง’ เมื่อฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่ยอม ‘สูญพันธุ์’
หากยังจำกันได้ เมื่อครั้งที่ พัค กึนฮเย ถูกถอดออกจากตำแหน่ง พรรคแนวหน้าใหม่ (New Frontier Party) หรือพรรคแซนูรี (새누리) พรรคการเมืองเก่าแก่ของเกาหลีใต้ที่อยู่คู่ประเทศตั้งแต่ในยุคของ พัค จองฮี (Park Chung-hee) และชอน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) สองเผด็จการแห่งยุค เป็นอันต้อง ‘แพแตก’ จากวิกฤตในครั้งนั้น ทำให้เกิดสองพรรคการเมืองใหม่คือ พรรคบารึน (Bareun Party: 바른정당) ขณะที่พรรคแซนูรีกลายร่างเป็นพรรคเสรีภาพเกาหลี (Liberty Korea Party)
ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์ ‘แยกวง’ หรือนักการเมืองต้องถูกสอบสวนจากความเกี่ยวข้องคดีอื้อฉาวของอดีตประธานาธิบดี แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมยังสูญเสียคะแนนจากประชาชน กลายเป็นว่าพรรคมินจูดังที่นำโดย มุน แจอิล (Moon Jae-in) อดีตประธานาธิบดีที่มีภาพลักษณ์หัวก้าวหน้า และฝักใฝ่ประชาธิปไตย ทำคะแนนนำโด่งในการเลือกตั้งปี 2017 ถึง 40%
ว่ากันว่า ภายในพรรคพลังประชาชนมีความกลัวเหตุเลวร้ายเช่นนี้ไม่ต่างกัน โดยโคเรียไทม์วิเคราะห์ว่า หากยุน ซอกยอลแพ้ขึ้นมาจริงๆ ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจไม่มีที่ยืน และประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อมีแนวโน้มสูงมากว่า อี แจมยอง แคนดิเดตที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งก่อนจะกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ หลังได้รับความนิยมล้นหลามในคราบ ‘ฮีโร่ผู้ปกป้องประเทศจากเผด็จการ’ แม้จะมีแผลอย่าง ‘คดีคอร์รัปชัน’ ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองซองนัม (Seongnam) และผู้ว่าการจังหวัดคยองกี (Gyeonggi) ก็ตาม
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมพรรคพลังประชาชนยังคัดค้านหัวชนฝาต่อวาระในสภาฯ อย่างถึงที่สุด ไม่ใช่แค่การร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้าน แต่ยังรวมถึงการฝ่าฝืนอาณัติของประชาชน ด้วยการไม่เห็นชอบถอดถอนยุน ซอกยอลออกจากตำแหน่งด้วย
หรือแม้แต่การที่ ฮัน ดงฮุน (Han Dong-hoon) หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ยื้อเวลาลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยว่ากันว่า ส่วนหนึ่งเป็นเกมที่วางไว้ให้ตนเองนั่งเก้าอี้ ‘ประธานาธิบดี’ แต่ต้องเผชิญกับคำด่าทอของพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่รัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ไม่เปิดช่องให้มีผู้นำประเทศจากช่องทางอื่นที่ไม่อิงตาม ‘กฎหมายสูงสุด’ ของประเทศ
นี่จึงถือเป็นด่านแรกของเกาหลีใต้ ประเทศที่ไม่มีใครคิดว่าต้องเผชิญ ‘วิบากกรรม’ ในหลายทศวรรษก่อน เมื่อผีที่คนทั้งประเทศหวาดกลัวอย่าง ‘การรัฐประหาร’ และ ‘เผด็จการ’ กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง ในคราบของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
อ้างอิง
https://foreignpolicy.com/2024/12/09/yoon-coup-martial-law-south-korea-constitutional-chaos/
https://www.nytimes.com/2024/12/14/world/asia/south-korea-impeachment-yoon-explained.html
https://en.yna.co.kr/view/AEN20241216002300315
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/12/113_387896.html
https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/12/356_388502.html
https://www.bbc.com/news/articles/c140xjv31lxo
Tags: เอเชียตะวันออก, อีแจมยอง, พรรค PPP, พรรคมินจูดัง, เกาหลีใต้, รัฐประหาร, กฎอัยการศึก, เกาหลี, Analysis, ยุน ซอกยอล